Skip to main content
sharethis

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข 


หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา



www.notforsale.in.th


 



 


ทันทีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรับร่างพระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน พ..... ซึ่งในอนาคตจะเป็นกฎหมายที่จะมาบังคับใช้แทนที่ พระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน พ.. 2484 ซึ่งล้าสมัยและบังคับใช้ไม่ได้นั้น เริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมถึงข้อดีและข้อเสียของร่างกฎหมายดังกล่าวพอสมควร


 


ด้านข้อดีของร่างกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นความพยายามในการจำแนกขอทานที่มีปัญหาสภาพความพิการทางการร่างกาย หรือ ราษฎรที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจให้เป็นขอทานที่ได้รับการอนุญาตโดยการขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า เป็นการออกใบอนุญาตประกอบการขอทานที่ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง !!!


 


แต่เมื่อย้อนมองดูสภาพปัญหาที่แท้จริงของเรื่องขอทานแล้ว สิ่งที่รัฐควรให้น้ำหนักมากที่สุด คือ "เด็กในธุรกิจขอทาน" ซึ่งถือเป็นการค้ามนุษย์ และมีจำนวนมากที่สุดของขอทานทั้งหมดในปัจจุบัน ปัญหาคนขอทานในประเทศไทยหากมีการจำแนกแล้วสามารถแบ่งเป็นสอง 2 ประเภทตามลักษณะของที่มากล่าวคือขอทานประเภทแรกเป็นขอทานโดยความสมัครใจ ข้อพิจารณาสำคัญในเรื่องของความสมัครใจนั้น จะต้องเข้าสู่การขอทานโดยปราศจากการบังคับ การล่อลวง หรือ การชักจูงจากผู้ใด ส่วนใหญ่เป็นขอทานที่เป็นผู้ใหญ่ ลักษณะเป็นครอบครัวขอทานคนไทย ที่เป็นผู้สูงอายุ หรือ เป็นขอทานที่มีความพิการอาจจะมีกรณีเด็กขอทานเด็กไทยบ้างบางส่วนแต่ก็อยู่ในลักษณะเด็กเร่ร่อนที่ขอทานเพื่อประทังชีวิต ส่วนขอทานอีกกลุ่มหนึ่งนั้นเป็นขอทานที่เป็นกลุ่มใหญ่และควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหามากที่สุด คือ ขอทานที่เข้าสู่วงจรขอทานโดยการถูกชักจูง หรือนำพา และหลายกรณีอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ โดยขอทานในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน และเกือบทุกกรณีใช้เด็กเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียกร้องความน่าสงสาร


 


การจัดการปัญหาขอทาน ด้วยมาตรการตีตรามนุษย์ดูจะกลายเป็นวิธีการทางกฎหมายที่ไม่ก่อให้เกิดผลในการแก้ไขปัญหาเท่าที่ควรนักเพราะการแก้ไขปัญหาขอทานไม่ใช่การออกใบอนุญาตเพื่อรับรองให้มีการขอทานได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ควรคำนึงถึงรากของปัญหาว่าคืออะไร


 


สภาวะการขาดโอกาสทางสังคม ความไม่เสมอภาคเพราะร่างกายพิการและการประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ น่าจะเป็นมูลเหตุที่รัฐควรเข้าไปจัดการปัญหาที่ต้นตอที่ทำให้เกิดการขอทาน หาใช่การขึ้นทะเบียนตีตราคนที่ต้องการเป็นขอทาน เพราะหากมีการเปิดให้ผู้ขาดโอกาสทางสังคมมาขึ้นทะเบียนเป็นขอทานแล้ว นั่นหมายความว่ารัฐ ตัดตอนการแก้ไขปัญหา โดยเห็นว่าถ้าไม่สามารถจัดการปัญหาได้แล้ว ก็ทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเสีย นั่นเท่ากับเป็นการยอมให้เกิดการขอทาน แทนการพัฒนากลุ่มคนที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสและพึ่งพาตนเองได้


 


ร่างกฎหมายควบคุมคนขอทานฉบับใหม่ ยังมีเนื้อหาสาระให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานในการรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตขอทาน เพื่อบริหารจัดการปัญหาในท้องถิ่นแต่กระนั้นก็ตาม หากเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจในการจัดการปัญหาเท้าแตะพื้นสักนิดลงมาดูสภาพปัญหาที่แท้จริงแล้ว จะพบว่า ขอทานส่วนใหญ่ทั้งจากความสมัครใจและการค้ามนุษย์จะเคลื่อนย้ายถิ่นไปขอทานในพื้นที่อีก โดยเฉพาะในเมืองหลวงและพื้นที่เศรษฐกิจ ดังนั้นการบริหารจัดการปัญหาโดยองค์กรส่วนท้องถิ่นควรเข้าไปช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเสี่ยงของผู้ที่เป็นขอทาน มากกว่าการตีตรามนุษย์ เพื่อบอกสังคมว่าการแก้ไขปัญหาขอทานได้สำเร็จลุลวงแล้วโดยทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย!!!


 


ความท้าทายของกฎหมายดังกล่าวที่ควรจะเป็น คือการคัดแยกประเภทของขอทานที่มาด้วยความสมัครใจออกจากขอทานที่เกิดจากการค้ามนุษย์ ขอทานที่มาขอด้วยความสมัครใจจากเหตุผลต่างๆ พวกเขาเหล่านั้นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐสวัสดิการอย่างทั่วถึงและหยั่งยืน ส่วนขอทานที่มาจากการถูกค้ามนุษย์ รัฐต้องกลับไปบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551อย่างจริงจังส่วนผู้พิการที่เล่นดนตรีในลักษณะวณิพก ต้องมีกฎหมายต่างหากในการดูแล เพราะหากมองในมิติทางกายภาพ พวกเค้ามิใช่ขอทานที่อยากได้เงินเพราะความน่าสงสาร แต่พวกเค้าเล่นดนตรีแลกกับความพอใจในการบริจาคเงินในลักษณะวณิพกมากกว่า


 


ร่างกฎหมายควบคุมคนขอทาน ฉบับใหม่นี้ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ในการตราหน้าว่าเป็นขอทานแล้ว ยังแสดงถึงการไม่เข้าใจถึงสภาพปัญหาขอทานอย่างแท้จริง และใช้กฎหมายแก้ปัญหาแบบตัดตอนสาเหตุ แต่เหนือสิ่งอื่นใดก่อนที่จะตีตราใครว่าเป็นขอทานโดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐคงต้องหันกลับมาตีตราตัวเองว่า เป็นหน่วยงานที่แก้ปัญหาแบบหลงทาง โดยชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน !!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net