Skip to main content
sharethis

เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับเวทีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานในอาเซียน ครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ข้อสรุปของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนมีส่วนที่น่าสนใจหลายประเด็น ทั้งการเริ่มต้นศึกษาการเชื่อมโยงระบบพลังงานในประเทศอาเซียนทั้งก๊าซและไฟฟ้า  นอกจากนี้ไทยยังผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล ทั้งยังรับเป็นเจ้าภาพในการจัดทำแผนระดับปฏิบัติการ ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation (APAEC) 2010 - 2015 ซึ่งกระทรวงพลังงานระบุว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยให้นโยบายพลังงานของไทยได้รับการสนับสนุนและผลักดันในระดับภูมิภาค ซึ่งการประชุมของคณะทำงานจะมีขึ้นที่กรุงเทพในช่วงเดือนตุลาคมนี้


 


ในขณะที่แผนพลังงานทางเลือกต่างๆ ที่นักวิชาการและเอ็นจีโอวงนอกพยายามผลักดันแทบไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มของอาเซียน (ASEN+3 ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน) ยังได้ผลักดันวาระ "พลังงานนิวเคลียร์" ว่าด้วย Safety Use of Civilian Nuclear Energy ไปในที่ประชุมด้วย ซึ่งเรื่องนิวเคลียร์นี้กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันหนักสำหรับประเทศไทย เพราะเพิ่งใส่เรื่องนิวเคลียร์ไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Plan Development - PDP) เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เกาหลีใต้เสนอจะให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ให้กับอาเซียน และประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี กฎระเบียบ แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนที่สนใจ


 


ก่อนเวทีของรัฐมนตรีอาเซียนจะมีข้อสรุปออกมาเช่นนี้ ภาคประชาสังคมได้มีการจัดเวทีคู่ขนานเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอวาระปัญหาของระบบพลังงานในอาเซียน และข้อเสนอบางอย่างโดยคาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณาด้วย ซึ่งแม้ผลจะออกมาแล้ว แต่ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจของเวทีคู่ขนานดังกล่าว จึงขอนำมาเสนอในรายละเอียด ดังนี้


 


 


ศุภกิจ นันทวรการ


นักวิจัยอิสระ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ


 


ปัญหาการจัดทำแผนพีดีพีของไทย


ปัจจุบัน รัฐบาล กฟผ.กระทรวงพลังงาน กำลังดำเนินการตามแผนพีดีพี 2007 ซึ่งจะทำให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มมากขึ้น และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วงปลายของแผน


 


ประเด็นสำคัญคือ ช่วงปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงพิจารณาทางเลือกของแผน รัฐบาลอธิบายว่ามีการพิจารณาแล้ว 9 ทางเลือก โดยข้อสรุปเลือก B2 แต่ภาคประชาสังคมมีคำถามสำคัญที่ถามในทุกโอกาสว่า ทำไมทั้ง 9 ทางเลือก มีการจำกัดพลังงานหมุนเวียนไว้ที่ 1,700 เมกกะวัตต์เท่านั้นใน 12 ปีข้างหน้า ขณะที่พลังงานนิวเคลียร์มี 4,000 เมกกะวัตต์ทุกทางเลือกเช่นกัน การกำหนดแบบนี้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอย่างไร ไม่มีการเปิดเผย


 


เราเห็นว่ามีทางเลือกที่จะตอบสนองไฟฟ้าให้กับระบบเศรษฐกิจและประชาชนมีหลายอย่าง


 


1.การปรับค่าพยากรณ์


เริ่มจากเรื่องการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตให้ใกล้เคียงความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า ความต้องการที่เกิดขึ้นจริงกับการพยากรณ์เดือนมกราคม 2550 ที่ใช้ในการวางแผน 2007 นั้น ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าพุ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมาเยอะอย่างไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งค่าการพยากรณ์ตั้งแต่ 2547-2551 นั้นก็พิสูจน์แล้วว่าเกินทุกปี  (ไม่นับไฟฟ้าสำรองอีก)  เช่น ปี2547 เกิน 275 เมกกะวัตต์  ปี 2549 เกิน 1,600 เมกกะวัตต์


 


มาถึงฉบับปัจจุบัน พีดีพี 2007 (2550-2564)  พยากรณ์มาปีเดียวก็ผิดแล้ว  เมื่อปีที่แล้วพยากรณ์เกินไปแล้วประมาณ 1,389 เมกกะวัตต์ แต่ละเมกกะวัตต์ เราต้องลงทุนประมาณ 1 ล้านเหรียญ (40 ล้านบาท) ถ้าพยากรณ์เกินเป็นพันเมกกะวัตต์ก็นำไปสู่การลงทุนที่ล้นเกินเป็นหมื่นล้านบาทแล้ว


 


2. การจัดการด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management - DSM)


ศักยภาพในการทำ DSM นั้น ดูข้อมูลเฉพาะ 3 ห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ จะพบว่าใช้ไฟฟ้ามากกว่าบางจังหวัด ถามว่าทั้ง 3 ห้างยังจัดการเรื่องไฟฟ้าได้แค่ไหน หรือตัวอย่างจังหวัดระยอง โรงงานอุตสาหกรรมเพียง 54 รายใช้ไฟฟ้าร้อยละ 83 ของทั้งหมดที่ใช้ในจังหวัดระยอง  ฉะนั้น โรงงานเหล่านี้ยังมีศักยภาพที่จะลดการใช้ไฟฟ้าได้อีกมาก ถ้าจัดการตรงนี้ได้เราจะได้ไม่ต้องมาพูดถึงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เป็นจำนวนมาก


 


3.พลังงานหมุนเวียน


ข้อมูลของกระทรวงพลังงานระบุว่า พลังงานแสงอาทิตย์ปัจจุบันดำเนินการอยู่ 32 เมกกะวัตต์ แต่ศักยภาพมีมากกว่า 50,000 เมกกะวัตต์ ชีวมวลดำเนินการแล้ว 1,507 เมกกะวัตต์ ศักยภาพจะมีอีก 3,300 เมกกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพปัจจุบันดำเนินการอยู่ 29.2 เมกกะวัตต์ มีศักยภาพ 190 เมกกะวัตต์


 


สิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2550 คือ มีเอกชนเสนอที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะขายเข้าระบบประมาณ 750 เมกกะวัตต์ เมื่อรวมกับส่วนที่เขาใช้เองด้วย ทำให้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบประมาณ 1,400 เมกกะวัตต์ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสถานการณ์น้ำมันแพง ทำให้ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนหาทางเลือก ขณะที่พีดีพี2007 วางแผนไว้ว่า 12 ปีข้างหน้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาได้แค่ 1,700 เมกกะวัตต์ แต่เพียงแค่ปีเดียวมีเสนอเข้ามาแล้ว 1,400 เมกกะวัตต์ ถ้าไปรวมกับโคเจนเนอเรชั่นอีก 3,200 เมกกะวัตต์ พลังงานขนาดเล็กก็รวมแล้ว 4,000 กว่าเมกกะวัตต์แล้ว เท่ากับแผนพีดีพีปัจจุบันกดพลังงานหมุนเวียนไว้ทั้งที่มีศักยภาพ


 


4. แผนพีดีพีทางเลือก


เราลองคำนวณพลังงานหมุนเวียนโดยวิเคราะห์ในส่วนที่น่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2020 ไม่ได้เอาแบบเต็มศักยภาพ พบว่าทำให้ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์เลย และเปรียบเทียบกันในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน แผนพีดีพีทางเลือกตอบทั้งในส่วนของกำลังการผลิตติดตั้ง กำลังการผลิตพึ่งได้ก็สามารถตอบความมั่นคงได้อย่างไม่มีปัญหา และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าแผนพีดีพีได้ 24%  ลดการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดได้ 38% สารปรอท (จากถ่านหิน) ก็ลดลง 68% ฉะนั้นในส่วนต้นทุนผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะลดลง 20%


 


ส่วนต้นทุนทางการเงิน แผนพีดีพีทางเลือกสูงกว่าพีดีพี 2007 อยู่ 7% แต่ถ้าเทียบดูพีดีพี 2007 มีต้นทุนที่ไม่ได้ถูกคิดไว้ เช่น ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สังคมที่สังคมต้องแบกรับไว้ ขณะที่พีดีพีทางเลือกที่ส่งเสริมพลังงานทางเลือกแม้ลงทุนมากกว่าหน่อยแต่เป็นการจ่ายภายในประเทศ


 


