Skip to main content
sharethis

 






เรียบเรียงในส่วนที่ "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พูดถึง "เสรีไทย" จากงานเสวนา การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน จากขบวนการเสรีไทย(2484-2488) สู่ขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ วันที่ 9 สิงหากคม 2551 เนื่องในวาระครบรอบ 63 ปี วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม พ.ศ.2488, ครบรอบ 35 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 


 


 



7 ประเด็นเกี่ยวกับเสรีไทย


 


"เสรีไทย" ยุคก่อตั้ง และยุคเฟื่องฟู


 


1.ความหมายของเสรีไทย ตามความเข้าใจทั่วไปคือ กลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเพื่อยึดครองประเทศไทย คนไทยกลุ่มนี้จึงตั้งขบวนการขึ้นมา เรียกว่า ขบวนการเสรีไทย แต่คำนี้ปัญหานิดหน่อยว่าการต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงแรกไม่ชัดเจนที่จะเรียกว่าเสรีไทย และมันไม่มีการยึดโยงเป็นเอกภาพ อย่างที่เรารู้กันในปัจจุบันว่ามีเสรีไทยสายในประเทศ สายอเมริกาสายอังกฤษ ซึ่งมีนัยยะที่แตกต่างกันอยู่บ้าง


 


คำว่า เสรีไทย ได้รับการสถาปนาและเห็นได้ชัดเจนในช่วงหลังสงครามโลก ไม่ใช่ระหว่างสงคราม เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ กลุ่มเสรีไทยได้เข้ามามีบทบาทครองงำการเมือง การเมืองไทย 3 ปี คือช่วงปี 2487-2490 ก่อนจะมีการัฐประหาร ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์มักเรียกกันหลวมๆ ว่า ยุคเสรีไทย เป็นการเมืองที่ฝ่ายเสรีไทย ซึ่งนำโดยปรีดี พนมยงค์ หลวงอดุลย์เดชจรัส นายเดือน ชัยนาม หลวงศุภชลาสัย เป็นแกนนำที่มีบทบาททางการเมืองผ่านรัฐบาล 2 ชุด คือ รัฐบาลที่ปรีดีเป็นนายกฯ และรัฐบาลที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกฯ


 


ยุคเสรีไทยจบลงเมื่อมีการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 ซึ่งคนที่บทบาทตัวจริงในการรัฐประหารครั้งนี้คือ พลโทผิน ชุณหะวัณ และหลวงกาจสงคราม เมื่อทำรัฐประหารแล้วชักไม่แน่ใจว่าจะชนะไหม จึงได้ไปเชิญ จอมพล ป.มาเป็นผู้นำรัฐประหาร ฉะนั้น จะบอกว่าจอมพลป.เป็นผู้นำรัฐประหารนั้นไม่ถูกทั้งหมด


 


แต่การเมืองไทยยุคเสรีไทยสิ้นสุดอย่างจริงจังในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 เมื่อกำลังของเสรีไทยส่วนหนึ่งที่เป็นข้าราชการ และพลเรือนได้เข้าร่วมการรัฐประหารเพื่อโค่นรัฐบาลคณะรัฐประหารแล้วแพ้ ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดแท้จริงเมื่อปรีดี ซึ่งเป็นผู้นำเสรีไทยตัวจริงต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการและยาว ช่วงปี 2490 ปรีดีก็ไปต่างประเทศแต่ยังเคลื่อนไหวอยู่ และเข้ามาอภิวัตน์ทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอยู่ อย่างไรก็ตาม ขบวนการที่เรียกว่ากบฏวังหลวงเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นั้น ปรีดีเรียกว่าขบวนการประชาธิปไตย แต่เมื่อขบวนการนี้พ่ายแพ้จึงต้องลี้ภัยยาวในจีน และไปฝรั่งเศสจนเสียชีวิตที่นั่น


 


