Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ธีระพล อันมัย


คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 


"ทำไมรายการพูดจาภาษาสมัครถึงเป็นข่าวกันได้ทุกสัปดาห์ ?"


 


เพื่อนผมตั้งคำถามเชิงสังเกตการณ์ต่อข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน


 


หากผมเป็นบรรณาธิการข่าว ผมก็จะตั้งคำถามนี้กับนักข่าว หัวหน้าโต๊ะข่าวดัง ๆ เช่นกัน เพราะช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่า บรรดานักข่าวการเมืองทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ล้วนแต่นำเสนอในสิ่งที่สมัคร สุนทรเวช ได้พ่นออกอากาศทางโทรทัศน์ ช่อง NBT และทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยนั้นก็ได้เผยแพร่ออกอากาศทั่วประเทศอยู่แล้ว


 


ผมจะลองตอบคำถามเพื่อนผมตามประสบการณ์นักข่าวหมดอายุดูก็แล้วกันนะครับ


 


อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยบอกไว้ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"


 


คำถามจึงมีอยู่ว่า หรือว่า นักข่าว บรรณาธิการ หัวหน้าโต๊ะข่าว หมดจินตนาการในงานข่าว ? ยิ่งในวันเสาร์ - อาทิตย์ที่เป็นวันหยุดด้วยแล้ว ความเคลื่อนไหวเด่น ๆ สำคัญ ๆ ที่พอจะเป็นข่าวก็ไม่มี จะพอมีอยู่บ้างก็แต่ความแรงของชายสูงวัยชื่อสมัคร พอเอามาขายข่าวเอาตัวรอดไปวัน ๆ


 


ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ยิ่งนักข่าว ยิ่งบรรณาธิการข่าวซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดการรับรู้ของผู้คนในสังคมไทย กลายสภาพเป็นพวกไร้จินตนาการแถมพอกพูนด้วยความขี้เกียจด้วยแล้ว แล้วอะไรล่ะ คือ สิ่งที่เรียกว่า "สังคมอุดมปัญญา" ที่เราเฝ้าฝันถึง?


 


ช้าก่อน ผมไม่ได้กล่าวหาลอย ๆ หรือปากพล่อย ๆ แต่ผมมีประสบการณ์น่าสยดสยองในสนามข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลและในรัฐสภาเมื่อคราผมเป็นนักข่าว ต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำอันพร่าเลือน โปรดติดตามอ่านโดยพลัน


           


...


ในวันที่นักข่าวออกันเต็มทางเดินหน้าห้องประชุม นักการเมืองที่นักข่าวมักเรียกว่า ท่านคะ ท่านครับ เดินยิ้มเผล่ออกมาหลังการประชุม ทุกสายตาของสื่อมวลชนจับจ้องไปที่เขา สปอตไลท์สาดไปที่เขา ไมโครโฟนและเทปบันทึกเสียงก็จ่อที่ปากของเขา และดูเหมือนว่า สิ่งที่ยากเย็นที่สุดของเวลานั้น คือ การยิงคำถามใส่นักการเมืองคนนั้น


 


เมื่อทุกอย่างพร้อม แต่ดูเหมือนนักข่าวทุกคนหยุดความเคลื่อนไว นั่นมันเป็น 3 วินาทีที่ยาวนานที่สุดในโลก


 


โชคดีที่ชายร่างสูงซึ่งแบกกล้องโทรทัศน์ตัดสินใจตะโกนแหวกความเงียบอันน่าอึดอัดนั้นออกมาว่า "ท่านครับ ผลการประชุมวันนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ?"


 


จากนั้นคำถามที่จะตามมาก็ประมาณว่า "แล้วท่านคิดเห็นอย่างไร ?"


