Skip to main content
sharethis

 


ชื่อบทความเดิม : ผู้บริโภคควรรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551


 


โดย  นายศรีสุวรรณ  จรรยา


กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ


 


 


ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ถือว่าก้าวหน้ามากที่สุดในยุคปัจจุบัน สามารถตอบสนองความต้องการและความทุกข์ยากของประชาชนเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการหรือนายทุนมากที่สุด หลังจากที่ชาวบ้านผิดหวังกับการพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรีมานาน


 


กฎหมายฉบับนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับคณะทำงานของศาลยุติธรรม ที่เล็งเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน เพราะเห็นว่าผู้บริโภคมักถูกเอารัดเอาเปรียบในสินค้าและบริการมาตลอดระยะเวลายาวนาน อันเนื่องมาจากคุณภาพของสินค้าและบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เป็นไปตามคำรับรอง หรือตราหรือโลโก้หน่วยงานมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่รับรองไว้ จนต้องเกิดกรณีมีข้อพิพาทขึ้นมากมาย อีกทั้งกระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและยุ่งยาก ดังนั้นศาลยุติธรรมจึงได้เสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนสามารถนำกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ช่วยเหลือชาวบ้านหรือผู้บริโภคได้ (แปลกใจไหมว่าเรามี สส.กันมามากมายหลายยุคสมัย ทำไมไม่คิดเสนอกฎหมายประเภทนี้กันเลย) กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จึงเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค และขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมหันมาพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นโดยเร็วในอนาคตอันใกล้ เพราะหากยังคงใช้แนวคิดเดิม ๆ ในการทำธุรกิจค้าขายสินค้าและบริการ ที่เอาเปรียบผู้บริโภคทุกวิถีทาง ก็จะพบกับการลงโทษทางกฎหมายอย่างสูงสุด


 


กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางแพ่ง (เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง) โดยเป็นกฎหมายเพื่อการเยียวยาด้วยความรวดเร็วให้แก่ผู้บริโภค  เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติของการดำเนินคดีทางศาลจากระบบกล่าวหา คือ ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่หรือภาระในการนำสืบหรือพิสูจน์ให้ศาลเห็น มาเป็นระบบไต่สวน คือ ศาลมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐานทั้งฝ่ายกล่าวหาและผู้ถูกล่าวหามาให้ศาลพิจารณาได้ตามสมควร โดยผู้ที่เสียหายจากการบริโภคสินค้าและบริการ ไม่จำเป็นต้องไปเสาะแสวงหาทนายความมาช่วยดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทนให้ เหมือนในคดีความปกติก็ได้ (ถ้าจะมีก็ได้) เพราะสำนักงานศาลคดีผู้บริโภคที่เกิดขึ้นใหม่จะมีบุคลากรของศาลมาช่วยดำเนินการทางคดีให้กับผู้ร้องทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การไต่สวน รับคำร้องเรียนจะด้วยวาจาหรือเอกสารก็ได้ ทำคำฟ้องให้


 


ถ้าเรื่องที่เดือดร้อนสามารถที่จะนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ เจ้าหน้าที่ของศาลก็จะดำเนินการให้ก่อนเป็นหลักก่อนๆ ที่จะส่งสำนวนคดีเข้าสู่กระบวนการสืบพยานโจทก์และจำเลยหากไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้นคดีผู้บริโภคจำนวนมากคาดว่าจะสามารถยุติลง หรือจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยในเบื้องต้นก่อนได้เป็นจำนวนมาก (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ก็ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยเช่นนี้เช่นกัน แต่ก็มักเป็นกรณีเล็ก ๆ น้อยๆ ถ้าเป็นกรณีใหญ่ ๆ ก็ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่ชัดเจนมาดำเนินการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้) ที่สำคัญ การฟ้องคดีประเภทนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งปวง เว้นแต่หากปรากฏแก่ศาลว่า ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร มีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม ประวิงคดี  ศาลอาจจะสั่งให้ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมได้ ถ้าไม่ชำระศาลก็จะสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้


 


เมื่อกฎหมายนี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมาก ก็อาจจะทำให้ผู้คนแห่แหนกันมาใช้บริการศาลคดีผู้บริโภคกันมาก บางครั้งอาจจะใช่หรือไม่ใช่คดีเกี่ยวกับผู้บริโภค ชาวบ้านก็อาจจะมาร้องกันเปรอะไปหมดหรือไม่ หากมีกรณีเช่นว่านี้ว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่นั้น ทางออกก็คือ ศาลอุทธรณ์จะเป็นผู้วินิจฉัย และคำวินิจฉัยของศาลจะเป็นที่สุด ส่วนในเรื่องอายุความนั้น ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น และข้อเท็จจริงบางอย่างเป็นรายกรณี เช่น ถ้าเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรือ อนามัย อายุความใช้สิทธิเรียกร้องกันนั้นกฎหมายจะระบุว่าเป็นภายใน 3 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย  นอกจากนี้ หากมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเกี่ยวกับค่าเสียหายที่พึงชดใช้กันก่อนได้ อายุความก็จะสะดุดหยุดอยู่ไม่นับต่อไป