นัยยะอย่างนี้ "เสรีไทย" จึงเป็นเรื่องที่มาเรียกกันทีหลัง ตอนที่ต่อต้านอยู่ไม่ได้รู้ว่าเป็นเสรีไทยหรือเปล่า เพียงแต่มันมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น


 


ทำไมเราถึงมีปัญหาเรื่องคำ เสรีไทย ทำไมจึงเป็นคำที่ใช้หลังสงคราม คำตอบง่ายๆ ก็คือ เสรีไทยตัวจริงเป็นองค์การขนาดเล็กและปิดลับ ไม่ได้เปิดเผยอย่างแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน เพราะขณะนั้นญี่ปุ่นยึดครองประเทศอยู่ เสรีไทยที่รู้จักในช่วงระหว่างสงครามรู้จักกันแค่องค์กรใต้ดิน ใครเป็นบ้างก็ไม่รู้ และต้องเข้าใจว่าตอนที่ญี่ปุ่นยึดครองประเทศ รัฐบาลจอมพลป.ในช่วงต้นสงครามนั้นร่วมมือกับญี่ปุ่น ดังนั้น การขยายกำลังอย่างผลีผลามจะเป็นอันตราย ดังนั้น เสรีไทยขณะนั้นจึงไม่ใช่องค์กรใหญ่โต เคลื่อนไหวครึกโครม หรือเป็นที่รู้จัก


 


ดังนั้น การตั้งครั้งแรกจึงไม่มีการระดมมวลชน และไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการประชาชน ระยะแรกที่มีการตั้งกันมีการคุยกันที่บ้านปรีดี กลุ่มหลักมี 2 กลุ่มคือ พวก ส.ส. ลูกศิษย์ลูกหา อีกลุ่มคือ คณะราษฎร หลวงกาจสงครามก็นั่งอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาแปรพักตร์และกลายไปเป็นผู้นำคณะรัฐประหาร ขบวนการนี้ขยายตัวในหมู่ข้าราชการ และพวกนักกฎหมายที่เป็นลูกศิษย์ปรีดี


 


2. ถ้ามองประวัติศาสตร์เสรีไทยในช่วงสงคราม มันมีจุดหักอยู่ ช่วงแรกเล็ก ปิดลับ ไม่ชัดเจน แต่หลังกลุ่มเสรีไทยได้ใช้กำลังภายในบีบจอมพลป.ให้ลาออก ในเดือนกรกฎาคมปี 2487 และให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ แทน เป็นช่วงที่2 ของเสรีไทย ซึ่งกลุ่มเสรีไทย และคณะราษฎรสายพลเรือนเข้ามามีบทบาทนำ ควบคุมกลไกรัฐ เป็นช่วงที่เสรีไทยมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ในวงการข้าราชการ พ่อค้าต่างจังหวัด และมีการตั้งกองกำลังเสรีไทยของคุณเตียง ศิริขันธ์ คุณถวิล อุดล ยิ่งกว่านั้นการขยายตัวของเสรีไทย สายปรีดีที่กุมอำนาจรัฐได้รับความร่วมมืออย่างยิ่งจากกลุ่มทหารเรือ ซึ่งมีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นเสรีไทยในระยะต่อมา ก่อนจะมีการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490


 


นี่คือภาพของกลุ่มที่เราเรียกว่า เสรีไทย และจะเห็นความเปลี่ยนอย่างสำคัญในสองช่วงนี้


 


 


