Skip to main content
sharethis


  1. สถานการณ์ในประเทศพม่า


1.1         นางซูจีหลบหน้าแพทย์ประจำตัวและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่รับอาหารเข้าบ้านกว่า 2 สัปดาห์


 


โฆษกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของพม่าเปิดเผยว่า อองซานซูจี ผู้นำการต่อต้านรัฐบาลพม่าที่ขณะนี้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวในบ้านพัก ได้ปฏิเสธที่จะพบแพทย์ประจำตัวเพื่อรับการตรวจร่างกาย และรัฐมนตรีกระทรวงความสัมพันธ์คาดว่า เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปอย่างล่าช้า


 


ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อองซานซูจี ซึ่งขณะนี้อยู่ในวัย 63 ปี และถูกควบคุมตัวนานถึง 13 ปี ปฏิเสธอาหารที่นำมาส่งให้ยังบ้านพักที่ถูกควบคุมตัวบ่อยครั้ง ทั้งยังปฏิเสธที่จะพบกับอิบราฮิม กัมบารี ผู้แทนพิเศษจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เดินทางมาเยือนพม่า เมื่อเดือนที่แล้ว


 


จีวิน ทนายประจำตัวของอองซานซูจี ที่เพิ่งเดินทางไปเยี่ยมนางเมื่อวันที่ 1 ก.ย. เปิดเผยว่า อองซานซูจีไม่ยอมรับประทานอาหารจริง และมีน้ำหนักตัวลดลง แต่ไม่แน่ชัดว่าการไม่ยอมรับอาหารของอองซานซูจีเป็นการอดอาหารประท้วงหรือไม่


 


ทางด้าน ทินเมียววิน แพทย์ประจำตัวเปิดเผยว่า อองซานซูจียังมีสุขภาพที่ดีหลังการตรวจครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค.


 


ทั้งนี้รัฐบาลพม่าได้แต่งตั้งให้ อองจี รัฐมนตรีกระทรวงความสัมพันธ์เป็นผู้แทนของรัฐบาล ในกระบวนการเจรจากับฝ่ายต่างๆในประเทศ รวมถึงอองซานซูจี เพื่อผลักดันกระบวนการปฏิรูปสู่ระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้กระบวนการดังกล่าวแทบจะไม่มีความคืบหน้าเลย (โพสต์ทูเดย์ วันที่ 04/09/2551)


 


1.2          ฝ่ายค้านพม่าโจมตีกัมบารีล้มเหลวในภารกิจเยือนพม่าครั้งล่าสุด


 


แถลงการณ์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซู จี แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า ระบุว่าการเดินทางเยือนพม่าครั้งล่าสุดของนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 18-23 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเขาไม่สามารถปฏิบัติตามภารกิจที่วางไว้ให้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะเป็นการร้องขอต่อรัฐบาลทหารพม่าให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงนางซู จี เป็นอิสระ และการโน้มน้าวให้มีการเจรจากับนางซู จี และกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน


 


นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินภารกิจต่างๆ แล้ว นายกัมบารี ยังไม่ได้พบกับนางซู จี ด้วย ทั้งที่การเดินทางเยือนพม่าก่อนหน้านี้ เขาได้พบหารือกับเธอหลายครั้ง (สำนักข่าวไทย วันที่ 30/08/2551)


 


 



  1. การค้าชายแดน


2.1          อนาคต "แม่สอด" สู่เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ


 


เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ กำลังเป็นที่น่าสนใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีพื้นที่จรดชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่มีเศรษฐกิจ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน


 


ล่าสุดเทศบาลเมืองแม่สอด เทศบาลตำบลท่าสายลวด และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปะ ได้จับมือกันเตรียมบูรณาการพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละแห่งรวมมาเป็นพื้นที่เดียวกัน เพื่อการพัฒนา ที่เรียกว่า" การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ" ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดการพัฒนา คือ การไปสู่ความเป็นท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ เพื่อหวังที่จะได้รับงบประมาณ ทั้งในการมีส่วนร่วมแบ่งด้านเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมจากศุลกากร ที่ได้เงินภาษีและค่าธรรมเนียมจากพื้นที่แทนการส่งให้กับส่วนกลาง


 


