Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับลดกำลังในพื้นที่เขาพระวิหาร เพื่อลดการเผชิญหน้า โดยพล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมครม.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมว่า ที่ประชุมรับทราบผลการเจรจาระหว่างนายเตช บุญนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ซึ่งมีข้อตกลงให้ปรับกำลังทหารเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการขัดแย้งบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวะรา และปราสาทพระวิหาร อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยการปรับกำลังทหารต้องให้เหลือกำลังไว้เพียงพอต่อการดูแลอธิปไตยของประเทศ และควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและกัมพูชา ครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ การปรับกำลังจะต้องดำเนินการอย่างเท่าเทียมกันทั้ง 2 ประเทศ



 


ปรับลดกำลังแต่ไม่ใช่ถอนทหาร


ส่วนไทยจะต้องถอนทหารจำนวนเท่าใดนั้น พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า กองทัพไทยต้องหารือกับกระทรวงการต่างประเทศก่อนจะหารือกับกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันและสถานที่ประชุมที่ชัดเจน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเรื่องการถอนทหารไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ขณะเดียวกัน ครม.ไม่ได้หารือถึงกรณีปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ ที่กำลังจะเกิดปัญหาเหมือนปราสาทพระวิหาร



พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า หลักการไม่ใช่การถอนทหาร แต่เป็นการปรับกำลังให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดการเผชิญหน้าลดการกระทบกระทั่งโดยแนวทางเจรจานั้นจะให้ผู้บัญชาการหน่วยทหารในพื้นที่ของไทยคือ กองกำลังสุรนารีไปหารือกับกองกำลังของกัมพูชา เพื่อหาทางออกร่วมกันในการปรับกำลังให้มีความเหมาะสมเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย



 


โยก "วีรชัย" กลับกรมสนธิสัญญา


ด้านน.ส.วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อ รองโฆษกประจำสำนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติให้แต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศ 3 รายคือ 1.นายกฤต ไกรจิตติ จากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 2.นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัคราชทูตประจำกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และ3.นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตประจำกระทรวง



นอกจากนี้ครม.ยังอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอในการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรมว.ต่างประเทศ ในกรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการฯหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ เพิ่มเติมอีก 2 คนดังนี้ 1.น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯและรมว.คลัง 2.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกฯและรมว.ศึกษาธิการ พร้อมกันนี้ ครม.เห็นชอบแต่งตั้งนายปกศักดิ์ นิลอุบล เป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ



 


"เตช" ชี้ให้มาช่วงสางปมพระวิหาร


โดยช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆถึงการย้ายนายวีรชัยกลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม ว่า ให้กลับไปอยู่สถานะเดิมก่อนการโยกย้าย เพราะจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น อย่างกรณีของนายวีรชัยเคยติดตามดำเนินการเรื่องปัญหาพระวิหารอย่างใกล้ชิดมาก่อนหน้านี้



 


ตลาดเชิงเขามีชาวกัมพูชากลับมาค้าขาย


มีความเคลื่อนไหวทางด้านชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหาร อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ โดยพล.ต.กนก เนตระคเวสะนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี)เปิดเผยว่า ที่บริเวณตลาดชุมชนชาวกัมพูชาบริเวณเชิงบันไดทางขึ้นปราสาทพระวิหารขณะนี้ มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาทยอยเข้ามาอาศัยอยู่เช่นเดิมแล้ว หลังรุกล้ำเข้ามาตั้งตลาดชุมชนในเขตแดนไทย และพากันอพยพออกไปตั้งแต่มีการตรึงกำลังทหารบริเวณเขาพระวิหารเกิดขึ้น บรรดาพ่อค้าแม่ค้ากัมพูชาเปิดร้านค้าจำหน่ายสินค้าตามปกติ ซึ่งลูกค้าส่วนมากเป็นชาวกัมพูชา ที่พากันขึ้นมาเที่ยวชมปราสาทพระวิหาร รวมทั้งทหารกัมพูชาที่ตรึงกำลังอยู่บนเขาพระวิหาร ซึ่งเรื่องนี้ได้รายงานให้หน่วยเหนือได้รับทราบเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป



 


ส่งทหาร-พระเข้าวัด


ส่วนกรณีวัดบนเขาพระวิหาร ที่ทหารไทยและกัมพูชาตรึงกำลังอยู่ ขณะนี้มีพระสงฆ์ชาวกัมพูชาเข้ามาจำวัดอยู่จำนวนมากกว่า 100 รูป ทั้งที่เดิมทีมีแค่ 4 รูป นั้น พล.ต.กนกกล่าวว่า จากการตรวจสอบพระที่มาบวชและประจำอยู่วัดแห่งนี้ส่วนมากเป็นทหารกัมพูชาแทบทั้งสิ้น ซึ่งคาดว่าการที่มีการนำเอาทหารกัมพูชามาบวชเป็นพระเช่นนี้ ทางฝ่ายกัมพูชาคงมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งบนเขาพระวิหารแน่นอน ซึ่งได้ให้ทหารตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด



 


ประเด็นพิพาทขยายตัวสู่กรณี "ตาเมือนธม"


สำหรับความคืบหน้ากรณีกัมพูชารุกคืบอ้างสิทธิ์เหนือพรมแดนปราสาทตาเมือนธม บ.หนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์นั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)กล่าวยืนยันว่า กองทัพดูแลพื้นที่ดังกล่าวมานานแล้ว โดยยึดตามแผนที่ที่มีอยู่ในมือขณะนี้ และพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ในพรมแดนไทย ถ้ากัมพูชาอ้างสิทธิ์ก็เป็นเรื่องคณะกรรมการปักปันเขตแดนที่ดำเนินการอยู่ สิ่งที่ทหารไทยบอกกับทหารกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่ก็คือ อย่านำกำลังมาเผชิญหน้ากัน ให้การปักปันดำเนินการต่อไป แต่ได้สั่งให้กำลังรักษาสถานภาพตามแนวชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสงสัยและล่อแหลม ซึ่งการที่กัมพูชาไม่หยุดเรียกร้องเรื่องพรมแดนทั้งปราสาทพระวิหารและยังรุกคืบเรื่องดินแดนที่ปราสาทตาเมือนธมขึ้นมาอีกนั้นไม่ขอวิจารณ์ เกรงจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับผบ.ทบ.กัมพูชาแต่ระดับผู้ปฎิบัติงานพูดคุยกันอยู่แล้ว



 


วันเดียวกันที่ฐานปฎิบัติการกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล (ร้อย ลว.ไกล) บริเวณด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชาช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี) พร้อมเสนาธิการกองกำลังสุรนารี ประชุมหาข้อยุติปัญหาชายแดนด้านปราสาทตาเมือนธม กับคณะผู้แทนฝ่ายกัมพูชานำโดย นายซาน วันนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟัง โดยใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที



 


พล.ต.กนกเปิดเผยว่า ได้เจรจากับผู้นำทหารกัมพูชาและสามารถเคลียร์ปัญหาได้เสร็จสิ้นแล้วโดยตกลงที่จะให้ทหารทั้งสองฝ่ายร่วมกันลาดตระเวนในพื้นที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม แต่ถ้าทหารกัมพูชาจะมาต้องแจ้งเราก่อนและต้องปลดอาวุธ เรื่องสิทธิ์ในเขตแดนไม่ใช่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะชี้ชัด แต่ไทยดูแลรักษามานานแล้ว ซึ่งกัมพูชาก็ยอมรับ พร้อมกันนี้ได้บอกกัมพูชาไปว่าการไปออกข่าวอย่างนั้นเป็นสิ่งไม่ดี อย่าทำอีก



 