บทบาทคนจีนที่ต่อต้านญี่ปุ่น ก่อนมีเสรีไทย


3. ต้องอธิบายให้ชัดว่า เสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นจริง แต่ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ มีคนกลุ่มอื่นต่อต้านญี่ปุ่นมาก่อนเสรีไทยแล้ว ต้องให้เครดิตกับคนจีน เพราะจีนทำสงครามกับญี่ปุ่นมาก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกไทย ทำให้พวกคนจีนต่อต้านญี่ปุ่นมาก โรงเรียนจีนในไทยสมัยนั้นเรี่ยไรเงินส่งกลับบ้านเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น มีการรณรงค์ ให้ความรู้ในแบบเรียนเพื่อต่อต้านญี่ป่นด้วย ซึ่งรัฐบาลจอมพลป.เห็นว่าเป็นภัย สมัยที่จอมพลป.เป็นนายกฯ จึงมีการปราบปรามโรงเรียนจีน นัยยะแรกเพราะจอมพลป.ต่อต้านคนจีน กับอีกนัยยะหนึ่ง เพราะคนจีนเหล่านี้ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย ซึ่งขัดกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งแม้จะบอกว่าเป็นกลาง แต่เราต้องพูดความจริงกันว่า เอียงข้างญี่ปุ่น รัฐบาลไทยสมัยนั้นไม่ยอมเปิดความสัมพันธ์กับจีน ซุนยัดเซน หรือกับคณะชาติด้วย


 


ฉะนั้น รัฐบาลจอมพลป.จึงพยายามจะกวาดล้าง ควบคุมคนจีนเหล่านี้ เพราะกลัวว่าปัญหาจะลุกลามจนทำให้ไทยขัดแย้งกับญี่ปุ่น


 


คนจีนที่ต่อต้านญี่ปุ่นมีทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือก๊กมินตั๋ง และที่มากกว่านั้น พรรคคอมนิวนิสต์สายจีนเริ่มบทบาทแล้ว และญี่ปุ่นเองก็รับรู้ ที่ยกพลบุกไทยส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการจะควบคุมกลุ่มคนจีน


 


ด้วยความที่กิจกรรมต่อต้านญี่ปุ่นของคนจีนนั้นแพร่หลาย ก็จูงใจคนไทยบางส่วนที่ต่อต้านญี่ปุ่นนั้นเข้าร่วมกับคนจีน เพราะเสรีไทยนั้นเป็นขบวนการปิดลับ ถ้าเราเป็นชาวบ้านธรรมดาที่อยากต่อต้านญี่ปุ่น ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเดินไปหาปรีดีที่ทำเนียบท่าช้างขอเข้าร่วมกับเสรีไทยได้ ฉะนั้น เข้าร่วมกับคนจีนง่ายกว่า


 


ไทยอิสระ ไทยถีบ คณะกู้ชาติ พรรคคอมมิวนิสต์ ฯ


4. กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นนอกเหนือจากคนจีนแล้วยังมีกลุ่มคนไทยด้วย เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยในเดือนธันวาคม 2484 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายประการ จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกบวกกับญี่ปุ่น ขณะที่เราเกลียดฝรั่งเศสและอังกฤษเพราะมันเคยทำเราเจ็บช้ำ โดยใจลึกๆ ของคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงอยากให้ญี่ปุ่นและเยอรมันชนะสงคราม แต่มันเปลี่ยนเมื่อญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย ภัยของญี่ปุ่นกลายเป็นภัยเฉพาะหน้า คนไทยที่รักชาติเห็นแล้วว่าภาวะที่ไม่เอกราช ต้องอยู่ภายใต้ญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ขบวนการที่ต่อต้านญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้น ภายใน 3 ปี มีหลายกลุ่ม


 


แรกๆ มีขบวนการเรียกว่า ไทยอิสระ ขบวนการนี้ร้ายแรงมาก ทันทีที่ญี่ปุ่นบุกไทยได้ 2 วัน มีการแจกใบปลิวทั่วกรุงเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และต่อมายังมีการแจกใบปลิวในวาระต่างๆ ด้วย กลุ่มนี้เป็นใครก็ไม่รู้ และไม่ใช่ต่อต้านเฉพาะญี่ปุ่นแต่ต่อต้านรัฐบาลจอมพลป.ด้วย แทบจะเรียกได้ว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่กล่าวหาว่ารัฐบาลจอมพลป.สมคบกับญี่ปุ่น ในที่สุดมีการจับกุมได้คนหนึ่ง เพราะแกทำใบปลิวตอนกลางคืนแล้วเผลอหลับโดยลืมปิดไฟ สมัยสงครามกลางคืนต้องปิดไฟ ตำรวจจึงเข้าไปเตือนให้ปิดไฟแล้วเจอเครื่องพิมพ์ ใบปลิวเต็มไปหมด เขาไม่ได้ซักทอดใคร แต่โดยข้อเท็จจริงเขาโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาไทย ซึ่งต่อมาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในเดือนธันวาคม 2485


