Skip to main content
sharethis


ม็อบต้าน-หนุนหน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ระหว่าง "จอร์จ บุช" กล่าวสุนทรพจน์ยินดีไทยคืนประชาธิปไตย อัดจีน-พม่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ก่อนไปเยี่ยมศูนย์เมอร์ซี่ และทานข้าวกับฝ่ายหนุนประชาธิปไตยพม่า ส่วน "ลอร่า บุช" เยือนแม่สอด เยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย และพบ "หมอซินเธีย" ที่แม่ตาวคลินิก ก่อนบินไปชมโอลิมปิกปักกิ่ง "ปณิธาน วัฒนายากร" เตือนรัฐบาลไทยเปิดบ้านรับบุช ระวัง "จีน" เคือง


 


นับเป็นครั้งที่สามแล้ว ที่นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานธิบดีสหรัฐพร้อมด้วยนางลอร่า บุช ภรรยาเดินทางเยือนไทย หลังจากที่เขาข้ารับตำแหน่งในปี 2543 โดยการเดินทางครั้งนี้ของประธานธิบดีสหรัฐยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐครบรอบ 175 ปี ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1833 ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวกับประธานาธิบดีแอนดริว แจ๊คสันของสหรัฐ


 


หลังจากที่บุชเสร็จสิ้นจากการเข้าหารือกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทยเป็นการส่วนตัว ในช่วงหัวค่ำ นายสมัครเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีสหรัฐที่ตึกสันติไมตรีหลังใน ณ ทำเนียบรัฐบาล บุชยังร่วมกล่าวสุนทรพจน์ต่อเอกอัครราชทูตจากชาติต่างๆ รวมถึงคณะรัฐบาลไทยและนักธุรกิจ


 


สำหรับวันสุดท้ายในการเยือนไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ผู้นำสหรัฐมีกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์สำคัญคือไปกล่าวสุนทรพจน์ "นโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชีย" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในเวลา 9.30 น.โดยมีแขกรับเชิญราว 300 คนเข้าฟัง อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการ คมช., นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ รวมทั้งทูตานุปทูต และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ


 


 






ประมวลภาพประธาธิบดีสหรัฐอเมริกาและภริยาเยือนไทย


 



ประธานาธิบดีบุช ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ "นโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชีย" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ กรุงเทพมหานคร เมื่อ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: REUTERS/Larry Downing)


 




ชาวไทยมุสลิม ประท้วงจอร์จ บุช ภายนอกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ คัดค้านนโยบายรุกรานอิรัก อัฟานิสถาน และปาเลสไตน์ (ที่มา: Sukree Sukplang/Reuters)


 




(ที่มา: AP Photo/David Longstreath)


 


 


ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีสหรัฐ ภายนอกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ 


(ที่มา: AP Photo/David Longstreath)


 



 (ที่มา: AP Photo/David Longstreath)


ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีสหรัฐ ภายนอกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์


 



จอร์จ บุช เยี่ยมศูนย์เมอร์ซี ชุมนุมคลองเตย กรุงเทพมหานคร (ที่มา: REUTERS/Larry Downing)


 



(ที่มา: REUTERS/Larry Downing)


 



ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับเจ้าหน้าที่และเด็กๆ ในศูนย์เมอร์ซี่ แถวหลังคือบาทหลวงโจเซฟ ไมเออร์ และ คนที่สองจากซ้ายคือคุณอุษณีย์ จันทร์เงิน ผู้อำนวยการศูนย์ (ที่มา: AP Photo/Gerald Herbert)


 



ประธานาธิบดีสหรัฐจับมือทักทาย ออง ซอว์ บรรณาธิการนิตยสารอิระวดี ระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันกับนักกิจกรรมชาวพม่า ที่บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ถ.วิทยุ กรุงเทพมหานคร


(ที่มา: AFP/Mandel Ngan)


 



(ที่มา: AP Photo/Gerald Herbert)


 




จากซ้ายไปขวา เลย์ อัย แนง, จอร์จ บุช, ออง ซอว์ และ วินมิน


(ที่มา: AP Photo/Gerald Herbert)


 



ลอร่า บุช เยือนค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก


(ที่มา: AP Photo/Apichart Weerawong)


 




(ที่มา: AP Photo/Apichart Weerawong)


