Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม


ช่วงเดือน ก.. - .. ของทุกปี เป็นฤดูกาลลำไยให้ผลผลิตออกสู่ตลาด


หลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกลำไยต่างแบกรับปัญหาราคาลำไยที่ตกต่ำ ราคาจะดีหน่อยก็ช่วงต้นฤดู ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผลผลิตลำไยยังออกสู่ตลาดไม่มากนัก แต่หลังจากในท้องตลาดเต็มไปด้วยลำไยแล้วราคาจะตกอย่างน่าใจหาย เกษตรกรหลายรายต้องแบกรับปัญหาหนี้สิน


ปีนี้นับว่าโชคดีอยู่บ้าง รายงานจากเครือข่ายแผนแม่บทลำไยไทย โดยนายบัญชาการ พลชมชื่น ประธานเครือข่าย ออกมาเปิดเผยว่า ราคาลำไยทั้งลำไยสดและอบแห้งปี 2551 สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่าตัว โดยปัจจุบันลำไยสดร่วงที่ส่งแปรรูปอบแห้ง เกรด เอเอ ราคากิโลกรัมละ 24 บาท เกรด เอ กิโลกรัมละ 15-16 บาท เกรด บี กิโลกรัมละ 9-10 บาท และเกรด ซี กิโลกรัมละ 3-4 บาท ส่งผลให้ราคาลำไยอบแห้งพุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนสาเหตุที่ปีนี้ลำไยราคาสูงขึ้นเพราะผลผลิตในภาคเหนือลดลงเหลือเพียง 2 แสนตัน จากเดิมที่ประมาณการไว้สูงถึง 4-5 แสนตัน เนื่องจากชาวสวนทำลำไยนอกฤดูกว่า 20% นอกจากนี้ผลผลิตยังได้รับความเสียหายจากอากาศที่แปรปรวนด้วย


กรณีดังกล่าวส่งผลให้ในปีนี้เม็ดเงินจากผลผลิตลำไยสะพัดในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยโดยเฉพาะใน จ.ลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไยแหล่งใหญ่เป็นอย่างมาก หลายรายสามารถปลดเปลื้องหนี้สินที่เป็นผลมาจากราคาลำไยที่ตกต่ำในปีที่แล้วได้


แต่นั่นเป็นแค่เกษตรกรกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ! เพราะเกษตรกรผู้ปลูกลำไย จ.ลำพูน กว่า 3,000 ราย กลับต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอันเนื่องมาจากนโยบายประกันราคาลำไยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการรับจำนำลำไยของรัฐบาลในปี 2547 ซึ่งถูกตั้งข้อหาแจ้งความเท็จ ปลอมแปลงเอกสาร ฉ้อโกงใบขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย (..) กว่า 4 ปี ที่ผ่านมาการวิ่งเต้นต่อสู้คดียังไม่จบสิ้นและยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน


ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 .. ที่ผ่านมา อัยการ จ.ลำพูน ส่งเรื่องคดีการทุจริตที่เกิดขึ้นฟ้องชาวบ้านจำนวน 21 ราย ยังศาล จ.ลำพูน เพื่อเอาผิดในกรณีที่มีการทุจริตเอกสารใบ ล.. ! 






ประเทศไทยเริ่มมีการส่งเสริมลำไยเพื่อการส่งออกตั้งแต่ปี 2519 แต่ยังมีปัญหาเรื่องการพัฒนาคุณภาพผลผลิตยังไม่ได้มาตรฐานการส่งออก หลังปี 2529 เป็นต้นมา เมื่อมีการปรับปรุงการผลิต มีผลทำให้ราคาลำไยดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้เรียกว่าเป็น "ยุคทอง" ของการปลูกลำไยก็ว่าได้ ราคาลำไยเติบโตจนถึงจุดสูงสุดในปี 2537 จนส่งผลให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเขตภาคเหนือกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตลำไยที่สำคัญของประเทศ ชาวบ้านโดยเฉพาะ จ.ลำพูน เปลี่ยนแปลงที่นาของตนเองเป็นสวนลำไยไปเป็นจำนวนมาก ล่าสุดตัวเลขพื้นที่การผลิตในปี 2550 พื้นที่เพาะปลูกลำไยทั่วประเทศคิดเป็นจำนวน 1 ล้าน 9 พันไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 495,457 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 528 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2549 ซึ่งผลผลิตต่อไร่ 542 กิโลกรัมต่อไร่  
ที่มา: สุพาณี ธนีวุฒิ, 2547 1


คดีความดังกล่าวเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลในโครงการรับจำนำและรับเงินจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (...) เมื่อปี 2547 กำหนดให้เกษตรกรสวนลำไยต้องไปขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบขึ้นทะเบียนผู้ปลูกลำไย (..) หากเกษตรกรไม่มีใบ ล.. จะไม่สามารถจำนำลำไยได้ นโยบายดังกล่าว กำหนดการรับจำนำลำไยให้กับเกษตรกรที่มีใบ ล.. เพียงไร่ละ 500 กิโลกรัม เท่านั้น ทั้งๆ ที่จริงแล้วในไร่หนึ่งจะมีลำไยมากถึง 2,000 กิโลกรัม ดังนั้น ลำไยส่วนที่เหลือต่อไร่ เกษตรกรก็ยังไม่มีวิธีจัดการ หากจะขายลำไยที่เหลือให้กับพ่อค้าก็ได้ราคาไม่ดี ยิ่งทำให้ขาดทุน เกษตรกรบางรายจึงแจ้งข้อมูลจำนวนไร่ลำไยของตนลงในใบ ล..มากกว่าความเป็นจริง เพื่อให้สามารถขายลำไยส่วนที่เหลือต่อไร่ให้หมด 2


ร้ายไปกว่านั้น เกษตรกรหลายรายกรอกตัวเลขจำนวนไร่ตามความเป็นจริง แต่ต่อมาพบว่าในใบ ล..ดังกล่าวมีการแต่งตัวเลขโดยสำนักงานเกษตรอำเภอให้มากกว่าความเป็นจริงด้วย เช่น เกษตรกรแจ้งไว้ 5 ไร่ แต่มีการเติมเลข 1 หน้าเลข 5 จนกลายเป็น 15 ไร่ เป็นต้น


ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ อ...ทำการตรวจสอบข้อมูลใบ ล..พบว่าเกษตรกรแจ้งจำนวนไร่ลำไย ในใบ ล.. เกินความเป็นจริง จึงแจ้งข้อหากับพนักงานสอบสวนว่าชาวบ้านแจ้งข้อมูลเท็จ 3


ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่ามีนายทุนซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการรับจำนำลำไย ได้มากว้านซื้อใบ ล..จากเกษตรกรในราคาใบละ 2,000 บาท แล้วนำมาสวมสิทธิเป็นของตนเองแทน กล่าวคือ ราคาลำไยที่รัฐบาลรับจำนำราคากิโลกรัมละ 5 บาท 10 บาท และ 15 บาท ตามเกรดของลำไย แต่การจำนำดังกล่าว เกษตรกรต้องต่อคิวเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน จึงจะได้รับเงินค่ารับจำนำ เมื่อนายทุนกว้านซื้อใบ ล.. ของเกษตรกรเพื่อสวมสิทธิตัวเอง ก็รับซื้อลำไยของเกษตรกรในราคาเพียง 3 บาท 8 บาท และ 13 บาท ตามเกรดลำไย จากนั้นจึงนำมาจำนำให้กับรัฐบาลอีกทอดหนึ่งในราคาที่รัฐบาลรับจำนำ ทั้งนี้ การที่เกษตรกรจำนวนมากยอมขายใบ ล.. และขายลำไยในราคาต่ำกว่าราคารับจำนำของรัฐบาลให้แก่นายทุน ก็เพราะเกษตรได้รับการจ่ายเป็นเงินสด ไม่ต้องรอคิวนานในกระบวนการรับเงินค่าจำนำลำไยโดยรัฐบาล กระทั่งเมื่อมีการตรวจสอบใบ ล.. ของเกษตรกร จึงเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา 4


นายบรรเทิง วงศ์ฟั่น ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน กล่าวว่า ตนได้เซ็นรับรองข้อมูลเนื้อที่การปลูกลำไยในใบ ล.. ให้กับชาวบ้านในฐานะเป็นกำนัน แต่หลังจากที่ทำการรับรองให้กับชาวบ้านแล้ว ก็เอาเอกสารต่างๆ ส่งไปให้ทางเกษตรอำเภอ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นมีการนำเอาเอกสารไปดำเนินการต่ออย่างไร แต่สุดท้ายก็กลับกลายเป็นว่าชาวบ้านและผู้เซ็นต์รับรองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยเกษตรกรถูกปรับรายละ 6,000 บาท


