สัมภาษณ์ สุณัย ผาสุก : ทางออกของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงอยู่ที่ "สิทธิมนุษยชน"

สัมภาษณ์โดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 

 

แม้ว่าโดยรวมแล้วเสียงของ "ความรุนแรง" ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะดูเงียบลง เพราะความสนใจของคนทั่วไปยังคงจับจ้องไปที่การเมืองส่วนกลาง แต่ความจริงแล้วสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงดำเนินอยู่ "อย่างรุนแรง" ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

วันหนึ่ง "สุณัย ผาสุก" ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของ Human Right Watch มานั่งคุยกับเราพร้อมประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ายังคงไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับตัวของเจ้าหน้าที่รัฐในบางพื้นที่ดูจะเริ่มเห็นผล และอาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการคลี่คลายสถานการณ์ ในขณะเดียวกันสิ่งหนึ่งที่เขามองว่าเป็นประเด็นสำคัญด้วย คือนักสิทธิมนุษยชนไทยจะต้องยึดหลักการให้ชัดเจน นั่นคือต้องประณามฝ่ายผู้ก่อการที่ได้กระทำการการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่ลดละ และกำลังติดกับดักแห่งความรุนแรงของตัวเองจนอาจกลายเป็นแค่ "กองกำลังบ้าเลือด" เท่านั้น

 

สถานการณ์ในวันนี้ที่ห่างไกลจากสงครามกลางเมือง แต่สิทธิมนุษยชนซึ่งรวมไปถึงการเคารพกฎหมายและการสร้างวัฒนธรรมการยอมรับผิดยังคงเป็นทางออกของทั้ง 2 ฝ่ายในมุมมองของนักสิทธิมนุษยชนผู้นี้ ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญพิจารณารายละเอียดด้วยการอ่านโดยพลัน

 

0 0 0

 

 

ภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจากทั้ง  2 ฝั่ง คือทั้งฝ่ายรัฐและกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน ถามว่ามีความเคารพในสิทธิมนุษยชนมากขึ้นหรือไม่ ในฝ่ายกลุ่มแบกแยกดินแดนยังไม่เห็นท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ส่วนของภาครัฐอย่างน้อยมีการพูดว่าจะเอาใจใส่เรื่องกรอบของกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่นั่นเป็นการพูดหลังจากที่มีคนเสียชีวิตไปแล้ว นั่นคือกรณีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส จึงยังอยู่ในช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ว่า สิ่งที่พูดนั้นทำได้จริงหรือไม่ จะอำนวยให้เกิดความยุติธรรมได้จริงหรือไม่

 

เรื่องของกระบวนการยุติธรรมกับเรื่องของสิทธิมนุษยชนมันเลือกไม่ได้ว่าจะเลือกให้กับคนใดคนหนึ่ง คำถามใหญ่มากที่ตามมาคือ พูดแต่เฉพาะเรื่องของกรณีอิหม่ามยะผาหรือไม่ แล้วกรณีอื่นๆ ที่เกิดก่อนและหลังจะมีนโยบายและการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งการมีนโยบายเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่สำคัญมากกว่าคือปฏิบัติได้หรือไม่

 

ตอนนี้พูดง่ายๆ บรรยากาศของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นมุสลิม เขาไม่เชื่อคำพูดของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ เพราะการสัญญาใครก็พูดได้ เด็กสองขวบก็พูดได้ ผู้บังคับบัญชาก็พูดได้ แต่ความน่าเชื่อถือของเด็กสองขวบกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่ได้ต่างกันเลย คือคนไม่ได้เชื่อว่าจะทำได้จริง

 

นี่เป็นปัญหาระดับใหญ่มาก เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งในช่วงนี้ลงไปคลุกกับมวลชนหรืออยู่กับชาวบ้านมากเลย เห็นความพยายามโดยเฉพาะฝ่ายทหาร ส่วนฝ่ายปกครองอาจจะต้องพูด ยกเว้นในกรณีของจังหวัดยะลาที่ทำงานหนักหน่อย

 

ปัญหาคือพอลงไปคลุกแล้วความเสี่ยงมากขึ้น เพราะชาวบ้านไม่เชื่อน้ำยาว่าเข้าไปแล้วจะจริงใจหรือไม่ มีเพียงจังหวัดยะลาที่ดูดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในกรณีปัตตานีกับนราธิวาสลงไปคลุก เขาก็จะยิ่งยิง

 

สามสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังกรณีของอิหม่ามยะผา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของปัตตานีกับนราธิวาสถูกยิงและถูกวางระเบิดมาก คือยิ่งพยายามไปคลุกกับชาวบ้านเมื่อไหร่ ท่ามกลางเงื่อนไขที่ชาวบ้านเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไว้ใจไม่ได้ ยังมีความเป็นศัตรูสูง โอกาสที่ได้รับการเตือน โอกาสที่จะได้รับข่าวกรองที่จะเอามาใช้ปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้มันก็ยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ

 

มันมีความสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่สามารถรักษาสัญญาได้ของฝั่งเจ้าหน้าที่ทั้งระดับสูงและระดับล่าง กับสถานการณ์ความรุนแรงที่พุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในระดับล่างก็เหมือนเป็นหนังหน้าไฟ ไม่ทำงานไม่ได้ แต่ทำงานก็มีความเสี่ยง

 

ส่วนทางฝั่งผู้ติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนก็ใช้เรื่องของความไม่พอใจของประชาชนในพื้นที่หรือพี่น้องมุสลิมต่อการละเมิดสิทธิที่มันเกิดขึ้นมากเป็นเครื่องมือในการรักษาฐานที่มั่น พูดได้เลยว่าตั้งแต่ช่วงมกราคม 2551 ปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนลดน้อยลงในเรื่องจำนวนเกิน 50% แต่ศักยภาพในการทำให้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บไม่เปลี่ยน โจมตีหนึ่งครั้งต้องมีคนตายหรือคนเจ็บ เพราะโครงสร้างในการปฏิบัติการ การวางแผน การประสานงานได้รับผลกระทบจาก 4 ยุทธการหลักของเจ้าหน้าที่ คือ การกวาดล้าง ปราบปราม จับกุม ปิดล้อมตรวจค้น