 


ในการฟ้องคดีต่อศาลคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคที่เสียหายจากสินค้าหรือบริการ พึงต้องสังวรไว้ก่อนว่าตนเองต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง ต้องมีข้อเท็จจริง มีพยานหลักฐานเพื่อนำเสนอต่อศาลให้เห็นหรือเข้าใจได้ และต้องระบุคำขอไว้ให้ชัดว่าจะให้ศาลบังคับคดีให้อย่างไร เริ่มจากต้องรู้ว่าเราจะฟ้องหรือกล่าวหาใคร ด้วยเรื่องอะไร มีพยานหลักฐานใดเก็บไว้บ้าง เช่น ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าและบริการต้องเรียกร้องเอาใบเสร็จรับเงิน ใบเสร็จนั้น ๆจะต้องมีการเขียนข้อมูลที่ครบถ้วน มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ประกอบการของผู้ผลิต ผู้ขาย เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานว่าได้ซื้อสินค้าและบริการมาจากใคร ที่ไหน เมื่อใด ราคาเท่าใด เพื่อที่จะฟ้องได้ถูกตัวนั่นเอง


 


หากสินค้าและบริการนั้น ๆ มีการพิมพ์โปสเตอร์ ใบปลิว แผ่นพับ หรือเอกสารโฆษณาใด ๆ หรือแม้แต่ใบรับรองสินค้า ใบรับประกันสินค้า เพื่อประกอบการขายหรือบริการไว้ ก็ควรที่จะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย เพราะกฎหมายถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา สามารถใช้นำมาเป็นหลักฐานในการบังคับให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการรับผิดชอบได้  หากไม่สามารถหาได้ก็อาจจะใช้ภาพถ่ายที่มี หรือใบเสร็จที่เกิดขึ้นจากการซ่อมแซมสินค้า รวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้สินค้านั้น ๆ หรือถ้าไม่มีหลักฐานใด ๆ ก็อาจจะต้องนำตัวอย่างสินค้าที่ใช้นั้นไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โรงพัก แล้วขอคัดถ่ายสำเนาพร้อมให้ตำรวจรับรองสำเนา มาประกอบการร้องหรือฟ้องก็ได้


 


กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคฝ่ายเดียวไม่ หากแต่ผู้ประกอบการต่าง ๆ กฎหมายก็รับรองสิทธิให้ด้วยอย่างเท่าเทียมกัน ผู้ประกอบการก็มิสิทธิฟ้องผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน อาทิ กรณีเป็นหนี้บัตรเครดิต  กรณีหนี้จากการเช่าซื้อยานยนต์ ฯลฯ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิฟ้องร้องไล่เบี้ยเอากับผู้บริโภคได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นการไล่เบี้ยเอาด้วยความเป็นธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่จะขูดเข็ญเรียกเอาค่าเสียหาย ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยเท่าใดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล  กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการฟ้องผู้บริโภคนั้น กฎหมายกำหนดให้ฟ้องได้เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้น ถ้าเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใดๆ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นเหล่านี้ จะตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ  


 


หากเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีผู้บริโภคใดแล้วต่อมาภายหลังปรากฏว่ามีการฟ้องกับผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวกันอีกโดยมีข้อเท็จจริงที่พิพากษาเป็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ศาลในคดีหลังอาจมีคำสั่งให้ถือว่าข้อเท็จจริงในประเด็นเป็นอันยุติไม่ต้องสืบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งก็จะทำให้กรณีพิพาทเสร็จสิ้นเร็วขึ้น ไม่เป็นภาระต่อรูปคดีและศาล


 


ในการดำเนินคดีผู้บริโภคนั้น ศาลท่านจะพิจารณาตรวจสอบถึงความสุจริตในการฟ้องร้องคดีที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ ผู้บริโภคที่มาร้องเรียนต่อศาล จะต้องมีความเดือดร้อนจริง เสียหายจริง อย่าคิดว่าฟ้องเล่น ๆ หรือกลั่นแกล้งเจ้าของสินค้าหรือบริการให้เสียหายเล่น ๆ เพราะอาจมีความผิดตามกฎหมายได้ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net