Skip to main content
sharethis

ฟังทัศนะจากอดีตเอกอัครราชทูตไทยผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ต่อกรณีเขาพระวิหารซึ่งขณะนี้บานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่ต้องการองค์กรภายนอกมาไกล่เกลี่ย ท่านทูตอัษฎายืนยันอีกครั้งว่า ไทยไม่สามารถปฏิบัติขัดกับคำพิพากษาศาลโลกได้ เนื่องจากคำอายุความในการโต้แย้งนั้นหมดไปนานแล้ว ทางเลือกเดียวที่ไทยจะยังคงได้เปรียบต่อกรณีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหารก็คือ การเจรจา


 


กรณีประเทศกัมพูชามีหนังสือขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดประชุมฉุกเฉินกรณีปราสาทพระวิหาร น่าจะมีผลอย่างไร 


ผมไม่ทราบว่าจะมีการรับพิจารณาอย่างเป็นทางการหรือไม่ แต่คาดว่าสหประชาชาติมีเรื่องต้องพิจารณามากอยู่แล้วและเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่น่าวิตกในระดับสหประชาชาติที่ถึงขนาดต้องหยิบยกมาพิจารณา และอาเซียนก็อยากให้ไทยและกัมพูชาตกลงกันเอง ดังนั้น สหประชาชาติก็คงไม่เข้ามาจัดการเรื่องนี้


 


เหตุใดกัมพูชาไม่ต้องการเจรจาระดับทวิภาคี


ส่วนหนึ่งผมคิดว่า กัมพูชาอาจมีความเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม จะพอช่วยเขาได้ เพราะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นประเทศเวียดนาม แต่ในแง่ความสัมพันธ์กับต่างประเทศแล้วไทยมีเพื่อนเยอะกว่าอยู่แล้ว ในขณะที่ไทยต้องการให้เป็นการเจรจาระดับทวิภาคี แต่กัมพูชาไม่ต้องการระดับทวิภาคีและใช้วิธีส่งหนังสือถึงสหประชาชาติ เป็นเพราะเพื่อนำมาบีบไทยและสร้างอำนาจการต่อรองให้กัมพูชาเอง เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศเล็กมีอำนาจการต่อรองน้อย หากใช้การเจรจาในระดับทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชา เพียงแค่ 2 ประเทศ ก็คงรู้สึกว่าฝ่ายกัมพูชาจะเสียเปรียบ ดังนั้น กัมพูชาจึงต้องทำให้เรื่องเป็นระดับสหประชาชาติที่มีประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก


 


กลไกในระดับภูมิภาคในอาเซียนทำอะไรได้บ้าง


ที่ผ่านมา มีหลักการเรื่องกลไกการจัดการข้อพิพาทระดับภูมิภาคว่าจะต้องตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงเป็นผู้รับเรื่องพิจารณาข้อพิพาท แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง ทำให้กรณีข้อพิพาทที่ผ่านมา เช่น กรณีเกาะกลางทะเล ระหว่างประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย เมื่อเจรจา 2 ฝ่ายไม่เป็นผล ก็เป็นเหตุทำให้เรื่องถูกนำขึ้นสู่ศาลโลก


 


อย่างไรน่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับ 2 ฝ่าย


ถ้าผมเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะจัดให้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันหรือมีอีกวิธีคือเลขาธิการสหประชาชาติอาจส่งผู้แทนพิเศษจากสหประชาชาติเข้ามาไกล่เกลี่ย ในอดีตเคยมีผู้แทนพิเศษจากสหปนะชาชาติมาไกล่เกลี่ยกรณีเขาพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชา อยู่ 1-2 ปี ก่อนมีคำพิพากษาศาลโลก ในปี 2505


 


แนวทางที่ดีสำหรับประเทศไทยคืออะไร


ผมคิดว่าควรยึดการเจรจาเป็นหลัก ไม่ควรปล่อยให้กระบวนการหาข้อยุติเรื่องปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ไปถึงขั้นที่ทั้ง 2 ประเทศ ไทยและกัมพูชา ตกลงกันไม่ได้ แล้วถูกนำเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลโลกซึ่งเป็นระบบที่วินิจฉัยบนพื้นฐานของกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่วิธีการเจรจาต่อรอง


 


ส่วนสำคัญที่คนไทยต้องเข้าใจคือว่าในอดีต ประเทศไทยได้ยอมรับคำพิพากษาศาลโลกไปแล้ว ตอนนี้หมดอายุความในการโต้แย้งแล้วและเรื่องอายุความก็มีกำหนดไว้จริง ไม่ได้เป็นไปอย่างที่บางคนบอกว่าไม่มีอายุความ


 


แม้ปัจจุบันเราจะรู้สึกว่าขณะนั้นไทยเสียเปรียบเรื่องความรู้ด้านแผนที่และขาดเทคโนโลยี แต่ตอนนี้เราก็ไม่สามารถจะปฏิบัติขัดกับคำพิพากษาศาลโลกได้เพราะมีกฎบัตรแห่งสหประชาชาติบังคับอยู่ นี่เป็นเหตุผลที่ฝ่ายไทยต้องยึดถือวิธีการเจรจาเป็นสำคัญ แม้วิธีการเจรจาจะอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่ในแง่การต่อรองแล้ว หากฝ่ายไทยต้องไปเป็นคู่พิพาทในการวินิจฉัยของศาลโลกซึ่งยึดถือระบบกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ ย่อมทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบมากกว่าการเจรจาต่อรองที่ยึดกฎหมายแต่เรายังมีโอกาสเสนอข้อตกลงที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นมาได้


 


สำหรับตอนนี้หากการต่อรองกันในระดับทวิภาคีเป็นไปได้ยาก ก็ควรจะเจรจาต่อรองในลักษณะมีผู้แทนพิเศษจากองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาไกล่เกลี่ยจะเป็นผลดีกับฝ่ายไทยมากกว่าที่จะให้เรื่องนี้ต้องตัดสินตามกฎหมายโดยคำพิพากษาของศาลโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net