 

อันนี้เห็นผล แต่ถามว่าเป็นผลระยะสั้นหรือยาว อย่างน้อยตอนนี้พูดได้ว่าผลระยะสั้นนั้นเห็น แต่ผลระยะยาวถ้ายังใช้วิธีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดกฎหมาย ไม่มีกระบวนการยุติธรรมเข้ามารองรับอีกชั้น ในระยะยาวมันกลายเป็นผลในมุมกลับมากกว่า ยิ่งปราบ กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนยิ่งหาแนวร่วมได้มาก ขยายพื้นที่ได้มากขึ้น ดึงคนเข้าสู่ขบวนการได้มากขึ้น แล้วทำให้คนตัดสินใจเลือกที่จะไม่เตือนเจ้าหน้าที่รัฐเวลาที่จะมีใครมายิงหรือลอบวางระเบิด นี่เป็นปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงเลย

 

 

ทำไมที่จังหวัดยะลาจึงมีภาพรวมที่ดีขึ้นอย่างเห็นชัดกว่าพื้นที่อื่นๆ

เท่าที่เราเข้าไปดู เราเห็นรูปแบบการทำงานที่ต่างออกไป คือไม่ได้มีแค่นโยบายหรือคำมั่นสัญญาอย่างเดียว แต่ในทางปฏิบัติก็มีด้วย กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีขึ้นในพื้นที่ยะลาแบบคาหนังคาเขามันว่างเวนไปนาน กรณีสุดท้ายที่ชัดแจ้งที่สุดคือกรณีของทหารหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) 11 จับนักศึกษาราชภัฏยะลาไปซ้อม หลังจากนั้นก็ไม่มีคาหนังคาเขาแบบนั้นอีกเลย

 

มันเป็นภาพที่สวนทางกับสองพื้นที่ที่เหลือ คือนราธิวาสกับปัตตานี มีรูปแบบของการจับกุมโดยบีบให้มารายงานตัว และคู่ขนานกันไปก็มีเรื่องของการซ้อมทรมาน ซึ่งประเด็นนี้ต้องพูดถึง เพราะจากรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มันจะเห็นรูปแบบเด่นของแต่ละช่วงเวลาที่ต่างกัน ในช่วงนั้นที่เด่นคือการอุ้มฆ่าหรืออุ้มหาย การเก็บ การซ้อม ช่วงนั้นครบทุกแบบ แล้วก็เปลี่ยนไป

 

ทั้งนี้ การอุ้มหายค่อยๆ ลดลง เพราะการสอบสวนมีมากขึ้น แต่รูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือการซ้อมทรมาน ซึ่งจะกระทำโดยหน่วยงานใดก็ตามก็มีความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ มันขึ้นอยู่ว่าหน่วยงานใดทำหน้าที่ในการจับกุมและสอบสวนในชั้นต้น

 

เพราะฉะนั้นในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารกันยายน 2549 เป็นเรื่องของตำรวจ ตำรวจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับซ้อมทรมานมากกว่า เพราะเป็นคนจับกุมและสอบสวน หลังจากนั้นอำนาจมันโอนผ่านมาเป็นอำนาจทหาร ตอนช่วงปลายก่อนการรัฐประหาร มีการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ทหารก็เริ่มมาทำหน้าที่ และรายงานที่เกี่ยวข้องกับทหารอย่างเรื่องการซ้อมทรมานก็เริ่มสูงขึ้น เพราะทหารเริ่มทำหน้าที่ในการจับกุมและสอบสวนด้วย

 

พอหลังจากการรัฐประหารไปแล้ว งานเรื่องการจับกุมและสอบสวนตกอยู่ในมือทหารแทบจะ 100% รายงานเรื่องการซ้อมทรมานจึงมีทหารเป็นตัวหลัก ดังนั้นจะมองว่าหน่วยงานไหนมีความชั่วร้ายกว่ากันคงไม่ต่าง เพราะวัฒนธรรมการใช้อำนาจเหนือกฎหมายฝังอยู่ใน 3 จังหวัดทั้งตำรวจและทหาร ตอนนี้ถึงไม่มีรายงานเกี่ยวกับตำรวจ ก็ไม่ได้หมายความว่าตำรวจทำตัวดีขึ้น เพียงแต่ตำรวจไม่ได้มีอำนาจเรื่องนี้ต่อไป เพราะถ้าทำตัวดีขึ้นก็ต้องไปขุดคดีที่เคยทำไว้ให้เกิดความยุติธรรม แต่นี่ก็ไม่ได้คิดจะทำ กรณีที่เขาตันหยง ชาวบ้านก็ยังกลัวน้ำหูน้ำตาไหล เพราะขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นที่ซ้อมทรมานที่ตำรวจใช้ ในปัจจุบันถ้าพูดถึงเขาตันหยง ชาวบ้านก็ยังกลัวอยู่ ตรงนี้ไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ตำรวจไม่ได้เป็นคนที่ทำหน้าที่สอบสวนหลักอีกต่อไป

 

ตอนนี้ที่น่าสนใจคือรูปแบบปัญหาไม่เปลี่ยน แต่เปลี่ยนคนลงมือ เพราะเงื่อนไขการใช้อำนาจมันเปลี่ยน เงื่อนไขในพื้นที่เรื่องการซ้อมทรมานยังคงอยู่เพียงแต่จะระมัดระวังมากขึ้นหรือหล่ะหลวมปล่อยให้เป็นข่าวออกมาเท่านั้นเอง ยืนยันได้ว่าตอนนี้ยังมีและยังทำอยู่แล้วยังลอยนวลไม่ต้องรับผิด แม้แต่กรณีอิหม่ามยะผาที่เป็นกรณีอื้อฉาว พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการกองทัพบกรับปากว่าจะทำให้เกิดความยุติธรรมแต่ตอนนี้ญาติก็ไม่เชื่อ ทอดเวลาไปนานแล้วนิ่งเงียบ เป็นกรณีที่เว้นว่างกันไป

