Skip to main content
sharethis


 


วันนี้ (6ส.ค.51) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.ที่รัฐสภา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่วมกับเครือข่ายสื่อภาคประชาชน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กฟ.อพช.) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มูลนิธิสื่อภาคประชาชน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา สมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน เครือข่ายวิทยุชุมชนกรุงเทพ-ปริมณฑล เครือข่ายสื่อเด็กและเยาวชน ขบวนการตาสับปะรด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … (ฉบับรัฐบาล)


 

สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้ทำการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 47 ได้กำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และได้มีการนำร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ ในวันที่ 6 ส.ค.51


 


ตามจดหมายระบุข้อเสนอของ คปส.และเครือข่ายฯ คือ การให้สภาผู้แทนราษฎรยุติการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว โดยให้รัฐบาลถอน ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ออกจากวาระการพิจารณา และจัดให้มีกระบวนการปรับปรุงร่างกฎหมายโดยเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุผลว่ากระบวนการจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างไม่เปิดเผย ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเพียงพอ


 


อีกทั้งมีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาเกินสมควรและมิได้คงสาระสำคัญของกฎหมายฉบับเดิมไว้ โดยเฉพาะใน 4 ประเด็น คือ 1.ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนที่รองรับสิทธิในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ของภาคประชาชน ที่เคยระบุไว้ว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ตามกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2543 มาตรา 26 2.ยกเลิกกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ โดยกำหนดให้ฝ่ายบริหาร เช่น รัฐบาลมีอำนาจในการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่ง และเลือกให้สิทธิเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงานบางประเภทเสนอรายชื่อบุคคลเข้ารับการคัดเลือก


 


3.ยกเลิกบทบัญญัติที่ป้องกันมิให้มีการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และออกใบอนุญาตเพิ่มเติมในระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรอิสระ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิรูปการถือครองทรัพยากรคลื่นความถี่ได้จริง และ 4.ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐวิสาหกิจในการประกอบกิจการโดยสามารถนำคลื่นความถี่ที่ได้รับ ไปจัดทำสัญญาหรือสัมปทานให้ผู้อื่นประกอบกิจการได้


 


นส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อกล่าวว่าหากปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านเข้าสู่สภา เนื้อหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่อาจไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ในส่วนของการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ตาม มาตรา 26 ของกฎหมายเดิม หากมีการผ่านกฎหมายแล้วต้องไปแก้ไขในภายหลัง สัดส่วนของผู้ประกอบการภาคประชาชนอาจไม่ได้ระบุเป็นตัวเลข แต่อาจระบุเป็นให้เป็นไปตามดุลยพินิจ ซึ่งไม่มีความชัดเจนและอาจนำสู่ความไม่เป็นธรรมต่อวิทยุชุมชนของภาคประชาชน


 


ดังนั้น ทาง คปส.และเครือข่ายสื่อภาคประชาชนจึงอยากให้มีการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาเพื่อแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร


 


ทั้งนี้ ในการยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้มีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อ 18 องค์กร 1> ภายใต้ชื่อเครือข่ายคัดค้านร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... เข้าร่วมยื่นหนังสือคัดค้านกฎหมายดังกล่าวอีกหนึ่งฉบับ ต่อ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา คนที่ 2 และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน


 


เนื่องจากเห็นว่าสาระสำคัญหลายประการได้บิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับพ.ศ.2540 และพ.ศ.2550 พร้อมกันนั้นยังได้ส่งมอบสรุปรายงานการไปจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนในต่างจังหวัดรวม 4 ภาค ซึ่งได้มีกาจัดทำก่อนหน้านี้ เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขในขั้นกรรมาธิการฯ


 


น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้แทนเครือข่ายวิทยุเพื่อการศึกษา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ไปร่วมรับฟังความเห็นจากเวทีต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ ผู้เข้าร่วมเวที ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งอำนาจและที่มาขององค์กรอิสระที่ไม่ปลอดจากอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง เนื่องจากถูกแต่งตั้งโดย คณะรัฐมนตรีแทนการสรรหาจากวุฒิสภา การรับประกันสิทธิการเข้าถึงและใช้คลื่นความถี่ของภาค ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 การให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้และยึดโยงอำนาจไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การกำหนดบทลงโทษ ที่ไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมตามขนาดการประกอบธุรกิจ รวม ไปถึงการล้มล้างเจตนารมณ์าการปฏิรูปสื่อ


 


"แม้ความเห็นที่ได้รวบรวมมาจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่ก็เป็นประโยชน์มาก ตอนนี้เครือข่ายเรากำลังประมวลข้อมูลทั้งหมด โดยมีที่ปรึกษาด้านวิชาการ และภาคประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบกิจการแขนงต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งสิ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นสัปดาห์หน้า ดังนั้น วันนี้ เราจึงได้นำความเห็นที่ไปจัดเวทีรับฟังมายื่นให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อจะได้นำประเด็นต่างๆ ไปอภิปรายในสภาฯ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้" น.ส.สุวรรณากล่าว


