Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์


 


ภายหลังจากที่พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย (น่าจะเพื่อการรัฐประหารมากกว่า) ได้ใช้ยุทธการยึด NBT ใส่หน้ากากคล้ายขบวนการซาปาติสต้า ประเทศเม็กซิโก (ถ้ารองผู้บัญชามาร์กอสดูข่าว คงมึนหัวแน่ๆเลย เมื่อพวกขวาอนุรักษ์นิยมนำเอาสัญลักษณ์ความเป็นซ้ายใหม่ไปปรับใช้อย่างมั่วๆหรือเอาเพียงรูปแบบไปใช้มากกว่าเนื้อหา)


 


การยึดสถานที่ราชการ และการปักหลังยึดทำเนียบเป็นฐานที่มั่น ทำให้กลุ่มองค์กรต่างๆทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ นักสื่อสารมวลชน บางคนบางองค์กร ที่อ้างว่า "ภาคประชาชน" ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ผ่านการสัมภาษณ์ เวทีสัมมนา-อภิปราย จดหมายเปิดผนึก และแถลงการณ์


 


ผู้เขียนมีความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของผู้อ้างว่าสังกัด "การเมืองภาคประชาชน" บางส่วนดังนี้


 


1.การยึด NBT ของพันธมิตรฯ ยังมีบางองค์กรมีท่าทีที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ยังพยายามอ้างว่า มีบางคนไม่ใช่คนของพันธมิตรฯเหมือนสุริยะใส สนธิ ให้ข่าว หรือพยายามที่จะแกล้งบอกให้ดูดีว่า ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดีก่อน โดยมีธงในใจอยู่แล้วว่าไม่เกี่ยวพันธมิตรฯ เพราะไม่เป็นตามแผนที่วางไว้ เพราะ "ถูกเบี้ยว" "ไม่มาตามนัด" และถ้ามาตามนัด อาจจะฉลองใหญ่ถึงการปฏิวัติโดยประชาชนไปแล้ว และคงยกย่องเชิดชูมอบเกียรติยศให้กับผู้เข้ายึด NBT เป็นฮีโร่ เช่นนั้นแน่


 


2. การพยายามเสนอให้รัฐบาล อย่าใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง สมควรกระทำยิ่ง แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่มีความพยายามจะบอกว่าพันธมิตรฯ ต้องหยุดสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง เช่นกัน ไม่ว่าทางคำพูดปราศรัย หรือการเคลื่อนไหวหมิ่นเหม่ต่อการให้เกิดการนองเลือด หรือการนำสู่การรัฐประหารที่เป็นความรุนแรงทางโครงสร้างของฝ่ายใดก็ตาม


 


3. มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ต่อการที่เสนอให้รัฐบาลต้องยอมรับสิทธิการชุมนุมอย่างสันติวิธี ปราศจากอาวุธ และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 แต่ก็ไม่มีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า อย่างไหนเลยเถิดสันติวิธี อารยะขัดขืน ดื้อแพ่ง และเช่นไรไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจนมากกว่าการเล่นคำภาษาไปมา


 


4. มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อของรัฐโดยเฉพาะ NBT เสนอข่าวลำเอียงทางรัฐบาล แต่กลับไม่เคยตำหนิว่าการเสนอข่าวของ ASTV ปลุกปั่นสร้างข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริง เหมือนไม่ได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน เช่นกัน ส่วนด้าน TPBS จำเป็นต้องตรวจสอบเช่นกันว่า เสนอข่าวสารข้อมูล เป็นทีวีสาธารณะจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงสื่อสารมวลชนอีกแห่งหนึ่งที่ถูกฉวยโอกาสให้รับใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะรู้ตัวไม่รู้ตัวตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม


 


5.บางองค์เลยเถิดไปใหญ่มองว่า พันธมิตรฯ เป็นการเมืองภาคประชาชน ซึ่งถ้าหมายถึงการเคลื่อนไหวนอกระบบรัฐสภาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล ก็อาจจะยอมรับได้แต่ถ้าเคลื่อนไหวเพื่อล้มระบบรัฐสภา เพื่อการเมืองใหม่แบบโควตาอ้อย 70-30 ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลือกผู้ปกครอง แล้วผู้ปกครองมาจากไหนกัน ใครแต่งตั้ง หรือการเสนอให้อภิสิทธิ์ผู้นำฝ่ายค้านเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากในระบอบรัฐสภา


 


หรือเนื้อแท้แล้ว การเมืองภาคประชาชนมีทั้งเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย เพื่ออนุรักษ์นิยม และเพื่อการรัฐประหาร ก็จะได้นิยามกันใหม่ให้ชัดเจนในแวงวงวิชาการวงการเคลื่อนไหวทั้งหลาย


 


6.การที่สส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้สมัครสส.สอบตก สว.สายคมช. สว.ลากตั้ง อดีต สนช. สสร. ซึ่งล้วนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ รัฐบาล ได้แสดงบทบาททางใดทางหนึ่งในลักษณะสังกัดฝ่ายพันธมิตรฯ ทำไมผู้อ้างว่า สังกัด "การเมืองภาคประชาชน" ไม่มีการแสดงบทบาทตรวจสอบถ่วงดุลย์คนเหล่านี้ด้วยอย่างที่น่าจะกระทำเหมือนตรวจสอบรัฐบาลอย่างเสมอหน้ากัน


 


7.หรือพวกเขาเหล่านั้น ล้วนสังกัด ไม่ทางใดทางหนึ่ง ของพันธมิตรฯ เพียงแต่ อ้างว่า "การเมืองภาคประชาชน" "เราพวกสองไม่" อย่างนี้ใช่ไหม ที่เขาเรียกกันว่า "ปากกับใจไม่ตรงกัน" หรือ"ปากว่าตาขยิบ" ก็ไม่ต่างกับนักการเมืองพรรคพลังประชาชนที่พวกเขาเกลียดเข้ากระดูกดำ


 


8. และอย่าลืมว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯเป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่อง ถ้ามองเฉพาะส่วนเฉพาะประเด็น แบบตัดตอนเป็นเรื่องๆ ก็จะไม่สาวได้ถึงว่า การเคลื่อนไหวทั้งหมดมีเป้าชัดเจน เพื่อการเมืองใหม่ หรือ "เผด็จการแบบใหม่" นั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net