 

ที่หนักไปกว่านั้น ปีนี้เป็นปีที่จะต้องมีการตรวจสอบประเทศไทยทั้งจาก UN หรือองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้ง Human Right Watch ทั้ง Amnesty International ก็ตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดในประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแล้ว

 

เมื่อเป็นภาคีแล้วความประพฤติดีขึ้นหรือไม่ เท่าที่ตอบได้ ถ้ามองในสถานการณ์ภาคใต้ในปัจจุบันคือไม่ดีขึ้นคู่ขนานกันไปกับวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด อาจจะพูดได้ว่า หลังกรณีของอิหม่ามยะผาแล้วจะทำอะไรก็คิดหน้าคิดหลัง แต่ถามว่าหยุดไหม ไม่ได้หยุด แล้วก่อนหน้ากรณีของอิหม่ามยะผา หน่วย ฉก.ไหนจับคน อย่างน้อยก็ต้องมีตบตีกันบ้าง อาจจะไม่ซ้อมหนักข้อนัก แต่ก็มีเรื่องการทุบตีทรมาน ปัจจุบันบางหน่วยที่มีความระมัดระวัง กังวล ถูกจับตา ก็อาจยุติเรื่องการซ้อมไป แต่ตอบไม่ได้ว่ายุติอย่างสิ้นเชิง

 

การซ้อมทรมานเกิดขึ้นใน 3 บริบทด้วยกัน บริบทแรกคือการซ้อมทรมานเพื่อบีบบังคับเอาข้อมูล บริบทที่สอง เป็นการซ้อมทรมานเพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะในเชิงโครงสร้างอำนาจระหว่างผู้ซ้อมทรมานกับผู้ถูกจับกุมมา เพื่อบอกว่ากูใหญ่ กูเป็นนาย รูปแบบการซ้อมในลักษณะนี้ กรณียะผาเห็นได้ชัดว่าเป็นการซ้อมเพื่อต้องการให้คนอื่นๆ ที่ถูกจับมาพร้อมกันเห็น เพื่อให้เห็นว่า เป็นโต๊ะอิหม่ามยังถูกซ้อมเหมือนหมูเหมือนหมาอย่างนี้คนธรรมดาจะไปเหลืออะไร แล้วโดยความเชื่อของเจ้าหน้าที่ชุดที่ซ้อมเชื่อว่า อิหม่ามยะผาเป็นแกนนำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ก็ยิ่งสะท้อนว่าเป็นผู้อาวุโสฝ่ายคุณยังโดนซ้อมขนาดนี้คนธรรมดาจะเหลืออะไร ดังนั้นอย่าไปอยู่ข้างผู้ก่อความไม่สงบเลย นี่คือทัศนคติของเจ้าหน้าที่ เป็นการสถาปนาอำนาจให้เห็น

 

บริบทที่สาม คือความคึกคะนอง เมาก็ยังมีอยู่ ตัวพยานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ที่ซ้อมเขาจำนวนหนึ่งทีเดียวมีกลิ่นเหล้าออกมาจากปาก แล้วก็ซ้อมโดยไม่ได้ถามอะไร เจ้าหน้าที่เบื่อก็คงเอามาซ้อมเล่น หรือเล่นไพ่กัน ใครเสียก็วิ่งมาเตะ เป็นของสนุก คึกคะนอง เป็นสามมิติของการซ้อมทรมาน

 

 

ช่องว่างที่ทำให้เกิดการซ้อมทรมานได้อยู่ตรงไหน

ปัญหาหลักเลยคือ มันมีกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บวกกับระเบียบภายในที่ กอ.รมน.ภาค 4 ออกมาคู่ขนานมันทำให้พอผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมไปแล้วไม่สามารถเข้าสู่หรือไม่สามารถมีกลไกที่จะตรวจสอบสถานภาพ สวัสดิภาพของผู้ต้องสงสัย ไม่มีกลไกตรวจสอบได้ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติกับคนเหล่านี้อย่างไร หรือแม้แต่ว่าตอนนี้ตัวอยู่ไหนก็ยังเป็นไปได้ยาก

 

เพราะมันมีช่องโหว่อยู่ที่ 72 ชั่วโมงแรก ถึงแม้แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอรมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะบอกว่า ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามไม่ให้มีญาติเข้าเยี่ยม 72 ชั่วโมงแรกแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ มันไม่เสมอไปที่ญาติจะรู้ว่าตัวอยู่ที่ไหน หรือถึงแม้จะรู้แล้วก็ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ถึงห้องขังหรือจุดที่ควบคุมตัว อย่างกรณีอิหม่ามยะผาใช้เป็นตัวอย่างได้ว่า เอาอาหารไปส่งได้ แต่เห็นอยู่ไกลๆ มีเจ้าหน้าที่เอาไปส่งต่อ แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าสภาพร่างกายเป็นอย่างไร

 

มีหลายกรณีที่แม้จะเข้าไปเยี่ยมได้ก็ตาม แต่การเข้าไปเยี่ยมโดยญาติก็ไม่สามารถยุติการซ้อมของเจ้าหน้าที่หรือไม่สามารถยุติการกระทำใดๆ ที่มันละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเขาไม่เห็นหัวญาติ

 

