Skip to main content
sharethis

วานนี้ (15 ส.ค.51) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) จัดการเสวนา "ชะตากรรมของสื่ออิสระ สื่อทางเลือก ภายใต้รัฐ ทุน หรือ แนวคิดสังคม" กรณีศึกษา เว็บไซต์ประชาไท และวิทยุชุมชนไทรโยค ณ อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รัชดา 14 โดยมี นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท และนายวสันต์ ปานเรือง ประธานวิทยุชุมชนไทรโยคน้อย จ.กาญจนบุรี มาร่วมนำเสนอประสบการณ์ นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ


 


นอกจากนี้วงเสวนายังมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย น.ส.ชลิดา เอื้อบำรุงจิต จากเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


 


นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท ได้เล่าถึงแนวความคิดเริ่มต้นของการก่อตั้งประชาไทของ จอน อึ๊งภากรณ์ ว่ามาจากความต้องการสร้างสื่อที่เป็นอิสระจากรัฐและทุน รวมทั้งให้มีการดำเนินงานในกองบรรณาธิการที่เป็นประชาธิปไตย โดยกองบรรณาธิการอยู่ภายใต้การดูแลให้คำปรึกษาของกรรมการโครงการวารสารข่าวทางอินเตอร์เน็ต เพื่อการศึกษาและสุขภาวะของชุมชน ซึ่งอยู่ในโครงสร้างการบริหารของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน


 


ส่วนภารกิจในการดำเนินงานของประชาไทในปัจจุบัน ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือการทำข่าวที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคม ข่าวของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก และการยกระดับการทำงานข่าวของประชาชนให้เกิดนักข่าวพลเมือง ในส่วนหลังนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เว็บไซต์ประชาไทกลายเป็นพื้นที่ข่าว บทความ รวมทั้งเว็บบอร์ด ซึ่งทำให้ประชาไทไม่ใช่สื่อของกองบรรณาธิการเพียงลำพังอีกต่อไป


 


ตามความคิดของนายชูวัส การเปิดพื้นที่ให้กับนักข่าวพลเมืองในส่วนนี้ ได้ส่งผลในทางการบริหารอย่างมากและมีผลต่อคำถามเรื่องการอยู่รอด ไม่เพียงแต่ข่าวที่หลากหลายมากขึ้นเท่านแต่ยังส่งผลต่อการทำให้ต้นทุนในการทำข่าวลดลงด้วย อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่บีบบังคับให้คนต้องเลือกข้าง ประชาไทหลีกไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามถึงการเป็นสื่อที่เป็นกลาง รอบด้าน และหลากหลายของประชาไท ทั้งจากแหล่งทุนและกรรมการโครงการฯ เอง ซึ่งในส่วนนี้นายชูวัส แสดงความคิดเห็นว่า การทำสื่อที่เป็นกลาง รอบด้านและหลากหลาย มีต้นทุนที่มหาศาล ซึ่งจะนำไปสู่วังวนของความเป็นสื่อกระแสหลักที่ไร้เสรี


 


"เราไม่มีปัญญาเป็นกลาง รอบด้าน หลากหลายแบบสื่อกระแสหลัก คุณกำลังเรียกร้องในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติของสื่อพลเมือง" บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไทกล่าว


 


นายชูวัส กล่าวอีกว่า ไม่ได้มองปัญหาเรื่องแหล่งทุนเป็นการบีบบังคับ หรือคุกคาม แต่คิดว่าในสังคมไทยนั้นแนวคิดทางสังคมที่แตกต่าง ทำให้การเสนอข่าวที่แตกต่างกับความคิดความเชื่อกลายเป็นปัญหา" 


 


"ผมคิดว่าสิ่งที่คุกคามเสรีภาพในการเสนอข่าวของนักข่าว ไม่ได้มาจากรัฐและทุนเพียงเท่านั้น แม้แต่แนวคิดทางสังคมที่มีอยู่ในเพื่อนพ้องเอ็นจีโอของเราเองก็เป็นปัญหาด้วย" นายชูวัส กล่าว


 


นายวสันต์ ปานเรือง ประธานสถานีวิทยุชุมชนไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งถูกจับและยึดเครื่องส่งโดย เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาการถือครองเครื่องส่งโดยไม่มีใบอนุญาต กล่าวว่า ในกรณีของตนถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชน ทั้งยังเลือกปฏิบัติ เพราะหากจะอ้างว่าเครื่องส่งที่ใช้ในการกระจายเสียงนั้นผิดกฎหมาย แล้วมาจับ ยึดเครื่องไป ก็ต้องมีการตรวจจับทั้งหมด


 


นายวสันต์กล่าวต่อมาว่า วิทยุชุมชนในพื้นที่ อ.ไทรโยค มีทั้งวิทยุชุมชนที่ไม่แสวงกำไรและแสวงกำไร อีก 5-6 สถานี บางแห่งกำลังส่งถึง 500 วัตต์ มากกว่าที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดไว้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 ซึ่งให้มีกำลังส่งเพียง 30 วัตต์ เท่านั้น แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้มีการจับหรือยึดเครื่องส่งสถานีดังกล่าวแต่อย่างใด


 


"อยากถามว่าถ้าผิดทำไมไม่ผิดทั้งหมด ถ้าจับทำไมไม่จับทั้งหมด เลือกปฏิบัติอย่างนี้ไม่เป็นธรรม" นายวสันต์กล่าว พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมา วิทยุชุมชนไทรโยคน้อยได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยไม่แสวงหากำไร ใช้ระบบอาสาสมัครในการจัดรายการ และทุนสนับสนุนมาจากการบริจาคจากคนในชุมชน แต่


 


นายวสันต์กล่าวอีกว่า การจับกุมครั้งนี้ได้ส่งผลเรื่องของการพัฒนาของคนชุมชน ก่อนหน้านี้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งมีความสนใจในวิทยุชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของวิทยุชุมชน การมีส่วนร่วม และการรู้ถึงสิทธิการสื่อสารของตน แต่ขณะนี้เยาวชนในพื้นที่เริ่มไม่มั่นใจในการทำกิจกรรมดั้งกล่าวต่อไม เพราะมีความมั่นใจว่าวิทยุชุมชนจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้อีกหรือไม่


 


"รัฐควรจะเข้ามาจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม รัฐควรออกกฎหมายมาคุ้มครองประชาชนให้ใช้สิทธิของตน ไม่ใช่ใช้กฎหมายมาทำร้ายประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" ประธานสถานีวิทยุชุมชนไทรโยคกล่าว


 


น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่าทั้ง 2 กรณีสะท้อนให้เห็นความต้องการในการสื่อสารทั้งในระดับชุมชน และการสื่อสารต่อสาธารณะ ในส่วนของวิทยุชุมชนนั้นเป็นการสนองตอบความต้องการมีตัวตนของคนในท้องถิ่น ที่ถูกครอบงำโดยส่วนกลางมาโดยตลอด แม้จะไม่ใช่การท้าทายอำนาจนั้นโดยตรง แต่ก็เป็นความพยายามกระจายการจัดสรรทรัพยากรสู่ท้องถิ่น


 


ส่วนประชาไทเป็นการเสนอเนื้อหาทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง และปัญหาในระดับโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งแม้จะไม่มีอิทธิพลมากเพราะไม่ใช่สื่อในระดับชาติ แต่อาจพูดในสิ่งที่กระทบต่อสามัญสำนึกของคนในสังคม เหมือนเป็นหอกข้างแคร่ทางความคิด อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 กรณี ท้าทายการยอมรับถึงความแตกต่างทางรสนิยม ความคิด และความเชื่อ ในสังคมประชาธิปไตย


 


"ท้ายที่สุดคือทุกสื่อต้องมีเสรีภาพ โดยมีจริยธรรมของตัวเองกำกับ" น.ส.สุภิญญา กล่าวถึงสื่อในสังคมประชาธิปไตย และย้ำว่าการปิดกันไม่ให้คนอื่นได้พูดนั้นถือเป็นการรุกล้ำสิทธิของผู้อื่น


                                                                                                     


น.ส.ชลิดา เอื้อบำรุงจิต จากเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ กล่าวถึงการออกกฎหมายในการเซ็นเซอร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดเรทสื่อภาพยนตร์ ซึ่งปิดกันเสรีภาพในการแสดงออกรวมทั้งเสรีภาพในการรับรู้ว่า ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ออกมาจากอำนาจรัฐแต่เกิดจากความเห็นดีเห็นงามของคนในสังคม และแม้ว่าในส่วนหนึ่งของสังคมจะมองเห็นกลุ่มคนที่ยอมรับในความคิดแตกต่างหลากหลาย แต่ในส่วนหนึ่งก็ยังมองเห็นแนวคิดทางสังคมที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันคือการปิดกันการนำเสนอความคิดที่หลากหลาย


 


ทำให้คนไม่กลาเสี่ยง และเลี่ยงโดยการไปอยู่ในที่ที่มีการแบงแยกขาวดำชัดเจนซึ่งตรงนี้จะก่อให้เกิดปัญหาต่อไปได้ เพราะการไม่กล้าเข้าไปแก้ไขในสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ที่ประกอบด้วยบริบทอื่นๆ ร่วมด้วย


 


ด้านนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย เสริมว่า รูปแบบการเซ็นเซอร์ที่ผ่านมา มักตัดสินด้วยกรอบของศีลธรรม ซึ่งมีความคลุมเครือโดยขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ในส่วนของสื่อที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของรัฐเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจ และมักต้องตกเป็นแพะรับบาปในปัญหาสังคมต่างๆ ดังเช่นกรณีของอินเตอร์เน็ตและเกมออนไลน์


 



......................................................


อ่านเพิ่มเติม:


คปส.จี้รัฐถอดร่างองค์กรจัดสรรรคลื่นความถี่ฯ พร้อมยุติการจับกุมวิทยุชุมชน


กทช.นำจับวิทยุชุมชนไทรโยค อ้างคลื่นรบกวน


แจ้งผู้อ่าน รมต.ไอซีที สายตรงประชาไทอีกครั้งหนึ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net