ขณะที่ทางจังหวัดตาก โดยนายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็มีนโยบายผลักดันพื้นที่ดังกล่าว เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จึงมีการวางขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการไว้เรียบร้อย รวมทั้งการยกร่างกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับเมืองรูปแบบพิเศษไว้แล้ว


 


ก่อนหน้านี้ทางจังหวัดได้ประชุมคณะกรรมการเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ " เมืองแม่สอด" เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงผลการศึกษา-วิจัย และสำรวจ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานปฏิรูประบบราชการ ได้เข้ามาศึกษาการตั้งเขต "ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ" เมืองแม่สอด" โดยให้ผู้นำท้องถิ่นแต่ละแห่งทั้งเมืองแม่สอด-อบต.ท่าสายลวด และอบต.แม่ปะ-กำนัน ผญบ.ในพื้นที่เกี่ยวข้องไปทำประชาคมชาวบ้าน ว่าเห็นด้วยกับการรวมพื้นที่ไปสู่ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองแม่สอดหรือไม่


 


นายชุมพร กล่าวว่า ได้วางแผนดำเนินการการยกฐานะเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองแม่สอด ไว้ 2 ขั้นตอน คือ 1.รวบรวม 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลเมืองแม่สอด-เทศบาลตำบลท่าสายลวด และ อบต.แม่ปะ) ยกฐานะขึ้นเป็น "เทศบาลนครแม่สอด" ซึ่งสามารถยกฐานะจากเทศบาลเมืองแม่สอดเป็นเทศบาลนครแม่สอดได้เลย และ 2.เมื่อเป็นเทศบาลนครแม่สอดแล้ว ก็นำเข้าสู่กระบวนการยกฐานะเป็น เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองแม่สอด ต่อไป


 


ขณะที่นายมานพ ยะเขียว นายก อบต.แม่ปะ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับเขตเทศบาลเมืองแม่สอด กล่าวว่ามีความเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะรวมพื้นที่ตำบลแม่ปะไปสู่ความเป็นท้องถิ่นรูปแบบเมืองแม่สอด


 


ด้านนายชัยวัฒน์ วิฑิตธรรมวงศ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวเห็นด้วยกับการรวมพื้นที่ 2 เทศบาล กับ 1 อบต. เป็นพื้นที่เดียวกัน เพราะจะได้มีเพียงสภาเดียว ผู้บริหารกลุ่มเดียว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้า การลงทุน และด้านอุตสาหกรรม หากต่างฝ่ายต่างอยู่ก็ไม่มีความชัดเจน ในเรื่องกฎระเบียบ นโยบาย ของผู้บริหารแต่ละแห่ง เช่น ถ้าได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ดี ก็จะดี ถ้าได้ผู้บริหารที่ไม่มีวิสัยทัศน์ นักลงทุนก็แย่


 


นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด ซึ่งเป็นเทศบาลศูนย์กลางในการบริหารงาน และพัฒนาเมืองแม่สอด กล่าวว่า การพัฒนาเมืองแม่สอดไปสู่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะคล้ายๆ กับเมืองพัทยา โดยจะมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการในเรื่องการมีส่วนร่วม ของประชาชน ซึ่งหากมองภาพรวมพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย


 


อำเภอแม่สอด เป็นเมืองที่มีโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจสังคมที่ใหญ่ มีรายได้จากการค้าชายแดนไทย-พม่า ปีละกว่าหมื่นล้านบาท มีแรงงานต่างด้าวนับแสนคน และมีสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมกว่า 100 แห่ง อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่การจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ท้องถิ่นไม่ได้อะไร ถูกส่งเข้าไปส่วนกลางทั้งหมด ท้องถิ่นได้รับแต่ปัญหาขยะและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น


 


ขณะที่นายชรินทร์ หาญสืบสาย ส.ว.ตาก ในฐานะรองประธานคณะกรรมการการเศรษฐกิจ-พาณิชย์ และอุตสาหกรรมวุฒิสภา กล่าวว่า การค้าชายแดนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอำเภอแม่สอด เพราะระหว่างนี้ได้ยกระดับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รองรับการเข้าสู่การพัฒนาร่วมกับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป


 


นอกจากนี้เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มจุดการค้าชายแดน ซึ่งจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ ด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี, แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก, และทางชายแดนไทย-กัมพูชาและลาว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้า และเชื่อมโยงตามกรอบของ GMS-ECF


 


