Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ประวิตร โรจนพฤกษ์


 


 


คำถามใหญ่คำถามหนึ่งภายใต้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็คือว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสถานีเอเอสทีวี กระบอกเสียงของฝ่ายพันธมิตรฯ


 


ทีวีดาวเทียมสถานีนี้ควรจะถูกปิดเพราะข้อกล่าวหา "ล้างสมอง" ประชาชนจำนวนมากให้กลายเป็นสาวกลัทธิ 70-30 หรือ ที่เรียกว่าลัทธิการเมืองใหม่หรือไม่ คลื่นนี้ควรถูกปิดเพราะมีผู้นำอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ที่กล่าวหาว่า ผู้ชุมนุมฝ่าย นปช. ในคืนวันจันทร์อันเกิดเหตุปะทะเลือดตกยางออกเป็น "นักเลงทั้งหมด" (all hired hooligans, คำนี้นายสนธิใช้เองเป็นภาษาอังกฤษในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ก่อนเที่ยงวันอังคาร)


 


ถ้าเช่นนั้น ควรมีการจัดการอย่างไรกับสื่อของรัฐที่โปรรัฐบาลจ๋า อย่างโทรทัศน์เอ็นบีทีที่มักมองข้ามการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องของรัฐบาลและ ข้อหาคอร์รัปชั่นสารพัด


 


แล้วยังมีหนังสือพิมพ์อย่างผู้จัดการ หรือหนังสือพิมพ์มุมตรงข้ามอย่างประชาทรรศน์ (กรุณาอย่าสับสนกับ http://prachatai.com) แล้วยังมีโทรทัศน์ทีพีบีเอส ที่ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นทีวีไทย ซึ่งน่าจะจัดอยู่ในฝ่ายต้านรัฐบาลด้วยค่อนข้างชัดเจน นั่นก็ควรถูกปิดด้วยหรือไม่


 


ถึงแม้รัฐบาลอาจอ้างอำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่รัฐบาลก็ไม่ควรแม้แต่จะคิดที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้


 


เราปฎิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นห่วงเรื่องโฆษณาทางการเมืองที่ถูก เผยแพร่โดยสื่อสุดขั้วทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจรวมถึงสิ่งที่เรียกว่า ข้อเขียนและคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) พวก เขาเห็นห่วงว่าประเทศไทยกำลังตกลงไปในหลุมแห่งสนาธิปไตยและการฆ่าแกงกัน ซึ่งย่อมเป็นความห่วงที่มีมูลเพราะว่าเมื่อกลางดึกของคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมที่เชื่อว่าเป็นฝ่า นปช. ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตหลังจากบุกเข้าไปเผชิญหน้าและปะทะกับฝ่ายพันธมิตรฯ แถมยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบคน และจำนวนหนึ่งบาดเจ็บจากกระสุนปืน


 


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนเผอิญได้ยินคลื่นวิทยุที่ต่อต้านรัฐบาลคลื่นหนึ่ง พูดให้ความชอบธรรมต่อการบุกยึดสถานีเอ็นบีทีโดยการใช้กำลังจนกระทั่งสถานี ต้องหยุดออกอากาศไประยะหนึ่ง ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องเพราะทีวีช่องนี้มัน "พ่นพิษ" สู่ผู้ชม เพราะฉะนั้นมันก็คงไม่เป็นเรื่องที่เกินเลยที่ลองนึกจินตนาการต่อไปถึงการ ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้ามจนถึงแก่ชีวิต (คำถามที่ยังติดใจผู้เขียนอันหนึ่งก็คือ ทำไมถึงต้องตีกันถึงขนาดให้ตายในคืนวันจันทร์ แถมผู้เขียนยังได้เห็นภาพของผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรฯ คนหนึ่ง ยืนเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบลงบนร่างอันหมดสติและบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตบนท้องถนนในคืนวันนั้น ทำไมถึงต้องทำกันถึงขนาดนั้น หากตีกันจนแค่สลบ เจ็บและหมดสภาพแล้ว พวกเขาปล่อยให้รถพยาบาลและหมอมารับตัวไปมิได้หรือ ในขณะเดียวกัน ที่ชุมนุมพันธมิตรฯ ณ คืนวันอังคารที่ 2 ก.ย. ประมาณทุ่มถึงสองทุ่ม บรรยากาศในทำเนียบรัฐบาลนั้นครึกครื้นเป็นอย่างยิ่ง มีคอนเสิร์ต หงา คาราวาน ฯลฯ ทั้งที่มีมนุษย์เพิ่งตายจากการปะทะ ระหว่างสองกลุ่มไปได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง)


