Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 22-23 ก.ค. ระหว่างการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (PMC) ครั้งที่ 41 นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้พบหารือทวิภาคีกับ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และ เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่เป็นสมาชิกไม่ถาวรใน UNSC ได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อพิพาทไทย-กัมพูชากรณีปราสาทพระวิหาร


 


ทั้งนี้ 5 ประเทศเห็นพ้องว่าไทยและกัมพูชาควรเจรจาในระดับทวิภาคีก่อน การที่กัมพูชาต้องการให้นำข้อพิพาทฯ เข้าสู่กรอบการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้นยังเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป


 


นอกจากนี้ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ ( จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา) และสมาชิกไม่ถาวร 8 ประเทศ ( เบลเยี่ยม โครเอเชีย อินโดนีเซีย อิตาลี ลิเบีย ปานามา แอฟริกาใต้ เวียดนาม) เข้าพบที่กระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ข้อมูลและท่าทีของไทย


 


ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงให้คณะทูตฯ ทราบด้วยว่า ข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นเรื่องระหว่างสองประเทศ และในชั้นนี้การเจรจาภายในกรอบ GBC ยังเป็นกลไกที่เดินต่อไปได้ ทั้งนี้ สิ่งที่หารือภายในกรอบ GBC ครั้งที่ 1 นั้นไทยและกัมพูชาสามารถตกลงกันได้ในประเด็นต่างๆ ถึง 80 % เพียงแต่ยังมีข้อติดขัดด้านข้อกฏหมายบางประการ  สิ่งที่เป็นผลดีประการหนึ่งคือทั้งสองฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และการวางกำลังในพื้นที่ของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างฉันท์มิตร   นอกจากนี้ อาเซียนก็เห็นพ้องกับไทยว่า ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นประเด็นทวิภาคี การที่กัมพูชาก้าวกระโดดยื่นเรื่องข้อพิพาทเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีผลต่อภาพลักษณ์ของอาเซียน   


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net