Skip to main content
sharethis

อิสร์กุล อุณหเกตุ


จากเอกสารข่าว WTO ฉบับที่  14  กรกฎาคม  2551


องค์การการค้าโลกถือกำเนิดในปี 2538 ตามความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (Marrakes Agreement Establishing the World Trade Organization) อันเป็นผลผลิตจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ในข้อ III ของความตกลงดังกล่าวกำหนดให้องค์การการค้าโลกมีหน้าที่จัดเวทีสำหรับการเจรจาการค้าระดับพหุภาคีสำหรับประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) อันเป็นการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบแรกและรอบล่าสุดนับตั้งแต่มีการสถาปนาองค์การการค้าโลกในปี 2538 กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เมื่อประเทศสมาชิกไม่สามารถบรรลุข้อสรุปในประเด็นหลักร่วมกันได้ แม้ว่าการเจรจารอบดังกล่าวจะใช้เวลายาวนานกว่า 6 ปีแล้วก็ตาม ความล้มเหลวในการทำหน้าที่ "เจ้าภาพ" ในการเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลกนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า องค์การการค้าโลกอาจก้าวไปสู่จุดจบในไม่ช้า


แม้ว่าองค์การการค้าโลกเคยพบกับความล้มเหลวในการผลักดันการประชุมรอบใหม่ภายใต้ชื่อ "รอบแห่งสหัสวรรษ" (Millennium Round) มาแล้ว เมื่อครั้งการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา (Seattle Ministerial Conference) ในปี 2542 แต่ความล้มเหลวดังกล่าวยังถูกแทนที่ด้วยความปีติเมื่อองค์การการค้าโลกสามารถเริ่มการเจรจารอบใหม่ได้ในที่สุดในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่โดฮา กาตาร์ (Doha Ministerial Conference) ในปี 2544 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปมากหากการเจรจารอบโดฮาต้องล้มเหลว เนื่องจากในปัจจุบัน การเจรจารอบโดฮาเป็นความหวังหนึ่งเดียวของระบบการค้าพหุภาคี ระยะเวลาในการเจรจาทั้งสิ้นกว่า 75 เดือนที่ผ่านมาย่อมกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า และความน่าเชื่อถือของระบบการค้าพหุภาคีก็จะยิ่งเสื่อมถอยลงไปอีก โดยเฉพาะหากประเทศสมาชิกหันไปเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีและภูมิภาคีทดแทน


การเจรจาการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคีเป็นกระแสการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่แคนคูน เม็กซิโก (Cancun Ministerial Conference) ในปี 2546 ต้องจบลงโดยไม่มีความคืบหน้า กระแสดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อการเจรจารอบโดฮาดำเนินไปอย่างล่าช้า รวมถึงหยุดชะงักในเดือนกรกฎาคม 2549 ความตกลงการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคีที่มีผลบังคับใช้เพิ่มขึ้นถึง 54 ฉบับหรือเกือบ 1 ใน 3 ของความตกลงการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคีทั้งหมดที่มีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี (2546 - 2549) ทั้งนี้ แม้ว่าการเปิดเสรีในระดับทวิภาคีและภูมิภาคีอาจจะลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดของประเทศต่างๆ ได้ แต่ก็จะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ประการแรก ความตกลงการค้าต่างระดับย่อมก่อให้เกิดกฎกติกาหลายชุดซึ่งซับซ้อน และพันกันอย่างยุ่งเหยิงราวกับสปาเกตตีในชามตามที่ศาสตราจารย์ Jagdish Bhagwati เรียกว่าเป็น Spaghetti-Bowl Effect ประการที่สอง การเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีและภูมิภาคีนี้ ประเทศกำลังพัฒนามีอำนาจต่อรองน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาที่สำคัญในเรื่องการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) โดยเฉพาะเรื่องการอุดหนุนสินค้าเกษตร และประการสุดท้าย การหันเหความสนใจในการเจรจาการค้าออกจากการเจรจาในระดับพหุภาคีไปเป็นระดับทวิภาคีและภูมิภาคีย่อมทำให้หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination Principle) ต้องถูกทำลายลง และประโยชน์ที่ประเทศสมาชิกพึงได้จากระบบการค้าพหุภาคีก็จะลดน้อยลงด้วย


