Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความจริงจากชายแดนใต้ หลัง "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้" ออกแถลงการณ์ประกาศหยุดยิงและยุติการก่อเหตุด้วยอาวุธ แต่ภัยคุกคามไม่ได้หยุดลง

 

ชื่อบทความเดิม: กระบอกเสียงนักศึกษาใต้ สะท้อนความจริงจากชายแดนใต้ที่ถูกปิด ตอนที่ 5

เรื่อง ยุทธการใหม่: บุกค้นปอเนาะ จับตายผู้ต้องหา นำสู่การออกคำสั่งปิดการเรียนการสอน

 

หลังจากมีการออกแถลงการณ์ประกาศหยุดยิงและยุติการก่อเหตุด้วยอาวุธ โดยกลุ่มที่อ้างตัวเองว่าเป็น "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้" เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 จะเห็นได้ว่าคำประกาศดังกล่าวไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใดเลย เพราะตั้งแต่วันแรกหลังจากประกาศจนมาถึงปัจจุบันนี้การก่อเหตุด้วยอาวุธต่อเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และสถานที่ราชการก็ยังคงมีอยู่

 

ดูเหมือนว่า คำประกาศของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้" จะเป็นความจริงก็มีเพียงแต่ประโยคเดียวเท่านั้นก็คือ "ถ้าบุคคลใดไม่ทำตามคำประกาศนี้ คือ หยุดยิง ถ้าจำเป็นต้องกำจัดก็ต้องกำจัด" จะเห็นได้จากที่หลังจากวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา มีพลเรือนหรือชาวบ้านที่เป็นทั้งผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหา ต่างก็ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยกลุ่มที่ไม่เปิดเผยตัวตนบ้าง โดยเจ้าหน้าที่รัฐเสียเองบ้าง จนกระทั่งการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งสอดคล้องโดยปริยายกับความหมายของคำว่า "กำจัด" ของคำประกาศโดยกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้นั้น ก็ลุกลามเข้ามาในบริเวณสถาบันการศึกษาด้านศาสนาซึ่งหล่อหลอมประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมุสลิมให้มีวิถีชีวิตที่มีหลักประกันความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า (ชีวิตหลังความตาย) ตามความเชื่อของชาวมุสลิม

 

สถาบันการศึกษาดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนามของคำว่า "ปอเนาะ" ความหมายตรงๆของคำว่าปอเนาะคือ "กระท่อม" ความเป็นมาของสถาบันการศึกษาด้านศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมที่ได้ชื่อว่า "ปอเนาะ" จนติดปากผู้คนในสังคมมาจนถึงบัดนี้ได้นั้นก็เพราะว่า ระบบการเรียนการสอนของปอเนาะตั้งแต่ยุคแรกๆจนมาถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลาประมาณ 400 กว่าปีนั้น ประกอบด้วย ผู้สอนกับผู้เรียนเท่านั้น ผู้สอน ภาษามลายูเรียกว่า "บาบอ" ผู้เรียนภาษามลายูเรียกว่า "โต๊ะปาเก" ผู้สอนมีเพียงบาบอคนเดียวเท่านั้น บาบอจะใช้บ้านของตัวเองเป็นสถานที่เรียน และต่อมาก็ได้มีการสร้างสถานที่เรียนเฉพาะ อยู่ติดกับบ้านบาบอหรืออยู่บริเวณใกล้ๆกับบ้านบาบอ (ภาษามลายูเรียกว่า "บาลา") ส่วนนักเรียนหรือโต๊ะปาเกที่มาจากหลายๆ ที่ก็มาอยู่ประจำโดยสร้างบ้านพักเล็กๆ ลักษณะคล้ายกระท่อมล้อมรอบบ้านบาบอหรือบาลา นี่คือที่มาของคำว่าปอเนาะในความเป็นจริงมันไม่ได้มีความหมายเป็นแหล่งซ่องสุมกองโจรแต่อย่างใด

 

 

ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 2 อาทิตย์กว่าหลังจากคำประกาศหยุดยิงของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้" คือวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 เวลาประมาณบ่าย 2 โมง ได้มีปฏิบัติการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง จำนวนเกือบ 1,000 นาย ได้เข้าบุกค้นปอเนาะยือนือเร๊ะ หมู่ 1 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 7 คน และจับตายได้ 2 คน ทั้งนี้ข้อมูลของ "เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อสันติภาพ" (คยนส.) รายงานว่ามีนักเรียนผู้หญิงชื่อนางสาวนูรอัยนี เจ๊ะแว อายุ 19 ปี ถูกลูกหลงกระสุนปืนเฉี่ยวต้นขาซ้าย ทำให้ได้รับบาดเจ็บ แต่ข่าวกระแสหลักกลับไม่ได้นำเสนอ และต่อมาได้มีคำสั่งปิดปอเนาะยือนือเระชั่วคราวหรืออาจจะปิดถาวรเลยก็ได้ "ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้หรือไม่ว่า มีคนในปอเนาะรู้เห็นกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับตายและถูกจับกุมดังกล่าวนั้นอย่างไร" คำกล่าวของ นายธนน เวชกรกานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

 

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 4 โมงเย็น ที่ปอเนาะดาลอหรือสถาบันสมบูรณ์ศาสตร์ หมู่ 5 ต.ตันหยงดาลอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้มีปฏิบัติการเช่นเดียวกับที่ปอเนาะยือนือเร๊ะ โดยมีเจ้าหน้าที่กองกำลังสนธิเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองจำนวนหลายร้อยนาย ประกอบด้วยรถปิกอัพหลายสิบคันเข้าปิดล้อมปอเนาะดาลอ จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องสงสัยที่เป็นนักเรียนปอเนาะจำนวน 70 คน ถูกจับกุมและถูกมัดมือไขว้หลังแล้วเจ้าหน้าที่สั่งให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นคล้ายกับเหตุการณ์ 25 ตุลา ตากใบนองเลือด เมื่อปี 2547 และเจ้าหน้าที่ได้จับตายผู้ต้องหา 1 คน ชื่อนายมูฮำหมัดอานิส ยูนุส ในที่เกิดเหตุ

 

 

จะเห็นได้ชัดว่าปฏิบัติการ บุกค้นและถล่มปอเนาะจับตายผู้ต้องหาทั้ง 2 สถาบันในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นยุทธการใหม่ของภาครัฐที่ตอบรับพอดี จากคำประกาศของ "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้" เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยเริ่มที่ แผนหนึ่ง แย่งชิงมวลชน แต่ทำไม่สำเร็จเพราะประชาชนไม่เห็นด้วยกับ กลุ่มใต้ดินกำมะลอ ที่ร่วมมือกับรัฐแล้วใช้ชื่อว่า "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้" จากนั้นก็ใช้ แผนสอง คือ "กำจัดประชาชนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่มก่อความไม่สงบให้หมด" พร้อมกับหาทางทำลายความคิดที่จะดำรงไว้ซึ่ง อัตตลักษณ์ วิถีชีวิต ของคนในพื้นที่ ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายการเมืองการปกครองแบบรัฐเดี่ยวของรัฐไทยให้สิ้นซาก ด้วยการพุ่งเป้าไปที่สถาบันการศึกษาด้านศาสนาแบบดั้งเดิมนั้น

 

 

สุดท้ายปอเนาะซึ่งเป็นเบ้าหลอมของการสร้างคนให้เป็นคนดีออกมารับใช้สังคม ก็กลายเป็น แพะรับบาป ในท่ามกลางความขัดแย้งที่นับวันยิ่งจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกทีและในเมื่อตัวชี้วัดว่าใครเป็นคนดีหรือคนไม่ดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ที่กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินและพ.ร.บ.ความมั่นคงเท่านั้น แล้วความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพในฐานะประชาชนคนหนึ่งในการปกครองแบบประชาธิปไตยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงหลงเหลืออยู่หรือไม่ และเมื่อไหร่สันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้สักที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net