Skip to main content
sharethis

รัฐบาลพม่าให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อผู้ประสบภัยไซโคลนนาร์กิสในแบบการให้สินเชื่อเพื่อกู้ยืมเท่านั้น


เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เจ้าหน้าที่หลายรายของรัฐบาลพม่าเปิดเผยว่ารัฐบาลทหารพม่าจะให้ความช่วยเหลือกับเหยื่อผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มในแบบสินเชื่อ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจะต้องจ่ายคืนให้กับรัฐบาลในภายหลังเป็นค่าตอบแทนของสิ่งที่พวกเขาได้รับการช่วยเหลือ


 


เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลพม่าได้อนุญาตให้นักข่าวท้องถิ่นจำนวนหนึ่งเดินทางไปชมสถานที่ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กิสอย่างเป็นทางการได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในระหว่างการเดินทางไปสังเกตการณ์นั้น เจ้าหน้าที่ของทางการได้อธิบายแผนการในการให้ความช่วยเหลือชาวนาผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีซึ่งเป็นบริเวณที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงที่สุด โดยหมู่บ้านหลายแห่งถูกคลื่นถล่มจนเหลือแต่ซากส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันกว่า 138,000 ราย


 


เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าได้มีการช่วยเหลือชาวนาโดยจัดหาที่นาให้พวกเขาทำการเพาะปลูกและจัดหาเรือให้กับชาวประมง แต่ยืนยันว่าเหยื่อพายุไซโคลนที่ได้รับการช่วยเหลือจะต้องชดใช้เงินคืนให้กับรัฐบาลเป็นค่าตอบแทนของสิ่งที่พวกเขาได้รับการช่วยเหลือไป


 


เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งที่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อ กล่าวว่า "หากทุกสิ่งทุกอย่างได้มาฟรี คุณค่าของมันก็จะน้อย หากสิ่งที่ได้รับไปจะต้องมีการจ่ายคืน พวกเขาก็จะพยายามถึงที่สุดในการทำงาน นี่เป็นระบบ รัฐบาลจะจัดหาทุกสิ่งให้กับพวกเขาผ่านทางระบบที่ต้องมีการชำระเงินคืน ไม่เช่นนั้นแล้วการควบคุมการบรรเทาทุกข์ก็จะทำได้ลำบาก"


 


องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่ามีประชาชนราว 2,400,000 ราย ที่ประสบความยากลำบากในการกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติหลังจากประสบภัยพิบัติครั้งนี้


 


บรรดาชาวนาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมรับการช่วยเหลือในแบบกู้ยืม โดยพวกเขาระบุว่า ยังไม่รู้ว่าจะสามารถใช้คืนได้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหลายรายยืนยันว่าบรรดาชาวนานั้นพร้อมที่จะใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาตนเองแล้ว ซึ่งการประเมินดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ของพม่าแตกต่างจากความคิดเห็นจากการประเมินของเจ้าหน้าที่ยูเอ็นซึ่งรัฐบาลทหารพม่าไม่รับฟัง ที่เตือนว่าชาวนาจำนวนมากจะยังไม่สามารถเริ่มต้นเพาะปลูกได้ในปีนี้


 


ชาวนาจำนวนหนึ่งบอกว่า กว่าครึ่งของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้รับบริจาคมาปลูกแล้วไม่งอก ขณะที่ควายที่นำมาจากพื้นที่บริเวณภูเขานั้นไม่สามารถนำมาใช้ไถนาได้


(มติชน วันที่ 4/08/2551)


 


ซาร์กานาอาจถูกจำคุก 2 ปี ในข้อหาก่อความวุ่นวาย


ทนายความของซาร์กานาเปิดเผยว่า ซาร์กานา นักแสดงตลกชื่อดังของพม่าและนักเคลื่อนไหวอีก 3 คน ซึ่งช่วยเหลือในการบรรเทาทุกข์เหยื่อไซโคลนนาร์กิสอาจถูกจำคุก 2 ปี ในข้อหาก่อความวุ่นวาย ทั้งนี้ซาร์กานาและนักเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกนำตัวขึ้นศาลในเรือนจำอินเส่ง เมื่อวันพุธที่ 30 กรกฎาคมผ่านมา แต่ทนายความยังไม่ได้พบกับลูกความจึงไม่อาจยืนยันข้อกล่าวหาได้ แต่เชื่อได้ว่าซาร์กานาและนักเคลื่อนไหวจะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมาย


(เดลินิวส์ วันที่ 4/08/2551)


 


เกิดเหตุระเบิดในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ


หนังสือพิมพ์นิวไลต์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานว่าเกิดระเบิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง เมื่อเวลา 22.40 น. วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาตรงกับเวลาเดียวกันในไทย ทำให้เสาไฟฟ้าต้นหนึ่งล้ม ต่อมาเกิดระเบิดขึ้นในรัฐมอญ เมื่อเวลา 23.30 น. วันเดียวกัน ทำให้ประตูและหน้าต่างของสำนักงานบริการโทรศัพท์ของรัฐเสียหาย แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ และไม่ทำให้บริการโทรศัพท์มีปัญหา


 


นิวไลต์ ออฟ เมียนมาร์ โทษกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า ว่าหวังล้มล้างรัฐบาลด้วยการวางระเบิด เพื่อบ่อนทำลายสันติภาพ ความสงบสุข ความเป็นระเบียบเรียบร้อย สังหารผู้บริสุทธิ์ และทำให้ประชาชนตื่นตระหนก


 (สำนักข่าวไทย วันที่ 1/08/2551)


 


เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิสในพม่าได้หายไปราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม จอห์น โฮล์ม รองเลขาธิการฝ่ายกิจการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ออกมาเปิดเผยหลังจากที่เขาเดินทางกลับไปในเขตอิระวดีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมอีกครั้งหนึ่งว่า เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิสในพม่าได้หายไปราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 330 ล้านบาท) จากเงินช่วยเหลือทั้งหมดประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการในพม่าแตกต่างอย่างมากจากอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด


 


โดยอัตราแลกเปลี่ยนจริงในตลาดพม่าอยู่ที่ 1,100 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์ แต่อัตราของยูเอ็นแลกได้เพียง 800 จ๊าต ต่อ 1 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่ายูเอ็นแลกเงินจ๊าตในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราจริงราว 20% และต่อไปอาจเพิ่มเป็น 25%


 


นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติไซโคลนนาร์กิสเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลทหารพม่ามีการเปลี่ยนแปลงวันต่อวันและไม่คงที่ ต่อกรณีที่เกิดขึ้นทำให้ทางยูเอ็นรับไม่ได้กับปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้น เพราะแสดงให้เห็นชัดว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์จากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ขณะนี้เขาได้แจ้งให้ทางการพม่าทราบเรื่องแล้วและจะพยายามกดดันอย่างหนักให้พม่าแก้ไขปัญหานี้


 (ไทยโพสต์ วันที่ 30/07/2551)


 


TBC สนับสนุนเส้นทางเศรษฐกิจเชื่อมไทย-พม่า-อินเดีย


นายชาญชัย เตช์สหงษ์ วิศวกรใหญ่ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังจากเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการ TBC ระดับท้องถิ่น ด้านโครงการการก่อสร้างถนนเชื่อมเส้นทาง ไทย-พม่า-อินเดีย ระหว่างเมืองแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก-ร่างกุ้ง-พุกาม-ตามู-เข้าสู่ชายแดนอินเดียที่เมืองกาเลย์ ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีความเห็นที่ร่วมกันก่อสร้างถนนเป็นระยะทาง 1,400 กม. จากชายแดนไทย-พม่าสู่อินเดีย ซึ่งเป็นแนวถนนเส้นทางสายเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก อิสเวตส์-อิโคโนมิค-คอริดอร์ เพื่อใช้เป็นทางการคมนาคม การค้า การท่องเที่ยว รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


 


ทั้งนี้ถนนสายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.แม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกาเรก ระยะทางประมาณ 80 กม. ไทยเป็นผู้สนับสนุนพม่า ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วจนถึงเชิงเขาตะนาวศรีแล้วเสร็จและส่งมอบให้พม่าดูแล ส่วนที่ 2.จากเมืองกาเลย์ ชายแดนประเทศอินเดีย มาถึงเมืองตามูของพม่า ระยะทาง 160 กม. ซึ่งอินเดียสนับสนุน ยังคงเหลือในบางส่วนที่เป็นเส้นทางผ่านในพม่าเอง คือส่วนที่ 3. สำหรับงบประมาณในการศึกษา-สำรวจ-วิจัย เส้นทาง ไทย-พม่า-อินเดีย นั้นเบื้องต้นจะต้องใช้งบศึกษาเส้นทาง 15 ล้านบาท


 


ที่ประชุมได้สรุปผลการรายงานศึกษาเส้นทาง ช่วงแรกจากแม่สอดถึงกม.18ของพม่า และมีการส่งมอบเส้นทางสายดังกล่าวเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ยังได้แจ้งให้พม่าทราบถึงผลการดำเนินงานซ่อมแซมสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แม่สอด-เมียวดี ที่ได้ชำรุดเมื่อปี 2548 และได้ซ่อมแซมแล้วเสร็จแล้ว เพื่อให้พม่าได้ใช้สะพานมิตรภาพฯขนส่งสินค้าได้ตามปกติ ตามน้ำหนักมาตรฐาน 25 ตัน


 (แนวหน้า วันที่ 1/08/2551)


 


จอร์จ ดับเบิลยู บุช พร้อมภรรยา เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางอองซานซูจีและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดน


ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับนายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพุธที่ 30 ก.ค. ว่า ระหว่างการเดินทางเยือนไทยนั้น ภรรยาของเขาจะตอกย้ำคำเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายกเลิกการกักบริเวณนางอองซานซูจี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าอย่างแน่นอน


 


ตามกำหนดการที่วางไว้ บุชมีกำหนดพบหารือกับกลุ่มแกนนำต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าระหว่างการรับประทานอาหารเที่ยง ที่สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในพม่า และสะท้อนความเป็นห่วงใยของรัฐบาลอเมริกันต่อการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยของผู้นำทหารพม่า


 


บุช ยังจะรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับความช่วยเหลือของนานาชาติที่มีต่อผู้ประสบภัยในพม่าจากเหตุพายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มช่วงต้นปี


 


นอกจากนี้ระหว่างที่ประธานาธิบดีบุช มีกำหนดพบหารือกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และแกนนำกลุ่มต่างๆในกรุงเทพมหานครนั้น นางลอร่ามีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนค่ายผู้อพยพที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ จะได้พูดคุยกับนางซินเทีย หม่อง ผู้อำนวยการศูนย์รักษาผู้ป่วยผู้อพยพที่ชายแดนไทยพม่า เจ้าของรางวัลแมกไซไซด้านบริการชุมชนเมื่อปีที่แล้ว


 


ที่ผ่านมา นางลอร่า มีบทบาทอย่างมากในการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือนางซูจี โดยเมื่อเดือนพ.ค. 2550 เธอได้ร่วมมือกับสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐผู้หญิง 16 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศแห่งนี้ กดดันให้รัฐบาลทหารพม่าคืนอิสรภาพให้แก่นางซูจี


 


ต่อมาในเดือนมิ.ย.ปีเดียวกัน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล แสดงความเสียใจที่นางซูจี ต้องฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 62 แบบโดนกักบริเวณ


 


พร้อมกันนี้ ผู้นำสหรัฐ ยังได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้การตัดสินใจคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อพม่า ไม่ได้บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลทหารพม่าว่า เป็นเพราะบางประเทศในภูมิภาคนี้ ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการคว่ำบาตรด้วย


(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4/08/2551)


 


 






Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่
www.burmaissues.org


และสามารถอ่านข่าวย้อนหลังได้ที่


www.oknation.net/blog/burmaissuesnewsline


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net