ฉะนั้น เมื่อเราจ่ายเพื่อสนับสนุนวัตถุดิบชีวมวล ผลิตผลทางการเกษตร ในการทำเชื้อเพลิง แผนพีดีพีทางเลือกก็จะส่งผลให้จีดีพีเติบโตสูงกว่าพีดีพี 2007 ถึง 19% และเพิ่มการจ้างงานมากกว่า 63,000 ตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบกับพีดีพี 2007 ภายในปี 2021


 


เขื่อน "บ้านกุ่ม" ไม่จำเป็น


ยกตัวอย่าง "เขื่อนบ้านกุ่ม"กั้นแม่โขง ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามพีดีพี 2007 ที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังผลักดันอยู่ ถ้าทำแผนพีดีพีทางเลือก โครงการนี้ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องทำ ข้อมูลพื้นฐานของโครงการทำให้เห็นว่า เขื่อนวางแผนมีกำลังผลิตถึง 1,872 เมกกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตพึ่งได้ คือส่วนที่ระบบไฟฟ้าประเทศจะพึ่งกำลังไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ได้ มีแค่ 375.7 เมกกะวัตต์เท่านั้น ทำไมจึงต่ำเช่นนั้น ก็เพราะเขื่อนนี้เป็นเขื่อนที่เรียกว่า run of the river ไม่มีทะเลสาบเหนือเขื่อนมากนัก เพื่อลดผลกระทบเรื่องน้ำท่วม ทำให้กำลังการผลิตพึ่งได้ต่ำลงมาก


 


ดังนั้น ถ้าพูดถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หากเราต้องการกำลังการผลิตพึ่งได้ต่อระบบ 375 เมกกะวัตต์ เราทำเขื่อนบ้านกุ่มต้องทำกำลังการผลิตติดตั้งถึง 1,872 เมกกะวัตต์ ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ สร้าง 442 เมกกะวัตต์ก็ได้แล้วสำหรับกำลังการผลิตพึ่งได้จำนวนเท่ากัน และถ้าทำโรงไฟฟ้าชีวมวลเราก็ทำเพียง 500.9 เมกกะวัตต์เท่านั้น ถ้าเทียบเงินลงทุน ทำเขื่อนบ้านกุ่มต้องลงทุน 95,000 กว่าล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนต่อกำลังการผลิตพึ่งได้ มันสูงแบบเทียบกันไม่ได้เลยกับแบบอื่น


 


ที่สำคัญที่ต้องเรียนรู้จากเขื่อนลักษณะเดียวกันอย่างเขื่อนปากมูนคือ ต้นทุนของเขื่อนปากมูนเพิ่มขึ้นกว่าที่วางแผนไว้กว่าเท่าตัว ดังนั้น ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 10% โครงการนี้ก็จะไม่คุ้มทุนแล้ว อีกด้านหนึ่งเขื่อนปากมูนวางแผนไว้ว่าจะได้ไฟฟ้าเยอะ แต่ด้วยข้อจำกัดของเขื่อน กระแสน้ำ ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลงจากเป้า จึงมีแนวโน้มสูงมากที่โครงการนี้จะขาดทุน ไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ โดยยังไม่ต้องพูดถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม


 


 


เทซซา เดอ ริค


ผู้ประสานงานรณรงค์ทางด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซ ประจำประเทศอินโดนีเซีย


 


ตอนนี้ในอาเซียนมี 3 ประเทศที่วางแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประกอบด้วย ไทย 4,000 เมกกะวัตต์ เวียดนาม 8,000 เมกกะวัตต์ อินโดนีเซีย 4,000 เมกกะวัตต์


 


ในอินโดนีเซียมีปัญหาและความเสี่ยงมากเนื่องจากบริเวณที่จะสร้างเป็นบริเวณที่มีแผ่นดินไหวเป็นประจำ  และกำลังการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นก็น้อยกว่า 2% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในอินโดนีเซีย


 


ข้ออ้างที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมนิวเคลียร์คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจากซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตโลกร้อน แต่ข้อมูลจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA พบว่าไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 32 แห่งทั่วโลกทุกปีจนถึงปี 2050 ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้เพียง 6% ซึ่งนับว่าน้อยมาก ข้อเท็จจริงอีกอย่างก็คือ หากกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การทำเหมืองยูเรเนียมไปจนถึงการกำจัดกากนิวเคลียร์ จะพบว่ามันก็สร้างก๊าซเรือนกระจกมีประมาณ 1 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าก๊าซ


 


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เริ่มบูมในศตวรรษที่ 20 และมีประเด็นปัญหาสำคัญที่ถกเถียงกันคือ การกำจัดกากนิวเคลียร์ ปัจจุบันทั่วโลกมีกากนิวเคลียร์ถึง 200,000 ตันที่เก็บอยู่ ถึงตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ดีพอสำหรับการจัดการ ไม่มีทางที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ 100% และมันจะยังอันตรายอยู่จนอีก 100,000 ปีข้างหน้า


 


เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทุกเครื่องมีปัญหาระบบความปลอดภัยแฝงอยู่ แม้ว่าจะมีการวิจัยบอกมากว่า 50 ปีว่าปลอดภัย แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ จนถึงอุบัติเหตุใหญ่เป็นประจำในหลายๆ แห่งทั่วโลก เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าแห่งนิวเคลียร์ก็มีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  นอกจากนี้การแพร่ขยายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะยิ่งกลายเป็นเป้าของการก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุนิวเคลียร์ การขนส่งเชื้อเพลิง หรือแม้แต่ตัวโรงไฟฟ้าเอง


 


นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาเรื่องนิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงราคาถูก จริงๆ แล้วการใช้นิวเคลียร์ไม่ถูก เพราะค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นแพงมาก และเมื่อเทียบกับปี 2543 นั้นพบว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น 270 เท่า นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องให้เงินอุดหนุนกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างมหาศาล ถ้าจะคำนวณค่าใช้จ่ายที่แท้จริง ต้องเอาเรื่องความปลอดภัย การจัดการกากของเสีย การก่อสร้าง การปลดระวาง ไปคำนวณด้วย และคนที่ต้องจ่ายคือประชาชน นอกจากนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ถ้าเทียบกับกังหันลมใช้เวลา 2 ปี ส่วนที่อ้างว่าพลังงานนิวเคลียร์จะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานก็ต้องถกเถียงกันอย่างมาก เพราะมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ครอบครองเทคโนโลยีนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงยูเรเนียม


 


 


สายรุ้ง ทองปลอน


ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค


 


1.แผนพีดีพีเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


แผนพีดีพีของไทยนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 70%  แผนนี้วางแผน 15 ปี โดยเราไม่มีนัยยะใดๆ ที่จะส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเต็มไปด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าเอกชนก็เข้ามามีบทบาทสูง เพียงปีแรกที่เปิดประมูล มีโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเข้ามาแล้ว 2 โรง ในส่วนของ กฟผ.ก็ประกาศจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 4 โรง การรับซื้อไฟจากต่างประเทศก็พบว่ามีการไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศด้วย


 


2.ไม่มีการศึกษาก่อนอนุมัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


ที่มาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นไร้เหตุผล ไม่มีหลักทางวิชาการใดๆ มาอ้างอิง ไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังเลยในตอนที่รัฐมนตรีพลังงานคนก่อน (ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์) อนุมัติเข้ามาในแผน เป็นเพียงการพูดของรัฐมนตรีว่าไทยต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน มีการอ้างด้วยว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูก แต่ความเป็นจริงไม่มีการรวมต้นทุนสังคม สิ่งแวดล้อมใดๆ และยังมีต้นทุนในการลงทุนด้วย ซึ่งจะเก็บกับผู้บริโภคทั้งหมด ไม่ว่าจะสร้างได้หรือไม่ ยืดเยื้อ


 


3. ความมั่นคงด้านพลังงาน


การอ้างเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ปี 2549 มีการพูดกันเรื่องวิกฤตพลังงานของโลก แล้วพยายามสร้างมายาภาพว่าประเทศไทยเจอวิกฤตพลังงานและวิกฤตไฟฟ้า แต่ในด้านของไฟฟ้านั้น เราไม่ได้มีกำลังสำรองลดลงเลย เพราะเกินมาตรฐานสากลมาตลอด 15 ปี


 


4.โรงไฟฟ้าใหม่กับแรงต้านในพื้นที่


เราผ่านประสบการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง การต่อต้านโรงไฟฟ้ามาตลอด 20 ปี แต่การวางแผนเมื่อปี 2549 ก็ยังดำเนินการโดยไม่คำนึงว่าความขัดแย้งรุนแรงจะเกิด นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อจัดการปัญหาความขัดแย้งคือรัฐบาลจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า แต่สิ่งที่ปรากฏคือความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวและชัดเจนมาก ดังนั้น เมื่อแผนพีดีพีพูดถึงการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าประมาณ 30-40 โรง เราจะได้เห็นความขัดแย้งในพื้นที่ของทุกโรงไฟฟ้า


 


5. ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ไม่ได้รับผิดชอบเท่าที่ควร


การส่งเสริมการไม่มีภาระของภาคอุตสาหกรรม ประเด็นนี้ก็สำคัญ เราจะพบว่าช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสมาคมหอการค้า อุตสาหกรรม และภาคธุรกิจร่วมกันผลักดันว่าประเทศไทยจำเป็นแล้วที่ต้องสร้าง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปการใช้ไฟฟ้า ลดการใช้พลังงาน ไม่มีทางที่จะใช้ทุกอย่างอย่างฟุ่มเฟือยต่อไป แต่ภาคอุตสาหกรรมยังเรียกร้องให้เราผลิตพลังงานอย่างฟุ่มเฟือยต่อไป เพราะปัจจุบันเราไม่มีระบบให้ภาคอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบในการใช้พลังงานเลย เช่น สหวิริยาเป็นอุตสาหกรรมที่เคยพูดว่าต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2,000 เมกกะวัตต์มาตั้งแต่ปี 47 48  พอสหวิริยาให้ตัวเลขนี้กับการไฟฟ้า กฟผ.เอาตัวเลขที่สหวิริยาต้องการไปบวกกับในแผนพีดีพี แล้วพอสหวิริยาไม่สามารถสร้างโรงงานได้จริง ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น สหวิริยาไม่ถูกปรับ แต่ตัวเลขความต้องการใช้ไฟพุ่งแล้วในแผน หมายถึงการคาดการณ์การลงทุนที่เกินเลย นั่นเท่ากับ 3 โรงไฟฟ้า สรุปว่าอุตสาหกรรมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย แต่กลายเป็นชาวบ้านต้องรับผิดชอบ เดือดร้อนไปกับการสร้างโรงไฟฟ้า


 


6. ลงทุนที่บ้านเพื่อน


การลงทุนที่ขาดธรรมาภิบาลในประเทศเพื่อนบ้าน และไม่สนใจการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและหลีกเลี่ยงกลไกการตรวจสอบ


 


 


แจสเปอร์ อินเวนเตอร์


ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซสากล


 


ความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเห็นว่า ขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา และหากเลยไปกว่านั้นจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย ซึ่งถ้าจะหลีกเลี่ยงแบบนั้นทั่วโลกจำเป็นต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2593 ต้องลดลงครึ่งหนึ่งที่มีการปล่อยในปัจจุบัน


 


ขณะที่ทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA ประเมินไว้ว่าปี 2593  การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มเป็นสองเท่า กรีนพีซได้ร่วมกับสถาบันศึกษาเรื่องอวกาศของเยอรมันได้นำเสนอแผนปฏิวัติพลังงานว่า เราพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้ขณะที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครึ่งหนึ่ง โดยนำเรื่องประสิทธิภาพด้านพลังงานมาใช้ และนำพลังงานหมุนเวียนมาเป็นส่วนผสมในระบบพลังงานของโลก


 


เรายืนยันว่า แผนการปฏิวัติพลังงานนี้ไม่ได้ลอยในอวกาศ แต่ยืนบนพื้นฐานในความเป็นจริง ปัจจัยหลักที่นำมาคิด คือ การปกป้องสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงของการจัดหาพลังงาน การยกระดับความยากจน สุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการสร้างระบบกระจายศูนย์พลังงาน ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานมากกว่า


 


แผนปฏิวัติพลังงาน บนพื้นฐานความเป็นจริง


ภาพสรุปข้อเสนอของแผนนี้ คือ ภายในปี 2593 พลังงานของโลกประมาณ 49% จะมากจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ด้วย นิวเคลียร์ไม่มีการสร้างใหม่ ที่เหลือจะมาจากพลังงานฟอสซิล ไม่ว่าถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน


 


ประเด็นทางเศรษฐกิจก็มีความเหมาะสม ถ้าดูแผนของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ค่าใช้จ่ายด้านการจัดหาพลังงานจะเพิ่มจากปัจจุบันที่ 1,130 พันล้านเหรียญ  ไปเป็น 4,000 กว่าพันล้านเหรียญในอีก 40 กว่าปีข้างหน้า ขณะที่แผนปฏิวัติพลังงานของกรีนพีซจะประหยัดกว่า 10 เท่า รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย (รายละเอียดสามารถดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์กรีนพีซ)


 


ถ้าดูจากข้อมูล IEA ส่วนที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกพบว่าจนถึงปี 2593 ไฟฟ้าจากถ่านหินจะเพิ่มจาก 38,000 กว่าเมกกะวัตต์ ไปถึง 300,000 เมกกะวัตต์ ขณะที่กรีนพีซเสนอว่าเราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกลง 22% ซึ่งจะทำให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงจาก 140,000 กว่าเมกกะวัตต์ มาเป็น 130,000 เมกกะวัตต์ โดยเฉพาะถ่านหินจะลดลงจาก 38,000 เมกกะวัตต์ มาเป็น 16,000 เมกกะวัตต์ ขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเป็นแสนเมกกะวัตต์


 


กรีนพีซวิเคราะห์ว่าจนถึงปี 2593 เราสามารถทำให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ระบบกระจายศูนย์เป็นส่วนสำคัญในเอเชียตะวันออก ซึ่งจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 30


 


มองในแง่เศรษฐกิจแล้วคุ้มในระยะยาว ถ้าจะลงทุนตามแผนที่มีอยู่ระหว่างปี 2004-2030 จะต้องใช้เงินลงทุนถึง 450 พันล้านเหรียญ แต่ในแผนของกรีนพีซ เงินค่าลงทุนอาจจะมากกว่าในช่วงปีเดียวกัน แต่ค่าเชื้อเพลิงที่ต้องใช้จะจะถูกกว่ามา แผนของ IEA ระบุว่าจะต้องใช้เงินสำหรับค่าเชื้อเพลิงประมาณ  6.3 ล้านล้านเหรียญในช่วง 22 ปี แต่ของกรีนพีซใช้เพียง 4.2 ล้านล้านเหรียญ  ประหยัดไปได้ประมาณ 35%


 


เราได้ทำการติดตามการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนมาหลายปี ข้อเรียกร้องนี้เราพยายามผลักดันมาโดยตลอด คือ ยุติเงินที่รัฐบาลนำไปอุดหนุนการลงทุนในระบบพลังงานฟอสซิลทั้งหลาย และต้องเอาต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมไปในการลงทุนด้วย ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยุติการสร้างมายาคติที่ว่าถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด เพราะเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนที่มีในปัจจุบันไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงมายาคติว่าด้วยการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นการแก้ปัญหาโลกร้อน


 


หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลในอาเซียนตั้งเป้าการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนว่าจะเป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2010 แต่จนถึงปัจจุบันก็ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย แต่กรีนพีซเรียกร้องเพิ่มอีกตามแผนพลังงานที่นำเสนอ ตั้งเป้าร้อยละ 40 ภายในปี 2020 ถามว่าจะเป็นจริงไหม เรายืนยันว่าคำนวณจากสภาพความเป็นจริงโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจในระยะยาว อีกส่วนหนึ่งคือกลไกในการทำงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับประกันราคารับซื้อผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระขนาดเล็ก และรับประกันว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต้องเข้าถึงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าก่อน เพื่อที่จะทำให้พลังงานหมุนเวียนมีการเติบโตมากขึ้น


 


เรื่องมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน ความหมายไม่ใช่แค่เปลี่ยนหลอดไฟ แต่ต้องเป็นการใช้พลังงานต่อหน่วยตารางเมตรในอาคารให้คุ้มค่าขึ้น การสร้างห้างหรือโรงงานแห่งใหม่ ต้องลดของเดิมให้ได้ระดับที่กำหนดก่อน และพิธีสารเกียวโตช่วงแรกจะหมดอายุในไม่กี่ปี จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำอาเซียนต้องสนับสนุนให้มีกลไกที่มีผลบังคับใช้พิธีสารเกียวโตช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นข้อบังคับอันเดียวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ให้ประเทศต่างๆ หันไปใช้อันอื่นเช่น แผนปฏิบัติการ APEC ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนไปสู่เรื่องอื่น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net