Skip to main content
sharethis

 






 


เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) สำนักข่าวประชาธรรม และโครงการสื่อสารแนวราบ (Local Talk Project) จัดงานเสวนา "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกภาคใต้กระแสโลภาภิวัตน์ และอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่: บทสำรวจองค์ความรู้ และประสบการณ์" ที่โรงแรมศิรินาถการ์เด้น จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้นำเสนองานศึกษาทางวิชาการ พร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันในประเด็นที่เกี่ยวพันกับนโยบายเศรษฐกิจ - ทางเลือกทางรอด ในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักทุกวันนี้


 


โดยโลคัลทอล์คได้นำเสนอแบ่งออกเป็น 3 ส่วน


 


(1) งานศึกษาของ  ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "กรณีศึกษาว่าด้วย Capital Controls (การควบคุมกำกับโดยรัฐ)" [ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศชิลี และมาเลเซีย]


 


(2) งานศึกษา "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกในประเทศกำลังพัฒนา - นโยบายพัฒนาที่ตั้งอยู่บนความสุข กรณีภูฏาน, บทบาทของอิสลามในการพัฒนา และนโยบายประชานิยมในละตินอเมริกา " ของนักวิชาการอิสระ สฤณี อาชวานันทกุล และ


 


(3) บทแลกเปลี่ยนสำหรับเศรษฐศาสตร์ทางเลือก โดย .ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์


 


"ประชาไท" ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำ โดยจะทยอยลงเป็นตอนๆ จนครบ 3 ตอน


 


 
























ความย่อ : ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ วิเคราะห์และเสนอแนวทางการต่อรองกับเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีใหม่ โดยเน้นที่การมองให้เห็นคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ขณะที่การใช้แนวคิดเศรษฐกิจทางเลือกก็ควรนำมาใช้ด้วยการตั้งคำถามถึงกลไกการต่อรองอำนาจ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มากกว่าการให้ความหมายเพียงเท่านั้น


0 0 0






 


ความคิดเห็นในช่วงท้ายของการเสวนา "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกภาคใต้กระแสโลภาภิวัตน์ และอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่: บทสำรวจองค์ความรู้ และประสบการณ์" ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นในหลายประเด็น ดังต่อไปนี้


 


 







"เศรษฐกิจ เป็นเรื่องของ "การให้ความหมาย"
ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในโลกทุนนิยม และลัทธิบริโภคนิยม การให้ความหมายในเรื่องของความสุข ความยุติธรรม ฯลฯ เพราะเราไม่ได้บริโภคสินค้าตามอรรถประโยชน์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกต่อไปแล้ว
แต่เราบริโภคที่ความหมายของสินค้า ยี่ห้อ แบรนด์ ความหมาย หรือคุณค่าที่มากับสินค้าชิ้นนั้นๆ
"


 


หากคิดจะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ประเด็นคำถามแรกคือ เราจะศึกษาเรื่องเศรษฐกิจนี้อย่างไร เพราะคงต้องมองจากภาคปฏิบัติการมากกว่าอุดมการณ์หรือแนวคิด ยกตัวอย่างเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่จะทำงานไม่ได้หากรัฐบาลไม่ผ่านกฎหมายมาสนับสนุน หรือในเชิงปฏิบัติแล้ว ระบบเศรษฐกิจได้ผลักภาระทางต้นทุนออกไปให้สังคมแบกรับแทน ซึ่งก็ไม่ได้ทำงานผ่านหลักการของตัวมันเองด้วย


เราคงต้องมองให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจนั้นมีหลายแบบ เศรษฐกิจกระแสหลัก มักมองแต่ในแง่ของอรรถประโยชน์ - การแสวงหาประโยชน์สูงสุด ซึ่งประโยชน์ตรงนี้อาจตีความตามความสนใจได้หลายแบบเช่น อาจเป็นได้ทั้งตัวเงิน ผลกำไร หรือเป็นความสุข ก็เป็นไปได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับไม่ใช่แนวคิดของอรรถประโยชน์เพียงอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้มันยุ่ง


เพราะแท้จริงแล้ว เศรษฐกิจ เป็นเรื่องของ "การให้ความหมาย" ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในโลกทุนนิยม และลัทธิบริโภคนิยม การให้ความหมายไปในเรื่องของความสุข ความยุติธรรม ฯลฯ เพราะเราไม่ได้บริโภคสินค้าตามอรรถประโยชน์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกต่อไปแล้ว แต่เราบริโภคที่ความหมายของสินค้า ยี่ห้อ แบรนด์ ความหมาย หรือคุณค่าที่มากับสินค้าชิ้นนั้นๆ "กินไม่ได้แต่เท่ห์" อย่างนั้น


นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ทางเลือก หรือการใช้ระบบเศรษฐกิจใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดจากการต่อรองแทบทั้งสิ้น คงต้องคิด วิเคราะห์ว่าทำไมภูฏานถึงเลือกที่จะใช้ทางเลือกทางนี้ ใช้มาตรฐานความสุขเป็นเครื่องวัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรืออย่างในละตินอเมริกา ก็ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมเขาจึงหันมาเลือกทางนี้ ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบนี้ ก็เพราะต้องการต่อรองเชิงอำนาจกับระบบอื่นๆ กับอเมริกา เป็นต้น


ผมคิดว่า โลกมันมีการเดินทางของมันอยู่ มากกว่าที่เราคิดมาก ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนยึดโยง เชื่อมโยง มีความสัมพันธ์กัน ระบบเศรษฐกิจ หรือแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ก็เช่นกัน ล้วนแต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การเจรจาต่อรอง เป็นระบบที่อยู่บนพื้นฐานของอะไรสักอย่าง มันอยู่แบบลอยๆ หรือโดดเดี่ยวไม่ได้ นโยบายทางเศรษฐกิจเองก็เกิดมาจากการต่อรอง การปรับตัว และต่างก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครศึกษาวิเคราะห์กันมากนัก


 







"เศรษฐศาสตร์ทางเลือก เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
ที่เกิดจากการต่อรองแทบทั้งสิ้น คงต้องคิดวิเคราะห์ว่า
ทำไมภูฏานถึงเลือกที่จะใช้ทางเลือกทางนี้
ใช้มาตรฐานความสุขเป็นเครื่องวัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หรืออย่างในละตินอเมริกา

ต้องตั้งคำถามว่า
ทำไมเขาจึงหันมาเลือกทางนี้
ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบนี้
ก็เพราะต้องการต่อรองเชิงอำนาจกับระบบอื่นๆ กับอเมริกา
"


 


โดยมาก นักเศรษฐศาสตร์มักพูดเชิงหลักการ และขาดคน มองไม่เห็นคน ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจมองไม่เห็นคนก็ย่อมเกิดปัญหา ทั้งนี้ รวมถึงการมองคนอย่างหลากหลายด้วย อย่าได้เหมารวม


เศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการต่อรองอำนาจของคนอย่างหลากหลาย ไม่ใช่ระบบใดระบบหนึ่งจะสามารถใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ทุกประเทศ เราต้องนำคนที่อยู่บนพื้นฐานของความหลากหลายนี้ เข้ามาอยู่ในสมการการพูดคุย และเราจะสามารถวิเคราะห์บริบท เงื่อนไขต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แนวคิดหรือระบบเศรษฐกิจไม่สามารถลอยตัวอยู่ได้อย่างอิสรเสรี แต่ยึดโยงอยู่กับความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมของคน แต่นักเศรษฐศาสตร์มักชอบสร้าง หรืออธิบายว่าเศรษฐกิจมีหลักการของตัวมันเอง แต่แท้จริงแล้วมันยึดโยงกับอะไรบางอย่างอยู่


เช่น จีนกับรัสเซีย ไม่เหมือนกันเลย แต่พยายามจะใช้ระบบเศรษฐกิจเหมือนกัน ซึ่งหากระบบทำงานของมันเองได้เหมือนกัน ภายใต้แนวคิดเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คงไม่เหมือนกัน เพราะในขณะที่จีน ยังคงเป็นสังคมนิยม ควบคุมจัดการแบบรวมศูนย์อยู่ แต่ก็เปิดเสรีให้ภาคธุรกิจอยู่บ้าง ก็ทำให้จีนพัฒนาขึ้น ในขณะที่ทุนนิยมล่มสลายไปในประเทศรัสเซีย


