Skip to main content
sharethis

4 .. 51 - ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง สถานการณ์บ้านเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ระยอง ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์  ขอนแก่น  อุดรธานี หนองคาย สกลนคร  เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ กระบี่ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 3,880 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม  พ.ศ. 2551


 


เมื่อถามความคิดเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุคิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 27.7 คิดว่าเริ่มดีขึ้น และร้อยละ 13.2 คิดว่าดีเหมือนเดิม


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง ความทุกข์ใจของสาธารณชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองใน 4 ปัญหาหลักของประเทศ พบว่า สถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนทุกข์ใจมากเป็นอันดับแรกหรือร้อยละ 52.2 คือความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รอง ลงมาคือร้อยละ 49.7 ระบุเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มหนุน กับ กลุ่มต่อต้านพันธมิตร ในขณะที่ร้อยละ 48.7 ระบุทุกข์ใจต่อปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ และร้อยละ 38.5 ระบุทุกข์ใจต่อปัญหาชายแดนไทย - กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร


 


แต่เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 เห็นด้วย เพราะ ถ้าไม่แก้แล้วจะเกิดความวุ่นวาย / เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพรรคการเมือง / ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ / เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เป็นต้น ในขณะที่ ประชาชนจำนวนมากเช่นกันหรือ ร้อยละ 46.7 ไม่เห็นด้วย เพราะ ถ้าแก้ไขจะเกิดความวุ่นวาย / เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง / ต้องการให้


ประชาชนมีส่วนร่วมลงประชามติก่อน เป็นต้น


 


เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อ การลงประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 เห็นด้วยว่า ควรลงประชามติถามประชาชนก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ร้อยละ 25.4 ไม่เห็นด้วย


         


ที่น่าพิจารณาคือ การวิเคราะห์ทางสถิติจำแนกความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามระดับการศึกษา พบว่า ยิ่งการศึกษาสูงขึ้น จะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญลดน้อยลง โดยคนที่เรียนจบต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 55.5 คนจบปริญญาตรีร้อยละ 46.3 และคนจบสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 43.3 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในทางตรงกันข้าม ยิ่งคนที่จบการศึกษาสูงขึ้น ยิ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.5 ของคนที่จบต่ำกว่าปริญญาตรี ไปอยู่ที่ร้อยละ 56.7 ของคนที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี


 


อย่างไรก็ตาม คนที่มีรายได้น้อยมีจำนวนคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าคนที่มีรายได้สูง โดยพบว่า คนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ร้อยละ 54.0 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่คนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 20,000 บาท ร้อยละ 52.7 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 


นอกจากนี้ เมื่อจำแนกประชาชนออกตามภูมิภาค พบว่า ประชาชนในทุกภาคยกเว้นภาคใต้นั้น  เกินกว่าครึ่ง คือ ภาคเหนือร้อยละ 55.4 ภาคกลางร้อยละ 59.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 51.9 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 56.7 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ภาคใต้ร้อยละ 42.7 ที่เห็นด้วย  แต่ร้อยละ 57.3 ของคนในภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 


ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า คนที่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่คนที่ไม่สนับ สนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลุ่มคนที่น่าสนใจคือ คนที่ประกาศตนเองว่าเป็นพลังเงียบ ไม่ขออยู่ฝ่ายใด กำลังถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มพอๆ กันคือ ร้อยละ 51.6 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองอ่อนแอ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 48.4 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ ไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย และเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net