Skip to main content
sharethis





เมื่อวันที่ 3 ส.ค. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมจัดการอภิปราย "การเมืองสยามประเทศ(ไทย)-หลังสมัคร II และ/หรือ "ตุลาการภิวัตน์-ได้ผลจริงหรือ" ห้อง 201 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ท่าพระจันทร์ ร่วมอภิปรายโดย ดร.คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 นาย พนัส ทัศนียานนท์ อดีต สว.ตาก รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ดำเนินการอภิปราย โดย ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.


 


00000


พนัส ทัศนียานนท์


 


โจทย์ที่ว่า ตุลาการภิวัตน์ ได้ผลจริงหรือ เราคงต้องมองปัญหาว่า ถ้าจะตอบโจทย์นี้จะมองในระยะใกล้-ไกล สักแค่ไหน ในระยะใกล้หรือภายในรัฐบาลสมัครนั้น เท่าที่ติดตามมา เมื่อวันพฤหัสที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลอาญาได้พิพากษาในคดีสำคัญคดีแรก ซึ่งเป็นผลงานแรกของ ปปช. กับ คตส. ก็เชื่อว่า ตุลาการภิวัตน์ในฐานะที่อาจจะเรียกว่าเป็นขบวนการ เป็นวาทกรรมหรืออะไรก็แล้วแต่ของสังคมไทยก็เริ่มแผลงฤทธิ์แล้ว และเชื่อว่า ต่อไปน่าจะเป็นในลักษณะเป็นโดมิโนเพราะคนที่มีหน้าที่ชงเรื่อง คือ คตส. ก็หมดภาระ จบบทบาทไปแล้ว


 


ในความเข้าใจของผม ในฐานะที่เคยมีโอกาสอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมา และฐานะที่เคยช่วยคุณคณิน ยกร่างรัฐธรรมนูญ2540 มาด้วยกัน ผมค่อนข้างจะฟันธงว่า สุดท้ายแล้วในระยะอันไม่ไกล ซึ่งคงขึ้นกับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญานักการเมือง อย่างมากที่สุดไม่เกินหนึ่งปีจากนี้ไป สิ่งที่เรียกกันว่า ระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของระบบการตรวจสอบของรัฐธรรมนูญ2540 ตามที่คุณคณินได้กล่าวไว้แล้วนั้น ก็คงจะถูกตุลาการภิวัตน์ทำลายล้างลงหมดสิ้นไปอย่างแน่นอน


 


ผมค่อนข้างเชื่อว่า จากการติดตามเรื่องนี้ และเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องบางส่วน ทั้งการมีส่วนร่วมรัฐธรรมนูญ 2540 และเข้ามามีบทบาทการตรวจสอบอยู่ในวุฒิสภา ซึ่งหลายท่านคงทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย จากการเกิดปัญหาต่างๆ จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นมา และในที่สุด เกิดปรากฎการณ์สนธิ เกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งล่าสุด อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ที่ประดิษฐ์คำ ตุลาการภิวัตน์ ขึ้นมา ก็มีบทวิเคราะห์เมื่อ 26 ก.ค. ว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ยกระดับขึ้นเป็นขบวนการทางการเมืองแล้ว และขณะนี้ก็ทำการรุกไล่อย่างหนัก หรือเป็นสงครามเชิงรุกด้วยซ้ำไป จากคำพูดที่พูดกันบนเวทีพันธมิตรฯ พันธมิตรฯ ตั้งความหวังไว้กับการดำเนินคดีต่างๆ มาก มีการเอาคดีแต่ละคดี มาระบุเป็นคดีๆ ว่าจากนี้ต่อไป 1 2 3 อะไรจะเกิดขึ้น


 


คดีแรกที่เฮกัน คือ หลังจากศาลฎีกา แผนกคดีอาญานักการเมือง ซึ่งทีแรก พอคดีหวยบนดินถูกนำไปฟ้องต่อท่านแล้ว ท่านยังไม่รับโดยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตอนนั้นก็เกิดการลังเลชะงักงันกันขึ้น ว่าระบอบทักษิณแผลงฤทธิ์อีกหรืออย่างไร จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งตั้งเข้าไปใหม่ ก็เริ่มทำงาน คดีแรกที่วินิจฉัยลงมา คือคดีที่ว่านี้