สิ่งที่สำคัญ คือ เมื่อคนมีหลากหลาย ระบบที่ใช้ย่อมต้องไม่ให้เป็นระบบเดียว ควบคุมเบ็ดเสร็จ เพราะย่อมจะนำมาซึ่งปัญหา และสร้างผลกระทบอย่างแน่นอน เราจะยอมให้มีระบบเศรษฐกิจแบบเดียวหมดทั้งโลกไม่ได้ เพราะนายทุนรายใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์


วิถีทางเศรษฐกิจต้องมองให้หลากหลายเข้าไว้ ให้มีหลายระบบ หลากหลายแนวคิด เพราะยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจซับซ้อนขึ้นเท่าไร พวกทุนนิยมก็จะเข้าแทรกแซง ควบคุมได้ยากมากยิ่งขึ้น ก็เหมือนกับการใส่เสื้อผ้าให้ซับซ้อน ก็ยิ่งเข้าถึงตัวได้ยาก เช่นเดียวกัน นี่คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจซับซ้อน เพื่อให้ทุนนิยมสับสนเข้าไว้


ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะไม่ว่าอุดมการณ์ใดๆ จะดีมากขนาดนั้น เสรีนิยมใหม่ก็สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือ สร้างความชอบธรรมได้หมด


ฉะนั้น ในการต่อสู้กับทุนเสรีนิยมใหม่ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่พึงประสงค์ ก็ต้องอาศัยทั้งปัญญาและการวิจัยศึกษา เพื่อแสวงหากลไกใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ด้วย เราต้องสนับสนุนคนกลุ่มต่างๆ ให้มีพื้นที่ในการต่อรองเพิ่มขึ้น ช่วยกันสร้างพัฒนากลไก หรือสถาบันแบบใหม่ๆ นอกเหนือไปจาก บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งก็พูดกันอย่างนี้มาตลอด


 







"ในการต่อสู้กับทุนเสรีนิยมใหม่
เพื่อผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่พึงประสงค์ ก็ต้องอาศัยทั้งปัญญาและการวิจัยศึกษา
เพื่อแสวงหากลไกใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ด้วย

เราต้องสนับสนุนคนกลุ่มต่างๆ ให้มีพื้นที่ในการต่อรอง ช่วยกันสร้างพัฒนากลไก หรือสถาบันแบบใหม่ๆ นอกเหนือไปจาก บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งก็พูดกันมาตลอด"


 


กรณีของภูฎาน อิสลาม หรือกระทั่งลาตินอเมริกามันก็เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถเอาไปยัดให้สังคมไหนทำตามได้ แต่ต้องสร้างการถกเถียงเรียนรู้ในสังคมเราเอง เพื่อสร้างความเข้มแข้งให้ชุมชน ให้หน่วยย่อยๆ ในสังคมได้ลืมตาอ้าปาก 3 สิ่งที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา ก็ใช่ว่าจะได้มาแบบส้มหล่น แต่ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้อย่างหนักหน่วงทั้งสิ้น


เรื่องเศรษฐกิจหากมองคนไม่เห็นคน ไม่เห็นความแตกต่างหลากหลาย จะเป็นปัญหาทันที อีกทั้งต้องอย่าเหมารวมคน ต้องเคารพความหลากหลาย วิเคราะห์เงื่อนไข บริบทต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพื่อสร้างกลไก หรือสถาบันใหม่ๆ ตลอดจนเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย ต้องมองทุกอย่างอย่างเชื่อมโยง ไม่ใช้ความคิดเชิงเดี่ยว หรืออำนาจเบ็ดเสร็จเข้ามาตัดสินใจ มันจึงจะเกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนเพื่อเพิ่มพื้นที่ และแสวงทางเลือกที่เป็นไปได้อย่างแท้จริง และเหมาะสมกับสังคมนั้นๆ


 


................
เกี่ยวข้อง


Local Talk: เศรษฐศาสตร์ทางเลือก (1) "ปกป้อง จันวิทย์" มาตรการกำกับ-จัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ


Local Talk : เศรษฐศาสตร์ทางเลือก (2) "สฤณี อาชวนันทกุล" ฎูฏาน ประเทศอิสลาม และละตินอเมริกา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net