ทางที่ดีจึงควรให้ทนายความเข้าถึงคนเหล่านี้ได้โดยทันที แม้จะคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารก็ตาม เงื่อนไขที่สมบูรณ์ที่สุดคือสถานที่อย่างค่ายทหารโดยเฉพาะระดับ ฉก. หรือระดับอำเภอมันไม่ใช่สิ่งที่ถือว่าเป็นสถานที่ควบคุมตัวตามมาตรฐานสากลที่ถูกต้อง มันควรเป็นโรงพักหรือสถานที่ของกรมราชฑัณฑ์ เมื่อจะสอบสวนจึงมาเบิกตัว จะได้มีการยืนยันกันได้ และเมือเบิกตัวไปแล้วจะต้องส่งตัวมาคืนเจ้าของสถานที่ซึ่งต้องมีการตรวจสอบสภาพร่างกายและจิตใจว่ากลับมาแล้ว จากไปร้อยกลับมาครบร้อยหรือไม่

 

พูดง่ายๆ คือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ บริบทของการควบคุมตัวเกิดขึ้นได้ง่าย และพอเกิดขึ้นได้ก็นำไปสู่วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับผิดตามมาด้วย เพราะฉะนั้นพอถามว่าอะไรเป็นปัญหาหลักในเรื่องสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ ก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่อาจจะบอกว่าใช้อำนาจได้สะดวกขึ้น แต่ใช้อำนาจสะดวกแล้วมันมีผลในระยะกลางและระยะยาวอย่างไร

 

Human Right Watch เข้าใจเจ้าหน้าที่และยืนยันว่า ปัญหาสำคัญที่สุดคือการรักษาความสงบ การปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งพุทธและมุสลิม แต่ถ้าใช้วิธีที่ละเมิดสิทธิอาจจะมีผลในเรื่องระยะสั้นคือลดจำนวนลง แต่ในระยะยาวและระยะกลาง เอาแค่ระยะกลางก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะรักษาผลสำเร็จนี้ไว้ได้ เพราะถ้าเราดูทุกครั้ง การเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความม่สงบไม่ได้หายไปเป็นศูนย์ แต่ยังสามารถกลับมาได้เรื่อยๆ และกลับมาแล้วโหดทุกครั้ง เป้าหมายที่โหดอาจจะเปลี่ยนไป แต่ทุกครั้งที่ก่อเหตุจะทิ้งคำอธิบายไว้ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ฝากไว้ในหมู่บ้าน หรือมีลายลักษณ์อักษรเช่นพ่นสเปรย์ไว้ ทิ้งใบปลิวไว้ หรือแขวนแผ่นผ้า

 

ในระยะหลังเห็นชัดว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อล้างแค้นและตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่

 

 

แสดงว่าการคงเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ปัญหา แต่กรอบการใช้อำนาจต่างหากคือปัญหา

คือการคงทหารไว้ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์การก่อความสงบโดยเฉพาะความไม่สงบที่มันสุดโต่งรุนแรงอย่างภาคใต้นั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนเขาไม่ได้รับปากว่าจะหยุดฆ่าคน รับประกันได้เลยว่า ถ้าถอนทหารเมื่อไหร่ ตัวเลขการก่อเหตุจะทบขึ้นมาเป็นสองสามเท่าเลย

 

จากการที่เราไปพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน เขาบอกว่า ถ้าถอนทหารก็หวาน เข้าทางเขาเลย แล้วเขารู้สึกสนุกด้วยซ้ำที่กลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการถอนทหาร เขาบอกว่าทหารไม่มีก็ยิงได้ง่ายขึ้น แล้วนโยบายเขาชัดเจนว่าไม่ต้องการให้เหลือคนพุทธ คนจีนในพื้นที่ ไม่ต้องการให้มีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอยู่ในพื้นที่ เขาก็ทำลายและใช้ความรุนแรงได้เต็มที่ การมีทหารหรือการมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เมื่อมีแล้วกรอบการใช้อำนาจต้องไม่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่นำไปสู่การละเมิดกฎหมาย

 

 

การก่อการในพื้นที่มีการใช้ประเด็นของกลุ่มมุสลิมสากลมาเคลื่อนไหวด้วยใช่ไหม

มันเป็นรูปแบบขนมผสมน้ำยาของเขา คือเลือกหยิบเอาประเด็นที่เป็นการตีความของขบวนการอิสลามสุดโต่งสากลมาใช้ แต่เงื่อนไขของพื้นที่คือเงื่อนไขเรื่องชาตินิยมหรือเชื้อชาติ ขบวนการนี้ยังไม่กลายสภาพตัวเองจากกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งรุนแรง เพียงแต่ยืมอุดมการณ์ศาสนาของกลุ่มสุดโต่งมาใช้เพื่อที่จะทำให้รูปแบบขบวนการชาตินิยมสุดโต่งเป็นสิ่งที่บีบบังคับคนในพื้นที่ จากเดิมเป็นเรื่องว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เช่นเป็นคนมลายูก็เข้าโรงเรียนไทยได้ อยากเข้าโรงเรียนไทย เป็นเพื่อนกับคนไทย อยากทำงานราชการ แต่พอยืมอุดมการณ์มุสลิมสุดโต่งมาจับชาตินิยมสุดโต่ง มันนำไปสู่การบวกสองประเด็นเข้าด้วยกันคือ พอเกิดเป็นมลายูต้องเป็นมุสลิม เมื่อเป็นมุสลิมต้องมีพันธะหน้าที่ในฐานะที่เป็นมุสลิมที่จะปลดปล่อยดินแดนของคุณเอง มันไม่ใช่ดินแดนมลายูล้วนๆ แล้ว แต่เป็นดินแดนมลายูมุสลิม

 