ด้านนายซาน วันนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัยกล่าวว่า การเจรจาไม่มีปัญหาอะไร ทั้งทหารไทยและฝ่ายกัมพูชาเจรจากันด้วยดี ไม่มีปัญหา ทุกอย่างสงบเรียบร้อยดียืนยันได้



 


ปัดข้อเสนอเขมรไม่นำกำลังเข้าพื้นที่


รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเจรจากัมพูชาขอให้ทหารไทยอย่าวางกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม และบริเวณภูพนมปอย อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนเรื่องการปักปันเขตแดน ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาจะไม่นำทหารเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน แต่ฝ่ายไทยไม่ตกลงรับปาก เพราะต้องเสนอผลการเจรจาให้รัฐบาลพิจารณาตัดสินใจ ดังนั้น การเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายจึงยุติลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด



 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมกลุ่มพลังมวลชนจ.สุรินทร์ไปมอบสิ่งของสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ทหารพรานที่ปฎิบัติหน้าที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม ชายแดนไทย-กัมพูชา บ.หนองคัน ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ สำหรับบรรยากาศที่ปราสาทตาเมือนธมตลอดทั้งวัน ยังคงเปิดบริการให้ประชาชนเข้าชมได้ตามปกติ



 


ทหารกัมพูชานำกำลังขอเข้าชม "ตาเมือนธม"


ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าระหว่างที่ทหารไทยกำลังเจรจากับกัมพูชา ที่ปราสาทตาเมือนธม เกิดเหตุทหารกัมพูชากว่า 100 นาย พร้อมอาวุธสงครามครบมือ นำโดยพล.ต.โป เฮง รองผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4 กัมพูชา นำกำลังเข้ามายังบริเวณจุดตรวจส่วนหน้าของทหารไทย กองร้อยทหารพรานจู่โจม ที่ 960 กรมทหารพรานที่ 26 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 และได้เผชิญหน้ากับทหารพรานของไทยดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนออกไป ประมาณ 500 เมตร โดยพล.ต.โปเฮงได้เจรจาขอเข้าชมปราสาทตาเมือนธมอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เคยนำกำลังมาขอเข้าชมไปแล้ว แต่ทหารพรานไทยชี้แจงว่าไม่สามารถอนุญาตให้เข้าไปได้ เพราะขณะนี้กำลังมีการเจรจาหารือระหว่างคณะของผบ.กลล.สุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ผู้แทนฝ่ายไทย กับ คณะผู้แทนจังหวัดอุดรมีชัยอยู่ที่ด่านผ่านแดนถาวรไทยกัมพูชาช่องจอม ทำให้พล.ต.โปเฮงเดินทางกลับไปในเขตกัมพูชาและตั้งฐานปฎิบัติการอย่างมั่นคงห่างจากจุดตรวจการณ์ส่วนหน้าของทหารพรานกองร้อยจู่โจม ที่ 960 ของไทย ออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งสามารถมองเห็นจากจุดตรวจการณ์ส่วนหน้าได้อย่างชัดเจน



 


เตียบันระบุ "ตาเมือนธม" เป็นของเขมร


ทางด้านพล.อ.เตีย บัน รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ให้สัมภาษณ์สื่อกัมพูชาว่า ปราสาทตาเมือนธมอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และกัมพูชาต้องการขอปราสาทคืน โดยจะพยายามคุยกับทหารไทยให้ถอนกำลังออกจากปราสาท ส่วนพล.ต.โฮ บันธี ผู้บัญชาการทหารในพื้นที่ดังกล่าวระบุว่า ขณะนี้มีทหารกัมพูชา 50 นายอยู่ใกล้กับจุดที่ทหารไทยประจำการ และได้ประจำการทหารอีก 200 นาย ไว้ห่างจากตัวปราสาทราว 300 เมตร



 


รัฐสภาเปิดหลักฐานใหม่ของ "เทพมนตรี ลิมปพยอม"