 


เวลาดูข่าวทีวี เราจึงได้เห็นนักข่าวที่ทำหน้าที่แค่ยืนถือไมโครโฟน เทปบันทึกเสียงประกบไหล่ซ้าย ไหล่ขวาของนักการเมือง โดยเขาหรือเธอเหล่านั้นไม่สนใจยิงคำถามที่นักการเมืองควรจะตอบ


 


เราจึงเห็นนักข่าวยื่นไมโครโฟนใส่คุณแม่ของน้องเก๋ ที่ดีใจจนเป็นลมคาเก้าอี้ (แทนที่จะรีบช่วยเหลือเธอ) เราจึงได้ยินคำถามที่นักข่าวถามพ่อน้องเก๋ที่เพิ่งคว้าเหรียญทองโอลิมปิกว่า "รู้สึกอย่างไร ?" "บนบานศาลกล่าวอะไรไว้?" โอ้ โลกมันไปถึงไหนแล้วนักข่าวหัวเห็ด


 


ปัญหาของนักข่าวไทย คือ ไม่มีประเด็น ไม่อ่านอนาคต จึงหมดคำถาม เราจึงไม่ได้ยินคำถามที่สร้างสรรค์ หรือคำถามที่จะนำไปสู่การหาคำตอบที่สะท้อนข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ดังนั้น นักข่าวจึงไม่สามารถต้อนนักการเมืองให้จนมุมในกรณีความไม่ชอบมาพากลหรือความฉ้อฉลที่คนในสังคมรับรู้และสนใจกันอยู่ มันโกงกินกันเห็น ๆ แต่นักข่าวไม่เห็น


 


ผมไม่ชอบรุมข่าว (ทำข่าวแบบหมาหมู่ ที่นักข่าวเป็นโขยงรุมแหล่งข่าวคนเดียว) เพราะบางที ผมไม่ได้สนใจสิ่งที่แหล่งข่าวพูดหรือที่แหล่งข่าวต้องการแถลง และเชื่อว่า นักข่าวหลายคนที่ไม่ถาม ก็อาจจะเป็นเพราะไม่ได้สนใจสิ่งนั้น


 


แต่ที่หนักหนากว่านั้นคือ ไม่รู้จะถามอะไร และเมื่อไม่รู้จะถามอะไรก็กลายเป็นว่า อะไรก็ได้ที่แหล่งข่าวพ่น ๆ ออกมาจึงกลายเป็นข่าว เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีข่าวส่งต้นสังกัด


 


ผมจึงติดนิสัยอยู่ห่าง ๆ การรุมข่าว เดินเลียบ ๆ เคียง ๆ สบโอกาสเหมาะจึงเดินเข้าหาแหล่งข่าวหลังจากการรุมข่าว และมักได้อะไรเป็นกอบเป็นกำเสมอ เพราะบรรณาธิการของผม (ขออ้างหน่อย พี่ก้อง - สุพจ จริงจิตร อดีตหัวหน้าโต๊ะข่าวภูมิภาค ผู้จัดการรายวัน ยุคก่อนผู้จัดการเปลี๊ยนไป) ย้ำเสมอว่า "หากฉบับอื่นเขาได้สิบ เราต้องได้มากกว่า และข่าวรุมนั้นไม่เวิร์คหรอกสำหรับหนังสือพิมพ์ เพราะนักข่าวทีวี วิทยุที่มีความเร็วกว่า เขาชิงรายงานต้นชั่วโมงก่อนอยู่แล้ว แต่เราต้องเน้นคำถามที่นักข่าวไม่เคยถาม คำถามที่แหล่งข่าวไม่เคยตอบ"


 


เมื่อมหกรรมรุมข่าวจบลง จึงวิ่งเข้าประชิดตัวแหล่งข่าวเพื่อขอสัมภาษณ์ แหล่งข่าวตอนนั้น คือ รัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เรื่องการถมทะเลตะวันออกว่า จะมีผลกระทบอะไรบ้าง มีชาวบ้านคัดค้านและต้องการให้ศึกษาผลกระทบอย่างจริงจัง จะมีคำอธิบายอย่างไรบ้าง ? รัฐมนตรีนิ่งและฟังคำอธิบายจากผมให้พอเข้าใจบริบทเรื่องราวก่อน จากนั้น เขาก็ให้ผมตั้งคำถามและค่อย ๆ ตอบ โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีคอยให้ข้อมูลระหว่างตอบคำถามด้วย


 


ข้างหลังผมมีนักข่าวสองสามคนมายืนฟังด้วยและบันทึกเทปไปด้วย เมื่อจบการสัมภาษณ์รัฐมนตรีบอกขอบใจที่ถาม ขณะที่นักข่าวสองสามคนซักผมใหญ่ว่า ข่าวอะไรเหรอ มีที่มาอย่างไรกัน กลายเป็นว่า ผมต้องมาเสียเวลาอธิบายโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก แต่พอเอาเข้าเรื่องจริง ๆ พวกเขาก็บอกว่า "ถ้าพิมพ์ข่าวส่งแล้ว ขอยืมไปแฟกซ์ส่งด้วยนะ"


 


สิ่งที่น่าอึดอัดอย่างหนึ่งของการทำข่าวทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาก็คือ การลอกข่าวกันและการนำข่าวที่นักข่าวคนหนึ่งพิมพ์เสร็จไปสวมรอยเป็นผลงานตัวเอง


 


ยิ่งสมัยผมเป็นนักข่าวเรามีเทคโนโลยีการสื่อสารสูงสุดคือ การส่งแฟกซ์ นักข่าวมักง่ายและขี้เกียจบางคนก็เตรียมแค่น้ำยาลบคำผิดป้ายชื่อสำนักข่าวเจ้าของต้นฉบับแล้วเขียนชื่อสำนักข่าวตัวเองทับลงไปแล้วส่งแฟกซ์ บางคนรีบจัดลืมลบชื่อเจ้าของต้นฉบับก็มี


 


และไม่รู้ว่า อธรรมเนียมแบบนี้ ยังดำรงอยู่ไหม ประเภท copy ข่าวแล้วส่งอีเมล์ให้กองบรรณาธิการน่ะ หากยังมีอยู่ก็เป็นความเศร้าของวงการสื่อและสังคมที่ต้องการเสพย์ข้อมูลข่าวสารสร้างสรรค์จากสื่อมวลชน


 


เพราะฉะนั้น ทุกเช้าวันใหม่ เราจึงเห็นข่าวเดียวกัน ข้อความเดียวกันปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับของบ้านเรา


 


นั่นคือ ตัวอย่างของคนข่าวที่ขาดจินตนาการและดันขี้เกียจ แถมมักง่ายอีกต่างหาก


 


กลับมาที่คำถามว่า "ทำไมรายการพูดจาภาษาสมัครถึงเป็นข่าวกันได้ทุกสัปดาห์ ?"


 


สิ่งที่ผมกล่าวมา อาจจะพอเป็นคำตอบได้บ้าง แต่ว่า การนำเสนอข่าวนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบาย (เอ่อ ไม่แน่ใจว่า หุ่นเชิด นอมินี นายกรัฐมนตรีนอมินีจะมีไหมนะ) ย่อมเป็นข่าวที่ดีได้ หากมองว่า สิ่งที่เขาพ่นออกมานั้นมันส่งผลต่อความเป็นอยู่ต่อสังคม ไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบ


 


สิ่งที่ผมพิศวงงงงวยกับวิธีคิดของสื่อมวลชนเมืองไทยปัจจุบันก็คือ สมัครจัดรายการพูดจาภาษาสมัครทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เขาเรียกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา (routine) อยู่แล้ว และสิ่งที่สมัครพูดนั้นได้ถูกถ่ายทอดทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุแล้ว ทำไมยังต้องมานำเสนอซ้ำในรูปของข่าวอีกละ หรือว่า (ชาวบ้านเขาฟัง) สมัครพูดไม่รู้เรื่อง นักข่าวจึงมีหน้าที่ถอดรหัสคำพูดนั้นเสียใหม่ หรือนี่คือ การมีเจตนาผลิตซ้ำความคิดของสมัครเพื่อมอมเมาผู้คนบนประเทศนี้


 


และที่น่าสนใจอีกอย่างก็ คือ นักข่าวมีกระบวนการทำข่าวอย่างไร ?


 


ไปดักรอที่หน้าห้องถ่ายทอดรายการ ? ซึ่งก็หากมีการดักรอจริง ทำไมไม่มีภาพข่าวการสัมภาษณ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากคลิปภาพจากรายการทีวีแย่ ๆ รายการนั้น


 


ไม่แน่นะ หรือว่านักข่าวอาจนอนเอาตีนก่ายทีวีอยู่ที่บ้านก่อนจะลงมือเขียนข่าว ?


 


หากเป็นกรณีแรกก็ต้องบอกว่า หากฟังทั้งหมดที่สมัครพูดแล้ว คุณไม่มีคำถาม ไม่มีข้อสงสัย หรือมีแรงบันดาลใจที่จะทำข่าวให้มากกว่าสิ่งที่สมัครได้พูดไปแล้ว ก็ยังดันทุรังนำเสนอเป็นข่าว คุณก็ดูถูกคนดูทีวี คนฟังรายการวิทยุที่สมัครพูดอย่างแรง และคุณเอาเปรียบคนดูด้วยการเอาเรื่องนั้นมาทำซ้ำ ขายซ้ำ


 


แต่อย่าลืมว่า สิ่งที่แหล่งข่าวไม่ได้พูดต่างหากที่น่าสนใจมากกว่า หรือว่า การรายงานข่าวของคุณคือการอ่านระหว่างบรรทัดในสิ่งที่เขาได้พูดไปแล้ว


 


แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นนะ เพราะบางทีผมรู้สึกว่า คุณกำลังลอกข่าวกัน เพราะเวลาดูฟรีทีวีเสนอข่าวสมัครทีไร ก็ไม่เห็นว่าประเด็นข่าวมันจะต่างกันตรงไหน


 


หากเป็นกรณีหลังก็ต้องบอกว่า นี่คือ หายนะของวัฒนธรรมคนทำข่าวที่สังคมยกให้เป็นฐานันดรที่สี่


 


ผมกำลังคิดถึงสิ่งที่นักวิชาการสื่อสารมวลชนได้มอบหมายภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ให้กับสื่อมวลชน โดยเฉพาะคนทำข่าวว่า พวกเขาถูกเปรียบเสมือน สุนัขเฝ้าบ้าน เขาก็ควรทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้ประชาชน อะไรที่ลอดหูลอดตาเจ้าของบ้าน สื่อมวลชนควรทำหน้าที่ระแวดระวังอย่างเต็มกำลัง


 


และผมก็กำลังคิดถึงฟากตรงกันข้ามกับสุนัขเฝ้าบ้าน นั่นคือ สุนัขรับใช้ เพราะผมไม่แน่ใจว่า สิ่งที่สื่อเสนอข่าวหลังจากรายการนั้นถูกถ่ายทอดแล้วนั้น มันเป็นการวางหมากกลอุบายของคนพูดหรือไม่ หรือเป็นการสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย คือ นักการเมืองปากจัดกับสุนัขรับใช้ที่ขี้เกียจทำหน้าที่ของตัวเอง


 


สุดท้ายแล้ว กรณีข่าวสมัครพูดในรายการนั้นมันสะท้อนอะไรบ้าง ?


 


ใช่หรือไม่ว่า มันกำลังสะท้อนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยว่า ปวกเปียกและง่อยเปลี้ย ? ใช่หรือไม่ว่า มันสะท้อนมาตรฐานการทำงานและจริยธรรมของคนทำสื่อ ?


 


และเราสามารถตั้งข้อสงสัยได้หรือไม่ว่า พวกเขามีวาระซ่อนเร้นอันใด จึงได้แต่วิ่งตามถ้อยคำเสียดสีทิ่มแทงของนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด และลืมกำหนดวาระข่าวสารที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อมวลชนผู้รับสาร


 


บางที นักข่าว บรรณาธิการข่าว ต้องส่องกระจก สบตากับตัวเอง แล้วถามตัวเองว่า ในภาวะที่บ้านเมืองวิกฤตเช่นนี้ เราจะเล่นตามเกมนักการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง หรือ กำหนดเกมให้นักการเมืองกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเล่นตาม โดยมีพัฒนาการด้านสติปัญญาของคนในชาติเป็นเดิมพัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net