มันไม่ใช่ดินแดนที่มีคนมลายูอยู่ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม แต่เป็นการตีความแล้วบิดประวัติศาสตร์นิดหนึ่งว่าเป็นรัฐอิสลามด้วย เพราะฉะนั้นต้องปลดปล่อยรัฐอิสลามจากการยึดครองของพวกนอกศาสนา เป็นวายิบหรือพันธะหน้าที่แล้ว แล้วถ้าไม่ทำ ถือเป็นฮาราม คือเป็นบาป พอเป็นบาปก็ถือว่านอกคอก มันบีบกันได้ เป็นความสะดวกที่หยิบยืมอุดมการณ์ของศาสนาแบบสุดโต่งมาใช้ สร้างความชอบธรรม สร้างความเคร่งครัดสุดโต่งให้ขบวนการชาตินิยม แต่คำถามคือ สภาพเช่นนี้จะดำรงต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ตอนนี้สมการเป็นว่าด้านเชื้อชาติยังเป็นสมการหลัก ส่วนศาสนาสุดโต่งเป็นสมการรอง แต่เมื่อไหร่มันค่อยๆเคลื่อนมาทันหรือแซงหน้ากัน จุดนั้นจะทำให้อันตราย

 

เท่าที่ดูแล้ว คำว่าพวกนอกศาสนาจะมีน้ำหนักก็ต่อเมื่อพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐไปสอดรับกับข้อกล่าวหา คือถ้าเจ้าหน้าที่ทำตัวไม่อยู่กับร่องกับรอย ทำตัวโหดเหี้ยมอำมหิต ทำตัวไม่เคารพกฎหมาย เมื่อนั้นข้ออ้างของฝั่งติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนก็จะมีน้ำหนักในสายตาชาวบ้าน คือถ้าถามจริงๆ ชาวบ้านเขาก็รู้สึกว่า ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่เขาก็ซวย พวกนี้ก็มารังแกเขาเหมือนกัน

 

ชาวบ้านกลัวทั้งคู่ แต่ยิ่งเจ้าหน้าที่ทำตัวไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพสิทธิ ทำตัวเหนือกระบวนการยุติธรรมมากเท่าไหร่ ความห่างจากเจ้าหน้าที่ก็จะมีมากขึ้น พอห่างก็ประชิดอีกฝ่าย เพราะฉะนั้นยิ่งเจ้าหน้าที่ปรับปรุงพฤติกรรมมากเท่าไหร่ การปลุกระดม การโฆษณาชวนเชื่อ การบิดเบือนศาสนาและประวัติศาสตร์ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็ยิ่งมีน้ำหนักน้อยลง

 

 

ตอนนี้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนยังดีกันอยู่ไหม เอาแค่จีน พุทธ อิสลามก็ได้

มันเคยแย่มากๆ ช่วงหนึ่ง ช่วงชาวบ้านบ้านสันติที่อำเภอธารโตโดนฆ่า แล้วมีการอพยพ ช่วงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านแย่มาก ช่วงที่มีการฆ่าตัดคอเยอะๆ ความหวาดระแวงต่อกันก็มีมาก ตอนนี้มันไม่ได้ต่ำกว่าจุดนั้น แต่กระเตื้องขึ้น อย่างพื้นที่ของยะลาพูดได้เลยว่าดีขึ้น แล้วมีความพยายามที่จะติดเบรกการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธคุ้มครองตัวเองของทางฝั่งไทยพุทธและคนจีน ซึ่งหลายกรณีกลายเป็นไปปะทะกับชาวบ้านมุสลิมด้วย

 

แต่ทางฝั่งยะลาเห็นความพยายามที่จะปรับสภาพกองกำลังปกป้องตัวเองเหล่านั้น จากที่เป็นกองกำลังอาสาไม่มีการฝึกอบรมหรือการควบคุมที่ดี ก็เป็นระบบ อ.ส.ที่มีการฝึกนานขึ้น มีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ในที่สุดแล้วมันจะดีจริงหรือไม่ ซึ่งในส่วนจังหวัดยะลาเห็นว่าดีขึ้น

 

 

ขอรายละเอียด ทำไมยะลาจึงค่อนข้างดีขึ้นชัดเจนกว่าที่อื่นๆ

ยะลามันมีปัจจัยหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ซึ่ง ศอ.บต.เป็นตัวแทนความคิดที่ก้าวหน้าอย่างน้อยในบริบทของข้าราชการไทยก็ก้าวหน้าที่สุดที่จะหาได้แล้ว มีทีมของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นผู้วาราชการจังหวัดซึ่งเป็นมุสลิมมลายู มาจากจังหวัดปัตตานี มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายความมั่นคงซึ่งเป็นไทยพุทธหัวก้าวหน้า แล้วเอาด้วยกับแนวทางเคารพกฎหมาย ใช้การเมืองคู่กับความมั่นคง มีทหารที่หัวก้าวหน้าทั้งเบอร์หนึ่ง เบอร์สอง ผู้กำกับของยะลาฝ่ายตำรวจก็ใช้ได้ เป็นองค์ประกอบที่ใช้ได้ คือทั้งทีมไปด้วยด้วยกัน แล้วเป็นการตอบโจทย์ของภาคใต้ว่า การทำงานรักษาความมั่นคงของภาคใต้มันต้องคู่กันระหว่างงานการทหาร ความมั่นคง และงานการเมืองมวลชน สามตัวแปรนี้ต้องไปคู่ขนานกัน เพราะฉะนั้นมีทีมดีทีมเดียวไม่ได้

 

 

ทราบว่าทาง Human Right Watch ทำเรื่องการละเมิดสิทธิในภาคใต้อย่างเป็นระบบ กว้างขวาง เพื่อรายงานต่อทาง UN ด้วย

เรามองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน การรักษาความสงบก็จะทำได้ยากขึ้น ในส่วนของกลุ่มผู้ติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนก็ไม่มีการแสดงความสนใจใดๆ เลยที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน นี่เป็นข้อสังเกตประการที่หนึ่ง

 

ข้อสังเกตประการที่สอง ถามว่าทำไมต้องจะเป็นจะตายกับทางฝ่ายรัฐ ก็เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพกฎหมาย ฝั่งกลุ่มติดอาวุธก็มีหน้าที่ต้องเคารพกฎหมาย แต่ว่ายังถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ แต่ฝ่ายรัฐอยู่ในสภาวะที่ต้องทำและทำได้ถ้าคิดจะทำ ก็หวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านนี้ แล้วการทำรายงานหรือเข้ามาสังเกตการณ์ใดๆ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า มันมีปัญหาอยู่ ต้องปรับปรุงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น นี่ไม่ใช่การติเพื่อทำลาย แต่ติเพื่อก่อซึ่งรัฐไทยจะต้องเข้าใจ

 

แล้วประเด็นที่เลือกหยิบขึ้นมา องค์กรอื่นรวมทั้ง UN ก็กำลังจับตามองเรื่องของการซ้อมทรมาน เพราะรัฐไทยเข้ามาเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน และมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุด เห็นได้จับได้มากที่สุด และกว้างขวางมากที่สุด เรื่องของการฆ่า การลอบสังหารยังเกิดขึ้นแต่ไม่ได้ชัดเจน และยังเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ตำบล อำเภอ เรื่องการซ้อมทรมานจนกระทั่งเกิดเรื่องอิหม่ามยะผากลายเป็นประเด็นข่าวที่แทบจะพูดได้ว่าทุก ฉก.มีวิธีนี้ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ถึงจะไม่เป็นนโยบายที่มีการสั่งการลงมาจากข้างบน แต่เป็นสิ่งที่มีการอดทนยอมให้มันเกิดขึ้นได้

 

เพราะฉะนั้น มันคือปากว่าตาขยิบ จึงต้องมีการตรวจสอบและตำหนิติติงพูดให้เห็นว่ามีปัญหา เพื่อให้ยุติการกระทำดังกล่าว คือคุณบอกว่าไม่มีนโยบาย แต่ถ้ามีปัญหา คุณต้องยุติ ต้องบอกว่ามันผิด แล้วเอาโทษ ไม่ใช่บอกมันผิดแล้วลืมๆ มันไป ไปทำเรื่องอื่นต่อ

 

 

รายงานจะมีผลอย่างไรบ้างกับรัฐไทย 

อย่างน้อยพอมีการตีพิมพ์เผยแพร่ มันก็จะเข้าสู่กระบวนการในการตรวจสอบระหว่างประเทศ ต้องมีการส่งรายงานต่อไปยังผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมาน มีกลไกของสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ซึ่งไทยโดนเผาเกรียมทุกปีเรื่องการซ้อมทรมาน เรื่องของตำรวจเข้าทุกปี เช่นการช็อตไข่ แต่ตอนนี้มีเรื่องของทหารมากขึ้น และที่สำคัญคือไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่งทำ แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เป็นองค์กรสากลเห็นว่านี่เป็นปัญหาหลักของไทย เพราะฉะนั้นในปีนี้ รายงานเข้าอย่างน้อย 2 ฉบับคือ Human Right Watch กับ Amnesty International ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนสององค์กรที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีสถานะเป็นองค์กรที่ปรึกษาของยูเอ็นด้วย

 

รายงานจะเข้าปีนี้ ปีหน้าก็มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ เป็นการตรวจสอบกลับมาว่า รัฐไทยจะต้องแก้ปัญหา เพราะอยู่ในสถานะที่แก้ได้และต้องแก้ ที่อยากจะบอกให้เห็นอีกอย่างคือ ติเพราะไม่อยากเห็นเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปแล้วตาย ความเห็นใจอยู่กับเจ้าหน้าที่มาตลอด คือรู้สึกว่าทหาร ตำรวจ รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ เสี่ยงมากกว่าชาวบ้าน แต่ถ้าถามว่าถ้าลงพื้นที่แล้วเสี่ยงน้อยลงทำได้อย่างไร ก็ต้องเข้าพื้นที่ไปแบบที่ชาวบ้านเขารัก ไม่ใช่เข้าพื้นที่ไปแบบที่ชาวบ้านเกลียดซึ่งนั่นคือปัญหาหลัก ถ้าสามารถตอบโจทย์เรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะเรื่องการซ้อมทรมาน ถ้าลงพื้นที่ ชาวบ้านจะช่วยบอกช่วยเตือน ซึ่งสภาพอย่างนี้เคยเกิดในช่วงสั้นๆ แต่มันหายไปแล้ว

 

 

ช่วงไหน

ช่วงหลัง 19 กันยายน 2549 ใหม่ๆ ช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (อดีตนายกรัฐมนตรี) ขอโทษ มันมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นก็ลงเหวอีก

 

 

ถ้าทางสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติตรวจสอบแล้วจะมีความผูกพันอย่างไรกับรัฐไทยบ้าง

เต็มที่ก็คือถูกประณาม หรือกรณีที่โจ่งแจ้งมากๆ สามารถระบุหน่วยหรือตัวบุคคลได้ รัฐบาลประเทศที่ผูกพันกับไทยโดยประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านการทหาร ด้านความมั่นคง มีสิทธิกดดันได้ผ่านกฎหมายของเขา เพราะหลายประเทศมีกฎหมายระบุว่า ห้ามให้ความสนับสนุนประเทศอื่นหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงประเทศอื่นที่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยน อาจมีการตัดความช่วยเหลือในด้านนั้น

 

เรื่องตัดความสัมพันธ์เป็นเรื่องเล็ก แต่ทหารไทยจะถูกยิงหัวน้อยลงถ้าทำตัวให้ดีขึ้น คือถ้าถูกตรวจสอบ แล้วยอมรับ ปรับปรุงพฤติกรรมและอำนวยให้เกิดความยุติธรรม กลับไปรื้อฟื้นคดี ในอนาคตทหารไทยเข้าพื้นที่ ความเสี่ยงก็จะน้อยลง

 

ผู้ก่อความไม่สงบได้อานิสงส์จากการที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ แต่ผู้ก่อความไม่สงบเองก็ไม่ได้รับการยกย่องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนว่าเป็นพระเอก อย่างน้อยรัฐไทยก็ยังพูดถึงเรื่องการปรับตัว ตรงกันข้ามกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งแม้แต่นโยบายก็ไม่มี เพราะฉะนั้นถามว่าใครเลวร้ายมากกว่ากัน ก็ต้องบอกว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเลวร้ายมากกว่า เพราะแม้แต่แสดงนโยบายยังไม่แสดงนโยบาย