 


แต่ก่อนหน้านั้นมีการเด็ดหัวรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลนี้ไปก่อนแล้ว นั่นคือ คุณไชยา สะสมทรัพย์ เนื่องจากภรรยาถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วไม่รายงาน ก็หลุดไปก่อน แล้วยังมีคดีคนอื่นๆ อีกที่กำลังติดตามมา 6 ส.ค.นี้เป็นคุณวิรุฬ ซึ่งเขาเชื่อกันว่า จากการประสานและรับลูกกันเป็นทีมเวิร์คอย่างดี ระหว่าง ส.ว.บางส่วน ซึ่งเป็นสายสรรหาทั้งสิ้น ที่นำเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีทีค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ  


 


ทุกคนก็แสดงความเชื่อมั่นกันว่าสุดท้ายแล้วหวยต้องออกอย่างที่คิดแน่ๆ สุดท้ายก็ชี้ลงมาว่า ที่มาของ คตส. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะ คปค. ซึ่งต่อมากลายร่างเป็น คมช. ได้ทำการยึดอำนาจและในขณะนั้นอาจจะถือว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่า รัฐฎาธิปัตย์ ตามหลักนิติศาสตร์ไทย ซึ่งมีมานานพอสมควรนับแต่เรามีปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็มีการยอมรับไว้โดยชัดแจ้ง โดยสถาบันตุลาการของเราเอง คือศาลฎีกา ซึ่งมีการวินิจฉัยไว้ตั้งแต่ปี 2496 ว่า การที่คณะรัฐประหารได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในขณะนั้น เมื่อปี 2490 เมื่อสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ ก็ถือว่าเป็นรัฐฎาธิปัตย์ตามระบอบแห่งการปฎิวัติ เมื่อสามารถยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ เป็นรัฐฎาธิปัตย์ สิ่งใดที่ออกมาจากรัฐฎาธิปัตย์ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมายที่ชอบ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งนำมาใช้หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 8 พ.ย. 2490 ศาลฎีกาในสมัยนั้นจึงวินิจฉัยว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ชอบ ถือว่าเป็นกฎหมาย เพราะออกมาจากอำนาจของคณะรัฐประหารผู้ยึดอำนาจได้สำเร็จ


 


สิ่งนี้ก็เป็นบรรทัดฐานที่ศาลหรือฝ่ายตุลาการของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามทฤษฎีอย่างที่ อ.จันทจิรา ได้กล่าวเกริ่นนำไว้แล้วว่า อำนาจอธิปไตยมีสามอำนาจ คือ อำนาจตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ แต่ในอดีต พวกเราคงจะไม่ค่อยทราบความเป็นมาเป็นไปของตุลาการเท่าไหร่นัก หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ในกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างเป็นแดนสนธยา ซึ่งคนภายนอกไม่ค่อยจะรู้เรื่องรู้ราวอะไรนัก และท่านก็มีบทบาทค่อนข้างจะจำกัด อยู่กับการพิจารณาและพิพากษาคดี เป็นการกำหนดบทบาทในเชิงรับ passive ไม่ได้ active ที่จะทำให้กลายเป็นตุลาการภิวัตน์ในภายหลัง เพราะฉะนั้นในยุคสมัยนู้น ในอดีต โดยเฉพาะในวงการนักนิติศาสตร์ ถ้าจำไม่ผิด ถ้าหากจะมีการสัมมนาในแวดวงนิติศาสตร์เอง นักนิติศาสตร์รุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะ อ.สมชายที่นั่งอยู่นี่เชื่อว่าคงจะจำกันได้ ในยุคก่อนจะมีเสียงเรียกร้องให้ตุลาการออกมาภิวัตน์ แทนการตั้งรับอยู่ตลอดเวลาคือแทนที่จะทำหน้าที่แบบตั้งรับตลอดเวลา คือ เมื่อไม่มีคดีมาสู่ศาล ศาลก็จะไม่ทำอะไร ประกอบกับบรรทัดฐานที่มีการกำหนดเอาไว้มา


 