 


อย่างไรก็ตาม สาธารณชนต้องไม่หวั่นไหว โอนอ่อนในการที่จะสนับสนุนรัฐบาลเพื่อที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการเซ็นเซอร์ และต้องไม่ยอมให้กลุ่มพันธมิตรฯ เซ็นเซอร์สื่อฝ่ายตรงข้ามด้วย - นอกเสียแต่ว่ามีสื่อใดสื่อหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องให้มีการฆ่ากันอย่างค่อน ข้างชัดเจน (ผู้เขียนยอมรับว่าจุดอ่อนในข้อโต้แย้งของผู้เขียนอยู่ที่ ถึงแม้ผู้เขียนจะยืนยันว่า ควรให้มีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ในแง่หนึ่งการทำลายความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามและปลุกระดมความเกลียด ชังมากๆ ก็อาจนำไปสู่การฆ่ากัน โดยไม่ต้องเรียกร้องให้ไปฆ่ากันอย่างโจ่งครึ่มผ่านสื่อก็ได้อย่างที่ได้เกิด มาแล้วในคืนวันจันทร์)


 


สาธารณะมีภาระหน้าที่ที่จะต้องพยายามรับสื่อต่างๆ รวมถึงบททัศนะต่างๆ อย่างเท่าทันและใช้วิจารณญาณ โดยควรรับสื่อทั้งสองฝั่ง และฝั่งที่สาม ที่สี่ด้วย หากมี และต้องพยายามที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อไม่ว่าจากฝ่ายไหน


 


ในอีกแง่หนึ่ง ถึงแม้นายกฯ สมัคร สุนทรเวช หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คิดที่จะพยายามปิดกั้นทีวีอย่างเอเอสทีวี หรือปิดโรงพิมพ์ผู้จัดการรายวันและสื่อที่ต้านรัฐบาลอื่นๆ พวกเขาก็คงจะค้นพบอย่างรวดเร็วว่า การปิดสื่อและปิดช่องทางการสื่อสารอื่น อย่างอีเมล แชตรูม เอสเอ็มเอส มือถือ IM (instant messenger) มือ ถือ แฟกซ์ ปากต่อปาก ฯลฯ กระทำได้ยากยิ่ง และที่สำคัญสถานการณ์น่าจะยิ่งเลวร้ายขึ้นเพราะว่า สิ่งที่ถูกแพร่กระจายสื่อสารจะเต็มไปด้วย "ข้อมูล" ซึ่งน่าจะเป็นประเภทข่าวลือ เสียมากกว่า และสาธารณะก็จะตกอยู่ในสภาพที่แทบจะมิอาจรู้ได้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ ข้อมูลไหนเชื่อถือได้หรือไม่ มาตรการเช่นนี้น่าจะเป็นสูตรสำเร็จในการสร้างความสับสนวุ่นวายอย่างแน่นอน    


 


อีกปัญหาหนึ่งที่มิอาจแก้ตกได้ก็คือว่า แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบตัดสินใจที่จะชี้ว่าอะไรควรเซ็นเซอร์และอะไรไม่ ควรแบน ซึ่งคนผู้นั้นหรือกลุ่มคนกลุ่มนั้นก็คงมิน่าจะมีความเป็นกลางหรือเป็นที่ เชื่อถือของทุกฝ่ายในสังคมได้


 


เท่าที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า สื่อที่เชียร์และต้านรัฐบาลก็พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะเผยแพร่ข้อมูล (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ความจริงด้านเดียวของพวกเขา) หรือแม้กระทั่งโฆษณาชวนเชื่อแบบหยาบๆ อย่างที่นายสนธิ ได้กล่าวกับซีเอ็นเอ็นไปว่า ม็อบ นปช. ที่ปะทะคืนวันจันทร์เป็นพวกนักเลงหรือกุ๊ยที่รับเงินมาก่อเหตุ "ทั้งหมด" ทุกคน ซึ่งแน่นอนมันเป็นการพูดเหมารวมที่พิสูจน์มิได้และไม่น่าจะถูกต้องเสียทีเดียว หรืออาจมิถูกต้องเลยทั้งหมดก็ได้


 