 

มันไม่ใช่ในประเด็นเรื่องการใช้สิทธิมนุษยชนเพื่อให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชาติเข้ามาแทรกแซง มันเข้า UN เพราะปัญหาเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเป็นผู้วิเศษเสกให้ UN เข้ามาได้ ถามว่าตอนนี้ใครถูกตรวจสอบบ้าง เขาไม่ใช่ตรวจสอบรัฐไทยอย่างเดียว กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ถูกตรวจสอบ แม้แต่ Human Right Watch ก็ตรวจสอบ แถมประณามด้วยว่า กลุ่มมุสลิมทั้งในและนอกประเทศอย่าได้ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างนี้ เราไม่ได้ยกย่องคนพวกนี้ และเราอยากจะขอด้วยซ้ำว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในประเทศไทยจะต้องกล้าพูดเหมือนกับที่เรากล้าพูด อย่าไปกลัวว่าพูดแล้วจะอยู่ในพื้นที่ไม่ได้

 

นี่เป็นจุดยืน ถ้าคุณเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน คุณต้องพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดโดยรัฐและสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดโดยกลุ่มคนที่ไม่ใช่รัฐมีความสำคัญเท่ากัน ต้องกล้าพูดเหมือนกัน กล้าประณามเหมือนกัน อย่าไปสร้างความรู้สึกฮึกเหิมให้กลับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนว่าเขากำลังเป็นพระเอก พวกนี้ไม่ใช่พระเอก มันโจร มันคือฆาตกร

 

ถ้าเขาทำงานโดยไม่ตรวจสอบกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน นี่คือสิ่งที่บอกว่าเข้าทางโจร คือไปสร้างความฮึกเหิม ไปสร้างความเข้าใจในทางที่ก่อให้เกิดอำนาจกับผู้ติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่จุดชนวนให้ประชาชนตายมากขึ้น เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนเองเป็นปัจจัย เป็นตัวแปรที่มีความสำคัญอย่างมากกับความไม่สงบในพื้นที่ว่าองค์กรสิทธิทำหน้าที่สมกับศักดิ์และสิทธิขององค์กรตัวเองหรือไม่ นี่เป็นเรื่องใหญ่มากๆ คือถ้าองค์กรสิทธิฯยังหน่อมแน้ม มองโลกขาวดำ มองว่ารัฐเป็นโจรเสมอ อีกฝ่ายหนึ่งไม่แตะเลย คือเข้าทางโจร เป็นการบิดเบือนข้อมูลเพื่อโฆษณาชวนเชื่อได้ ที่ร้ายแรงมากกว่านั้น คือเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนสามารถละเมิดสิทธิและทำร้ายประชาชนได้ทุกวัน

 

 

ต่างประเทศมอง 3 จังหวัดใต้ด้วยสายตาอย่างไรบ้าง

ทุกประเทศมองเหมือนกันว่า สิ่งที่เกิดใน 3 จังหวัดเป็นสถานการณ์ภายในประเทศ แต่อาจมองต่างกันในเรื่องเหตุผลที่นำไปสู่สถานการณ์ภายในประเทศ รวมทั้งในเรื่องระดับ อย่างในโลกมุสลิมอาจจะมองว่ารัฐไทยเป็นต้นตอของปัญหา รัฐไทยรังแกคนมลายูมุสลิม ซึ่งจะมองต่างกันไปอีกว่ารังแกคนมลายูหรือรังแกคนมุสลิม รังแกคนมลายูก็เอาเชื้อชาติมาเป็นสาเหตุหลัก รังแกคนมุสลิมก็เอาศาสนามาเป็นสาเหตุหลัก อันนี้เป็นความแตกต่างที่มองกันในกลุ่มประเทศมุสลิมและประเทศเพื่อนบ้าน

 

มาเลเซียมองว่ารังแกคนมลายู แต่ในประเทศมุสลิมใน OIC อาจจะมีส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการรังแกคนมุสลิม แต่ยังมองว่าเป็นเรื่องภายในประเทศและไม่ใช่เรื่องที่ต้องเข้ามาวุ่นวายมากนัก และในบริบทการก่อการก่อการร้ายสากล แม้แต่อเมริกาเอง ปัจจุบันก็ฟันธงแล้วว่าไม่ใช่การก่อการร้ายสากล เรื่องนี้อเมริกามุ่งไปที่เขมรไม่ใช่ไทย

 

ถ้าเรากลัวต่างชาติจะแทรกแซงไม่ว่าจะในระดับองค์กรอย่าง UN หรือในระดับประเทศ มันอยู่ที่รัฐไทย ถ้ารัฐไทยเบรกและเคารพกฎหมาย การแทรกแซงของประเทศทางซีกมุสลิมจะหายไปเลย คนที่จะถูกประณามแทนคือกลุ่มติดอาวุธ จะถูกมองว่าทำไมยังฆ่าคนอย่างบ้าเลือดอยู่

 

แต่กลุ่มติดอาวุธเองก็มีพัฒนาการ เขารู้ คือหลังจากที่มีรายงาน Human Right Watch ออกมาเมื่อกลางปีที่แล้ว และมีการตั้งคำถามแรงๆ กลับมาที่กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนอย่างมาก นำไปสู่เงื่อนไขปัจจุบันคือเริ่มมีการเปลี่ยนเป้าอีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่พลเรือน แต่กลับมาฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พยายามดึงการปฏิบัติการให้เป็นเรื่องของการสู้รบ เพราะกติการะหว่างประเทศ หลักกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ห้ามการทำสงคราม แต่ห้ามมิให้การทำสงครามไปละเมิดคนที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ไปละเมิดโรงพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ทางศาสนา นักพรต นักบวช มันมีข้อห้ามอยู่ กฎหมายระหว่างประเทศกับหลักสิทธิมนุษยชนบางข้อมันก็ไปด้วยกัน

