Skip to main content
sharethis

9 ส.ค.51 -  นายจาตุรนต์ ฉายแสง จัดแถลงข่าววิเคราะห์สถานการณ์และนำเสนอทางออก เนื่องจากมีหลายฝ่ายเกิดความหวั่นวิตกต่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยเขาระบุว่า ทางออกระยะยาวคือ สังคมไทยจำเป็นต้องช่วยกันทำความเข้าใจต้นเหตุปัญหา แล้วตัดสินใจว่าจะสนับสนุนยอมรับแนวทางที่สร้างปัญหาอยู่นี้หรือไม่ หากไม่ยอมรับก็ต้องช่วยกันแสดงความเห็นหักล้างแนวความคิดแบบนี้ แล้วกลับมายอมรับแนวทางประชาธิปไตย เชื่อถือและให้อำนาจประชาชน สร้างระบบตรวจสอบที่เป็นกลางจริง ไม่อยู่ภายใต้การกดดันของกลุ่มการเมืองใด ๆ


 


จาตุรนต์ กล่าวต่อถึงต้นตอของปัญหาว่า คือ การเคลื่อนไหวด้วยระบบความคิดที่ผสมกันระหว่างความคิดอนาธิปไตยกับความคิดแบบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และการพัฒนาประเทศ ระบบความคิดนี้ได้พัฒนาต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง และยังเป็นไปอย่างค่อนข้างมีพลังด้วย


 


ระบบความคิดนี้ประกอบด้วย หลักที่ไม่ไว้ใจประชาชน ไม่ยอมรับปฏิบัติตามกติกา เมื่อไม่พอใจรัฐบาลก็เคลื่อนไหวล้มรัฐบาลได้โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นวิธีการแบบไหน เช่น ก่อนหน้านี้ที่มีการปูทางในกับการยึดอำนาจ ตลอดจนแก้ต่างให้กับการยึดอำนาจ สนับสนุนให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอำนาจอธิปไตยอยู่กับคนกลุ่มน้อย และไม่มีการเชื่อมโยงยึดโยงกับประชาชนเท่าที่ควร


 


"ระบบความคิดนี้นอกจากจะเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วยังต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้าลงประชามติบอกว่าแก้ไขได้ คล้ายกับว่ารัฐธรรมนูญนั้นถ้าเผด็จการทหารมาฉีกทำได้ แต่ถ้าประชาชนหรือรัฐสภาจะแก้ทำไม่ได้"


 


จาตุรนต์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ระบบความคิดนี้ยังเสนอสิ่งที่เลวร้าย คือ แนวคิดการเมืองใหม่ที่เป็นการถอยหลังไปไกลแล้ว ระบบความคิดนี้ยังมุ่งให้รัฐบาลปกครองไม่ได้ เป็นแนวอนาธิปไตย การเคลื่อนไหวแบบนี้มีลักษณะพิเศษคือ สามารถโจมตี ใส่ร้ายผู้อื่น ทั้งเป้าหมายศัตรูทางการเมือง และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางตน โดยการโจมตีใส่ร้ายนี้ทำได้อย่างเสรีเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อแป และไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างประชาชนทั่วไป ระบบความคิดนี้อ้างว่าเชื่อถือและมีความจำเป็นที่บ้านเมืองต้องมีองค์กรอิสระ แต่เมื่อใดก็ตามที่องค์กรอิสระเห็นไม่ตรงกับตน ก็สามารถเคลื่อนไหวกดดัน คุกคามองค์กรอิสระทั้งหลายได้ด้วย รวมทั้งองค์กรในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ นอกจากนี้ระบบความคิดนี้ยังใช้ประโยชน์จากแนวคิดชาตินิยมเพื่อมุ่งทำลายศัตรูทางการเมือง เช่น กรณีปราสาทเขาพระวิหาร จนทำให้ประเทศไทยขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน แก้ไขยากลำบากจนปัจจุบัน


 


"การเคลื่อนไหวยังทำโดยใช้กำลังเข้ากดดัน สร้างผู้ที่เห็นร่วมกันโดยใช้ความจริงผสมความเท็จทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความรุนแรง สร้างเงื่อนไขที่เป็นความเสี่ยงที่เกิดความรุนแรง และใช้หลักเหตุผลว่าเมื่อใดก็ตามที่เกิดความรุนแรงขึ้น รัฐบาลในขณะนั้นต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้นยังเสนอประเด็นเลยไปถึงว่าเมื่อเกิดความรุนแรงหรือความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง ทหารมีความชอบธรรมในการยึดอำนาจ" จาตุรนต์กล่าว


