Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย


อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ


 


 


 


เมื่อไม่นานนี้ ข่าวหนึ่งในทางการเมืองซึ่งเป็นที่ติดตามของประชาชนเป็นอย่างมาก คงหนีไม่พ้นถึงข่าวของการที่กลุ่มคนรักอุดรฯ เข้าทำร้ายร่างกายกลุ่มผู้ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 


 


ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามข่าวดังกล่าวมาโดยตลอดและรู้สึกไม่สบายใจที่เห็นคนไทยด้วยกันกระทำการประหัตประหารกันเองจนนำไปสู่เหตุการณ์เลือดตกยางออกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของกลุ่มผู้เข้าร่วมการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเองก็ดี หรือผู้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนรักอุดรฯ เองก็ดี


 


ทางหนึ่งที่ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอดเพื่อเข้ามาขจัดปัดเป่าโศกนาฏกรรมดังกล่าวได้วิธีหนึ่งก็คือ การเร่งออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ หรือ Public Assembly Act อันเป็นตัวบทกฎหมายที่มิได้ให้คุณให้โทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ดังที่ปรากฏอยู่ในนานาอารยประเทศ ทั้งนี้ เพื่อการจัดระเบียบอันรวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ร่วมชุมนุมที่ก่อการทะเลาะวิวาทซึ่งก็รวมไปถึงแกนนำการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันได้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ ที่บกพร่องต่อหน้าที่ของตน มิอาจควบคุมให้การชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบ (Peaceful) ดังที่บัญญัติไว้ภายใต้กฎหมายดังกล่าวซึ่งมีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย


 


อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่มีตัวบทกฎหมายข้างต้นเป็นการเฉพาะ ผู้เขียนเห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจะเป็นองค์กรหลักที่เข้ามาตรวจสอบ สอดส่องดูแลเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนี้


 


แต่ก่อนอื่น ผู้เขียนขอทำความเข้าใจในเรื่องของเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หรือ freedom of peaceful assembly เพื่อการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองและเรื่องอื่นๆ ก่อนว่าเป็นสิทธิติดตัวปัจเจกชน (Natural Rights) จนนำไปสู่แนวคิดที่ว่าเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวเป็น "สิทธิมนุษยชน" (Human Rights) ซึ่งถูกบัญญัติรับรองและคุ้มครองในกติการะหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) เป็นต้น และกฎหมายภายในของแต่ละประเทศอันได้แก่รัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 1 หรือ the First Amendment ของรัฐธรรมนูญประเทศสหรัฐอเมริกาและข้อบัญญัติที่ 8 ของรัฐธรรมนูญเยอรมันที่เรียกขานกันว่า "กฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน" หรือ "The German Basic Law" เป็นต้น  


 


ดังนั้น จากการที่เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบถูกจัดว่าเป็นสิทธิมนุษยชนอันได้รับการรับรองและคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นในระดับระหว่างประเทศก็ดี และภายในประเทศก็ดี จึงเป็นการสมควรยิ่งแล้วที่ประเทศไทยซึ่งมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกหนึ่งสำหรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้เข้ามาดูแลตรวจสอบการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบดังกล่าวมิให้ถูกล่วงละเมิดไป


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนนำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญก็ยังคงบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอยู่ เพียงแต่มีการแก้ไขในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น กล่าวคือ ให้มีการแก้ไขจำนวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจากเดิม ๑๑ คน ลดลงเหลือเพียง ๗ คน


 


ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้โดยการกำหนดระยะเวลาให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ในเรื่องข้างต้นให้แล้วเสร็จพร้อมกับการแก้ไขกฎหมายเรื่องอื่นๆ ภายในเวลา ๑ ปี นับตั้งแต่วันที่วันที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๓๐๓   


 


ภายใต้รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้อย่างชัดเจนในมาตรา ๒๕๗ (๑) และมาตรา ๑๕ (๒) ตามลำดับว่า


 


ให้มีหน้าที่ในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฎว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป


 


ยิ่งไปกว่านั้น ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๒ ก็ยังได้มอบอำนาจในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมาตรการการแก้ไขเยียวยาแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้อย่างประจักษ์ชัดว่า


 


ในกรณีที่มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมิใช่เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว ให้คณะกรรมการมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการการแก้ไข...