 


นอกจากกลุ่มไทยอิสระ กลุ่มหนังสือพิมพ์ก้าวหน้าทั้งหลายก็ต่อต้านญี่ปุ่น เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ สุภา ศิริมานนท์ หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ปีกขวาอย่างกลุ่มเลือดไทยก็ต่อต้านญี่ป่าน เช่น ดำริห์ ปัทมะศิริ ต่อมาพวกนี้ถูกกวาดจับในกรณีเดียวกับคณะไทยอิสระ แต่ต่อมาพวกนี้โดนปล่อยตัว ที่น่าแปลกคือ รัฐบาลจอมพลป.ไม่ปล่อยดำริ


 


กลุ่มของคุณจำกัด พลางกูร คุณอัสนี พลจันทร์ คุณเตียง พวกนี้ก็ต่อต้านญี่ปุ่นมาก่อนโดยที่ยังไม่ได้โยงกับเสรีไทย ทันทีที่ญี่ปุ่นบุก คนพวกนี้รับไม่ได้ ได้มีการตั้งกลุ่มของเขาเองชื่อ คณะกู้ชาติ ไม่ทราบว่ามีใครร่วมอยู่บ้าง ต่อมากลุ่มนี้ได้เข้าร่วมกับกลุ่มเสรีไทยสายพลเรือนของปรีดี


 


ขอกลับไปที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยอีกทีหนึ่ง เพราะได้มีการจัดตั้งกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นด้วยเช่นกันตอนช่วงปลายสงคราม พรรคคอมมิวนิสต์ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาตั้งกองกำลังร่วมกันตั้งที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น เสรีไทยสายปรีดีกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยมีการติดต่อกันโดยผ่านพ่อค้าจีนคนหนึ่งซึ่งเป็นก๊กมินตั๋ง พอสงครามยุติพวกคณะผู้บริหารงานของพรรคคอมฯ จึงมีการพบกับปรีดีอย่างเป็นทางการ


 


นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม ไทยถีบ ขบวนการนี้เป็นการจัดตั้งโดยกลุ่มคนไทยและกลุ่มต่างๆ เข้าใจว่าจะเป็นพวกโจรผู้ร้ายด้วยซ้ำ อาจจะทั้งต่อต้านญี่ปุ่นและอยากปล้นสินค้าญี่ปุ่น ขบวนการไทยถีบมีงานหลักในการขึ้นรถไฟแล้วถีบสินค้าญี่ปุ่นลงมากลางทาง ขบวนการนี้จะลงมือบนทางรถไฟสายตะวันออก เส้นทางกรุงเทพฯ -ปอยเปต- พระตะบอง เพราะมีโค้งเยอะ ต้องเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้ซื้อตั๋วขึ้นไป พวกนี้ต้องลงมือกลางคืน โดยไปสำรวจทางรถไฟว่ามีกี่โค้ง โค้งไหนยาวเท่าไร รถไฟจะแล่นด้วยระยะเท่าไร จากนั้นจะไปซุ่มที่โค้งใดโค้งหนึ่ง เมื่อรถไฟแล่นมาจะชะลอเวลาเข้าโค้ง พวกไทยถีบต้องวิ่งให้ความเร็วเท่ากับรถไฟแล้วกระโจนขึ้นให้ทัน ขึ้นแล้วถีบๆๆๆๆๆ สินค้าลง และจะต้องกระโจนลงโค้งหน้าให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะโดนจับ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญ เพราะทำลายการลำเลียงสินค้าของญี่ปุ่น


