Skip to main content
sharethis


วานนี้ (30 ส.ค.) คณะรัฐศาสตร์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม และโครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง "การเมืองท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้ง" ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล รศ.สุริชัย หวันแก้ว รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผศ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ไพโรจน์ พลเพชร ประจักษ์ ก้องกีรติ ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล ทับจุมพล ที่ห้องประชุมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


 


สุริชัย หวันแก้ว


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


การเมืองมาถึงขั้นที่การถกว่าอะไรคืออารยะขัดขืน ซึ่งดูเป็นโจทย์ที่ไม่ทันสถานการณ์เสียแล้ว สถานการณ์ไปเร็วจนการถกเถียงทางวิชาการไม่ได้ เวลานี้ ทุกคนอาจต้องการอะไรมากกว่าโจทย์ทางวิชาการธรรมดาๆ


 


ประเด็นที่หนึ่ง การเมืองไทยมีพัฒนาการที่ไปถึงขั้นที่ว่าการเมืองเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์จะกลายเป็นการเมืองที่สร้างความหวั่นไหวว่าประเทศเราที่ไปเร็วๆ สมัยรัฐบาลที่ธุรกิจการเมืองมีบทบาทมากจะพาเราไปไหน ผมมีเพื่อนที่กระทรวงต่างประเทศที่ถูกเร่งว่า ต้องทำเอฟทีเอภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ 8 ฉบับ พอรัฐบาลพ้นไป ก็โล่งใจเพราะยังไม่ทันได้ศึกษาเลยว่าเอฟทีเอจะเกิดผลอะไรบ้าง


 


ความเร่งรุดของกระแสโลกาภิวัตน์ นำมาสู่การเมืองที่ด้านหนึ่งเรียกว่าประชานิยม ด้านหนึ่งเรียกว่าการเมืองเลือกตั้ง ตั้งโจทย์ใหม่ให้สังคมไทยโดยสิ้นเชิง โจทย์ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เราอยู่ในการถกเถียงกับดักเดิม ที่มีความเสี่ยงสูงด้วยว่ารัฐประหารจะกลับมาหรือไม่


 


การเมืองไทยพัฒนาไปไกล การเมืองเลือกตั้ง การเมืองในระบบ กับการเมืองภาคประชาชน เป็นความเห็นที่ไม่ใช่สรุปโดยนักวิชาการเท่านั้นแต่สาธารณะก็สรุปว่าการเมืองภาคประชาชนสำคัญ แต่ว่าสถาบันวิชาการรัฐศาสตร์ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า การเมืองภาคประชาชนนั้นเป็นยังไง ในรัฐธรรมนูญก็ไม่นิยามอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมกำลังพูดถึงว่า เรามีพัฒนาการในโลกความเป็นจริงไกลเกินกว่านิยามที่เราให้กับพัฒนาการที่เราพูดถึง ยังไม่ได้บอกว่าดีไม่ดี คือโลกมันไปเร็ว คนบอกว่า ต้องใช้ประโยชน์สูงสุดจากโลกาภิวัตน์ ถ้าช้าจะไม่ทันเขา อีกพวกก็หวั่นไหวว่าจะเอาบ้านเมืองไปขายหรือไง


 


ผมไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด แต่กำลังพูดในระดับความคิดเห็นของคนท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง มันทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปไกลกว่าที่เราจะถกในแบบแผนเดิมๆ แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะสรุปว่า การเมืองไทยมีตัวละครเพียงรัฐบาล และพันธมิตรฯ การเมืองไทยใหญ่กว่านั้นเยอะ การวิเคราะห์ใดๆ ที่พูดรวมศูนย์เฉพาะ พูดถึงรัฐบาล - พันธมิตรฯ ไม่เพียงพอเสียแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ชอบจมูกคุณสมัคร หรือพันธมิตรฯ แล้วเลยพูดอย่างนี้


 