คดีที่ส่งไปแม้อัยการจะไม่เอาด้วย แต่เมื่กระแสจุดติดก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ของมัน จนกว่าศาลฎีกาจะพิจารณาคดีการเมืองสิ้นสุด แต่ระยะยาวโดยเฉพาะความรู้สึกของประชาชนคงไม่สามารถประเมินได้ แต่หากประชาชนได้รับความมั่นใจว่าการพิจารณาของศาลต่างๆ เป็นการพิจารณาบนพื้นฐานของกระบวนการพิจารณาซึ่งมีหลักประกันในการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ก็คงอยู่ต่อไป


 


บทบาทของศาลปกครองต่อการเคลื่อนไหวเรื่องตุลาการภิวัตน์ ทั้งสองศาลเกิดเมื่อรัฐธรรมนูญ2540 ทั้งคู่ แต่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลปกครอง


 


ลักษณะของศาลปกครองจะคล้ายศาลยุติธรรม คือมีความเป็นมืออาชีพ แต่ตุลาการศาลปกครองต้องผ่านคุณสมบัติค่อนข้างสูง แตกต่างจากที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เกิดการแทรกแซงขึ้นตั้งแต่ต้นที่มีการสรรหา แต่ภายหลังแล้ว อย่างที่ทราบกันดีว่า ศาลรัฐธรรมนูญยิ่งกว่ามีการแทรกแซง แต่เป็นการจับวางเลยว่าใครจะเข้าไป ซึ่งรัฐสามารถสั่งได้ เป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเมือง


 


คือแทนที่จะทำหน้าที่ตั้งรับอยู่ตลอดเวลา คือถ้าไม่มีคดีมาสู่ศาล ศาลก็ไม่ทำอะไร เมื่อมีคดีมาแล้วศาลก้ตัดสินคดีไปตามกฎหมายที่มีอยู่ หรือไม่ก็ประกอบบรรทัดฐานที่มีกำหนดมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม คือในอดีตศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดวินิจฉัยในเรื่องใดไว้อย่างไรก็ถือว่าเป็นบรรทัดฐาน ก็นำมาใช้พิจารณาประกอบกับการบังคับใช้กฎหมาย วินิจฉัยและพิพากษาคดีเป็นเรื่องๆ ไป


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความรู้สึกกันว่าคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่วางบรรทัดฐานไว้แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการยอมรับอำนาจของรัฐฎาธิปัตย์ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการยึดอำนาจหรือทำรัฐประหารได้มีการปรับเปลี่ยนท่าทีตรงนี้ สิ่งที่เรียกร้องกันมากหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมกลับมาจากอเมริกามีการตื่นตัวกันมากที่อยากให้ศาลมีบทบาทในลักษณะที่เป็นการยืนยันหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐในการปกครองบ้านเมืองเพื่อเป็นการคานหรือสมดุลย์ให้เกิดเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงในบ้านเมืองของเรา


 


เพราะฉะนั้นเสียงเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมมีบทบาทในทางบวกหรือในทางรุกมากขึ้นจึงมีมาโดยตลอด หลังจากที่เรามีวิกฤติการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 2519 จนมากระทั่งถึงพฤษภาทมิฬ 2535 สิ่งที่เป็นกระแสและเกิดเป็นการเรียกร้องที่อยากจะให้อำนาจฝ่ายตุลาการออกมามีบทบาทให้มากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม โดยเฉพาะบทบาทในการรักษาสิ่งที่เราเรียกว่า หลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ เพื่อเป็นการจรรโลงระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของท่านในการมาพิทักษ์และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อไม่ให้ถูกอำนาจรัฐกดขี่ข่มเหงและย่ำยีหรือมีการย่ำยีสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ชอบด้วยระบอบการปกครองในแบบประชาธิปไตย


 


จนกระทั่งในที่สุด เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่คุณคณิน สรุปให้เราเห็นภาพค่อนข้างชัดเจนแล้ว ผมมีส่วนร่วมด้วย แต่อยากจะขอเรียนว่าในบางจุดบางประเด็นไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ในการสร้างระบบการตรวจสอบขึ้นมาในลักษณะที่ส่วนหนึ่งดูหมือนเบ็ดเสร็จ ดูแล้วน่าจะเหมือนมีประสิทธิภาพประสิทธิผลค่อนข้างมากทีเดียว แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นอย่างที่พวกเราทราบ ระบบการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีความรู้สึกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นมามันก้นำไปสู่การเกิดมีตุลาการภิวัตน์ขึ้นมา ก็คือสิ่งที่เราเห็นได้ว่าเดิมทีเดียวเรามีแค่ศาลยุติธรรม แต่พอมีรัฐธรรมนูญ 2540 เรามีศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมา เรามีศาลปกครองเกิดขึ้นมา ผมเองเป็นคนเสนอ ตอนแรกทีเดียวในกรอบที่เขาร่างกันไว้ร่างแรกไม่มีศาลปกครอง ก้มีการมาล็อบบี้กัน เรียกว่าอย่างนั้น มันน่าจะมีศาลปกครองขึ้นมาด้วย


 


ส่วนหนึ่งเกิดมีขึ้นมาแล้ว การทำหน้าที่ของศาลปกครองเป็นอย่างไร การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ผมคิดว่าเราต้องแยกแยะ ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ใครบ้างที่เป็นตัวเล่น เป็นคนที่มีบทบาท ตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่แท้จริง น่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นการภิวัตน์ในขอบเขตที่เราคิดว่ามันน่าจะถูกต้องและเหมาะสม คือให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการชี้ว่ารัฐสภาออกกฎหมายใดไปแล้วขัดกับรัฐธรรมนูญ อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจหลักของท่าน


 


แต่อันหนึ่งซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวของผม ไม่ทราบว่าคุณคณินจะแชร์กับผมด้วยหรือไม่ คือเราพลาดที่ไปเน้นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้มีอำนาจไปชี้ปัญหา ไปวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองมากเกินไป แทนที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน อย่างเช่นศาลสูงของสหรัฐฯ หรือศาลรัฐธรรมนูญในภาคพื้นยุโรป เรากลับไปเน้นให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง เมื่อเป็นศาลการเมือง จะไปว่าไปโทษทางฝ่ายการเมืองทั้งหมดก็ไม่ได้ คณะกรรมการสรรหาที่จริงแล้วก็เกือบไม่ได้แตกต่างอะไรกันกับคณะกรรมการสรรหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วมีหนึ่งองค์ประกอบเท่านั้นเองที่เห็นว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการแทรกแซง คือมีตัวแทนพรรคการเมืองอยู่ในนั้นด้วย ของทั้งพรรครัฐบาลและทางพรรคฝ่ายค้าน  พอรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เอาตรงนี้ออกไป เพราะฉะนั้นคณะกรรมการสรรหาในปัจจุบันจึงเป็นกรรมการสรรหาซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากตุลาการบวกกับประมุขขององค์กรอิสระต่างๆ


 


อันนี้ เราก็เกิดลักษณะที่ว่าความยึดโยงกับประชาชนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมขององค์กรเหล่านี้ในรัฐธรรมนูญที่น่าจะเรียกได้ว่าหรือพิจารณาได้ว่าเป็นองค์กรหรือเป็นสถาบันในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่มีเลย ขาดไปเลย เพราะฉะนั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มองเห็นว่าระบอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 แม้จริงแล้วเป็นระบอบที่เรียกว่าระบอบอมาตยาธิปไตยมากกว่า เพราะองค์กรที่สำคัญในรัฐธรรมนูญขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเกือบจะเรียกได้ว่าโดยสิ้นเชิง


 


ประเด็นที่ผมตั้งใจพูดตั้งแต่แรกคือการตอบโจทย์ว่าตุลาการภิวัตน์ได้ผลหรือไม่ ผมอยากพูดโดยสรุปตรงนี้ว่า ในระยะสั้นเชื่อว่าทุกคดีที่ คตส.ได้ทำการไต่สวนและส่งขึ้นไปแล้วถึงแม้อัยการจะไม่เห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง แต่สุดท้ายแล้วกระแสมันขึ้นแล้ว กระแสตุลาการภิวัตน์เครื่องติดจริงๆ แล้วมันก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็น ถ้าเราอยากจะเห็นเหมือนเปาบุ้นจิ้นเอาอาวุธประหารชีวิตหัวสุนัขมา เราก็คงจะเห็นแล้วอาจจะมีคอขาดกระเด็นกันเป็นแถวๆ ในช่วงเวลาหลังจากนี้ไปจนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองจะพิจารณาคดีต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ศาลโดย คตส. และต่อไป คือ ปปช . จะเสร็จสิ้นลงในที่สุด แต่ส่วนในที่สุดแล้วระยะยาวจะเกิดผลอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ความรู้สึกของประชาชนทั่วไป นี่คือสิ่งที่เราคงยังไม่อาจที่จะประเมินมันได้ เป็นเรื่องที่เราต้องรอดูต่อไป


 


แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดถ้าหากว่าประชาชนได้รับความมั่นใจว่าการพิจารณาคดีของศาลต่างๆ ใช่เฉพาะศาลอาญาแผนกคดีอาญานักการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองหรือแม้แต่ศาลยุติธรรมเองที่เพิ่งตัดสินไปเมื่อสองสามวันนี้เป็นการพิจารณาคดีซึ่งอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการพิจารณาซึ่งมีหลักประกันในการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง คิดว่าตุลาการภิวัตน์จะดำรงคงอยู่กับสังคมไทยเราตลอดไป


 


จันทจิรา - อาจารย์พูดถึงศาลรัฐธรรมนูญ แล้วบทบาทของศาลปกครองกับตุลาการภิวัตน์เป็นอย่างไร


ที่จริงศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญก่อกำเนิดโดยรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยกันทั้งคู่ บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเดิมที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 แตกต่างจากศาลปกครองโดยสิ้นเชิง ในเบื้องต้นสิ่งที่ต้องพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างกันในแง่ของที่มาก็ต่างกันแล้ว ลักษณะของตุลาการศาลปกครองจะคล้ายคลึงตุลาการศาลยุติธรรม คือมีลักษณะเป็นมืออาชีพ ถึงแม้ว่าจะไม่ให้เหมือนศาลยุติธรรมคือต้องเรียนจบนิติศาสตร์และจบเนติบัณฑิตแล้วไปสอบเป็นตุลาการได้ก็ตาม แต่ตุลาการศาลปกครองกำหนดคุณสมบัติไว้ค่อนข้างเข้มงวดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ทางด้านกฎหมายมหาชนต้องมีเป็นพิเศษ


 


พิจารณาจากที่มีตรงนี้ก็แตกต่างจากศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ความรู้สึกที่ว่า มีการแทรกแซงก็เกิดขึ้นนับตั้งแต่เริ่มต้นที่มีกระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นี่คือความแตกต่างที่สำคัญแต่ส่วนในภายหลังแล้วอย่างที่พวกเราก็ทราบกันดีก็คือว่าศาลรัฐธรรมนูญเองถูกมองว่าได้มีการยิ่งกว่าแทรกแซง คือการจับตัววางกันเลยว่าจะนำใครเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจรัฐสามารถสั่งได้ในขณะนั้นนั่นก็เป็นต้นเหตุหรือที่มาของวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อมา


 


00000


(ช่วงสรุป)


 


คงมีหลายท่านที่อยากทราบว่าผมมีเหตุผลอะไรที่ว่าถึงอย่างไรระบอบทักษิณก็ไปหมดแน่ คำตอบของผมคือ อันที่จริง ระบอบทักษิณถูกตัดสินไปแล้ว ตั้งแต่ 19 ก.ย. 49 เพียงแต่กระบวนการที่ทำให้การลงโทษเกิดผลชะงัดจริงๆ ต้องใช้เวลา คือแทนที่ คมช. จะฟันซะเอง เนื่องจากตัวเองมีอำนาจในรัฐฎาธิปัตย์ แต่เนื่องจากมีข้อขัดข้องทางเทคนิค เนื่องจากเรามีรัฐประหารมาหลายครั้งหลายคราว มันมีข้อจำกัดติดขัดอยู่เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนพฤษภาทมิฬ ซึ่งมีการยึดทรัพย์แล้วมีปัญหาเทคนิคทางกฎหมาย จนกระทั่งในที่สุด หลุดไปหมด ทุกคนคงจำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น คมช. ตอนที่เป็น คปค. จึงไม่กล้าใช้อำนาจเด็ดขาดตรงนั้น


 


แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ ข้อกล่าวหาที่ว่ามีการคอร์รัปชั่นทั้งในเชิงนโยบายและไม่ใช่เชิงนโยบายเอาดื้อๆ นะครับ ข้อหากล่าวทั้งหมดถูกสรุปแล้ว ตัดสินแล้ว พอต่อๆ มาก็คาดกันว่า มันน่าจะจบตรงนั้นแล้ว แต่ปรากฎไม่จบ พอมีรัฐธรรมนูญแล้ว มีเลือกตั้งแล้ว กลับฟื้นขึ้นโดยมีพรรคพลังประชาชนเป็นร่างทรง ทั้งๆ ที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบไปแล้ว ก็ยังมาอยู่ในร่างทรงของพรรคพลังประชาชน เพราะฉะนั้นระบอบทักษิณยังไม่จบ ยังไม่ได้ถูกขจัดไปโดยเด็ดขาด เลยก็ต้องมีพิธีกรรมเพื่อเด็ดหัวให้ขาดไปให้ได้ ... อาจมีคนบอกว่านี่เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว ก็เป็นไปตามกฎหมายของ ปปช. เมื่อตั้ง คตส. ขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะใช้กฎหมายของ ปปช. ส่วนศาลฎีกา แผนกคดีอาญานักการเมือง วิธีพิจารณาก็เกือบจะไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ2540 ก็อ้างกันอย่างนั้นได้  


 


แต่มีข้อสังเกตว่า เนื่องจากมีการตัดสินไปแล้ว กลายเป็นกระแสไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมา พอพันธมิตรฯออกมาอีก อันนี้คือการเปิดศาล โดยพันธมิตรฯ แล้วพิจารณากันทุกวัน พิจารณาข้างเดียว สืบพยานข้างเดียว แล้วก็ตัดสินกันแล้วตัดสินกันอีก เพราะฉะนั้น กระบวนการในขณะนี้ไม่ได้ใช้ตุลาการภิวัตน์ในการตัดสินว่าผิดหรือไม่ แต่ผมว่าเป็นตุลาการพิฆาตมากกว่า ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์หรอกครับ เพราะตุลาการก็จะทำหน้าที่แค่เพชรฌาตเท่านั้นเอง ผมกล้ายืนยันตรงนี้ เพราะผมเชื่อว่า ตุลาการไทยก็เหมือนคนไทยทั่วไป คือไม่กล้าทวนกระแส


 


ผมเองทำงานในกระบวนการยุติธรรมมา ท่านอยู่กับฝ่ายอำนาจ เพราะท่านคือส่วนหนึ่งของอำนาจ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมประเพณีที่สั่งคมกันมาเป็นประเพณีนิยมด้านของอำนาจ เราจะคาดหวังว่า ตุลาการภิวัตน์จะทำหน้าที่เหมือนตุลาการภิวัตน์ในต่างประเทศ คือมีความคิดหรือจิตใจที่ยึดมั่นกับหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ ก็อย่างที่อ.สมชาย ยกตัวอย่างว่า พิจารณาคดีแค่นี้เท่านั้นใช้เวลาตั้ง 10 ปี (คดีฝุ่นฝ้าย) นี่คือหลักนิติธรรมตรงไหน สิทธิของประชาชนไม่ได้มีความหมาย เพราะฉะนั้นตรงนี้คือสิ่งที่ผมมองว่า เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป คือ ในการดำเนินคดี หากมีการตัดสินกันล่วงหน้าแล้ว โดยเฉพาะในแง่ความคิดหรือความรู้สึกตั้งจนเป็นกระแสแล้ว ไม่ใช่เฉพาะเวทีของพันธมิตรฯ ทุกฝ่าย สื่อเกือบจะทุกแขนงเลย พิจารณาพิพากษาคดีนี้กันเป็นปีๆ แล้ว ลงโทษกันให้เรียบร้อยหมดแล้ว


 


ถ้าเป็นการพิจารณาคดีในต่างประเทศ ซึ่งใช้ระบบ common law ซึ่งมีลูกขุน เขาถือว่านี่เป็นการพิจารณาคดีโดยสื่อ ถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่างใน คตส. เอง ที่เป็น ส.ว. เป็น ส.ส.ร. เป็นเพื่อนกันมา ยังมีรายการแกะรอยคอร์รัปชั่นเลยไม่ใช่หรือ นี่เป็นการชกข้างเดียวแน่นอนอยู่แล้ว แล้วอย่างท่านเอง ท่านดูท่านฟัง หลายคนที่ติดเลยด้วยซ้ำ แล้วท่านไม่เชื่อเหรอว่านี่มีการทำผิดแน่นอน นี่แหละคือเหตุผลหลายอย่างประกอบกัน 


 


ประกอบกับกระบวนพิจารณา ซึ่งว่ากันจริงๆ แล้ว คือรัฐธรรมนูญมาตรา 39 เป็นหลักแต่ดั้งแต่เดิมรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็รับรองหลักนี้ คือ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีอาญาไม่ได้กระทำความผิด เขาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะพิจารณาถึงที่สุดว่าเขากระทำความผิด แต่การพิจารณาคดีในขณะนี้ ทุกคนมีความรู้สึกว่า ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกเลย มันทำผิดแหงๆ อยู่แล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องผิดแน่นอน เพราะฉะนั้นอันนี้ไปบวกกับที่เขียนไว้ในกระบวนพิจารณา ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากระบบกระบวนพิจารณาดั้งเดิมซึ่งเคยมีในการพิจาณาคดีอาญา กลายเป็นว่า ขณะนี้เป็นระบบไต่สวน ระบบนี้เหมือนกับ หนึ่ง สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผิด สอง พิจารณาโดยฟังความเพียงข้างเดียวก็ได้อีกข้างหนึ่งจะสืบอย่างไรก็ไม่ฟังซะอย่าง เหมือนที่ อ.ประสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีแถลงการณ์ร่วมฯ ปรากฎว่ามีแต่คำร้องของผู้ร้อง และปรากฎว่า ศาลเรียกกระทรวงการต่างประเทศมาสืบ 2 ท่าน และไม่มีสืบพยานอื่นเลย โดยทั้งสองท่านจากกระทรวงการต่างประเทศ ให้การค้านคำฟ้องทั้งหมด ยืนยันว่าแถลงการณ์ร่วมถูกต้อง ไม่ใช่สนธิสัญญา แต่ศาลไม่รับฟังอะไรเลยทั้งสิ้น ท่านก็ตัดสินของท่านออกมาอย่างที่ว่า


 


เพราะฉะนั้นนี่คืออันตรายของระบบไต่สวน ของเรากลับไปสู่ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะทรงปฎิรูประบบการศาล ซึ่งสมัยก่อนเรามีระบบการศาลที่เรียกว่ากระบวนพิจารณาคดี คือ จารีตนครบาล คือสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด มันตรงกันข้ามกับหลักที่เรายึดถือต่อมาในภายหลัง แต่ขณะนี้ที่ผมเป็นห่วงคือ มันกำลังจะกลับไปสู่ระบบที่มีมาในสมัยโบราณ ซึ่งเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนาแน่ๆ ใครไม่โดนเข้าคงไม่รู้สึก ผมเองขนาดเป็นอัยการในช่วงที่เป็นระบบกล่าวหาเต็มที่ใครมาตกเป็นผู้ต้องหาเป็นจำเลยนี่สาหัสมากๆ เป็นวิบากกรรม


 


ประเด็นที่สอง ผมไม่มั่นใจว่า ถ้าเราได้ตุลาการที่มีคุณธรรม จริยธรรม บริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งหมด ไม่ว่าตุลาการศาลไหนก็แล้วแต่ แล้วสุดท้ายจะทำให้สังคมไทยปราศจากคอร์รัปชั่นโดยสิ้นเชิง ผมเองกลับมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า อำนาจมีแนวโน้มที่จะคอร์รัปชั่น ถ้ามีอำนาจเด็ดขาดนี่ก็ยิ่งคอร์รัปชั่นกันสุดๆ เลย "Power tends to corrupt. Absolute power corrupts absolutely." นี่ก็เป็นที่รู้และยอมรับกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว แล้วผมอยากถามว่า เราจะมีอะไรที่เป็นหลักประกัน ที่ว่าท่านผู้ทรงด้วยคุณธรรมจริยธรรมทั้งหลายที่ไปทำหน้าที่เป็นตุลาการในศาลต่างๆ หรือไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งตุลาการทั้งนั้น สุดท้ายแล้วท่านจะไม่คอร์รัปชั่น ถ้าอำนาจเด็ดขาดอยู่กับท่าน  


 


ประเด็นที่สาม ในเมื่อมีตุลาการภิวัตน์อย่างเต็มรูปแบบ ระบบการปกครองก็จะกลายเป็นตุลาการธิปไตยเสียมากกว่า ซึ่งอาจจะค่อนข้างคล้ายคลึงกับระบบสภาตุลาการ ซึ่งปกครองฝรั่งเศสอยู่ก่อนการปฎิวัติฝรั่งเศส เพราะอำนาจส่วนใหญ่สุดท้ายแล้วไปสุมอยู่ในมือของตุลาการเกือบทั้งหมด เหมือนอย่างแนวโน้มที่ท่านวินิจฉัยออกมาแล้ว ท่านเป็นคนบอกเลยว่าทำยังไงถูกยังไงผิด ทางฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการเมือง ก็ต้องมาขอความเห็นจากท่านเสียก่อน ท่านก็จะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ถ้าเราไม่มีหลักประกันเลยว่า อำนาจสูงสุดจะไม่กลายเป็นอำนาจเผด็จการ ก็เกรงว่า ในที่สุดมันก็จะไม่ต่างอะไรกับเผด็จการรัฐสภา สำคัญว่าอำนาจอยู่ในมือใครเท่านั้นเอง


 


เพราะฉะนั้น ในระยะสั้น ทำนายว่า ระบอบทักษิณจะสูญสลายไปอย่างแน่นอน  แต่ที่จะเดินหน้าต่อไป น่าสนใจมาก อ.ธีรยุทธ บอกว่า เป็นประชาธิปไตยสมดุล แต่ไม่ได้ชี้แจงแถลงไขในรายละเอียดว่าคืออะไร ผมเกรงว่าในที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยสมดุลจะเป็นการเมืองใหม่ 70-30 ตามที่พันธมิตรฯ เสนอ เพราะในบรรดาแกนนำ หรือมีบทบาทโดดเด่นมากๆ ถ้าจำไม่ผิด ท่านวิชา มหาคุณ กล่าววาทะที่ยิ่งใหญ่ไว้อันหนึ่งว่า การเลือกตั้งคือสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น เพราะฉะนั้นเมื่อตุลาการภิวัตน์ เมื่อสามารถภิวัตน์ได้เต็มรูปแบบจริงๆ แล้ว ผลสุดท้ายก็คืออย่างที่คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยพูดไว้ว่า การเป็นประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งก็ได้ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นตัวชี้ว่า เรามีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีตุลาการภิวัตน์เต็มรูปแบบแล้ว เราก็จะมีแต่ผู้ทรงคุณธรรมมีจริยธรรมเต็มรูปแบบเท่านั้น แต่ถามว่า แล้วเราจะมีประชาธิปไตยอย่างที่เรายึดถือกันมา แล้วท่านเหล่านี้ก็มองว่า นี่คือสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็นเท่านั้นเอง กระนั้นหรือ


 


เพราะฉะนั้น บทสรุปของผมก็คงจะอยู่ที่ว่า อยู่ที่พวกเราที่คงจะต้องดูกันและตัดสินใจให้ตัวเอง ว่าจะเลือกสังคมในลักษณะใด ลักษณะที่เต็มไปด้วยผู้ทรงคุณธรรมและจริยธรรมอันสูงส่ง และเชื่อว่าจะไม่คอร์รัปชั่น กับการที่มีฝ่ายนิติบัญญัติ มีผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือกเข้ามาอยู่ในสภา ทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องกิจการบ้านเมือง มีฝ่ายบริหาร ซึ่งก็มีการยึดโยงกับประชาชนและเราก็เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย แน่นอน การปกครองระบอบไหนก็มีคอร์รัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น ผมไม่ได้เห็นด้วยกับการคอร์รัปชั่น แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขกลไกต่างๆ ให้ดี ปราบปรามคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ว่าปราบคอร์รัปชั่นแล้วหลักการสำคัญในการปกครองเราทิ้งหมดเลย


 


 


 


 


.......................


หมายเหตุ: โปรดติดตาม การอภิปรายของ คณิน บุญสุวรรณ และประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ที่นี่ เร็วๆ นี้


 


 


เกี่ยวข้อง


เสวนา: สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ตุลาการภิวัตน์ใต้ระบอบพันธมิตร - โพสท์ 4/8/2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net