ภาคประชาสังคมไทยจับตา ข่าวหึ่งกระทรวงพาณิชย์สมคบบริษัทยาล้ม "ซีแอล"

 

13 ส.ค.51 นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ ซีแอลเป็นเรื่องถกเถียงทางสังคมที่ยังไม่ยุติ ขณะนี้มีพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า การทำซีแอลเป็นการละเมิด ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งกระบวนการนี้ไม่จบไม่สิ้นซะที และยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นด้วยความพยายามใต้ดินเพื่อให้สาธารณะเข้าใจผิด

 

"เราอยากยืนยันว่า กระบวนการทำซีแอล ถูกต้อง ไม่ว่าจะมีความพยายามตีความ อธิบายแง่มุมทางกฎหมายแบบไหนก็แล้ว แต่นักกฎหมายทั้งไทยและนานาชาติ รวมทั้งข้อสรุปที่ปรากฏในองค์การอนามัยโลก และองค์การการค้าโลกต่างก็เห็นพ้องว่า ซีแอลเป็นกลไกที่สำคัญสร้างอำนาจในการต่อรองให้ราคายาลดลง ลดการผูกขาดยาได้จริง

 

ฉะนั้นการที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ประกาศว่าจะเจรจากับบริษัทยาเพราะไม่อยากทำให้นักลงทุนแตกตื่น เราอยากให้ไปศึกษาว่าซีแอลมีประโยชน์ มีประสิทธิภาพอย่างมาก หากกระทรวงทั้งสองอยากจะเจรจาจะต้องฉลาดขึ้นอีกนิด อย่าทิ้งอำนาจ อย่าทิ้งเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ถ้าไปจำกัดตัวเองว่าไม่ทำซีแอล ก็จะยิ่งไม่มีอำนาจต่อรอง คนรอบข้างรัฐมนตรีต้องเอาข้อมูลหลักฐานให้ครบถ้วน อย่าใช้ความเกรงอกเกรงใจบริษัทยา

 

"เราได้ยินมาว่ามีความพยายามยื่นข้อเสนอว่าอย่าใช้ยาชื่อสามัญที่นำเข้ามาหลังการทำซีแอล โดยจะยอมจ่ายค่าชดเชยให้ ถามว่าจะจ่ายค่าชดเชยเพื่อเอายาชื่อสามัญไปทิ้งหรืออย่างไร เราจะจับตาดูอย่างใกล้ชิด ถ้ามีการฮั้ว มีการสมคบกัน ซื้อยาราคาแพงกว่า เราจะไม่ยอมปล่อยเรื่องนี้เด็ดขาด ยาที่กำลังมีการต่อรองขณะนี้ไม่ใช่ยาเอดส์ และการแทรกแซงครั้งนี้มาจากข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์"นิมิตร์กล่าว

 

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าเอดส์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "หากการแทรกแซงล้มซีแอลมาจากบริษัทยา เราพอเข้าใจได้เพราะเขาต้องการกำไร แต่นี่มาจากข้าราชการ เราเข้าใจไม่ได้"

 

ด้านนายบริพัตร์ ดอนมอญ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ควรให้ความสนใจการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยเรื้อรังต่างๆ มากขึ้น การเจรจาต่อรองใดๆ ต้องให้มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่ผ่านมามีการตั้งคระกรรมการ ก็ไม่เรียกประชุม หรือประชุมก็ไม่เรียกภาคประชาชนเข้าร่วม ฉะนั้นเราจะจับตาการสมรู้ร่วมคิดให้ยายังมีราคาแพงอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกเอกสารสรุป (Briefing Note) ว่าด้วยประสบการณ์ประเทศต่างๆในการใช้มาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์) โดยสรุปบทเรียนว่า 1.มาตรการบังคับใช้สิทธิสามารถใช้ และใช้เพื่อปกป้องสาธารณสุขได้ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา 2.จะพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิค่อนข้างจำกัด แต่จากประสบการณ์เหล่านั้นก็พบว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิและการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ

 

3.การประกาศบังคับใช้สิทธิ เป็นคำขู่ที่ได้ผล (Credible Threat) ที่สามารถทำให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรลดราคายาได้จริง  4.การใช้มาตราการก่อนการออกสิทธิบัตรจะสามารถช่วยเสริมการเข้าถึงยาได้ เช่น พรบ.การแข่งขันทางการค้า

 

ในข้อสรุปตามเอกสารขององค์การอนามัยโลกระบุด้วยว่า หลายประเทศที่ทำซีแอลจะถูกวิจารณ์ และถูกกดดันอย่างมาก ดังนั้น ควรต้องพิจารณาหากลไกในการปกป้องประเทศต่างๆ ให้ใช้กลไกเหล่านี้ได้อย่างจริงจังมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท