Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นายโชคชัย สุทธาเวศ


หัวหน้าพรรคสังคมธิปไตย


ผู้ออกและตรวจข้อสอบ


 


ในฐานะที่ "การเมืองใหม่" ของ "ระบอบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (อาทิ การมีรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อเป็นเครื่องนำทางไปสู่การเมืองใหม่ การยกเลิกระบบการมีพรรคการเมือง การมี ส.ส. ร้อยละ 30 คน จากการเลือกตั้ง และ ร้อยละ 70 จากการสรรหาแล้วแต่งตั้ง การไม่มีระบบฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ) เป็นเสมือนกับดักประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อติดกับแล้วประชาธิปไตยตายได้ จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสียงต่อความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของสังคมไทย ไม่สามารถสนับสนุนได้ในทันที ผู้ออกข้อสอบซึ่งทำงานให้กับพรรคการเมืองอันเป็นองค์การที่พวกท่านจงเกลียดจงชังอย่างสูงสุด จึงจำเป็นต้องคิดแทนประชาชนทั้งประเทศ โดยขอให้ผู้เสนอและสนับสนุนความคิด "การเมืองใหม่" นี้ช่วยทำข้อสอบทั้ง 10 ข้อ โดยด่วนที่สุดก่อนที่รัฐบาลนายกสมัคร สุนทรเวช และระบบรัฐสภาปัจจุบันจะสิ้นสภาพไปด้วยน้ำมือของพวกท่าน ดังต่อไปนี้ (โปรดตอบเป็นรายคน และทำทุกข้อๆละ 10 คะแนน รวม 100 คะแนน)


 


1.ขอให้ทำการตรวจสอบหลักการ "การเมืองใหม่" ว่ามีรากฐานทางปรัชญาการเมืองและทฤษฎีหรือแนวคิดใดบ้างที่เป็นเทียนแห่งธรรมและได้นำมาประกอบกันอย่างไร (เช่น Totalitarianism, Authoritarianism, Marxism, Leninism, Trotskyism, Maoism, Anarchism, Fascism, Nazism, Conservatism, Buddhism, Holism) แนวคิดที่เป็นเทียนแห่งธรรมที่นำมาใช้เหล่านั้นมีพลังในการอธิบายและทำนายต่ำ-สูงเพียงใด ท่านใช้เรื่องใดมากน้อยเพียงใด เพราะเหตุใด และทำไมจึงเชื่อว่าเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่าหลักการเดิมอนุโลมตามระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 (แสดงเนื้อหาของปรัชญาการเมืองและทฤษฎีหรือแนวคิด ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และอนาคต และหลักฐานสนับสนุนให้ชัดเจน)


 


2.เคยมีการปฏิบัติตาม "การเมืองใหม่" ที่เสนอมาแล้วในสังคมโลกที่ใดบ้าง (หรือ ไม่เคยมี)  และ ได้ผลเป็นอย่างไร (หากมีตัวอย่าง) (ในกรณีที่ถูกเสนออย่างสุ่มเสี่ยง คาดเดาเอาเอง และขาดดุลยภาพระหว่างวัตถุวิสัยกับอัตวิสัยจะถูกตัดคะแนน) ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางจิตธรรมและวัตถุธรรมในระดับสูงในโลกนี้และมากกว่าประเทศไทยใช้หลักการแบบ "การเมืองใหม่" หรือ ไม่ ระบุชื่อประเทศและยกตัวอย่างรูปธรรมการปฏิบัติให้เห็น และ จะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับการปกครองในประเทศต่อไปนี้หรือไม่อย่างไร ได้แก่ รัสเซีย จีน คิวบา เมียนมาร์ อิหร่าน ตุรกี เนปาล ธิเบต อิตาลี (สมัยมุโสลินี) เยอรมนี (สมัยฮิตเลอร์) โปรตุเกส อาร์เจ็นติน่า เวเนซุเอล่า แต่หากเป็นตรรกะอย่างใหม่ไม่มีประเทศใดในโลกเคยทำเพื่อเป็นการเมืองแบบไทยๆ แล้ว รัฐบาลไทยจะควรเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศอีกต่อไปหรือไม่ เพราะเหตุใด


 