 

หลักสิทธิมนุษยชนไม่เอาเลยกับการต่อสู้ การใช้กำลังห้ำหั่นฆ่าฟันกัน แต่ถ้าพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศมันยอมรับการฆ่าฟันได้ แต่ฆ่ากันแล้วต้องนักรบสู้กับนักรบ ไม่ใช่นักรบทำคนบริสุทธิ ตอนนี้กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนเชื่อว่า พยายามทำตัวให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย นั่นคือหันมาเล่นที่เป็นนักรบต่อนักรบ แต่ถามว่าทำตามสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ไม่เลย

 

 

แล้วหลังจากนี้ทิศทางจะเป็นอย่างไรได้บ้าง

ความรุนแรงคงไม่จบ เพราะทางกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน อุดมการณ์ที่เขาใช้ทำให้เขาถอยไม่ได้ ประณีประนอมไม่ได้ ยอมความไม่ได้ ก็ต้องสู้กันไป เพียงแต่คนที่สู้มีมากหรือน้อย ถ้าหากคนในพื้นที่ไม่เอาด้วย พวกนี้ก็เป็นคนสุดโต่งส่วนน้อย มีเต็มที่เพียง 5% แต่ถ้ารัฐไปทำตัวไม่เข้าท่า ไปเติมพลังให้ก็จะใหญ่โตต่อไปได้ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนวางไว้ให้เกิดสงครามกลางเมือง มันก็ไปสู่ขั้นนั้น แต่ปัจจุบันมันยังอีกไกลที่จะไปถึงสงครามกลางเมือง เพราะชาวบ้านก็กลัวพวกนี้เหมือนกัน ความรุนแรงไม่จบ ตัวเลขอาจจะลดลง แต่ก็ตายไปเรื่อยๆ แนวโน้มปัจจุบันดูเป็นเจ้าหน้าที่ และยังไม่เห็นว่าพฤติกรรมของรัฐเปลี่ยนซึ่งเป็นจุดเปราะ รูปแบบการรักษาความมั่นคงก็ยังดำเนินต่อไปด้วยการรปิดล้อม ตรวจค้น ปราบปราบจับกุม แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะยุติหรือไม่ ปัจจุบันอาจจะพูดว่ามีความระมัดระวังที่จะทำให้ไม่ปรากฏหลักฐาน คือไม่หยุด แต่เนียนขึ้น ซึ่งชาวบ้านก็กลัวมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่นราธิวาสและปัตตานีซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่แดงจัด เพราะปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับการละเมิดสิทธิและการไม่เคารพกฎหมาย ภาพสถานการณ์จะไปอย่างนี้

 

สิ่งที่น่ากังวลคือ กลุ่มติดอาวุธมีลักษณะเป็นเซลล์เล็กเซลล์น้อย มีลักษณะที่ว่าในเซลล์แต่ละเซลล์มันสามารถกลายพันธุ์ไปได้ คือสุดโต่งมากขึ้นกว่าเดิม

 

ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ เวลาตัดสินนโยบายอะไรมันจะมาจากข้างบน แต่เนื่องจากเป็นเซลล์มันก็เป็นไปได้ที่บางเซลล์หรือบางกลุ่มของเซลล์มันกลายพันธุ์และสุดโต่งไปของมันเองโดยที่ข้างบนไม่รู้เรื่องอะไร ก็อาจจะทำอะไรบ้าๆ บอๆ โดยที่ข้างบนอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ อย่างกรณีระเบิดโรงแรมซีเอสปัตตานี ซึ่งทำไปแล้ว แต่ก็ไม่เกิดขึ้นอีก เพราะข้างบนเขาไม่เอาด้วย

 

 

ข้อเสนอต่อสถานการณ์คืออะไร

เชื่อว่าสถานการณ์ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบรรเทาความรุนแรงลงไปได้ ตัวหลักอยู่ในสถานะที่เปลี่ยนแปลงได้ และเมื่อเปลี่ยนแล้วสถานการณ์มันดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือรัฐ

 

ตอนนี้ในเรื่องข่าวกรองรัฐดีขึ้นอย่างมากแล้ว เรื่องการมีจำนวนทหารในพื้นที่ก็ดูจะพอแล้ว ดังนั้นเหลือแค่ความประพฤติ ถ้าความประพฤติดีขึ้น งานของเขาจะง่ายขึ้นเยอะ และชาวบ้านก็จะปลอดภัย ข้อเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่คือเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิมนุษยชน และการยุติวัฒนธรรมการทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เข้าไปในพื้นที่ตัวเองก็ปลอดภัยมากขึ้น การที่บอกว่าชนะใจชาวบ้านก็จะชนะใจจริงๆ เมื่อก่อนเขาครับเพราะเขากลัว คราวนี้เขาจะครับเพราะเขารัก

 

ทางฝั่งผู้ติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน ถ้าหวังจะได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ไม่ต้องหวังนานาชาติว่าจะยอมรับ เอาแค่ประชาชนในพื้นที่ยอมรับ เคารพ ซึ่งตอนนี้เขายอมรับเพราะเขากลัว ถ้าให้ชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับว่าเป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงให้เขา ก็ต้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ต้องบรรเทาความคิดสุดโต่งของตัวเองลง เมื่อนั้นก็จะได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่มากขึ้น เมื่อได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่มากขึ้น โอกาสที่เขาจะขับเคลื่อนทางการเมืองเพื่อไปสู่กระบวนการแสวงหาความชอบธรรมก็มีมากขึ้น ตอนนี้กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนก็ติดกับดักแห่งความรุนแรงของตัวเอง พัฒนาการตัวเองไม่ได้ ตอนนี้เป็นได้แค่กองกำลังบ้าเลือด ไม่สามารถเป็นอะไรได้มากกว่านี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท