ปาฐกถาชัยอนันต์ สมุทวณิช: 100 ปี นิมิตรมงคล : การเมือง 2475 ถึง 2551

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2551 ที่ห้องประชุมใหญ่สถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "100 ปี ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน: จากการเมือง 2475 ถึงการเมือง 2551" ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน


 

สำหรับ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน (21เมษายน 2451 - 11 เมษายน 2491) เป็นนักคิด นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญของไทย และกองบรรณาธิการวารสาร "น้ำเงินแท้" ผู้เขียนหนังสือ "พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ"  "ความฝันของนักอุดมคติ" และบทละคร The Emerald's Cleavage ซึ่งต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ รอยร้าวของมรกต โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (อ่านเพิ่มเติม ประวัติ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ที่มา: อ้างอิงจาก 100 นักประพันธ์ไทย)

 

ต่อไปนี้คือปาฐกถานำของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช

 

0 0 0

 

 

ถ้ามองย้อนหลังไปก่อน พ.ศ.2475 พบว่ามีความคิดที่แพร่เข้ามาในเมืองไทย โดยผู้ที่ได้สัมผัสชีวิตในต่างประเทศได้นำมาเทียบกับสังคมไทย ในขณะนั้นถ้าใครไม่พอใจในสภาพความเป็นอยู่หรือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในสังคมไทย ก็ไม่ค่อยมีการตั้งข้อสงสัยวิพากษ์วิจารณ์กัน โดยเชื่อกันว่าเป็นกรรมเก่าชาติหน้าคงดีกว่านี้ หรือเป็นเพราะว่าผู้ปกครองคนเดียวไม่มีทศพิศราชธรรม แต่ไม่มีใครมองเห็นว่า สิ่งที่ไม่ดีเกิดจากระบบการเมืองที่ไม่เหมาะสม

 

ก่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีผู้ที่คิดว่าสังคมไทยจะดีขึ้นเมื่อเรามีระบบการเมืองการปกครองที่ไม่ใช่ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ก็คือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ต่างๆ มีเสรีภาพมากขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการปกครอง แต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเต็มที่ คงเป็นเพราะความเกรงว่า ถ้าให้มีพรรคการเมืองแล้ว พรรคการเมืองของคนจีนจะเป็นพรรคที่มีความสำคัญขึ้นมาได้ มีหลักฐานปรากฏค่อนข้างชัดเจนว่า ความกังวลของผู้ปกครองประเทศในเวลานั้น ถ้าเกิดมีประชาธิปไตยก็ต้องมีพรรคการเมืองซึ่งเป็นการยึดถือคติการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา ถ้าพูดถึงการมีรัฐธรรมนูญแล้ว สิ่งที่ต้องมีต่อมาคือ การมีสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็ต้องมาจากพรรคการเมือง

 

ถ้ามองย้อนไปก่อนปี พ.ศ.2475 ประชากรไทยมีอยู่จำนวนไม่กี่ล้านคน อยู่กันอย่างกระจัดกระจายเป็นชาวไร่ชาวนา ผู้ที่อยู่ในเขตเมืองก็เป็นคนจีนอยู่ในบังคับของอังกฤษบ้างของฝรั่งเศสบ้าง ผู้ที่เป็นพ่อค้าย่อมที่จะต้องการความคุ้มครอง ผู้ที่สามานย์สะสมทุนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองก็คือคนจีนนั่นเอง

 

อาจย้อนมาดูที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่พวกเราเห็นเสื้อ "ลูกจีนกู้ชาติ" ถือเป็นการปลดปล่อยจากแรงกดดันสมัยก่อนนับตั้งแต่ พ.ศ.2475 ที่มีความเกรงกลัวคนจีน ด้วยเหตุผลเรื่อง ทุน และยังไม่มีความภักดีต่อประเทศไทย คนจีนส่วนใหญ่ยังมีความผูกพันกับผืนแผ่นดินใหญ่ คนจีนยังมีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นมากที่สุดถึงแม้จะไม่เป็นทางการ มีสมาคมลับ สมาคมอั้งยี่ ดังนั้นความคิดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้รัฐธรรมนูญเป็นกติกาหลักต้องล่าช้าออกไป

 

จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สังเกตเห็นว่าคณะราษฎรทำการสำเร็จอย่างฉับไว คือมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าพันธมิตร (ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) พันธมิตรฯ ยังมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องกว่า 3 เดือน คณะราษฎรได้มีการประชุมลับกันที่ฝรั่งเศส พอกลับมาก็มีการประสานงานกันเป็นอย่างดีจนประสบความสำเร็จรวดเร็ว การปฏิวัติดังกล่าวจึงยังมีความมั่นคงอยู่ในตัวแฝงอยู่ เพราะไม่มีการเคลื่อนไหวมาก่อน ส่งผลเสียให้ในคณะปฏิวัติไม่มีการยอมรับภาวะผู้นำของใครอย่างแท้จริง จึงเป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน มีความไม่มั่นคงในหมู่คณะราษฎรเสมอ มีความพยายามรักษาอำนาจตลอดเวลา จึงมองทุกคนว่าเป็นศัตรูจนหมด

 

คณะราษฎรแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่ราษฎร แล้วก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับราษฎร เพราะไม่มีการเคลื่อนไหวมาก่อนเหมือนอย่างในต่างประเทศที่เขาเป็นอาณานิคมที่เวลาที่มีการกู้ชาติจะมีการเคลื่อนไหวมาก่อน เมื่อราษฎรไม่เคยรู้ว่าคณะราษฎรจะทำอะไร จึงมีคำพูดว่า พอมีรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นลูกของพระยาพหลพลพยุหเสนา แท้จริงถ้ามีการเคลื่อนไหวมาก่อนอย่างเช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างทางก่อนที่จะมีชัยชนะจะมีการหักล้างกันภายในจนกระทั้งมีการยอมรับคนคนหนึ่งขึ้นมา

 

ผู้ที่คณะราษฎรเห็นว่าเป็นศัตรูกับตนมากที่สุดก็คือพวกเจ้า ในรัฐธรรมนูญห้ามคนตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปเล่นการเมือง เพราะว่าพวกเจ้าปกครองมานานก็เป็นที่รู้จักของประชาชนแล้วยังมีเงินอีกด้วย

 

ลองคิดดู หากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นแล้วมีการประกาศให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองทันที แล้วพวกเจ้าก็ตั้งพรรคจนได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ก็คงคล้ายพรรคไทยรักไทยแล้วก็สามารถบอกได้ว่ามาจากการเลือกตั้ง

 

คณะราษฎรจึงประกาศให้มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งทางอ้อมจนต่อมาจึงให้สิทธิให้มีการเลือกตั้งโดยตรง ทำเหมือนกับรัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือไม่ยอมให้มีพรรคการเมือง โดยนึกอยู่ตลอดเวลาว่าคนจีนที่เป็นอั้งยี่อาจลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อมาจึงออกพระราชบัญญัติสมาคม มีเนื้อหาว่า สมาคมจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง หมายความว่า โอกาสที่สถาบันทางการเมืองจะเกิดขึ้นในเมืองไทยจึงไม่มี ประชาชนที่ร่วมตัวกันเป็นเอกชนเป็นสมาคมต้องคอยระแวดระวัง คนจีนจึงมุ่งทำการค้าอย่างเดียว ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การค้าจะถูกกระทบกระเทือนได้ ซึ่งผิดไปจากการพัฒนาทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยในตะวันตกที่เกิดการประสานกันของทุนกับอำนาจทางการเมือง ในเมืองไทยในสมัยนั้นทุนกับอำนาจทางการเมืองจึงแยกออกจากกัน

 

ในสมัยหลัง การเมืองไทยก็ยังคงประสบปัญหาเรื่องทุนกับเรื่องอำนาจทางการเมือง จะเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีมิติทางเชื้อชาติมาก่อน แต่ในสังคมตะวันตกทุนก็มีมิติทางเชื่อชาติเช่นกัน แต่คนที่เป็นเจ้าของทุนที่เป็นพ่อค้ามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนกับสังคมไทยซึ่งคนส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรอยู่ ควรมองในสมัยของทักษิณเพราะทุนมีบทบาทสูงแล้วทุนนี้หมดพันธนาการเดิมที่เคยมี คือพันธนาการของเชื้อชาติได้หมดไป จะพบว่านายทุนของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นคนไทยเชื้อสายจีนทั้งนั้น แต่ไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีนที่เพิ่งอพยพมาเมื่อ 200 ปีก่อน ในระยะ 40-50 ปี ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังว่าการขยายตัวของทุนแบบนี้ จนกระทั้งได้เป็นฐานสำคัญทางการเมือง

 