ในข่าวช่วงเที่ยงวันอังคารที่ผ่านมา โทรทัศน์ไทยทีวี หรือทีวี "สาธารณะ" ได้รายงานข่าวตั้งคำถามและข้อสังเกตว่า มีใครบ้างอยู่เบื้องหลังกลุ่มผู้ชุมนุมในต่างจังหวัด ที่สนับสนุนรัฐบาล ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หากทว่าผู้เขียนไม่เคยเห็น สถานีช่องนี้ตั้งคำถามและทำสกู๊ปเพื่อหาคำตอบว่า ใครอยู่เบื้องหลังผู้นำผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ


 


อย่างไรก็ตาม สาธารณะจำเป็นที่ต้องพยายามเรียนรู้ที่จะเป็นผู้อ่าน ชม และฟังสื่ออย่างเท่าทัน และตัดสินโดยตัวพวกเขาเองว่าเขาอยากจะเชื่ออย่างไร เชื่อใครและสนับสนุนกลุ่มไหน หากสาธารณะมิสามารถเป็นผู้บริโภคสื่อที่เท่าทันและพิสูจน์ให้ประจักษ์ได้ ผู้มีอำนาจหรือกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ย่อมที่จะปิดกั้นสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารและปฎิบัติต่อสาธารณะเหมือน กับเด็กอมนิ้วที่ไม่สามารถแยกแยะความจริงออกจากสิ่งโกหก ไม่สามารถแยกแยะสิ่งถูกและผิด และจะต้องถูกยัดเยียดหรือป้อน "ข้อมูล ข่าวที่เหมาะสมและถูกต้อง" แต่ถ่ายเดียว


 


กลุ่มที่รณรงค์เรื่องสื่ออย่างคณะกรรมการรณรงค์เพื่อปฎิรูปสื่อ (คปส.) และอาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์น่าจะพยายามมอนิเตอร์สื่อทั้งสองขั้ว เพื่อดูว่ามีการเผยแพร่สร้างความเกลียดชังอย่างเกินเลย หรือใส่ร้ายอย่างน่ารังเกียจและไม่มีมูล และรายงานให้สาธารณะและสื่อกระแสหลักทราบเพื่อเป็นการติติงและตำหนิ


 


(เพียงแค่เฝ้าดูหน้าเว็บของผู้จัดการออนไลน์ ก็จะพบข้อความประเภท "รัฐบาลสัตว์นรก" ได้ไม่ยาก -- ผู้ช่วยพิมพ์)


 


สาธารณะจะต้องไม่ใจอ่อนและยอมถูกชักจูงไปสู่การยอมรับให้มีการเซ็นเซอร์สื่อและ จำกัดสิทธิการแสดงออก ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีการโฆษณาชวนเชื่อและการกล่าวเหมารวมแบบอ่อนตรรกะอย่าง ที่นายสนธิพูดเรื่องม็อบรับจ้าง เช่นเดียวกับการที่สาธารณะจะต้องยืนหยัดที่จะต่อต้านการเปลี่ยนรัฐบาลโดยรัฐ ประหาร เพราะสิ่งเหล่านี้ รังแต่จะสร้างปัญหามากขึ้นในระยะยาว ประชาชนจะต้องพิสูจน์ว่าพวกเขามีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะตัดสินด้วยตัวพวกเขา เองว่า พวกเขาอยากจะดูอะไร อ่านอะไรและเชื่ออะไร เพราะนี่เป็นหนทางเดียวที่จะสร้างวุฒิภาวะให้สังคม เพื่อให้สังคมเป็นสังคมเปิดและเป็นสังคมประชาธิปไตย


 


และด้วยเหตุผลนี้เองประชาชนจึงต้องต่อต้านและไม่ยอมรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


 


 


00000


ข้อมูลเพิ่มเติม



พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘


มาตรา ๙ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้


    (๑) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น


    (๒) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย


    (๓) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิด เบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร


    (๔) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ


    (๕) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ


    (๖) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด


    ข้อ กำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนไขเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่ เหตุก็ได้


 


    มาตรา ๑๑ ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุก เฉินนั้น เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม


    เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย


    (๑) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือที่ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการ ใดๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง


    (๒) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน


    (๓) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการหรือ สนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน


    (๔) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที


    (๕) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยอนุโลม


    (๖) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน


    (๗) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราช อาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือน ต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประเทศ


    (๘) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการ ให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


    (๙) ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบ หรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติ ตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีกำหนด


    (๑๐) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใดให้เป็นไปตาม เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยกาศึก


    เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงตามวรรคหนึ่งยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศตามมาตรานี้โดยเร็ว


 


หมายเหตุ: บทความนี้แปลและปรับปรุงจากบทความ For a mature open society, media censorship must not be allowed ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 3 ก.ย.51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net