 


จากบทบาทหน้าที่ที่ "กฎหมายสูงสุดของประเทศ" และ "กฎหมายลูก" ได้กำหนดไว้ข้างต้น หากนำมาพินิจพิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า องค์กรอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่โดยตรงในการเข้ามาร่วมตรวจสอบเกี่ยวกับเหตุการณ์การเข้าทำร้ายร่างกายของกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยจนทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งเข้ามาทำร่างกายผู้เข้าร่วมชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยนั่นเอง


 


อีกทั้งยังปรากฎข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการภาคยานุวัติ (Accession) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐ โดยภายใต้กติการะหว่างประเทศฉบับนี้ในข้อบัญญัติที่ ๒๑ หรือ Article 21 ได้กล่าวถึงการรับรองและการให้ความเคารพในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไว้ด้วย   


 


การดังกล่าวจึงส่งผลให้ประเทศไทยมีพันธกรณีในการที่จะต้องรับรอง คุ้มครอง และส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตร สหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นภาคีสมาชิก (State Member) อยู่ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประเทศไทยย่อม "ถูกจับตามองจากสหประชาชาติ" เช่นเดียวกันว่ามีการกระทำใดๆ ที่เป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่   


 


ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยของเรานั้นมีองค์กรต่างๆ ในการเข้ามาช่วยกันตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมากมายซึ่งหนึ่งในองค์กรดังกล่าวก็รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


ผู้เขียนหาได้มีเจตนาในการตำหนิติเตียนองค์กรต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นไม่ เพราะเราก็จำต้องเข้าใจด้วยว่าโดยส่วนมากแล้วองค์กรดังกล่าวเหล่านั้นก็เพิ่งจะได้มีการจัดตั้งขึ้นมาไม่นานเท่าใดนัก การทำงานก็อาจจะไม่สะดวกราบรื่นเยี่ยงองค์กรที่ได้มีการจัดตั้งมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอย่างเพียงพอแล้ว ปัญหาของอำนาจทับซ้อนระหว่างองค์กรก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญอันนำไปความล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจของตนเองได้ ดังนั้น ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจึงพึงต้องเก็บไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไปในภายภาคหน้า


           


จนกว่าที่ประเทศไทยจะได้มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นการเฉพาะ จึงเป็นการจำเป็นที่องค์กรต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหาใช่เพียงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนองค์กรเดียว หากแต่รวมไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยที่จะต้องเข้ามาร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐว่าการใดเข้าข่ายเป็นการกระทำหรือละเว้นการกระทำอันนำไปสู่การละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยหรือไม่     


 


ผู้เขียนไม่พึงต้องการที่จะเห็นภาพเหตุการณ์แห่งโศกนาฏกรรมอย่างที่ปรากฏขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ก็ดี หรือในจังหวัดอุดรธานีก็ดี เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆ และไม่ต้องการให้ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นปรากฏอยู่ในภาพข่าวที่ได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณชนในต่างประเทศด้วย


 


เพราะหากพิจารณาในแง่มุมทางด้านเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ความโกลาหลที่เกิดขึ้นดังกล่าวในบ้านเมืองเราอาจนำไปสู่ความไม่มั่นใจของชาวต่างชาติซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งทางด้านการท่องเที่ยวก็ดี หรือทางด้านภาคการลงทุนเองก็ดี ไม่มากก็น้อย


 


หากพิจารณาในแง่มุมทางนิติศาสตร์ การที่กลุ่มผู้ชุมนุมใดกลุ่มใดเกิดการปะทะกัน เข้าขัดขวางการการชุมนุมของอีกกลุ่มหนึ่ง การดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้เกิดการเจ็บเนื้อเจ็บตัวแล้ว ก็ยังเป็นการที่เข้าไปละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ความเห็นทางการเมือง (Political Opinion) หรือในทางอื่นๆ รวมตลอดถึงการใช้เสรีภาพอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญได้รับรองคุ้มครองให้ เช่น เสรีภาพในการพูด หรือ (Freedom of Speech) เป็นต้น อันเป็นการบั่นทอนวิถีทางของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย


 


ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนจึงต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อมิให้มีการลุกลามบานปลายจนนำไปสู่การร้องเรียนในระดับระหว่างประเทศซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในองค์รวมแล้ว ในภายภาคหน้าอาจนำไปสู่มาตรการประณามและการตอบโต้ทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับระหว่างประเทศโดยสหประชาชาติ ซึ่งเคยปรากฏมาแล้วกับประเทศอินเดียและประเทศเกาหลีใต้ ที่ประชาชนของตนเองนั้นถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน       


           


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net