Skip to main content
sharethis

ชื่อของเขาอาจดูคุ้นตา สำหรับคนที่สนใจบทความการเมืองในประชาไทจากคอลัมน์ปีกซ้ายพฤษภา สำหรับคอเพลงสากลยุคซิกส์ตี้อาจรู้จักเขาในฐานะของแฟนพันธุ์แท้ The Beatles แต่ในขณะที่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศลุกลามจนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราอยากให้คุณได้รับฟังทัศนะของเขาในฐานะของแพทย์ที่ทำงานประจำอยู่โรงพยาบาลชายแดนไทยกัมพูชามากว่า 10 ปี นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ


 


 



นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต


 


 


0 0 0


 


ถาม : มองปัญหาที่บานปลายจากปัญหาการเมืองภายในประเทศจนมาเป็นปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนตามแนวเขตชายแดนอย่างไร 


ตอบ : จากประสบการณ์ที่ผมทำงานอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายแดน  ผมพบว่า คนที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดนจะมีความคิดในเรื่องพรมแดนน้อยมาก อาจแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย  ที่ผ่านมาพวกเขามีการไปมาหาสู่กันสัมพันธ์กันแบบญาติมิตรโดยตลอด มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจซื้อขายแลกเปลี่ยน  มีบางคนแต่งงานอยู่กินสร้างครอบครัวร่วมกัน  ผมเชื่อว่านี่เป็นสภาพความเป็นจริงในทุกพื้นที่ชายแดนและของทุกประเทศด้วย เว้นไว้แต่ว่า  จะมีการเคลื่อนไหวสร้างทัศนคติที่ผิดพลาดโดยคนชั้นนำจากส่วนกลาง


 


ถาม : เมื่อมองในบทบาทของหน่วยงานราชการในพื้นที่ชายแดน ถ้ามีความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น จะสร้างปัญหาให้กับการทำงานอย่างไร 


ตอบ : มีแน่นอนในฐานะของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานในพื้นที่  ก็ไม่ได้แตกต่างกับประชาชนในพื้นที่หรอกครับ พวกเราประสานความร่วมมือกันกับหน่วยงานสาธารณสุขของกัมพูชา ในทางสาธารณสุขเช่น การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ หรือกรณีการควบคุมโรคไข้เลือดออก และมาเลเรีย ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปจำนวนมาก  ยุงมันไม่ได้รู้เรื่องพรมแดนหรอกครับ ไม่ได้มีลักษณะชาตินิยมว่าเป็นไทยหรือกัมพูชาด้วย  การการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์เพื่อป้องกันหรือควบคุมโรคติดต่อที่ร้ายแรงนี้  จำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขจากทั้งสองประเทศ  หากเกิดความขัดแย้งขึ้นการประสานความร่วมมือก็จะมีปัญหา การแพร่ระบาดของโรคติดต่อก็จะทวีความรุนแรงขึ้น


 


ผมมีโอกาสได้ร่วมงานและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับข้าราชการทหารตำรวจในพื้นที่ ผมพบว่าเขาก็ไม่ได้ต้องการให้เกิดสงครามหรือภาวะขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ๆพวกเขารับผิดชอบอยู่หรอกครับ  เพราะในสภาพปรกติพวกเขาก็ทำงานหนักอยู่แล้ว  ใน อ. ภูสิงห์ ก็มีกรณีการสร้างสถานคาสิโนในเขตกัมพูชา แตมีพื้นที่ส่วนหนึ่งล้ำพรมแดนเข้ามาในไทยซึ่งต้องมีการเจรจาเพื่อผลักดันแก้ไขปัญหา หรือในกรณียาเสพติดที่แพร่ระบาด ก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ประสานความร่วมมือกันกับทางกัมพูชา ภาระหน้าที่ ที่พวกเขาต้องเผชิญมันหนักพอแรงแล้ว


 


ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นจริง พื้นที่ชายแดนตั้งแต่อุบลฯจนถึงตราดก็คงจะมีปัญหาไปหมด


 


ผมคิดว่าพรมแดนเป็นสิ่งสมมติ เป็นจินตภาพของคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในที่ครงนั้น  แต่คนที่ไม่ได้อยู่ชายแดน ไม่เคยแม้แต่จะลงมาสัมผัสกลายเป็นคนที่มีอำนาจในการกำหนด  ซึ่งพวกเขาอาจมองจากภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ สนธิสัญญา สันปันน้ำ หรืออะไรก็ตามแต่  แต่เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งจนเกิดความรุนแรงหรือเกิดสงคราม คนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือคนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนยากจนหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย


 


ถาม : พอจะมีรูปธรรมปัญหาไหม  


ตอบ: รูปธรรมก็มีอยู่แล้วไงครับ  ผลจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเรื่องเขาพระวิหารที่ อ.กันทรลักษณ์  ทหารพรานขาขาดไปแล้วหนึ่งคน  จะมีอะไรมาชดเชยขาข้างนั้นได้ครับ จะใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ถึงจะทดแทนได้ครับ จะมีใครช่วยบอกผมได้ อยากให้บรรดาผู้ที่บอกว่าหวงแหนผืนแผ่นดินไทยทั้งหลายมาตอบตรงนี้หน่อย  คงจะพอเห็นได้ชัดขึ้นนะครับว่าผลกระทบจากการสร้างกระแสคลั่งชาติ


 


พูดตรงๆนะครับ ตอนนี้ทั้งคนไทยและคนกัมพูชาที่อาศัยอยู่บริเวณพรมแดนไม่ได้มองว่าพรมแดนเป็นปัญหาเลย  แต่คนที่อาจมองว่าพรมแดนมีปัญหาก็คือพวกคนเมือง คนชั้นกลาง ไม่ได้เจาะจงที่คนชั้นกลางไทยเท่านั้นนะครับ ที่กัมพูชาก็คงจะเหมือนกัน  กรณีเผาสถานทูตไทยที่กรุงพนมเปญเกิดจากกระแสชาตินิยมในลักษณะเดียวกันนี่แหละ  ตอนนี้มีการปั่นกระแสการคลั่งชาติในไทยโดยบรรดาผู้นำภาคประชาชนทั้งหลาย  ถ้าสมมติว่าเกิดการสร้างกระแสนี้ขึ้นด้วยที่กัมพูชาละจะเกิดอะไรขึ้น


 


ถาม : คุณพูดอย่างนี้อาจถูกมองว่าเป็นพวกไม่รักชาติ ไม่หวงแหนอำนาจอธิปไตย อาจถูกถามว่าเป็นคนไทยรึเปล่า  


ตอบ : ผมคิดว่า "ชาติหรืออธิปไตย" มันไม่ได้จำกัดความหมายแคบๆแค่เรื่องดินแดนเท่านั้น แล้ว "คน" ล่ะสำคัญมากหรือน้อยกว่าพื้นที่ซ้อนทับในสายตาของคนชั้นนำ ในสายตาของคนที่ไม่เคยลงมาสัมผัสหรือพักอาศัยอยู่ในพื้นที่  คำว่าศักดิ์ศรีของประเทศกับชีวิตคนอย่างไหนสำคัญกว่ากัน


 


ถาม: ถ้าเกิดภาวะสงคราม นึกสภาพออกไหมครับว่ามันจะเป็นอย่างไร 


ตอบ: ยังนึกไม่ออกครับ แต่ในปี 2543 มีการประทะกันในพื้นที่ ประเทศกัมพูชา ติดกับ อ.ภูสิงห์ ที่ผมทำงานอยู่ เป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มพอลพตกับกลุ่มเฮงสัมริน  ผลคือเราต้องพบกับผู้ลี้ภัยสงครามจำนวน 3,000 คน เราพบกับปัญหาเรื่องการดูแลคนเจ็บจำนวนมาก มันเป็นฝันร้ายของหลายๆคน


 


ผมเจอทหารเขมรแดงคนหนึ่ง  เขาถูกกับระเบิดขาของเขาขาดทั้งสองข้าง เราไม่มีความพร้อมพอที่จะรักษาชีวิตของเขาได้จึงต้องส่งเขาไปที่โรงพยาบาลจังหวัดและเขาก็ไปเสียชีวิตที่นั่น  สิ่งที่ผมไม่ลืมเลยก็คือ ในระหว่างที่ผมดูแลเขาผมพบว่าเขากำลังสวดมนต์ ที่ผมรู้ก็เพราะเขาสวดด้วยภาษาบาลี เขาสวดด้วยภาษาเดียวกับที่คนไทยพุทธทุกคนสวด


 


 


 


(โปรดติดตาม วิพากษ์นักสันติวิธี นักวิชาการ จากความรุนแรงกรณีเขาพระวิหาร)


 


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net