 


ด้านพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา คนที่ 2 กล่าวหลังจากรับหนังสือทั้ง 2 ฉบับว่า ทางสภาฯ มีข้อห่วงใยในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะต้องมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเช่นกัน การตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ได้มีการประสานไปยังรัฐบาล และนายมั่น พัฒโนทัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รมว.ไอซีที) ซึ่งนายมั่นรับว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ส่วนทางรัฐบาลได้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระที่ 2 เป็นวาระเร่งด่วน โดยจะชะลอพิจารณาเรื่องนี้ไว้ก่อน จนกว่าผลประชามติของประชาชนจะออกมา และจะทำการแปรญัตติโดยเร็ว


 


แต่ในส่วนตัวพ.อ.อภิวันท์ มีข้อคิดเห็นว่า จะต้องพิจาณารัฐธรรมนูญ มาตรา 305 (1) ที่ระบุว่าจะทำให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ส่วนรูปแบบจะเสนอย่างไร ต้องไปถาม รมว.ไอซีที


 


ส่วนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า พรรคเคยเรียกร้องให้รัฐมนตรีถอนร่างฉบับนี้ แต่ก็ไม่มีการถอน อย่างไรก็ดี พรรคได้ทำร่างขึ้นมาประกบ โดยสาระสำคัญแตกต่างจากร่างของรัฐบาลหลายประการ อาทิ ที่มาของคณะกรรมการ จะมาจากการสรรหา มีองค์ประกอบหลากหลาย และให้วุฒิสภาเลือก การให้ภาคประชาชนเข้าถึง และใช้คลื่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 การตรวจสอบจากภาคประชาชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ หากมีการพิจารณาผ่านวาระ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการ พรรคจะให้นักวิชาการ และภาคประชาชนเข้ามาร่วมในส่วนนี้ด้วย


 


 


 


ที่ คปส.พิเศษ/๒๕๕๑


 


                                                                        ๖ สิงหาคม ๒๕๕๑


 


 


เรียน      ประธานสภาผู้แทนราษฎร


 


เรื่อง      การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการ


วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … ฉบับรัฐบาล


 


 


สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๗ ได้


 


กำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลทำการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … และนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๑ นั้น


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายภาคประชาชนซึ่งติดตามการปฏิรูปสื่อมาโดยตลอด เห็นว่ากระบวนการจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างไม่เปิดเผย ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเพียงพอ อีกทั้งมีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาเกินสมควรและมิได้คงสาระสำคัญของกฎหมายฉบับเดิมไว้ โดยเฉพาะประเด็นดังต่อไปนี้


 


๑.                  ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนที่รองรับสิทธิในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ของภาคประชาชน ซึ่งเดิมกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี ๒๕๔๓ บัญญัติในมาตรา ๒๖ ว่า "การจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าว ต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยจะต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ"


 


๒.                 ยกเลิกกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ โดยกำหนดให้ฝ่ายบริหารเช่นรัฐบาลมีอำนาจในการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่ง และเลือกให้สิทธิเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงานบางประเภทเสนอรายชื่อบุคคลเข้ารับการคัดเลือก


 


๓.                  ยกเลิกบทบัญญัติที่ป้องกันมิให้มีการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และออกใบอนุญาตเพิ่มเติมในระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรอิสระ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิรูปการถือครองทรัพยากรคลื่นความถี่ได้จริง


           


๔.                 ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐวิสาหกิจในการประกอบกิจการโดยสามารถนำคลื่นความถี่ที่ได้รับ ไปจัดทำสัญญาหรือสัมปทานให้ผู้อื่นประกอบกิจการได้


 


คปส.และเครือข่ายฯ จึงเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรยุติการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยให้ รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … ออกจากวาระการพิจารณา และจัดให้มีกระบวนการปรับปรุงร่างกฎหมายโดยเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง


 


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


 


 


                                                                        ขอแสดงความนับถือ


 


 


                                                             (นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์)


 รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


 


 


 


เครือข่ายสื่อภาคประชาชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิธิสื่อภาคประชาชน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา สมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน เครือข่ายวิทยุชุมชนกรุงเทพ-ปริมณฑล เครือข่ายสื่อเด็กและเยาวชน ขบวนการตาสับปะรด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย


 


 


………………………………………….


 


หมายเหตุ


 


1> รายชื่อ ๑๘ องค์กรเครือข่ายคัดค้านร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.), สมาคมนักบริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา, สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.), ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ, สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน, เครือข่ายสื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), เครือข่ายวิทยุเด็กและครอบครัว, เครือข่ายเพื่อสื่อสาธารณะ, เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน, สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง, ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD), สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์


 


……………………………………….


 


รูปประกอบ และข้อมูลข่าวบางส่วนจาก: สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net