3. หาก "การเมืองใหม่" ดำเนินการโดยผ่านการทดลองก่อนในส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศไทย อาจเป็นจังหวัดที่กำกับได้ชัดเจน เช่น จังหวัดภูเก็ต (ทดลองเป็นรัฐอาณานิคมของประเทศไทย) เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดโดยคิดไม่ถึงในระดับทั้งประเทศ การทดลองนั้นจะกระทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และให้ออกแบบการทดลองมาด้วย (หากเห็นว่าเป็นไปได้) และถ้าจะทดลองทำดู แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะทดลองเป็นคณะบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันใด คือ คณะรัฐมนตรี ตุลาการ และ สภานิติบัญญัติ หรืออื่นๆได้หรือไม่เพราะเหตุใด


 


4. หากจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญสองฉบับขึ้นใหม่ และให้สิทธิประชาชนทั่วประเทศลงประชามติที่จะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับตามแบบ "การเมืองใหม่" หรือ ฉบับตามแบบระบบรัฐสภาปัจจุบัน (ที่ต้องปฏิรูปด้วย) จะทำได้หรือไม่ หรือ จำเป็นต้องบังคับให้ทำเพียงฉบับเดียว คือ ตามแบบ "การเมืองใหม่" โปรดให้เหตุผลข้อดีและข้อเสีย ไม่ว่าจะทำเพียงฉบับเดียวหรือสองฉบับเพื่อเสนอต่อประชาชนที่ท่านรักและเคารพยิ่ง


 


5. ท่านคิดว่าข้อความต่อไปนี้สังคมควรสนับสนุนหรือไม่เพราะเหตุใด คือ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและนักทฤษฎีที่แวดล้อมสนับสนุน "การเมืองใหม่" จะร่วมกันลงนามต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานองค์การอิสระและองค์การตามรัฐธรรมนูญทุกองค์การ หรือ อาจรวมถึงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "การเมืองใหม่" ก่อนยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อยืนยันว่า "การเมืองใหม่" ตามรัฐธรรมนูญใหม่แทนฉบับ 2550 จะนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดนับแต่มีชาติและประเทศไทยมาแต่โบราณกาล และการเมืองใหม่จะสำเร็จผลนำพาประเทศไทยได้ดีกว่าอดีตภายในกำหนดเวลาที่ชัดเจน (ระบุกี่ปี)


 


6. จะเป็นไปได้หรือไม่ที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศให้คำมั่นสัญญานับจากนี้ไปว่า หากในกรณีที่ "การเมืองใหม่" ถูกปฏิบัติภายในระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อถูกประเมินอย่างเป็นกลางทั้งโดยองค์การในประเทศและต่างประเทศแล้ว พบว่ายังมีปัญหาของระบบการเมืองไทยที่ "การเมืองใหม่" ไม่ได้ทำให้สังคมไทยดีกว่าระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 (แยกประเมินเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญทีละฉบับ) แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและนักทฤษฎีที่แวดล้อมสนับสนุนจะรับผิดชอบอย่างไรบ้าง (แต่หากในกรณีที่การเมืองไทยและสังคมไทยและดีขึ้นกว่าเดิมจริง ประชาชนไทยย่อมแซ่ซ้องสรรเสริญผู้เสนออย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งพวกท่านคงไม่ต้องการเพราะพวกท่านคือผู้เสียสละสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในโลกทั้งในอดีตและในอนาคตกาลนิรันดรทีเดียว)


 


7. การสร้างสรรค์สังคมใหม่ ต้องการทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งต้องสัมพันธ์กันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จึงขอทราบว่า "เศรษฐกิจใหม่"  "สังคมใหม่" และ "วัฒนธรรมใหม่" ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงร่วมกันไปด้วยคืออะไรบ้าง  และจะนำพาประเทศชาติไปสู่ตรงนั้นด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงสถานภาพตามระบอบ "การเมืองใหม่" อย่างไร  และจะ สูงส่งกว่าเดิม เท่าเดิม หรือ ต่ำกว่าเดิม (เปรียบเทียบของใหม่กับปัจจุบันในประเด็นทุกประเด็นที่เกี่ยวกับองค์ประกอบและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันด้วยว่าพวกท่านได้ใช้หรือไม่ได้ใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ และในอนาคต) (โปรดตอบโดยอธิบายอย่างละเอียดและยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมทั้งยกตัวอย่างพระราชดำรัสหรือการกระทำทุกประการของพระเจ้าอยู่หัวที่สนับสนุนการดำเนินการของท่านในขณะนี้ - หากมี)