"หลังจากถูกดำเนินคดี ชาวบ้านก็เครียด ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเป็นเอกสารที่ชาวบ้านได้ไปขึ้นทะเบียนไว้จริง และมีการเซ็นต์รับรองจากผู้นำในท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต. โดยที่ผู้เซ็นต์รับรองก็ติดพ่วงถูกดำเนินคดีไปด้วย ตัวผมเองมีคดีติดตัวเพราะไปเซ็นต์รับรองให้ชาวบ้านกว่า 40 คดีแล้ว เจอแบบนี้ก็รู้สึกลำบากใจ เพราะคิดว่าเราไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่ก็ต้องมาถูกดำเนินคดีไปด้วย ส่วนชาวบ้านซึ่งเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ข้าวก็แทบไม่มีจะกิน แต่ก็จำเป็นต้องไปหากู้หนี้ยืมสินมาวิ่งเต้นเรื่องคดีความ บางคนมีที่ดินก็เอาไปขอขึ้นเงินกู้กับนายทุนนอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 10-20 หรือมีที่ดินแค่แปลงเดียวก็จำต้องขายที่ให้ญาติพี่น้อง เพื่อจะได้มีเงินเอาไปจ่ายค่าปรับคดี และดำเนินการต่อสู้คดี เขาก็เครียดมาก บางคนถึงขั้นช็อก และผูกคอตายไปแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นผมกล้ายืนยันในความบริสุทธิ์ของชาวบ้าน" นายบรรเทิง กล่าว


ด้านนายสุแก้ว ฟุงฟู ผู้ใหญ่บ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในระยะยาว รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร เพื่อให้พี่น้องชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ลำไย หรือ พืชผลการเกษตรอื่นๆ เพราะปัจจุบันนี้ราคาน้ำมัน และปุ๋ยมีราคาแพงขึ้นมาก


"รัฐบาลต้องเห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกร ดังคำกล่าวที่ว่า เกษตรกรคือกระดูกสันหลังของชาติ ไม่ใช่มาทำให้เกษตรกรในปัจจุบันกลายเป็น "คนหลังหัก" ที่แทบจะทำอะไรต่อไม่ได้ รัฐบาลต้องเข้ามาทำหน้าที่ประกันราคาพืชผลทางการเกษตรทุกตัว ต้องแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างจริงใจ โดยเฉพาะคดีความที่เกิดกับเกษตรกรนับพันรายนั้นต้องมีการตรวจสอบอย่างชัดเจน" นายสุแก้ว กล่าว


นายสุแก้ว กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานั้นช่วงราคาลำไยตกต่ำ รัฐบาลเคยมีแนวคิดให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อแก้ปัญหา การคิดเช่นนี้เป็นการคิดที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของเกษตรกร เช่น การส่งเสริมปลูกยางพาราในภาคเหนือ หากจะมาปลูกแทนที่ลำไยก็ลำบาก เพราะยางพาราควรถูกแบ่งเขตพื้นที่การปลูกตามธรรมชาติในแต่ละภูมิภาคอยู่แล้ว อีกอย่าง ชาวบ้านเกษตรกรก็ไม่รู้ว่าปลูกยางพาราไปแล้วจะราคาตกเมื่อไหร่


นายพินิจ ลิขิตบุญมา เจ้าของล้งรับซื้อลำไย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน กล่าวว่า มาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรสวนลำไยของรัฐบาลนั้น เมื่อรู้อยู่แล้วว่าช่วงลำไยออกทุกปีคือ เดือน ก..-.. ก็ควรจะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร โดยออกนโยบายวางมาตรการทุกอย่างให้ชัดเจน ซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ทำการอนุมัติเงินให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ก.. แต่ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่เป็นการอนุมัติเงินหลังจากเดือน ส.. หรือ ก.. ซึ่งการทำแบบนี้ ทำให้เงินมาไม่ทันการ ชาวบ้านก็ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะได้เลยช่วงการเก็บขายผลผลิตกลายเป็นช่วงที่ลำไยร่วงหมดแล้ว


"แนวทางหรือกลไกในการเข้ามาพยุงราคาสินค้าเกษตรโดยการแทรกแซงราคาทางการตลาดเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้นั้น ส่วนตัวเห็นว่า หากรัฐบาลคิดจะทำ ก็ควรจะออกมาอุดหนุนหรือประกันราคาก่อนฤดูกาลลำไยจะออกผลผลิต ไม่ใช่มาช่วยหลังจากนั้นเหมือนที่ทำๆ อยู่ ซึ่งเป็นการอนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกรหลังจากหมดฤดูกาลลำไยแล้ว จนเกษตรออกมาประท้วงไปเรียบร้อยแล้ว" นายพินิจ กล่าว


กรณีที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า นโยบายการรับจำนำลำไยของรัฐดังที่ผ่านมานั้น เมื่อดูเผินๆ ก็เหมือนเป็นแนวทางช่วยพยุงเกษตรกรสวนลำไยให้สามารถฝ่าพ้นจากวิกฤตราคาลำไยตกต่ำซ้ำซากไปได้ แต่ถ้าดูดีๆ ก็เห็นชัดเจนว่าได้สร้างปัญหาและผลกระทบยืดเยื้อฝากไว้ให้เกษตรกรสวนลำไยจัดการไปตามสภาพ ดังกรณีข้อหากระทำการแจ้งความเท็จปลอมแปลงเอกสาร ฉ้อโกง ทุจริต ที่เกษตรกรสวนลำไยจำนวนหลายพันรายใน จ.ลำพูน ถูกดำเนินคดี


