Skip to main content
sharethis

อิบราฮิมเยือนพม่ารอบใหม่



 



 


นายอิบราฮิม แกมบารี ทูตพิเศษยูเอ็นด้านพม่าเดินทางถึงกรุงย่างกุ้งแล้วเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เพื่อดำเนินการตามแผนให้รัฐบาลพม่าปฏิรูปการเมือง ซึ่งเขามีแผนเยือนพม่าเป็นเวลา 5 วัน


 


นับเป็นการเยือนพม่าเป็นครั้งที่สี่แล้ว หลังเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ด้านผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การเยือนพม่าครั้งนี้ นายอิบรมฮิมคาดหวังจะได้พบปะกับผู้นำรัฐบาลพม่า รวมทั้งนางซูจีและสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี


 


ขณะที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้นางซูจีได้รับการตรวจสุขภาพ หลังจากไม่ได้รับอนุญาตพบแพทย์เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังอนุญาตให้นายจีวิน ทนายความของเธอเข้าพบแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การเยือนพม่าของนายอิบราฮิมยังต้องการเรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวนางซูจี ถึงแม้ว่าจะมีความหวังในเรื่องนี้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ด้านนายวินหน่าย โฆษกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่า ทางพรรคหวังว่าจะได้เข้าพบนายอิบราฮิม แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะอนุญาตหรือไม่


 


ด้านนายแลรี่ เจแกน   นักข่าวชาวอังกฤษที่ติดตามสถานการณ์ในพม่ามาโดยตลอด แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า นายอิบราฮิมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแผนการเลือกตั้งของรัฐบาลพม่าในปี 2553 ที่จะถึงนี้ และเชื่อว่าการเยือนพม่าของนายอิบราฮิมในครั้งนี้จะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อพม่า แต่สิ่งที่เราควรคาดหวังก็คือการพบปะกันระหว่างนายอิบราฮิมกับนางซูจีมากกว่า


 


เช่นเดียวกับนายเอตาอ่อง ผู้นำชาวอาระกันที่กล่าวว่า เขาไม่ได้คาดหวังกับการเยือนของนายอิบราฮิมเท่าใดนัก เพราะที่ผ่าน ๆ มายูเอ็นไม่สามารถแก้ปัญหาในพม่าได้


 


อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติมีแผนเยือนพม่าอีกครั้งในเดือนธันวาคมของปีนี้ หลังจากก่อนหน้านี้เขาได้เดินทางเยี่ยมผู้ประสบภัยและเดินทางเข้าตรวจสอบในพื้นที่ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีสเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


 


(Irrawaddy /รอยเตอร์ 18 ส.ค.51)


 


จำคุก 5 เยาวชน  2 ปีครึ่ง เหตุประท้วงในวันครบรอบเหตุการณ์ 8888


 


นักเคลื่อนไหวเยาวชนที่ถูกจับในเมืองตองก๊ก รัฐอาระกันถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีครึ่งหลังประท้วงในวันครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์นองเลือด 8888 เมื่อวันที่ 8 เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา


 


อูเต็งหล่าย   เลขาธิการร่วมของพรรคเอ็นแอลดีประจำรัฐอาระกันเปิดเผยว่า  เยาวชนทั้ง 5 คนถูกจับกุมหลังจัดการประท้วงอย่างสันติร่วมกับนักเคลื่อนไหวและประชาชนอีก 43 คน ในวันครอบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ 8888 ที่ผ่านมา โดยทั้งหมดมีอายุเพียง 20 ปี ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวทั้งห้าคนถูกนำตัวขึ้นศาลในเมืองซานโดเวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา


 


มีรายงานว่า นักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ ทั้งจากกลุ่มนักศึกษาปี 88(2531)  สหพันธ์นักศึกษาพม่า หรือ (The All Burma Federation of Student Unions) และเครือข่ายปกป้องเผยแพร่สิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders and Promoters network) ที่ถูกจับในกรุงย่างกุ้ง ยังไม่ถูกพิพากษาจนถึงขณะนี้   


 


นายอูเต็งหล่ายกล่าวว่า นักเคลื่อนไหวเยาวชนยังคงออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะถูกทางการพม่าจับกุม เหมือนที่นายโกมิ้นเต่งจี ที่ออกมาประท้วงเดี่ยวเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางซูจีและนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา


 


เกิดเหตุแผ่นดินไหวใกล้โครงการสร้างเขื่อนตอนบนพม่า


 


เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นหลายครั้งบริเวณตอนบนของพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลพม่าเตรียมสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำอิรวดีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการดังกล่าว


 


เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา หน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา(USGS) เผยว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวโดยวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.3 ริกเตอร์บริเวณชายแดนพม่า - จีน ห่างจากเมืองต้าลี่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไป 224 กิโลเมตร และห่างจากเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นไป 65 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต


 


ขณะที่สำนักข่าวชินหัวของจีนรายงานว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวสร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือน และทำให้ประชาชนจำนวนกว่า 1, 200 คนในจีนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว ด้านประชาชนในเมืองไลซาเปิดเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา


 


นายอ่องวา ผู้อำนวยการเครือข่ายพัฒนาคะฉิ่ (KDNG) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในเมืองลายซา ชายแดนพม่า - จีน กล่าวว่า ในปีนี้ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวถึง 4 ครั้งแล้ว เช่นเดียวกับ หน่อละ ผู้ประสานงานและวิจัยเรื่องโครงการเขื่อนของ KDNG กล่าวว่า รัฐบาลพม่าควรทบทวนแผนที่จะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดในพม่าในด้านการขนส่งสินค้า


 


หน่อละกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรจะศึกษาบทเรียนจากจีนที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมณฑลเสฉวนของจีน  จนเป็นแหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน โดยคนในพื้นที่ยังต้องอยู่อย่างระส่ำระสาย เนื่องจากเกรงว่าเขื่อนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จะพังทลายลงมา  ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลพม่าจะคิดทบทวนใหม่อีกครั้งและระงับโครงการไปก่อน


 


ทั้งนี้ รัฐบาลจีนและรัฐบาลพม่าร่วมตกลงสร้างเขื่อนจำนวน 7 แห่งในรัฐคะฉิ่น ทางภาคเหนือของพม่า ซึ่งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 13, 360 เมกกะวัตต์ ซึ่งพื้นที่สร้างเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลกครอบคลุมไปถึงมณฑลยูนนานของจีน


 


หน่อละยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าและจีนยุติการสร้างเขื่อนในเขตมิตโซงซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโครงการและมีความเสี่ยงมากที่สุดเช่นกันหากเกิดแผ่นดินไหว


 


ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน Damming the Irrawaddy โดย KDRG ระบุว่า ที่ตั้งของโครงการเขื่อนมิตโซงอยู่ห่างจากรอยเลื่อนระหว่างแผ่นยูเรเชียและอินเดียไม่ถึง 100 กิโลเมตร   ถ้ามีการสร้างเขื่อนและเกิดแผ่นดินไหว จะทำให้เมืองมิตจีนา ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่กว่า 140,000 คน รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองเวียงหม่อ เมืองซินโบและเมืองบาหม่อที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิรวดีจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ   


 


(Irrawaddy 20 ส.ค.51)   


 


 






 


CHUEM NEWS โดย ศูนย์ข่าวสาละวิน


ติดตามสถานการณ์ในพม่าและบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.salweennews.org


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net