Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"งานแปลชิ้นนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาโดยตรง แต่ท่ามกลางความเกลียดชังกันที่กระแสชาตินิยมบ้าคลั่งปลุกปั่นขึ้นมา ผู้แปลหวังว่าบทความสั้น ๆ ชิ้นนี้จะสะท้อนถึงการดิ้นรนต่อสู้ของสามัญชน ความงามของจิตใจที่มีอยู่ในมนุษย์ไม่จำกัดชนชาติ  เราจะเข่นฆ่าคนเล็ก ๆ เหล่านี้ให้ตายดับดิ้นเพียงเพื่อเส้นพรมแดนในจินตนาการเท่านั้นหรือ..? "


ภัควดี วีระภาสพงษ์


แปลจาก Aditi Fruitwala, "Postcard from ... Cambodia," (Washington, DC: Foreign Policy In Focus, July 16, 2008).


Web location:
http://fpif.org/fpiftxt/5377



 


ขณะที่เจีย (Chea—ขออภัยหากออกเสียงไม่ถูกต้อง ผู้แปลเทียบการออกเสียงจากเว็บ http://names.voa.gov) คนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ประกอบอาชีพไกด์ไปด้วย เลี้ยวรถรอบ ๆ พระบรมมหาราชวังอันวิจิตรงดงามในกรุงพนมเปญ  เขาตั้งข้อสังเกตถึงการหายไปอย่างน่าประหลาดของสุนัข  "พนมเปญเคยมีหมาเยอะแยะ หมามีอยู่ทุกที่ ในบ้าน ตามท้องถนน แต่เดี๋ยวนี้ประชาชนไม่มีเงิน เราเลยต้องกินหมา เรากินทุกอย่างที่หาได้"


 


แต่ไหนแต่ไรมา ชาวกัมพูชาถือว่าสุนัขเป็นเนื้อที่ไม่สะอาด  แต่เมื่อราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น ประชาชนจำนวนมากไม่มีทางเลือกในการเข้าถึงอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน  พวกขโมยสุนัขจึงขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั่วเมือง  ดักจับสุนัขด้วยบ่วงที่ทำจากสายไฟ แล้วนำสุนัขไปขายในราคาต่ำกว่าเนื้อหมูและเนื้อวัวมาก  เจียบอกว่า ถ้าเมื่อไรเห็นคำว่า "เนื้อพิเศษ" ในเมนูอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสุนัขหรือเนื้อหนู


 


"พี่ชายผมเคยเลี้ยงหมา" เจียพูดพลางโคลงศีรษะ "แต่ตอนนี้ หมาของใคร ๆ ก็หายกันหมด วันไหนหมาออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน เดี๋ยวมันก็หายไป"


 


เจียทำงานเป็นคนขับรถตุ๊กตุ๊กมา 25 ปีแล้ว กระนั้นเขาก็ยังอดประหลาดใจไม่ได้กับความแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือระหว่างพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวกับสภาพที่แท้จริงของกรุงพนมเปญ  ขณะขับรถพาไปโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าที่อยู่นอกเมือง เขาชี้ให้ดูสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงพนมเปญอย่างกระตือรือร้น   "พระบรมมหาราชวัง" เขาพูด "คือสถานที่ที่ทำให้คุณลืมความยากจนของส่วนที่เหลือในประเทศนี้"


 


โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ตั้งห่างจากนครหลวงไปทางตะวันตก 15 กิโลเมตร  เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2550) มันยังตั้งอยู่ใจกลางเมือง ห่างจากพระบรมมหาราชวังไปแค่ไม่กี่ช่วงตึก  แต่รัฐบาลสั่งให้โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าทั้งหมดย้ายออกไปนอกเมือง เพื่อปรับปรุงทัศนียภาพสำหรับการท่องเที่ยว


 


โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากทางราชการ  การกินอยู่ของเด็กกว่า 200 คนจึงต้องพึ่งเงินบริจาคจากนักท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยแวะเวียนมายังสถานที่ห่างไกลนี้  เจียอธิบายว่า ก่อนย้ายออกมา  โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าเคยมีผู้มาเยือนไม่ขาดสาย ทำให้มีปัจจัยเพียงพอต่อการดำเนินงาน  แต่ตอนนี้ หากมีนักท่องเที่ยวแวะมาสักคนสองคนในหนึ่งสัปดาห์ก็ถือว่าโชคดีแล้ว


 


ปัญหายิ่งเลวร้ายลงเมื่อราคาของปัจจัยสี่ เช่น อาหาร พุ่งสูงขึ้นถึงสามเท่าในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา  โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าแทบไม่มีปัญญาซื้ออาหารมาเลี้ยงดูเด็ก ๆ  ข้าวหนึ่งกิโลที่มีราคาประมาณ 30 เซนต์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 1 เหรียญดอลลาร์ในเดือนเมษายน  สำหรับประเทศที่ประชาชนทั่วไปมีรายได้แค่ 1 ดอลลาร์ต่อวัน ความเปลี่ยนแปลงของราคาแบบนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง  การขาดแคลนอาหารทำให้คนจนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  ตั้งแต่เดือนมกราคม พ่อแม่จำนวนมากที่หมดหนทางเลี้ยงดูลูก จึงเอาลูกไปทิ้งไว้ที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า ด้วยความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า สถานที่แห่งนี้จะดูแลลูกของตนได้


 


เมื่อเจียขับรถเข้าประตูโรงเลี้ยงเด็กกำพร้า (ซึ่งมีพื้นเป็นดินโคลนกับแมลงบินว่อนหลายพันตัว) เด็กน่ารักน่าเอ็นดูสองคนกระโดดขึ้นมาบนรถตุ๊กตุ๊กและปีนป่ายขอนั่งตัก  เจียขนเอาข้าวและผลไม้มาให้  ทั้ง ๆ ที่วันนี้ ตัวเขาเองยังไม่ได้กินอาหารเช้าด้วยซ้ำ  เด็ก ๆ ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเมื่อได้ยินเสียงรถและวิ่งกรูมาจากทุกทิศทาง  เด็ก ๆ ปีนป่ายรถตุ๊กตุ๊กอย่างตื่นเต้นดีใจจนรถเกือบล้มคว่ำ  มือเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ จูงฉันเดินเข้าไปสำรวจดูโรงเลี้ยงเด็กกำพร้า ฉันต้องแกล้งทำเป็นตื่นเต้นกับเตียงสองชั้นหัก ๆ ซึ่งเป็นที่นอนของเด็ก 14 คน รวมถึงหม้อใบเล็กจิ๋วที่ใช้เก็บข้าวปันส่วนของเด็ก ๆ สำหรับทั้งสัปดาห์


 


"ผมไม่มีอะไรให้มากนัก" เจียพูด "ผมมันก็แค่คนขับรถตุ๊กตุ๊ก! เราไม่มีรายได้มากนัก แล้วเดี๋ยวนี้น้ำมันก็แพงมาก  แต่เราทำเท่าที่ทำได้ ไม่มากนัก ก็เท่าที่ทำได้"


หากเกิดสงคราม เด็กกำพร้าเหล่านี้คงตายก่อน เด็ก ๆ คงต้องตายอย่างเงียบเชียบท่ามกลางเสียงอึกทึกของเหล่าผู้รักชาติ


Aditi Fruitwala สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่เมืองบาร์เซโลนาและเป็นนักเขียนบทความของ Foreign Policy In Focus.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net