 



ภริยาประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางไปที่แม่ตาวคลินิก ใน อ.แม่สอด จ.ตาก


เพื่อพบกับ แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง (ที่มา: AP Photo/Apichart Weerawong)


 



(ที่มา: AP Photo/Apichart Weerawong)


 


 


 


เปรมอัญเชิญดอกไม้พระราชทานมอบให้บุช


โดยเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 7 สิงหาคม ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ เจ้าหน้าที่สำนักราชวังเชิญพวงมาลัยและช่อดอกไม้พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มามอบให้แก่นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และนางลอรา บุช ภริยา โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้มอบ


 


ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์นั้น เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิดและสุนัขตำรวจ ได้ตรวจสอบหาความผิดปกติและวัตถุต้องสงสัยทุก 15 นาที ด้านบริเวณประตูทางเข้าโรงแรม มีการนำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดมาตรวจสอบสัมภาระและบุคคลที่เดินทางเข้าออกโรงแรมอย่างเข้มงวด


 


 


ม็อบประท้วงหน้าศูนย์ประชุมสิริกิต์ ที่จอร์จ บุช กล่าวสุนทรพจน์


ต่อมาเมื่อเวลา 09.28 น. นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช เดินทางถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ เรื่องนโยบายของสหรัฐที่มีต่อทวีปเอเชีย โดยภายนอกศูนย์ประชุมมีเยาวชนมุสลิมในชุดกันฝนสีส้ม ชูป้ายประท้วงนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการส่งกองกำลังเข้าไปรุกรานอัฟกานิสถาน และอิรัก นอกจากนี้ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมชาวไทยสวมเสื้อสีแดง มาให้กำลังใจจอร์จ บุช ด้วย


 


ประธานาธิบดีจอร์จดับเบิลยู. บุช ได้เริ่มกล่าวสุนทรพจน์ด้วยการทักทายผู้ฟังเป็นภาษาไทยว่า "สวัสดีครับ" แล้วกล่าวต่อว่า ตนกับนางลอร่า (ภริยา) รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาเยือนกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง และว่าตนรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตนขอนำความปรารถนาดีมายังบรรดาประเทศพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในเอเชียและประชาชนชาวไทย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสองเริ่มต้นเมื่อ 175 ปีก่อน เมื่อประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน ได้ส่งผู้แทนมายังสยาม มีการบรรลุสนธิสัญญาสันติภาพและการค้าระหว่างกัน มิตรภาพอันใกล้ชิดได้ดำเนินมาหลายชั่วอายุคน


 


 


ปล่อยมุกอยากได้ช้าง ดีใจด้วยไทยฟื้นฟูประชาธิปไตย


"ไทยและสหรัฐมีมิตรภาพต่อกัน ในครั้งหนึ่งพระมหากษัตริย์ไทยได้มีพระราชดำริที่จะส่งช้างไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อับบราฮัม ลินคอล์น ได้ปฏิเสธอย่างสุภาพนิ่มนวล ทำให้ตอนนี้ผมสงสัยว่าเราจะนำเรื่องนี้ขึ้นมาบนโต๊ะ (เจรจา) อีกครั้งได้หรือเปล่า"ซึ่งทำให้ผู้เข้าฟังส่งเสียงหัวเราะ จากนั้นนายบุชกล่าวพร้อมกลั้วเสียงหัวเราะว่า เพราะว่าที่ไร่ของตนใหญ่พอที่จะเลี้ยงช้างได้ทั้งหมด


 


บุชกล่าวต่อไปว่าอเมริกามองว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคและหุ้นส่วนตนภูมิใจที่ได้มอบสถานะพันธมิตรสำคัญนอกกลุ่มนาโตให้แก่ไทย และตนขอแสดงความคารวะต่อชาวไทยที่ได้ฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งได้พิสูจน์ว่าเสรีภาพและกฎหมายเป็นใหญ่ใน "ดินแดนเสรี" แห่งนี้


 


 


ลั่นปิดฉากทรราชในพม่า ปล่อยอองซาน ซูจี


ประธานาธิบดีบุชกล่าวในตอนหนึ่งด้วยว่าสหรัฐจะพยายามปิดฉากทรราชในพม่า พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่าปล่อยตัวนางอองซานซูจี "อเมริกาขอย้ำข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารของพม่า ให้ปล่อยนางอองซาน ซูจี และนักโทษการเมืองทั้งหมด และเราจะทำต่อไปจนกว่าประชาชนพม่าจะได้รับเสรีภาพ"