 


เขาระบุว่า ระบบความคิดนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่พันธมิตรฯ และน่าเสียดายที่มีการสนับสนุนจากนักวิชาการจำนวนหนึ่ง และผู้ที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาในอดีต ถ้าระบบความคิดนี้ยังเคลื่อนไหวอย่างได้ผลต่อไป และทุกฝ่ายยอมจำนน สังคมไทยก็ไม่มีทางพัฒนาไปเป็นสังคมประชาธิปไตย และไม่มีทางได้รัฐบาลใดๆ ที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ ไม่มีทางรัฐบาลใดๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศได้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ระบบความคิดนี้ได้สร้างขึ้นและกำลังรักษาไว้ และหาไปสู่การเมืองใหม่ก็ยิ่งล้าหลัง


 


สำหรับทางออกเฉพาะหน้า จาตุรนต์กล่าวว่า  ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกหรือชะลอการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เพราะหากปล่อยนานไปในที่สุดจะได้รัฐบาลที่อ่อนแอไม่มีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองถูกทำลายทั้งหมด มีรัฐสภาที่ไม่เป็นเป็นประชาธิปไตย และนำไปสู่วิกฤตความขัดแย้ง ความรุนแรงอยู่ดี จึงมีข้อเสนอให้มีการทำประชามติสอบถามประชาชนในเรื่องนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยเสนอโมเดลของการตั้ง ส.ส.ร.


 


"ทางที่ดีที่สุด ต้องมีการลงประชามติ การลงประชามตินี้จะทำก่อนที่จะเริ่มแก้รัฐธรรมนูญ หรือร่างเสร็จแล้วก็แล้วแต่การออกแบบ แต่ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังก็ควรมีประกาศให้ชัดเจนว่าจะทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก ทุกฝ่ายแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องปะทะกัน จะจัดชุมนุม จัดเวทีสาธารณะ ผ่านสื่อสาธารณะอย่างไรก็ทำได้เต็มที่ ทำให้มากกว่าการทำประชามติครั้งที่แล้วที่ถูกปิดกั้นโดยคมช. คำถามคือ พันธมิตรจะยอมรับผลประชามติไหม ผมทายว่าไม่รับแน่ แต่ประชาชนต้องช่วยกันทำความเข้าใจ ในทางตรงกันข้ามถ้าประชาชนเห็นว่ายังไม่ควรแก้ ก็ต้องยุติการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนตัดสินอย่างนั้น  แล้วรอจนกว่ามีการเลือกตั้งใหม่ มีรัฐบาลใหม่" จาตุรนต์กล่าว


 


ส่วนเรื่องการป้องกันความรุนแรงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน คงไม่เรียกร้องกับฝ่ายพันธมิตร แต่สำหรับรัฐบาลต้องมีหน้าที่หาทางป้องกัน กำชับทุกหน่วยป้องกันความรุนแรงอย่างเต็มความสามารถ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ถ้าจะเคลื่อนไหวก็ต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรง และไม่เป็นผู้ริเริ่มความรุนแรงเสียเอง ซึ่งรวมถึงฝ่ายพลังประชาชนด้วย  


 


"พรรคพลังประชาชนอยู่ได้อย่างมากก็จนถึงวันยุบพรรค เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในพรรค ถ้าเป็นเรื่องตำแหน่งก็น่าจะสรุปบทเรียนแล้วร่วมกันจัดโครงสร้างในพรรคให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ที่ผมเสนอนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับพรรคพลังประชาชน แต่มองไปถึงว่าถ้าเราแก้รัฐธรรมนูญกันไม่สำเร็จ ประชาธิปไตยก็จะถอยหลังอยู่อย่างนี้ หวังว่าจะประคองกันไปได้เมื่อถูกยุบแล้ว คนที่เหลือยังตั้งพรรคได้ เป็นรัฐบาลต่อไปได้ ผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญต่อไปได้" จาตุรนต์กล่าว


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net