 


สรุปแล้ว เราจะเห็นภาพว่า ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นนั้นมีหลายกลุ่ม เสรีไทยเป็นกลุ่มหนึ่งและเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกลุ่มอื่นเลย คนไทยที่รักชาตินั้นมีหลายกลุ่ม คุณโพยม จุลานนท์ ก็เป็นนายทหารคนหนึ่งที่ไม่พอใจกับการที่ญี่ปุ่นบุกประเทศ ตอนนั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อยไม่รู้ว่าปรีดีตั้งเสรีไทย จึงไปร่วมกับกลุ่มคนจีนในการต่อต้าน กระทั่งไปพบกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีผลให้ชะตาชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง


 


 


5. แม้กระทั่งในเสรีไทยก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียว มีความแตกแยกภายใน แต่มีเป้าหมายร่วมคือต่อต้านญี่ปุ่น เราพูดกันทั่วไปว่าเสรีไทยนั้นมี 3 สาย คือ สายในประเทศ สายอังกฤษ และสายอเมริกา แต่เราอาจไม่รู้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร


 


เสรีไทยสายในประเทศนั้นนำโดยปรีดี พนมยงค์ นัยยะเช่นนี้หมายถึงว่า สายนี้ประกอบด้วยคณะราษฎรหลายพลเรือนเป็นหลัก ส่วนสายอังกฤษคือพวกนิยมเจ้า เพราะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเจ้านายเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายลี้ภัยไปอยู่อังกฤษ กลุ่มนี้มีความหวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องล้มคณะราษฎรให้จงได้ เมื่อเกิดสงครามโลก รัฐบาลจอมพลป.ประกาศเข้าข้างญี่ปุ่น เสรีไทยสายอังกฤษจึงถูกตั้งขึ้นมา มีการเชิญพระนางเจ้ารำไพพรรณีเข้าร่วม และเราคงไม่ได้ไร้เดียงสาเกินไปจนคิดว่า สายเจ้านายเข้ามาโดยไม่มีการเมือง แต่หากมองอย่างเป็นธรรม ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังวิกฤต พวกเขาก็ยังมีสติพอที่จะเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นภัยร้ายแรงเฉพาะหน้า ยอมสลายความแตกต่างเพื่อจัดการกับญี่ปุ่นก่อน


 


สายอเมริกาแตกเป็น 2 สาย มี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งคณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตเป็นผู้นำ เป็นข้าราชการรุ่นหนุ่มมาก อีกสายหนึ่งของหม่อมหลวงขาบ กุญชร ซึ่งใกล้กับรัฐบาลจอมพลป.


 


อย่างไรก็ตาม ตอนตั้งเสรีไทยที่อังกฤษและอเมริกาก็ไม่ได้รู้ว่าสายไทยมีใครบ้าง มารู้ในภายหลัง และความแตกต่างนี้เองนำมาซึ่งความไม่ไว้ใจ ไม่แน่ใจ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการติดต่อ ประสานงาน พูดกันตรงๆ ว่า ระหว่างที่เสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ก็มีการเชื่อมความสัมพันธ์แก้ปัญหาภายในระหว่างกันเองด้วย จนกระทั่งสงครามยุติ เสรีไทยสายคณะราษฎรตัดสินใจเลือก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีเสียงคัดค้านจมหู เพราะเห็นว่าไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง การบริหาร และเมื่อเป็นนายกฯ แล้วก็เข้ากับเสรีไทยภายในประเทศไม่ได้เลย ซึ่งนำไปสู่การยุบสภา และทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ หันไปก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย


 