ประเด็นที่สอง โจทย์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบันมีความเสี่ยงภัยสูงมากที่เคลื่อนย้ายคนจำนวนมากไปทำเนียบ แต่ยังไม่เสี่ยงเท่าไรจนกว่าการทุบตีเมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) ได้ก่อให้เกิดกระแสขึ้นในขอบเขตที่กว้างขวางมาก


 


ข้อเสนอต่อรัฐบาลปัจจุบัน ตอนแรกก็คิดว่า การเสนอให้รัฐบาลลาออกนี่ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ เพราะรัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าเขาทุจริตอะไร แต่รัฐบาลล้มเหลวในการสร้างความไว้วางใจว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหา มาจากความชอบธรรมในการเลือกตั้ง แต่ปฏิบัติทำให้ไม่น่าไว้วางใจ


 


ในสถานการณ์อย่างนี้ โจทย์ที่อยากเสนอคือ การมองแค่สองส่วนเท่านั้นไม่พอ และอยากชวนให้มองเรื่องปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของประเด็นปัญหาในปัจจุบัน ความชอบธรรมส่วนหนึ่งมาจากความสามารถที่จะทำให้สังคมรู้สึกวางใจรัฐบาลได้ ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างผู้ใหญ่ สอง เหตุใดคนถึงระแวงรัฐบาลที่ยังไม่ค่อยได้ทำงานถึงขนาดนี้ ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรก็ได้ ความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองไม่อาจอยู่นอกเหนือการพิจารณาของสาธารณชนได้


 


ทำอย่างไรให้สถาบันการเมืองปัจจุบันรองรับความคิดเห็นที่หลากหลายและกว้างกว่าคนที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้นได้ นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 40 จนถึงรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบและชอบธรรมอย่างไร


 


ขณะนี้จึงเกิดภาคประชาชนที่สถาปนาขึ้น ที่อ.สมชายได้พูดถึงและวิเคราะห์ไปว่า เกิดภายใต้หนังสือพิมพ์ สื่อบางฉบับ แต่นั่นไม่ใช่ภาคประชาชนทั้งหมด มันมีด้านของพลวัตรที่ไปไกลมาก แต่ผมยังไม่มีข้อเสนอที่ชัดเจนว่า ฝ่ายไหนถูกผิด แต่มองในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเราต้องมาช่วยกันคิดเรื่องทางเลือกขั้นตอนขั้นต่อๆ ไป ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยว่ารัฐประหารจะแก้ความขัดแย้งทางการเมืองอะไรได้ ผู้ใหญ่ในวงการต่างๆ ทั้งวงการการเมือง น่าจะช่วยประกันว่าจะไม่เกิดรัฐประหาร และไม่รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว


 


 


 


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


ผมเซ็นชื่อไปแล้วกับแถลงการณ์ของกลุ่มหนึ่งวันนี้ เรื่องการให้ความรู้กับฝ่ายพันธมิตรฯ และให้ความรู้กับประชาชนเรื่องพันธมิตรฯ แต่วันนี้ จะไม่ประณามพันธมิตรฯ เลย เพราะคิดว่าพูดกับพันธมิตรฯ ไม่รู้เรื่อง ต้องการล่าม พันธมิตรฯ พยายามต่อสู้เพื่อหลักการหลายเรื่องที่ก้าวหน้ามาก แต่ใช้ภาษาที่ล้าหลังมาก ข้อเสนอที่ชัดเจนของพันธมิตรฯ  คือ เราไม่ควรเพิกเฉยต่อการคอรัปชั่น แต่ยุทธวิธีทุกอย่างของพันธมิตรฯ ไม่ได้ทำให้เราไปข้างหน้า ผมจึงขอตั้งหลักว่าจะพูดกับรัฐ


 


ประการสำคัญที่หนึ่งคือ ตอนนี้เราควรจะมีสองมาตรฐานกับสถานการณ์การเมือง เรากำลังคิดว่า ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นปัญหาการละเมิดกฎหมายเฉยๆ หรือเป็นปัญหาทางการเมือง การที่ศาลออกคำสั่งบางอย่าง โดยเฉพาะศาลแพ่ง คำสั่งของศาลไม่ใช่ license to kill ประเด็นคือเราต้องแก้ด้วยการเมือง การเมืองคือการอยู่ร่วมกัน รัฐบาลอย่ามองว่าพันธมิตรฯ เป็นศัตรู


 


ถ้ารัฐบาลต้องการความชอบธรรม ต้องประกาศตัวว่าเป็นรัฐบาลของทุกคน รวมทั้งของพันธมิตรฯ เพราะพันธมิตรฯ ประกาศว่ารัฐบาลไม่ใช่ของพันธมิตรฯ เป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้น รัฐบาลจะแตะต้องพันธมิตรฯ ไม่ได้ ไม่ว่าพันธมิตรฯ จะผิดกฎหมายรึเปล่า เพราะถ้าแตะปุ๊บ การสลายม็อบหรือไม่ก็ตามจะเป็นการใช้ความรุนแรงตามที่พันธมิตรฯ อ้างทันที ดังนั้น รัฐบาลต้องมีความอดทนสูงสุดในการไม่ใช้กำลังในการปราบ เพราะคนเหล่านั้นคือประชาชนของรัฐบาล อาจต้องล้อมอยู่เฉยๆ รอให้หมดแรง เพราะประเด็นคือ ศาลไม่ได้ระบุว่า จะบังคับคดีอย่างไร


 


ประการต่อมาที่สำคัญคือ เราอย่าลืมเรื่องทหาร เรามักจะเชื่อว่าทหารที่ดีคือทหารที่เป็นมืออาชีพ แต่นักวิชาการอีกบางท่านบอกว่า เมื่อไหร่ที่ทหารบอกว่าจะเป็นมืออาชีพ เขาจะเริ่มยุ่งกับการเมือง ฉะนั้นทหารคนไหนที่บอกว่าจะไม่ปฏิวัติ กล้องต้องไล่ตามเลย พวกนั้นปฎิวัติทั้งนั้น เพราะทหารจะยุ่งกับการเมือง โดยการอ้างว่าเป็นมืออาชีพ เขาจะกลายเป็นคนกลางทันที และเราก็ชอบเรียกร้องหาคนกลาง


 


ประการต่อมา สื่อ สื่อควรจะเลิกเอานักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ ออกทีวีตลอดเวลา สื่อต้องเอาตำรวจ เอาหมอมาออก ประเด็นในสังคมไม่ใช่ต้องเถียงกันว่าใครยิงแก๊สน้ำตา ต้องเถียงกันว่า แก๊สน้ำตาแรงไปไหม ตำรวจต้องบอกว่า มีวิธีสลายการชุมนุมอย่างไร แล้วสังคมจะได้เถียงกัน สื่อต้องเริ่มถามผู้นำฝ่ายค้าน ถามทหาร ถามประชาชน นักสิทธิพลเมือง


 


อีกอันหนึ่งคือ เราต้องเริ่มนับศพแล้ว จากวันที่ผ่านมา มีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้นแล้ว ต้องบันทึก ไม่ใช่พอเหตุการณ์เลยไปแล้วค่อยตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ภาคประชาชนหรือสื่อต้องเริ่มนับแล้วว่า รั้วพังกี่อัน ประชาชนเจ็บกี่คน ตำรวจเจ็บกี่คน ทำเลย


 


ประเด็นสุดท้าย การประชุมร่วมของรัฐสภาไม่ใช่ทางออก เป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล จริงๆ รัฐสภาเป็นทางออกมากกว่าสื่อ แต่กระบวนการที่ใช้ ไม่ใช่การเปิดอภิปรายสองสภา เพราะการเปิดอภิปรายสองสภา ไม่ใช่ขั้วความขัดแย้ง ทำให้สงครามตัวแทนมันเลอะเทอะไปอีก แต่กระบวนการรัฐสภาที่ต้องใช้คือระบบกรรมาธิการ กรรมาธิการต้องเปิดประชุมฉุกเฉินแล้วดึงทุกฝ่ายเข้าไปคุย สื่อถ่ายทอดการประชุม ตรงนั้นต่างหากที่จะเป็นจุดเริ่มต้น เชิญพันธมิตรฯ นายกฯ ทหาร ตำรวจ คนจน แล้วให้สื่อไปถ่ายทอด ตรงนั้นต่างหากที่จะเป็นทางออก


 


 


ไพโรจน์ พลเพชร


ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.)