วันเดียวกัน ที่รัฐสภา กรรมาธิการการเขตแดน สภาผู้แทนราษฎร ประชุมพิจารณากรณีปราสาทพระวิหาร โดยเชิญนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย นายวีระชัย พลาศัย รักษาการอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ และนายเทพพนม ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มาชี้แจง ซึ่งนายเทพมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า แผนที่ฉบับ L7017 ที่ทำขึ้นในช่วงที่นายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศนั้น เป็นแผนที่ที่ไม่ถูกต้อง เพราะใช้แนวรั้วลวดหนามที่จอมพลประภาส จารุเสถียร กั้นไว้เพื่อไม่ให้คนไทยกับเขมรปะทะกัน มาตีเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ดังนั้น เมื่อศาลโลกตัดสินให้กัมพูชาได้ตัวปราสาทไป เท่ากับเราเสียดินแดนให้กัมพูชาฟรีๆ 50 ไร่



 


นักวิชาการ ผู้นี้ยังได้แสดงแบบแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศส เมื่อปี 1907 ซึ่งแผนที่ฉบับนั้นคือตัวจริงปรากฎชัดเจนว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทย แต่เมื่อไทยต้องขอแผนที่นี้มาต่อสู้กับศาลโลก ฝรั่งเศสกลับหมกเม็ดเอาไม่ยอมให้ เพราะกัมพูชาเป็นประเทศในอารักขา โดยได้จัดทำแผนที่ฉบับเก๊ขึ้นมาในปี 1908 ให้กับกัมพูชา ถ้าเราได้แผนที่ฉบับปี 1907 มาเราจะไม่ต้องเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ซึ่งแผนที่ฉบับนี้ถูกเก็บไว้ที่กรมอาณาเขต ฝรั่งเศส ซึ่งขณะนี้เรามีแล้ว หากกัมพูชาฟ้องศาลโลกเพื่อจะเอาพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เราก็สามารถใช้แผนที่นี้ต่อสู้เพื่อทวงคืนปราสาทพระวิหารคืนมาได้



 


ขณะที่นายวีระชัยกล่าวว่า การที่จะรื้อคดีปราสาทพระวิหารไม่สามารถทำได้เพราะตามกฎของศาลโลกข้อ 61 นั้นต้องทำภายใน 10 ปี แต่อาจจะสู้ได้หากอ้างระเบียบข้อ 60 คือสามารถทำได้ภายใน 6 เดือนหลังจากที่พบข้อมูลใหม่ ซึ่งหากกัมพูชาฟ้องศาลโลกขึ้นมาเราก็สามารถใช้แผนที่นี้ขึ้นต่อสู้คดีได้



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายเทพมนตรี ได้เปิดเผยแผนที่ใหม่ปรากฎว่าสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก กมธ.หลายคน ได้ขอให้สำเนาแผนที่เก็บไว้ พร้อมทั้งพยายามตั้งคำถามว่าแผนที่ดังกล่าวมีความเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งนายเทพมนตรียืนยันว่าแผนที่ที่ได้มานั้นทางกรมศิลปากรได้จัดพิมพ์ขึ้นเอง ถ้าเป็นแผนที่ปลอมแสดงว่ากรมศิลปากรทำของปลอม นอกจากนี้ยังมีแผนที่ที่ทางสยามสมาคมเคยตีพิมพ์



 


ไอคอมมอสจี้รบ.แสดงสิทธิ์ตาเมือน


ขณะที่นายวสุ โปษยนันทน์ ผู้ช่วยเลขานุการสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ไอคอมมอส) ไทย เสนแนวทางแก้ปัญหาปราสาทตาเมือนว่า ตามหลักฐานของอิโคโมส ปราสาทตาเมือนธม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ปี 2478 ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องปักปันเขตแดนให้เสร็จโดยเร็ว รวมถึงรัฐบาลต้องแสดงสิทธิ์ ภาคประชาชนต้องร่วมกัน สื่อจะต้องนำเสนอให้ทุกฝ่ายรับรู้ ให้ประชาชนเข้าใจ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับปราสาทพระวิหารที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้


 


ที่มา : แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net