ฉะนั้น ในทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง ภาพของเสรีไทยนั้นมีลูกคลื่น มีความหลากหลาย มีความไม่เป็นเอกภาพมากกว่าที่คิด


 


จอมพลป.ก็ต่อต้านญี่ปุ่นด้วย (ในช่วงหลัง)


6. คนสำคัญคนหนึ่งคือ จอมพลป.พิบูลสงคราม ถามว่าเขาร่วมมือกับญี่ปุ่นจริงหรือเปล่า คำตอบคือ จอมพลป.ต่อต้านญี่ปุ่น แม้จะร่วมกับญี่ปุ่นในช่วงต้นๆ สงคราม แต่เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำ คนอย่างจอมพลป.จะไม่รู้หรือว่าญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม ดังนั้น จอมพล.ป ได้กระทำการเป็นการลับในการติดต่อกับฝ่ายพันธมิตรมาก่อนหน้านั้น


 


น่าสนใจว่า เมื่อไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ประกาศสงครามกับแค่สองประเทศนี้ แต่จากนั้นเราส่งทหารไปเชียงตุง เพื่อไปช่วยยันในสงครามระหว่างอินเดีย อังกฤษ และจีนเจียงไคเช็ค เมื่อไปถึงมณฑลเชียงตุงเรารบกับจีน ซึ่งเราไม่ได้ประกาศสงครามด้วย แต่ต่อมาก็มีการเจรจากันในระดับแม่ทัพว่าเราจะไม่รบกับจีน แต่ยังจะแกล้งยิงกันนิดหน่อยไม่ให้ญี่ปุ่นสงสัย จากนั้นมีความพยายามส่งมือซ้าย และขวาของจอมพลป.ไปจีนเพื่อไปเจรจากับเจียงไคเช็ค แต่รัฐบาลจอมพลป.ถูกโค่นเสียก่อน ฉะนั้น จอมพลป.ก็ต่อต้านญี่ปุ่น


 


หลังสงครามเมื่อจอมพลป.ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงคราม อาจจะด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้เลยทำให้รัฐบาลสายปรีดีไม่เอาผิดจอมพลป. แม้ว่าจอมพลป.จะอ้างเจียงไคเช็ค แต่เจียงไคเช็คปฏิเสธ พูดง่ายๆ ว่าโดนหักหลัง ไม่รับรองการติดต่อของจอมพลป.


 


ที่กล่าวมาทั้งหมด อยากให้เรามองประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกและขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นแบบหลากหลายมากขึ้น


 


7. จะสรุปประเด็นสุดท้ายว่า ฉะนั้นแล้วอะไรคือเสรีไทย อยากจะให้มองเสรีไทยในสายตาใหม่ ในฐานะที่เป็นแนวร่วมชุดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยหลายๆ ฝ่ายที่มีเป้าหมายร่วมในการต่อต้านญี่ปุ่น มีตั้งแต่ปีกซ้ายสุดตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์ไทย คนจีน กลุ่มขวาพวกนิยมเจ้า การต่อต้านญี่ปุ่นจึงเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้าของกลุ่มต่างๆ ขณะนั้น นี่คือคำตอบว่า ทำไมหลังสงครามยุติ เมื่อสายปรีดีได้เป็นรัฐบาลจึงเกิดความแตกแยกกันอย่างมาก


 


อย่างไรก็ตาม การให้ภาพในทางประวัติศาสตร์เสรีไทยใหม่แบบตรงข้อเท็จจริงมากขึ้นเป็นสิ่งน่าสนใจ ซึ่งทำให้เห็นว่าอย่างน้อยการทำงานในลักษณะที่ต้องประสานกลุ่มที่แตกต่างกันขนาดนี้ คนที่เป็นผู้นำต้องทำงานอย่างยากลำบาก ต้องจัดองค์กรให้ได้ ให้ทุกกลุ่มผนึกกำลังกันภายใต้การนำของผู้ที่มีนามแฝงว่า รู้ด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net