คลังชงครม. อนุมัติร่างกฎหมายภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายใน 1 เดือนนี้จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ เพื่อให้มีการนำที่ดินเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล

 

"เรื่องนี้ศึกษากันมานาน 10 ปีแล้ว แต่กฎหมายก็ออกไม่ได้เสียที มาครั้งนี้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำอะไรตามระบบสากล ผู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการถือครองที่ดินก็จะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่ใช้ประโยชน์จากที่ดิน ผู้ที่ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยควรต้องเสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่ใช้ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ส่วนของสถาบันการเงินที่ถือครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นเอ็นพีเอหรือทรัพย์สินที่รอการขายถือว่าอยู่ในขายไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ต้องจ่ายภาษีเช่นกัน"

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า กว่าที่กฎหมายนี้จะออกมาบังคับใช้ต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

 

ทั้งนี้ กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการยกร่างกฎหมายใหม่ โดยยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับคือ กฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 กฎหมายกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2529 และกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สำคัญยังเป็นการลดภาระงบประมาณในการจัดสรรเงินงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกด้วย หลังจากที่พบว่า อปท. มีรายได้ลดลงจากการลดค่าธรรมเนียม การโอน และการจดจำนองที่ดิน จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์

 

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือ การกำหนดอัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไปไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยของตนเองโดยไม่ประกอบเชิงพาณิชย์จัดเก็บไม่เกิน 0.1% ของฐานภาษี ขณะที่ที่ดินประกอบเกษตรกรรมจัดเก็บไม่เกิน 0.05% ของฐานภาษี ส่วนที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินให้เสียภาษีไม่เกิน 0.5% ใน 3 ปีแรก หากไม่ได้ทำประโยชน์อีกกำหนดให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าในทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

 

ส่วนการกำหนดฐานภาษีนั้นได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินฯ โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมธนารักษ์ กระทรวงมหาดไทย เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นต้น และยังเห็นชอบให้ อปท. สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่เกินเพดานภาษีที่กำหนดไว้หากมีเหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

 

นพ.สุรพงษ์กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมศึกษาการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งหลักการจะเก็บภาษีไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ต้องศึกษาว่าจะเก็บจากผู้ให้หรือผู้รับ และการโอนภาษีไม่จำเป็นต้องเก็บเฉพาะกรณีเก็บจากผู้เสียชีวิตแล้วเท่านั้น แต่สามารถจัดเก็บจากการโอนมรดกจากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลหนึ่งที่ยังไม่เสียชีวิตได้ รวมถึงยังต้องมีหลักเกณฑ์การตีมูลค่าทรัพย์สินในกรณีเป็นการโอนมรดกที่เป็นสิ่งของ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมากที่สุด

 

"ยังไงก็ต้องมีการเก็บภาษีมรดก จะต้องมีการร่างเป็นกฎหมายใหม่ และระบบภาษีต้องเป็นสากล ส่วนจะประเมินภาษีกันอย่างไรต้องศึกษาให้ชัดเจน"

 

ที่มา : โลกวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท