Skip to main content
sharethis

จากกระแสข่าวเกี่ยวกับประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2550 ที่ผู้ให้บริการจะต้องจัดเก็บข้อมูลเอาไว้ 90 วัน โดยจะต้องตั้งนาฬิกาของอุปกรณ์ทุกชนิดให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำตามเวลาอ้างอิงสากล ซึ่งประกาศนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.51 นั้น


 


นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.50 ได้มีประกาศกระทรวงฯ เรื่อง "หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2550" ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษามาตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.50


 


ประกาศนี้ได้ผ่อนผันให้ผู้ให้บริการทางคอมพิวเตอร์มีเวลาเตรียมตัว ก่อนที่จะต้องเริ่มเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ตามบริการประเภทต่างๆ แตกต่างกัน เช่น ผู้ให้บริการที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายภาพและเสียง ให้เริ่มเก็บสามสิบวันหลังจากประกาศ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ ISP เริ่มเก็บหนึ่งร้อยแปดสิบวันหลังจากประกาศ


 


ส่วนผู้ให้บริการประเภทอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ให้เริ่มเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์เมื่อพ้นหนึ่งปีนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะครบในวันที่ 23 ส.ค.51 นี้


 


โดยผู้ให้บริการในกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย ผู้ให้บริการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Access Service Provider) เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้กับห้องพัก หรือสถานบริการ รวมถึงองค์กรที่ให้บริการให้กับบุคลากรภายในองค์กรของตนเอง กลุ่มผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ (Hosting Service Provider) เช่น ผู้ให้บริการเช่า Web Server ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการเข้าถึง e-Mail เป็นต้น และกลุ่มผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต เช่น ร้านเกมออนไลน์ ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เป็นต้น


 


นายธานีรัตน์ กล่าวต่อว่า แม้ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ แต่ผู้ให้บริการอย่าตื่นตระหนก เพราะการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ทางกฎหมายบังคับนั้น มีเจตนาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการระบุและหาตัวผู้กระทำความผิด ดังนั้น ถ้าองค์กรใดไม่ได้มีผู้กระทำผิดเข้ามาใช้บริการคอมพิวเตอร์เพื่อไปกระทำความผิดตามกฎหมายฯ ฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแม้แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการเข้าขอตรวจสอบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้


 


"หากไม่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายฯ ฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบปรับ เพราะโดยเจตนาของตัวกฎหมายแล้ว ข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ผู้ให้บริการต้องจัดเก็บนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน ในกรณีที่มีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ฯ นี้ จะมีอำนาจหน้าที่เฉพาะที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งอำนาจหน้าที่นั้นก็มี เช่น ทำหนังสือสอบถาม เรียกดูข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือทำสำเนาข้อมูล เป็นต้น ซึ่งขอเน้นว่า การใช้อำนาจหน้าที่นี้ ทำเฉพาะที่จำเป็นในการหาหลักฐานและหาตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น" นายธานีรัตน์ กล่าว


 


สำหรับแนวทางในการปฏิบัติของผู้ให้บริการในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้น ผู้ให้บริการจะต้องเร่งดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยกระทรวงไอซีทีได้เผยแพร่ความรู้ในด้านการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ และให้คำแนะนำการใช้เครื่องมือในรูปแบบของซอฟต์แวร์ที่เป็นลักษณะของ Open-Source เพื่อให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดสำหรับผู้ให้บริการซึ่งสามารถ Download ได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที


 


"ในระหว่างที่กำลังดำเนินการเพื่อจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้น วิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก คือ การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในองค์กรของท่านใช้งานอย่างรับผิดชอบ และไม่สร้างความเดือดร้อน หรือกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพราะการป้องปรามย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ" นายธานีรัตน์ กล่าว


 


ด้าน พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า วันที่ 23 ส.ค.นี้ เป็นวันแรกที่ประกาศกระทรวงฯ จะมีผลบังคับใช้ ทำให้หน่วยงานราชการ สถานศึกษา องค์กร ร้านค้า บริษัท ห้างร้าน ธนาคาร โรงแรม บ้านเช่า แฟลต อพาร์ตเมนต์ ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ผู้ให้บริการร้านเกมออนไลน์ ฯลฯ ยกเว้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตภายในบ้าน ต้องเก็บข้อมูลการใช้บริการ หรือข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทางปลายทาง วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาและชนิดของบริการที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารบนคอมพิวเตอร์นั้น ไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อใช้เป็นหลักฐานติดตามผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการส่งต่ออีเมลเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร หรือการเขียนข้อความหมิ่นประมาทผู้อื่น รวมถึงการก่อความไม่สงบสุขในบ้านเมือง


 


พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตดังกล่าวจะต้องเก็บข้อมูล 3 ส่วน ส่วนแรกคือ ข้อมูลที่ระบุตัวผู้ใช้บริการได้ เช่น ชื่อ สกุล หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนที่ 2 คือ วัน เวลาที่ลูกค้าเข้า มาใช้บริการ และเลิกใช้เครื่อง และส่วนที่ 3 หมายเลขเครื่องที่ใช้ ไอพี แอดเดรส และยูอาร์ แอล (IP Address-URL) หน่วยงาน หรือองค์กรใด ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย มีความผิดโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ทั้งนี้หลักเกณฑ์การเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ระบุให้ต้องเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และต้องตั้งนาฬิกาของอุปกรณ์ทุกชนิดให้ตรงกับเวลาอ้างอิงสากล ผิดพลาดได้ไม่เกิน 10 มิลลิวินาที


 


สำหรับการปรับเทียบเวลามาตรฐานประเทศไทยในปัจจุบัน สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่จัดทำ และรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทยตามระบบสากล ซึ่งการปรับเทียบเวลาฯ ดังกล่าว ทำได้ 3 ช่องทาง คือ 1.ปรับเทียบที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ คลอง 5 จ.ปทุมธานี 2.ปรับเทียบเวลามาตรฐานผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 181 ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ


 


และ 3.ปรับเทียบทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงง่ายที่สุด โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส เอ็กซ์พี หรือวิสต้า (Windows XP-VISTA) ให้คลิกขวาที่เวลาบนแถบสีน้ำเงินด้านล่างจอ(Status Bar) จากนั้นเลือก Adjust Date/Time แล้วคลิกที่ Internet Time ใส่ช่อง Sever ใส่ URL ของสถาบันมาตรวิทยาฯ คือ time1.nimt.or.th หรือ time2.nimt.or.th หรือ time3.nimt.or.th แล้วคลิกที่ Update Now ก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูล และปรับเวลาในคอมพิวเตอร์ให้เป็นเวลามาตรฐานประเทศไทยได้โดยอัตโนมัติ


 


 



 


เรียบเรียงจาก: กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเว็บไซต์เดลินิวส์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net