 


นายบุชกล่าวว่า การยุติเผด็จการในพม่าต้องอาศัยผู้อุทิศตนจำนวนมาก และตัวเองได้แต่งงานกับผู้อุทิศตนต่อปัญหานี้คนหนึ่งนั่นคือ นางลอรา บุช ซึ่งจะเดินทางไปยัง จ.ตาก เพื่อเยี่ยมชมคลินิกแพทย์หญิงซินเธีย หม่อง แพทย์รางวัลแมกไซไซด้านการบริการชุมชนปี 2545 ด้วย ส่วนตัวเองมีกำหนดการร่วมรับประทานอาหารเที่ยงกับบรรดานักเคลื่อนไหวพม่าที่สถานทูตสหรัฐในกรุงเทพฯ


 


 


ออกเสียง "เสรีไทย" เป็น "ซอรี่ไทย"


บุชได้กล่าวย้อนอดีตถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า ตอนที่กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยนั้น เอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตันได้รับคำสั่งให้ประกาศสงครามกับสหรัฐ แต่ท่านทูตได้ปฏิเสธอย่างกล้าหาญ ในขณะที่อเมริกาไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู แต่กลับช่วยคนไทยในอเมริกาให้รวมตัวกันเป็นขบวนการเสรีไทย ซึ่งช่วยปลดปล่อยประเทศนี้ อเมริกาได้ยืนเคียงข้างเสรีชนในเอเชียมาแล้วในอดีต เรายืนเคียงข้างเสรีชนของเอเชียในปัจจุบัน และเราจะยืนเคียงข้างเสรีชนของเอเชียต่อไปในอนาคตอันสดใส


 


เป็นที่น่าสังเกตว่าบุชออกเสียง "เสรีไทย" เป็น "ซอรี่ไทย" ซ้ำถึง 2 ครั้ง


 


 


อัดจีนเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ยึดหลักจีนเดียว


ทั้งนี้ มีประเด็นที่ถูกวิจารณ์อย่างมากนั่นคือประธานาธิบดีสหรัฐพูดถึงสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุยชนในจีนว่า ประชาชนของจีนควรได้รับอิสรภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ที่อเมริกายืนยันอยู่อย่างหนักแน่นมั่นคง ในการคัดค้านการที่จีนคุมขังผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในทางการเมือง ผู้เรียกร้องสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ตลอดจนผู้นำทางศาสนา


 


อย่างไรก็ตาม บุชยืนยันว่าจะดำรงนโยบายสนับสนุนจีนเดียว แต่ขอร้องให้ทั้งจีนและไต้หวันอย่าได้สร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ขอให้ใช้ความอดทนอยู่ด้วยกัน สหรัฐและจีนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน การปฏิรูปเศรษฐกิจเสรีในจีนก็เป็นผลดีกับประชาชนชาวจีน สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และจะสร้างประโยชน์เพื่อสันติภาพในอนาคต


 


ประธานาธิบดีบุช กล่าวว่า ตัวเขามองอนาคตของจีนในแง่ดี และจะดำเนินสัมพันธ์กับจีนบนพื้นฐานของความเป็นจริง


 


 


แอบหวัง ทำ "เอฟทีเอ" กับไทย


ส่วนเรื่องการค้าเสรี ปัจจุบันสหรัฐมีสนธิสัญญาการค้าเสรีกับ 14 ประเทศทั่วโลก โดยสหรัฐกำลังจะสรุปการเจรจาการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ ซึ่งตนก็ผลักดันให้สภาคองเกรสผ่านความเห็นชอบ และเรามีสัญญาการลงทุนกับเวียดนาม


 


"ผมเฝ้าหวังว่าการเจรจาการค้าเสรีกับไทยจะรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่งเราสนับสนุนวิสัยทัศน์เรื่องการค้าเสรีในเอเชีย-แปซิฟิก ประชาชนในภูมิภาคนี้ก็จะได้ผลประโยชน์จากการนี้ในโอกาสต่อไป"


 


การกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้ นายจางจิ่วหวน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้นั่งฟังอยู่ด้วย และเมื่อจบสุนทรพจน์ เขาไม่ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงท่าทีของสหรัฐแต่อย่างใด


 


นอกจากนี้ ตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ ประธานาธิบดีบุชกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น ก็ยังพูดชื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นนายจุนอิชิโระโคอิสุมิ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ผู้รับฟังสุนทรพจน์ส่งเสียงหัวเราะ เพราะนายโคอิสุมิไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน แต่นายบุชก็พูดแก้เขินว่า ตนยังระลึกถึงวันที่เคยพบกับนายโคอิสุมิ ซึ่งตนไม่เคยลืมและที่จริงก็ไม่เคยลืมใครเลย


 


 


นักการเมืองดังแห่ฟังสุนทรพจน์ผู้นำสหรัฐ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำสหรัฐครั้งนี้ มีแขกผู้มีเกียรติประมาณ 300 คนเข้าร่วมงาน เช่น พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการ คมช. นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายโคทม อารียา ประธานที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดิน รวมทั้งทูตานุทูตประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ สำหรับการรักษาความปลอดภัยนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่รปภ.ประจำตัวของประธานาธิบดีสหรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทย ตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั้งในและนอกศูนย์ประชุม นอกจากนี้ ทางสหรัฐยังได้นำเครื่องตรวจจับอาวุธเข้ามาเอง


 


 


เยี่ยมศูนย์เมอร์ซี่


ภายหลังเสร็จสิ้นจากการปาฐกถาที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยไม่เปิดให้ซักถาม นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช เดินทางต่อไปที่มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล หรือศูนย์เมอร์ซี่ ที่ชุมชนคลองเตย ที่รับอุปการะเด็กด้อยโอกาสกว่า 4,000 คน ในชุมชนแออัดคลองเตย โดยก่อนหน้าจะเดินทางมาถึง มีกองกำลังตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 จำนวน 200 นาย เข้าเตรียมความพร้อมดูแลรักษาความปลอดภัย และจัดระเบียบการจราจรโดยรอบ โดยกันไม่ให้ทั้งคนและรถที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในบริเวณดังกล่าว ขณะที่ชุดรักษาความปลอดภัยของสหรัฐดูแลรักษาความปลอดภัยตามอาคารใกล้เคียง ขณะเดียวกันในส่วนของชุมชนคลองเตยได้ประกาศเสียงตามสาย แจ้งถึงการเดินทางมาเยี่ยมศูนย์เมอร์ซี่ พร้อมรอต้อนรับผู้นำสหรัฐที่เดินทางมาถึง


 


รายงานข่าวระบุว่า ระหว่างที่ขบวนรถของบุชแล่นผ่านตลาดคลองเตย ก็มีทั้งชาวบ้านและบรรดาชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมารอทักทายนายบุชด้วย และมีชาวออสเตรเลียคนหนึ่ง ต้องการให้นายบุชเห็นข้อความบนเสื้อยืดของเขาที่เขียนคำว่า "Free Burma" หรือปลดปล่อยพม่า


 


 


มอบปากกา-ลายเซ็นให้เด็ก


ทั้งนี้ประธานนาธิบดีสหรัฐได้รับการต้อนรับจากเด็กๆ ที่โชว์อังกะลุงให้ชม บางคนมีท่าทีเขินอายที่ได้เจอนายบุช แต่นายบุชเข้าไปเย้าแหย่เด็กๆ และถ่ายรูปร่วมกับพวกเด็กๆ อย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้นายบุชยังเข้าเยี่ยมชมห้องศิลปะที่ตกแต่งด้วยงานฝีมือของเด็กๆ และเข้าไปทักทาย ด.ช.อิทธิพล ทองจันทร์ อายุ 13 ปี ซึ่งกำพร้าทั้งพ่อและแม่ พร้อมมอบลายเซ็น และปากกาทำเนียบขาวที่มีลายเซ็นประธานาธิบดีบนด้ามให้ด้วย


 


โอกาสนี้ประธานาธิบดีบุชได้มอบเงินสนับสนุนศูนย์เมอร์ซีย์ผ่านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


 


 


พบนักเคลื่อนไหวชาวพม่า


จากนั้นนายบุชเดินทางไปที่บ้านพักของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เพื่อร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักเคลื่อนไหวชาวพม่า 9 คน โดยกล่าวกับนักเคลื่อนไหวว่า สหรัฐเป็นห่วง ประชาชนชาวพม่าที่ปรารถนาให้ประเทศมีเสรีภาพทางการเมือง นอกจากนี้ยังกล่าวแสดงความยินดี ที่มีโอกาสพบกับบุคคลที่มีความกล้าหาญเช่นนี้ พร้อมบอกว่า อยากฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากปากของพวกเขาเหล่านี้ และขอคำแนะนำว่าสหรัฐจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง


 


ทั้งนี้ น.ส.เลย์ อัย แนง หนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ได้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวว่า รู้สึกโชคดีที่สหรัฐให้การสนับสนุน และขอให้สหรัฐเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารพม่าต่อไป


 


 


นักวิชาการพม่าชี้เป็นสัญญาณดี


นายวิน มิน นักวิชาการด้านพม่าศึกษา ปัจจุบันสอนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดีสหรัฐด้วย แสดงความเห็นว่า การที่ผู้นำสหรัฐและภริยาได้พบปะกับนักเคลื่อนไหวพม่าในไทย เป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นไปยังประชาชนชาวพม่าว่า รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในพม่า พร้อมชื่นชมนายบุชว่า แตกต่างจากผู้นำสหรัฐคนอื่นๆ ตรงที่ผลักดันเรื่องพม่ามากกว่า โดยสามารถผลักดันเข้าสู่วาระการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และทำให้เรื่องพม่ายังอยู่ในความสนใจในเวทีโลก


 


นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวในพม่าจะร่วมไว้อาลัยอย่างเงียบๆ ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 หรือ พ.ศ 2531 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในวันศุกร์นี้


 


 


ลอร่า บุช เยือนแม่สอด เยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ


ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นางลอร่า บุช สตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ ได้แยกเดินทางแต่เช้าไปเยี่ยมชาวพม่าที่ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยการสู้รบใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ถึงท่าอากาศยานแม่สอด ท่ามกลางฝนที่ตกหนัก ทำให้เครื่องบินต้องบินวนอยู่หลายรอบ ก่อนลงจอดอย่างปลอดภัย


 


จากนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสหรัฐได้นำรถแวนกันกระสุน 3 คัน นำนางลอราออกเดินทางไปยังศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยการสู้รบบ้านแม่หละ ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสหรัฐและไทยคุมเข้มตลอดเส้นทาง


 


นางลอราที่ได้รับการต้อนรับด้วยการแสดงพื้นเมืองของผู้ลี้ภัย กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่อนุญาตให้มีการตั้งค่ายพักพิง 9 แห่ง อันเป็นบ้านของผู้ลี้ภัยกว่า 1.2 แสนคน ที่หนีความรุนแรงมาจากฝั่งพม่า โดยนางลอรากล่าวว่า หากทุกคนได้เหตุความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลพม่า ประชาชนก็จะสามารถกลับไปบ้านเกิดได้อย่างปลอดภัย นั่นเป็นผลลัพธ์ดีที่สุด และทางออกดีที่สุดคือ การที่รัฐบาลของพลเอกอาวุโสตัน ฉ่วย จะเริ่มเปิดการเจรจาที่แท้จริงขึ้นมา



 


 


เยี่ยมแม่ตาวคลินิก พบหมอซินเธีย


จากนั้นเวลา 13.00 น. นางลอราเดินทางไปยังคลินิกแม่ตาวของแพทย์หญิงซินเธีย หม่อง แพทย์อาสมัครช่วยเหลือชาวพม่าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.ตาก ที่ถนนสายแม่สอด- ริมเมย ต.ท่าสายลวด ภายหลังการพูดคุย แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง กล่าวถึงการพบปะกับนางลอราว่า นางลอล่า บุช บุชให้ความสนใจปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพม่าอย่างมาก ส่วนความช่วยเหลือที่นางนำมาให้ครั้งนี้คือ มุ้งกันยุง และสิ่งของอื่นๆจำนวนหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้ว ทางสหรัฐฯได้ให้การช่วยเหลือมาตลอดอยู่แล้ว นอกจากนี้นางบุชยังแสดงความเป็นห่วงเด็กกำพร้าชาวพม่าจากเหตุพายุไซโคลนนาร์กิสถล่มด้วย โดยกลุ่มที่ทำงานให้ความช่วยเหลือในขณะนี้ มีเพียงองค์กรชุมชนที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลพม่าเท่านั้น ซึ่งต่อไปชุมชนนานาชาติ ควรจะทำงานร่วมกับองค์กรที่ทำงานติดกับชุมชน ไม่ใช่ทำงานร่วมกับฝ่ายรัฐบาลพม่าด้านเดียว


 


แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง กล่าวต่อว่า ส่วนความรู้สึกของการมาเยือนของนางลอราครั้งนี้ อยากจะขอตอบแทนชาวพม่าทุกคนว่า มีความพึงพอใจอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาผ่านสตรีหมายเลข 1 รวมทั้งยังให้คนไทยได้เรียนรู้ถึงสถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นที่มาจากประเทศพม่าด้วย


 


โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช พร้อมกับนางลอร่า บุช ภริยา ได้ออกจากประเทศไทยด้วยเครื่องบินแอร์ฟอร์ซ วัน ที่ท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ เมื่อเวลา 14.50 น.วันที่ 7 สิงหาคม เพื่อไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว


 


 


"ปณิธาน" เตือนเปิดบ้านรับ "บุช" ระวังจีนเคือง


ขณะที่ นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเดินทางมาเยือนไทยของนายบุชว่า ประธานาธิบดีสหรัฐมาไทยครั้งนี้ เป็นการใช้โอกาสประกาศยุทธศาสตร์ความเป็นผู้นำโลก เพราะเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวสูงมาก มีประเทศมหาอำนาจใหม่ถึง 2 ประเทศ คือ จีน กับอินเดีย สาเหตุที่เลือกไทยก็เพราะเป็นพันธมิตรที่ยาวนาน แต่ระยะหลังเริ่มเอาใจออกห่างสหรัฐ เพราะเริ่มมีดุลอำนาจมหาอำนาจอื่นๆ มากขึ้น ทั้งจีน อินเดีย รัสเซีย สหรัฐจึงเกรงว่าไทยจะไม่อยู่ในอิทธิพล


 


"น่าสังเกตว่า สหรัฐมาครั้งนี้พูดถึงจีนเยอะมาก โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาในจีนมาตลอดคือเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะต้องการถ่วงดุลหรือคานอำนาจจีน ที่กำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ท่าทีของไทยกับสหรัฐครั้งนี้อาจทำให้จีนไม่พอใจไทย เพราะจีนจะถือสามากเรื่องความเป็นพรรคพวก ที่ผ่านมาไทยกับจีนมีความสัมพันธ์อันดี มีการซ้อมรบร่วมกัน และจีนก็ช่วยเรามาตลอด เคยส่งทหารมาช่วยหลายครั้ง มีการปฏิวัติก็ไม่เคยประณาม แต่อยู่ดีๆ เปิดประเทศให้สหรัฐไปด่าเขาแบบนี้ ต้องระวังเวลาที่จีนไม่พอใจแล้วเป็นเรื่องใหญ่โต" นักวิชาการผู้นี้กล่าว


 


นายปณิธานยังตั้งข้อสังเกตว่า ต้องดูให้ดีว่าการมาของนายบุชครั้งนี้ มีการแอบลงนามข้อตกลงอะไรหรือไม่ เพราะสหรัฐจะฉลาดมากในช่วงที่ไทยอ่อนแอ แปรปรวน เขาจะพยายามสร้างข้อตกลงมาให้เซ็นตลอด ขณะนี้ไทยเองก็อยู่ในสภาพที่ละเอียดอ่อนมาก จะไม่ให้สหรัฐเข้ามาก็ไม่ได้ ถ้าไม่ให้เข้ามาเราจะยิ่งแย่ลง เพราะสหรัฐเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเรา ใหญ่กว่าจีนด้วย ขณะที่จีนก็สำคัญเพราะเป็นเพื่อนบ้านขนาดใหญ่อยู่ใกล้กัน เราต้องถ่วงดุลให้ได้


 


ที่มาของข่าวบางส่วน: สำนักข่าวเชื่อม คมชัดลึก ไทยโพสต์ และแนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net