 


8. ทำไมพวกท่านจึงใช้หลักศีลธรรมแบบระบอบพันธมิตร เช่น การล้มล้างอำนาจรัฐแบบที่ทหารทำในปี 2549 กับที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังทำอนาธิปไตยในปัจจุบัน (ซึ่งก็คือการทุจริตต่อประชาธิปไตยของประชาชนแบบหนึ่ง) ประเสริฐกว่าการทุจริตต่อประชาธิปไตยที่ได้มาโดยซื้อเสียงจากประชาชนที่รัฐบาลในระบอบทักษิณและนอมินีได้มา หรือหลัก "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" หรือ "เวรย่อมระงับด้วยการจองเวร" เช่น อดีตนายกทักษิณฉีกรัฐธรรมนูญ (ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญบางมาตรา) ท่านก็สนับสนุนรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ และในที่สุดก็กำลังฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ท่านสนับสนุนมาก่อนเสียเอง  และหลักศีลธรรมที่เป็นอริยะมากกว่า เช่น "ขันติธรรมและสามัคคีธรรม" ที่พระเจ้าอยู่หัวให้คุณค่าจะมีในระบอบ "การเมืองใหม่" ที่พวกท่านเสนอหรือไม่ อย่างไรบ้าง ถ้ามีจะใช้กับใครและไม่ใช้กับใคร (โปรดยกตัวอย่างและให้เหตุผลประกอบ)


 


9. พวกท่านเคยคิดหรือเปล่าว่าพวกท่านกำลังหลงผิดหรือคิดผิดหรือผิดเพี้ยน และท่านจะอยู่อย่างไรในสังคมไทยต่อไป เช่น เป็นคณะยึดอำนาจรัฐผู้เกรียงไกร เป็นองค์รัฐาธิปัตย์ใหม่ รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. บวชเป็นพระ เป็นชาวบ้านธรรมดาผู้คืนจากสูงสุดสู่สามัญ นักโทษในจิตใจตนเองผู้สำนึกผิด ผู้ป่วยโรคปาก นักเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างการเมืองใหม่ที่ท่านสร้างขึ้นเอง หรือ อื่นๆ (โปรดระบุและให้เหตุผลประกอบ)


 


10. การพยายามล้มล้างอำนาจรัฐปัจจุบันของพวกท่านโดยเสื้อคลุมการเมืองภาคประชาชนหรือภาคพลเมืองจนเกิดการแตกแยกและกำลังเริ่มสูญเสียเลือดเนื้อของคนในชาติและการทะเลาะกับชนชาติเพื่อนบ้านด้วยความคิดแบบชาตินิยมล้าหลัง หากสำเร็จจริงพวกท่านจะฟื้นฟูสังคมไทยและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไปสู่สันติสุขอย่างไร และจะสำเร็จผลสู่ภาวะปกติเมื่อใด และ ถ้ามีพรรคการเมืองหรือกลุ่มพลังประชาชนอื่นๆต่อต้านพวกท่านๆจะดำเนินการกับพรรคการเมืองและกลุ่มพลังการเมืองอื่นๆอย่างไร (โปรดอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบถึงโครงการหรือแผนงาน และยุทธวิธีเอาชนะปรปักษ์ของพวกท่านที่เป็นกลุ่มพลังประชาชนอื่นๆ)


 


หากแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและนักทฤษฎีที่แวดล้อมตอบข้อสอบข้างต้นได้เกินกว่า 50 คะแนน จะถือว่าสอบผ่านมหาวิทยาลัยราชดำเนินอย่างแท้จริง


 


และขออภัยเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ หากข้อสอบนี้ดูจะเหน็บแนบกลุ่มของท่านอยู่บ้าง  ข้าพเจ้ายังรักท่านทั้งหลายอยู่เช่นเดิม และพวกท่านเองก็คงจะใจกว้างและจะได้คิดใหม่ในสังคมประชาธิปไตยให้รอบคอบมากขึ้นด้วย จนถึงออกจากกับดักวินาศนี้ได้ ไม่เช่นนั้นข้าพเจ้าเกรงว่าท่านจะเป็นผู้ติดกับดักนี้จนดิ้นไม่หลุดเสียเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net