คนพยายามบอกให้จำแนกพันธมิตรฯ ออกเป็นสองส่วนให้ได้ พันธมิตรฯ ที่เป็นพี่น้องทั้งหลาย คนเฒ่าคนแก่ที่พร้อมที่จะเสียสละ กับแกนนำพันธมิตรฯ ผมพยายามไปสังเกตการณ์เพื่อให้รู้ว่าพันธมิตรฯ ที่พูดกันไม่ใช่แค่เพียงพันธมิตรฯ ที่ประกอบด้วยแกนนำ 9 คน แต่ประกอบด้วยผู้คนอีกจำนวนมากที่เดินลงถนนได้ ผมเคารพคนเหล่านี้ในการต่อสู้ ต้องเคารพทุกคนที่ต่อสู้ เพียงแต่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์ใคร เราต้องจำแนกให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว เรากำลังดูแคลนจิตวิญญาณของนักต่อสู้บางส่วน ผมพูดถึงทุกกลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม การเดินไปดูชีวิตผู้คนในนั้น เราจะเห็นว่าเขาเป็นผู้คนธรรมดาสามัญ ที่ไม่รู้จักกันเลย เพราะฉะนั้นถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์ให้จำแนก


 


สอง ผมเข้าใจว่าสถานการณ์ปัจจุบันถูกนิยามเป็นสงคราม เพราะการต่อสู้ทุกครั้งในสังคมไทย เพื่อให้บรรลุชัยชนะต้องนำไปสู่ความรุนแรงให้ได้ ทั้งสองฝ่ายคิดว่าการใช้ความรุนแรงจะนำไปสู่ชัยชนะ จำกัดความเห็นที่ต่างทิ้งจากสังคมได้เมื่อไรคือชัยชนะ สงครามต้องทำลายล้างทุกรูปแบบ แล้วสื่อที่กระโจนเข้าไปในสงคราม ไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่ก็ตามก็ต้องทำลายล้างอีกฝ่ายว่าไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ สื่อที่มีอยู่ทั้งหมด เราก็เห็นอาการนี้ ยิ่งความขัดแย้งยิ่งแรง เราเห็นการถ่ายซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่องอาวุธ ก็เพราะต้องการทำลายล้างอีกฝ่ายให้พ้นไป ที่สำคัญคือครั้งนี้ สงครามขยายตัวมากกว่าในกรุงเทพฯ เป็นความสัมพันธ์ที่ร้าวลึก ไปในระดับครอบครัว


 


สาม การต่อสู้เรื่องการเมืองใหม่เป็นการต่อสู้ภายใต้ระบบอุปถัมภ์บางอย่างเพื่อบรรลุบางอย่าง ซึ่งไม่รู้ว่าคือประชาธิปไตยของใคร ของสังคมหรืออำนาจใครกันแน่ จึงเกิดการชูบุคคลที่ตัวเองศรัทธาขึ้นมาตลอดเวลาทั้งสองฝ่าย การต่อสู้แบบนี้เป็นการต่อสู้แบบระบบอุปถัมภ์ไทย ซึ่งดำรงอยู่ตลอดมาและยังไม่หลุดพ้น


 


การต่อสู้ของพันธมิตรฯ ถามว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนไหม ผมว่าเป็น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการเมืองภาคประชาชน มีผลดีไหม มี มีการระดมผู้คนเข้าสู่เวทีทางการเมืองกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา เราอาจจะปฎิเสธเรื่องนี้ยากนิดหน่อย แต่มันกำลังจะพาไปไหนต่างหากที่เราต้องตรวจสอบ


 


ถามว่าถ้าเกิดความรุนแรง นอกจากจะเกิดผลเสียต่อพันธมิตรฯ แล้วจะเกิดผลเสียหายต่อการเมืองภาคประชาชนไหม เกิดแน่นอน เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ได้นำพาผู้คนเข้าสู่การต่อสู้กว้างขวางมาก เชื่อว่าคนที่ปิดถนน ปิดสนามบินจะโดนตามล้างทางกฎหมายหมด เดิมพันมันสูงขนาดนี้


 


ประเด็นถัดมาคือ เราจะถอนตัวอย่างไรจากความขัดแย้ง เพราะตอนนี้ทุกคนเข้าสู่สงคราม ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง สังคมไทยกำลังเบี้ยว กำลังจะนำพาให้คนขัดแย้งกัน ปะทะกัน ไม่สร้างสรรค์


 


ข้อเรียกร้อง คือ หนึ่งเรายังยืนยันว่า ภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความรุนแรง และโดยเฉพาะแกนนำพันธมิตรฯ ที่ใช้วิธีการสุ่มเสี่ยงที่จะนำสู่การเผชิญหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทบทวนให้มากว่าถ้าใช้วิธีสุ่มเสี่ยงนำพามวลชน คุณไม่รับผิดชอบต่อชีวิตผู้คนที่ต่อสู้เป็นแสน เพราะคนที่ปะทะกันคือตำรวจกับประชาชน ไม่ว่าใครจะเจ็บก็คือประชาชนไทย เพราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือลงมาสู้กันเพื่อชัยชนะทางการเมือง  


 


เรื่องที่สำคัญ และเห็นด้วยกับหลายท่าน คือ แกนนำต้องแสดงความรับผิดชอบ ถ้าคุณยืนยันว่า ศาลเป็นเครื่องมือพิสูจน์ถูกผิดกับคนอื่นก็ต้องพร้อมพิสูจน์ถูกผิดกับตัวเองด้วย ไม่ว่าข้อหาร้ายแรงหรือไม่ ต้องพร้อมพิสูจน์ ถ้าบอกว่าข้อหาร้ายแรงก็พิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นกบฏ ไม่ใช่ลดข้อหาลง เพราะนี่กำลังจะพิสูจน์ว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นกบฏไหมในสังคมไทย


 


ประเด็นถัดมา ความรุนแรงเมื่อวาน (29 ส.ค.) ที่เกิดขึ้นใครรับผิดชอบ สังคมไทยไม่เคยจัดการกับคนที่ก่อความรนุแรงได้เลยโดยเฉพาะภาครัฐ คนชั่วลอยนวลตลอด หลุดรอดจากการลงโทษทุกครั้ง แต่รับผิดชอบแบบไหน ถึงขั้นนายกฯ ต้องลาออกหรือเปล่า ในความเห็นผมไม่ถึงขั้นนั้น แต่ต้องมีคนรับผิดชอบกับความรุนแรงเมื่อวาน


 


ข้อเสนอสำหรับการประชุมร่วม 2 สภา การแก้ปัญหาในสภาจะมีประโยชน์จริง ต้องไม่ใช้เป็นเกมการเมือง ต้องไปที่โจทย์จริงๆ ของความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ โจทย์เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องนายกฯ ลาออกไม่ลาออกจะมีทางออกอย่างไร การเมืองไม่ได้อยู่ที่สองขั้ว เราจะยอมให้สองฝ่ายกำหนดการเมืองไทยไม่ได้ เราพลังคนเล็กคนน้อยควรจะกำหนดการเมืองด้วย อย่างน้อยต้องส่งเสียงให้ได้ ต้องกำกับความขัดแย้งให้ได้


 


 


ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.


ประเด็นที่เห็นเหมือนกันคือความรุนแรง ผิดถูกก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องช่วยกันคือ จะป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดอย่างไร มันยังไม่เกิด แต่มันอาจจะเกิด


 


เราจำเป็นต้องแยกแยะระหว่างผู้นำในการชุมนุมกับประชาชนที่ร่วมชุมนุม เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะวิจารณ์จากนี้ไป จะวิจารณ์แกนนำ


 


การยึดทำเนียบเป็นสิ่งที่ผิดพลาด ทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง การเมืองคือการเอาชนะใจประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ใครก็ตามที่เอาชนะใจประชาชนได้คือฝ่ายชนะ ความจริง คุณสมัครได้เป็นแต้มต่อเมื่อพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบ แล้วคุณสมัครบอกว่ารัฐบาลจะไม่สลายการชุมนุม พันธมิตรฯ ก็รอวันแพ้ แต่เมื่อเกิดเหตุวานนี้ (29 ส.ค.) สถานการณ์พลิก มายันกันใหม่อีกที จึงต้องหาคำตอบว่าใครสั่ง ซึ่งต้องมีการรับผิดชอบเรื่องนี้


 


ถามว่าระยะยาวจะมีทางออกอย่างไร ถ้าเราจะปกครองกันโดยระบอบประชาธิปไตย เราต้องใช้กติกา ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน และทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ เรามีสิทธิไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่เราต้องเคารพ เพราะนี่คือกติกาของระบอบประชาธิปไตย และศาลคือผู้ทำหน้าที่นี้ตามรัฐธรรมนูญ


 


ทีนี้ ถ้าเกิดคิดว่า ปัญหาคุณทักษิณจบที่กระบวนการยุติธรรม ทุกฝ่ายก็ต้องเคารพกติกาข้อนี้ เพราะหากยอมรับแต่คำพิพากษาที่ถูกใจเรา นี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไป สำหรับทางออกเสนอว่า ต้องเคารพในกระบวนการยุติธรรม คดีความของคุณทักษิณ คุณสมัคร และพันธมิตรฯ ที่ดำเนินอยู่ให้จบที่กระบวนการยุติธรรม


 


ส่วนข้อหากบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.113 ข้อหานี้ควรต้องถอนแล้วให้ผู้นำพันธมิตรฯ ทั้งเก้าคนสู้ในข้อหาที่เหลือซึ่งก็หนักอยู่แล้ว มาตรา 215  คือ ผู้ใดมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ความแตกต่างที่จะผิดกฎหมายหรือไม่อยู่ตรงที่ถ้าหากชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็จะอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ได้ เพราะฉะนั้นการดำเนินการบางอย่างที่หมิ่มเหม่ต่อขอบเขตของรัฐธรรมนูญของพันธมิตรฯ ทำให้การอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองตัวเองก็ลำบากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ข้อหากบฎควรต้องถอน เพราะรุนแรงเกินไป


 


เหตุการณ์เมื่อวานสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลพอสมควร สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อย่างไรก็อยู่ไม่ครบวาระ อย่างยาวที่สุดเราจะมีเลือกตั้งประมาณไม่เกินกลางปีหน้า อย่างสั้นที่สุด คือ เร็วๆ นี้ ถ้าเกิดการเมืองไม่มีทางออก มีปัจจัยเยอะที่จะเกิดการยุบสภา ผมไม่ได้เรียกร้องให้ยุบสภา แต่ถ้าจะมี ต้องมีการคุยกับพรรคการเมืองอื่นด้วย และลงสู่สนามเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการบอยคอตเหมือนเมื่อปี 49 อย่ายุบสภาเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการเมือง ผมไม่ได้เรียกร้องให้ยุบสภา แต่ดีกว่าก่อให้เกิดการนองเลือดขึ้นมา


 


 


 



 


หมายเหตุ: ติดตาม รายงานเสวนา "การเมืองท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้ง" (3) ได้เร็วๆ นี้


 


 


 


อ่านย้อนหลัง


รายงานเสวนา "การเมืองท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้ง" (1)


http://www.prachatai.com/05web/th/home/13407

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net