การต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรฯ ก็มีมิติดังกล่าวเช่นกันเป็นการต่อต้านทุนเหมือนกัน แต่ถูกเรียกว่าทุนนิยมสามานย์ ในตะวันตกประชาธิปไตยเป็นลูกในท้องของทุนนิยมอย่างแท้จริง แต่ในเมืองไทย ความเห็นของคนบางส่วนปฏิเสธการที่ทุนกับประชาธิปไตยร่วมอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน ต่อต้านว่าทุนเป็นสิ่งที่เลวทรามสำหรับการพัฒนาทางการเมืองจึงดูเหมือนเป็นลักษณะเฉพาะของไทยเรา

 

มาถึงปัจจุบัน ทักษิณจึงนำประโยชน์ของทุนและอำนาจทางการเมืองมาจับรวมกัน ยิ่งไปกว่านั้น คือการอาศัยอำนาจรัฐขยายทุนของตนโดยอาศัยตลาดหุ้นเป็นเครื่องมือ การทำสัญญาการค้ากับต่างประเทศ

 

0 0 0

 

ในเมืองไทยนั้น ความคิดทางการเมืองทางสังคมที่เขียนในรูปของหนังสือเป็นเล่มน่าอ่านแล้วแฝงไปด้วยความคิดในทางสังคมในทางการเมืองมีอยู่น้อยมากนับตั้งแต่มีไตรภูมิพระร่วงเป็นต้นมา ยังไม่มีลักษณะที่เป็นรูปร่างเหมือนอย่างในต่างประเทศที่ความคิดทางการเมืองของบุคคลต่างๆ มีการอธิบายความ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นผู้แรกที่เขียนหนังสือในลักษณะดังกล่าว งานของท่านมี 3 มิติด้วยกัน

 

มิติแรก เป็นชีวประวัติส่วนตัวและยังเป็นมิติในทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะเป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยหนึ่งของการเมืองไทย

 

มิติที่สอง เป็นงานนิพนธ์เชิงนวนิยายที่มีคุณค่าและความงามอยู่ในตัว

 

มิติที่สาม เป็นเรื่องของความคิดในทางสังคมและการเมือง

 

สามมิติดังกล่าวได้ร้อยรวมในงานของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน "ความฝันของนักอุดมคติ" ซึ่ง "อุดมคติ" นี้ไม่ใช่ "อุดมการณ์"

 

"อุดมคติ" มีความหมายกว้างกว่าอุดมการณ์ที่มีความหมายแคบในเรื่องความคิดทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงลงไป แต่อุดมคตินั้นมีความหมายถึงความคิดในทางสังคมโดยทั่วไปด้วย ไม่มีความเฉพาะเจาะจง แต่มีความเป็นสากล กล่าวได้ว่าเป็นความคิดของนักคิดในสมัยของท่านในต่างประเทศ สื่อถึงว่าอยากให้สังคมเป็นสังคมในอุดมคติก็คืออยู่เหนือความขัดแย้ง นักเขียนในสมัยนั้นที่มีความคิดสากลในขณะนั้นก็มีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่ด้วย และมองเห็นว่าวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาการของโลกกำลังเกิดขึ้น

 

งานของ ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน ใน "รอยร้าวของมรกต" มีความใกล้เคียงกับนักปรัชญาในตะวันตก  มองเข้าไปถึงธรรมชาติของคน ดังจะเห็นว่า ปรัชญาการเมืองตะวันตกมักจะเริ่มต้นด้วยการตั้งสมมุติฐานว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร อุปนิสัยความคิดชีวิตของคนเราก็มีจุดที่ด่างพร้อยอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนมรกตที่ต้องมีรอยร้าวอยู่เป็นธรรมดา

 

ถ้าได้อ่านงานของ ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน จะเห็นว่าสังคมในอุดมคติที่ท่านเสนอไว้มันห่างไกลความเป็นจริงทุกที มันเป็นความฝันของนักอุดมคติจริงๆ

 

แต่ไม่มีสังคมใดที่ปราศจากความฝัน สังคมใดปราศจากความฝัน สังคมนั้นคงเป็นสังคมที่มีแต่ความโหดร้าย มีแต่ที่จะเอาเปรียบซึ่งกันและกัน แท้จริงแล้ว รัฐควรสัมพันธ์กับประชาชนอย่างไร ควรบริบาลประชาชน ควรส่งเสริมประชาชนมากกว่าที่จะใช้อำนาจกับประชาชน ซึ่งตัวท่านถูกกระทำมาด้วยตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท