Skip to main content
sharethis


หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลงผลการตรวจสอบตัวอย่างน้ำฝน และฝุ่นสีเหลืองที่ตกใน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามการร้องเรียนของชาวบ้านที่อ้างว่า เป็นมลภาวะที่เกิดจากมาจากโครงการโรงถลุงเหล็กเครือสหวิริยา โดยระบุว่า ตัวอย่างน้ำฝนที่เก็บจากหลังคาของชาวบ้านและกลางแจ้งไม่มีค่าความกรด ส่วนฝุ่นสีเหลืองนั้นได้อ้างผลการตรวจสอบของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล ที่ระบุว่าเป็นละอองเรณูของต้นกก ดาวเรือง ทานตะวัน และต้นปาล์ม ขณะที่ผลสรุปจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่าเป็นละอองเรณูพืชดอกหลายวงศ์

 


ล่าสุด 23 สิงหาคม 2551 นายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ได้ตั้งข้อสงสัยว่า กรณีที่นักวิชาการจากจุฬาฯ-มหิดล ออกมาแก้ต่างลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับให้กลุ่มทุนบางสะพานว่าหยดสีเหลืองที่หยดลงจากท้องฟ้า อ.บางสะพานกินบริเวณกว้าง 25 กิโลเมตรเป็นเกสร ดอกกก ดอกดาวเรือ ดอกปาล์มนั้น ขัดแย้งกับก่อนหน้านี้หลายเดือนที่ทางจุฬาฯ เคยทำหนังสือยืนยันว่าเป็นขี้ผึ้ง


 


รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง จึงเรียกร้องให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้ง จุฬา-มหิดล ชี้แจงรายละเอียด รวมถึงอธิบายกระบวนการที่เกสรดอกไม้ ดอกกก ดอกดาวเรือง หรือปาล์ม กลายเป็นหยดสีเหลืองตกลงในพื้นที่บางสะพานว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุใดในอดีตจึงไม่มี แล้วแหล่งที่มาจากไหน ทั้งนี้นายสุพจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า จังหวัดประจวบฯ เป็นพื้นที่แคบติดทะเลที่มีลมส่วนใหญ่มาจากตะวันออกเฉียงเหนือ และไม่มีป่าใหญ่ ไม่มีพื้นที่ปลูกดอกไม้ หากว่าเป็นเกสรดอกปาล์มที่มีปริมาณมากขนาดนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ซึ่งไม่ควรขยายอุตสาหกรรม เพราะจะเกิดการทำลายผลการเกษตร


 


นอกจากนี้ยังได้ตั้งคำถามถึงกระบวนการตรวจสอบที่ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย


 


"การเก็บตัวอย่างเก็บอย่างไร ใครเป็นตัวแทนรับรู้บ้างในการเก็บ เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจวิธีการหรอก หากแต่ว่ามีผู้ที่จะเสียผลประโยชน์ไปเกี่ยวข้องไปร่วมขบวนการ ก็คงไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่าลืมว่าชาวบ้านเขากระทบ แก้ปัญหาที่ผลกระทบ เพราะชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องซื้อน้ำ จะทำอย่างไร ไม่ว่าการที่ออกมาบอกว่าน้ำฝนตรวจแล้วดื่มได้ ตรวจอย่างไร หากนำตัวอย่างน้ำฝนที่ตกมาแล้วหลายชั่วโมงไปตรวจ ก็คงไม่ได้ผลอะไร ในเมือความเป็นจริงเวลาฝนตกใหม่ ๆ แม้แต่ปลาหางนกยูงยังตายเลย


 


"อยากเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษรับผิดชอบ มิใช่ให้กลุ่มทุนมาปัดภาระบอกว่าชาวบ้านอุปทานไปเอง อยากถามว่า แล้วคุณจะแก้อุปทานชาวบ้านอย่างไร ใครเป็นต้นเหตุอุปทาน หากแก้ไม่ได้ ใครจะชดเชยจ่ายค่าความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านได้ อยากจะรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างชาวบ้านไม่ใช้เป็นผู้ก่อ และมันไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแน่นอน การที่มีอุตสาหกรรมเผาน้ำมันเตาอยู่กว่าสามแสนลิตรต่อวัน 24 ชั่วโมงที่มีกำมะถันเกือบ 2 % เช่นนี้ ทุกหน่วยงานต้องออกมารับผิดชอบจริงจัง อย่าปัดภาระเพียงเพราะว่าไม่ใช้ความเดือดร้อนของตน.."  นายสุพจน์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net