อย่างไรก็ตาม คดีลำไยที่เกิดขึ้นมีทั้งลักษณะของการที่เกษตรกรสวนลำไยตกเป็นจำเลยแพะรับเคราะห์จากการบิดเบือนข้อมูลเอกสารใบ ล..โดยบุคคลอื่น หรือเป็นตัวเกษตรกรที่ลงมือกระทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใหม่ให้เป็นเท็จเสียเอง แต่คดีที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนภาพลึกลงไปกว่านั้นด้วยว่า ข้อกำหนดการรับจำนำลำไยของรัฐบาลมีความคับแคบ แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำน้อย ซ้ำร้ายกลับเป็นแนวคิดที่ตระหนี่ถี่เหนียว เพราะปริมาณผลผลิตที่รับจำนำจากเกษตรกรไม่ได้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่แท้จริง


แน่นอนว่ารัฐบาลที่ออกนโยบายนี้ได้หมดวาระแล้วเรียบร้อย นโยบายดังกล่าวก็เป็นอดีตไปแล้ว แต่สิ่งที่หลงเหลือไว้ในปัจจุบันคือภาพเกษตรกรชาวบ้านหลายรายยังต้องดิ้นรน วิ่งว้าวุ่นขึ้นโรง ขึ้นศาล มีภาระหนี้สินที่ต้องกู้เงินมาต่อสู้คดีอีก เรื่องนี้เป็นได้ทั้งบทเรียนและบทสะท้อนว่า ที่ผ่านมากลไกอำนาจในการกำหนดนโยบายหลายๆ อย่าง มักเป็นการอ่อยเหยื่อให้เกษตรกรชาวบ้านตกเป็นจำเลยรับเคราะห์อยู่เรื่อย และถูกทำให้ "เครียด-จน-เจ็บ" และ "เครียด-จน-ตาย" มานักต่อนักแล้ว


ส่วนอนาคต และทิศทางตลาดลำไย สำหรับเกษตรกรสวนลำไยที่เหลืออยู่ก็ง่อนแง่น และไม่อาจมีข้อรับประกันความหวังว่าจะเป็นพืชเงินพืชทองให้เกษตรสามารถเก็บขายได้แบบตลอดรอดฝั่ง แม้ปีนี้ปริมาณลำไยในท้องตลาดจะลดลง ผลผลิตน้อย แต่ความต้องการบริโภคยังสูงได้ช่วยเรียกราคาขายให้สูงขึ้นมาอีกนิดหน่อย แต่ปีต่อๆ ไป ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะผลพลอยได้จากความบังเอิญแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก


วันนี้ ตัวเกษตรกรเอง คงต้องคิดกับตัวเองให้หนักด้วยว่า จะหันมากำหนดชีวิตตัวเองให้อยู่ได้แบบมั่นคง ตลอดรอดฝั่ง อย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือจะยอมอยู่แบบ ขึ้นๆ ลงๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ตามตลาดการค้าเสรีที่ตัวเองไม่สามารถกำหนดราคาขายที่ยุติธรรม หรือมีอำนาจต่อรองทางการค้าไม่ให้ถูกพ่อค้า กลุ่มทุน ขูดรีดจนหมดตัว ส่วนหน่วยปฏิบัติการภาครัฐก็ต้องตระหนักในความยั่งยืน มั่งคั่งของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นหลัก และพอเสียทีกับนโยบายส่งเสริมตลาดการค้าขาย ที่มีแต่สร้างผลประโยชน์และผลกำไร ที่เอาไปส่งเสริมความยิ่งยงทางเศรษฐกิจให้กับคนเพียงจำนวนหนึ่ง


เชิงอรรถ
1 สุพาณี ธนีวุฒิ. "กรณีศึกษาลำไย ผลกระทบการค้าเสรี และการผูกขาดตลาดสินค้าเกษตร". ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน, 2547
2 เรียบเรียงจาก เกษตรกรชุมนุมจี้จังหวัดสางคดีทุจริตลำไย. สำนักข่าวประชาธรรม, 9 พฤษภาคม 2550
3 เรียบเรียงจาก สำนักข่าวประชาธรรม, อ้างแล้ว
4 เรียบเรียงจาก สำนักข่าวประชาธรรม, อ้างแล้ว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net