 


นอกเหนือไปจากการเจรจาการค้าทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาคีแล้ว วิธีการเจรจาของประเทศสมาชิกก็ส่งผลต่ออนาคตขององค์การการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกพยายามผลักดันการเจรจารอบโดฮาอย่างหนัก แต่วิธีการเจรจาที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันกลับเป็นวิธีการที่สั่นคลอนหลักการพื้นฐานขององค์การการค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมนอกรอบระหว่างประเทศแกนนำในการเจรจาอันได้แก่ บราซิล อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่เมืองพอตส์ดัม เยอรมนี ในเดือนมิถุนายน 2550 เพื่อรื้อฟื้นการเจรจารอบโดฮา หรือการประชุมแบบ "ห้องเขียว" (Green Room Meeting) ในปัจจุบันซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกจำนวนไม่น้อยถูกกีดกันออกจากกระบวนการเจรจา ตัวอย่างทั้งสองข้างต้นเป็นการเจรจาที่ไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม และขัดต่อหลักการประชาธิปไตยในองค์การการค้าโลก


 


ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ การทำหน้าที่ขององค์กรระงับข้อพิพาทแห่งองค์การการค้าโลก (WTO Dispute Settlement Body: DSB) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จประการสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี กลไกระงับข้อพิพาทภายใต้องค์การการค้าโลกยังคงพอเป็นที่พึ่งให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาได้พอสมควร แต่แนวโน้มดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง เมื่อประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ เริ่มแสดงอาการดื้อแพ่งต่อคำวินิจฉัยขององค์กรระงับข้อพิพาทอยู่เนืองๆ แม้บทบัญญัติว่าด้วยข้อพิพาทการค้าจะอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการตอบโต้ประเทศคู่พิพาทที่แพ้กรณีพิพาทได้ หากประเทศนั้นๆ ไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยขององค์กรระงับ แต่ความสามารถในการตอบโต้ของประเทศกำลังพัฒนาแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องปฏิบัติตามกฎกติกาภายใต้องค์การการค้าโลก


 


การเจรจารอบโดฮาดำเนินมาแล้วถึง 6 ปี แม้จะยังไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า การเจรจารอบโดฮาประสบความล้มเหลว การเจรจารอบอุรุกวัยใช้เวลาถึง 7 ปีในการเจรจา แต่ปัจจุบันองค์การการค้าโลกมีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นจากรอบอุรุกวัยอีกกว่า 30 ประเทศ จึงเป็นธรรมดาที่การเจรจามิอาจหาข้อยุติได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคงมิอาจทำให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกมองโลกในแง่ดีได้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อเส้นตายของการเจรจาแทบทุกเส้นที่เคยกำหนดไว้ต้องผ่านพ้นไปโดยมิได้ข้อสรุป ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามขึ้นอีกทวีคูณหากต้องการให้การเจรจารอบดังกล่าวลุล่วงไปได้ หากการเจรจารอบโดฮาต้องล้มเหลวลงก็ใช่ว่าองค์การการค้าโลกจะก้าวไปสู่จุดจบ แต่หากประเทศสมาชิกหันเหแนวทางการเจรจาไปสู่การเจรจาการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคีทดแทน หรือเลือกใช้วิธีการเจรจาที่ไม่โปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วม หรือพยายามทำลายกลไกระงับข้อพิพาทภายใต้องค์การการค้าโลก เช่นนั้นนาฬิกาชีวิตขององค์การการค้าโลกก็จะเริ่มต้นนับถอยหลังในไม่ช้า.


           


 






เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย


โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)


ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net