Skip to main content
sharethis

10 .. 51 - สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์เรียกร้อง ให้ยกเลิกการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. การจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. .. และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งเจรจาและแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนโดยเร่งด่วน


 






 


แถลงการณ์สมัชชาคนจน


เรื่อง


คัดค้าน พ.ร.บ. จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ


และ


เร่งให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน


 


สมัชชาคนจน เป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการดำเนินโครงการของรัฐทั้งที่เป็นประเภทนโยบาย กิจกรรมโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ประกอบด้วยเครือข่าย ทั้งหมด 7เครือข่าย คือ 1. เครือข่ายที่ดิน 2. เครือข่ายป่าไม้ 3. เครือข่ายเขื่อน 4. เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน  5. เครือข่ายประมงพื้นบ้าน 6.  เครือข่ายสลัม 7.  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก


 


ที่ผ่านมา สมัชชาคนจนได้มีข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา  แต่การแก้ไขไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์  การชุมนุมเรียกร้องทั้งในพื้นที่ที่เกิดปัญหา  และมาเรียกร้องถึงทำเนียบรัฐบาล รวมไปถึงการชุมนุมที่ยาวนานปี 2539 นานถึง 99 วัน เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ของกลุ่มผู้ได้รับเดือดร้อนจากปัญหาต่าง ๆ  การชุมนุมของพี่น้องคนจนที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และสิทธิอันพึงมี ที่นานาอารยประเทศปฏิบัติกัน เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนในนามพรรคพลังประชาชน ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุม ซึ่งมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ  เพราะการชุมนุม เป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชนที่จะเสนอให้มีการแก้ไขในรูปแบบต่างได้


 


ดังนั้นสมัชชาคนจน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่รัฐบาลโดยการนำเสนอของ นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเตรียมเสนอ "ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ..." เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้กับสาธารณะชนทั่วไป พวกเรา "สมัชชาคนจน" เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้  เป็นการดำเนินการนำเสนอกฎหมายที่ขัดต่อการแสดงสิทธิอันชอบธรรมของกลุ่มต่าง ๆ ที่จะดำเนินการไม่ได้ และจะถูกดำเนินคดี ทั้งผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะขออนุญาตการชุมนุม แล้วจะได้รับอนุญาต เพราะที่ผ่านมา การชุมนุมก็ถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐอยู่แล้ว เช่น การสกัดไม่มีการชุมนุม การตรวจค้น พยายามตั้งข้อหาต่าง ๆ แต่ในร่างกฎหมายดังกล่าว ได้กล่าวโทษที่มีความผิดรุนแรงไว้ จึงไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิชุมนุมได้


 


ปัจจุบันนับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ได้บริหารประเทศมาครบ 6 เดือนแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด แม้ได้รับการประสานให้มีการเจรจาในโครงการที่อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ เขื่อนหัวนา เขื่อนราศีไศล จ.ศรีสะเกษ เขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร  เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และกรณีประมงพื้นบ้านภาคใต้ 14 จังหวัด ซึ่งจะมีการเจรจาเบื้องต้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2551 นี้เท่านั้น


 


ส่วนกรณีอื่น ๆ ยังไม่ได้การติดต่อให้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาประกอบด้วย


 


1.       ปัญหาที่ดินและที่ราชพัสดุ ในความรับผิดชอบของ กระทรวงมหาดไทย และกรมธนารักษ์


2.       ปัญหาป่าไม้ ประเภทพื้นที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย


3.       ปัญหาผู้ป่วยจากการทำงาน ในความผิดชอบของ และกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน


4.       ปัญหาเขื่อนผลิตไฟฟ้า เช่น เขื่อนปากมูล ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย


 


ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของคนจนในระดับรากหญ้า แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งมีมากกว่า 100 กรณี ทำให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงในการดำรงอยู่ของประชาชนอย่างปกติสุข ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน


 


จากการประชุมพ่อครัวใหญ่ สมัชชาคนจน ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2551ที่กรุงเทพฯ มีมติร่วมกัน ที่จะเรียกร้องต่อรัฐบาล ในการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ... และปัญหาการแก้ไขสมัชชาคนจนดังนี้


 


1.       ให้ยกเลิกการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. การจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ..


2.       ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งเจรจาและแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนโดยเร่งด่วน


 


 


ด้วยจิตคาราวะ


 


สมัชชาคนจน


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net