2.2          รัฐและเอกชนชายแดนไทย เสนอเปิดด่านเพิ่ม เพิ่มช่องทางการขนส่ง East-West Economic Corridor


 


การประชุม GMS-ECF รัฐ-เอกชน จังหวัดชายแดนที่ติดต่อและทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน AEC หรือกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทาราแม่สอดฮิลล์ อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่าง 21-23 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายชรินทร์ หาญสืบสาย สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตาก ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ-พาณิชย์และอุตสาหกรรมวุฒิสภา ร่วมกับคณะกรรมาธิการ ด้านเศรษฐกิจ พาณิชย์และอุสาหกรรมวุฒิสภา ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดน นักธุรกิจ-พ่อค้า ได้มีการเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ


 


1.การเปิดจุดการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทางด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี, แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และทางชายแดนไทย-กัมพูชาและลาว เพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงในกลุ่มอีสต์เวสต์ อีโคโนมิก คอริดอร์และกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยาและแม่น้ำโขง


 


2.การฟื้นฟูยกระดับโครงการคอนแทร็กฟาร์มิ่ง (Contract Farming) ให้มาตรฐานเป็นรูปธรรม


 


3.การจัดหาแรงงานที่มีทักษะมาทำงาน


 


4.ส่งเสริมอุตสาหกรรมและการเกษตร เต็มรูปแบบและเป็นระบบ


 


5.ผลักดันเขตเสรีการค้า และสิทธิพิเศษภาษีต่างๆ


 


รายงานข่าวแจ้งว่า GMS-ECF- AEC เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้ง CLM (กัมพูชา-ลาว-พม่า) และ CLMV (กัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม) และกลุ่มเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์-อินโดนีเซีย เพื่อให้กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงกับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อไป


 


นางสาวปราณี ศิริพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือการค้าการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า โครงการ คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ในพื้นที่ชายแดนจะต้องทำให้เกิดการพัฒนาเป็นรูปธรรม เพิ่มผลผลิตและพืชในโครงการ ปัจจุบันมีพืชในโครงการความร่วมมือจำนวน 8 ชนิด เช่น ถั่วลิสง-ถั่วเหลือง-ข้าวโพด-ข้าวโพดหวาน-มันฝรั่ง-ละหุ่ง-มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งต่อไปจะต้องมีการขยาย สำหรับพื้นที่โครงการคอนแทร็กฟาร์มิ่ง จากเดิมแม่สอด-เมียวดี นำร่อง พื้นที่ทำการเกษตรกว่า 300,000 ไร่ จะขยายไปยังจังหวัดเลยและจันทบุรี


 


ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุม GMS-ECF รัฐ-เอกชน จังหวัดชายแดนที่ติดต่อและทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน AEC ได้เดินทางไปทัศนศึกษาและดูงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่จังหวัดเมียวดีของพม่าด้วย (กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 01/09/2551)


 


 



  1. แรงงานข้ามชาติ


3.1          ร้านค้าทองคำชายแดนไทย-พม่าคึกคัก แรงงานจากพม่าซื้อทองกลับประเทศ


 


นายสมชาย จงนิตยกาล เจ้าของห้างทองก้งกาฮินและห้างเพชรทองก้งกาฮิน ร้านทองเก่าแก่ที่อยู่คู่กับ จ.ระนอง มานานกว่า 30 ปี เปิดเผยว่าถึงสถานการณ์การซื้อขายทองคำในเขตพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าว่าหลังจากราคาทองคำได้ลดลงจาก 15,400 บาท เมื่อช่วงต้นเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา มาอยู่ในระดับราคา 13,400 บาท (ทองรูปพรรณ) ในปัจจุบัน ส่งผลให้การซื้อขายทองคำกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่ตลาดซบเซามานาน


 


มองไปในส่วนของแรงงานพม่าขณะนี้เข้ามาซื้อทองคำเพื่อเก็บไว้เป็นจำนวนมาก รวมถึงบางส่วนยังมีการข้ามฟากจากฝั่งประเทศพม่าจาก จ.เกาะสอง, ทวาย, มะริด เพื่อเข้ามาซื้อทองคำใน จ.ระนอง หลังจากทราบข่าวการลดลงของราคาทองคำ ประกอบกับในช่วงดังกล่าวนี้ค่าเงินจ๊าตของพม่าได้แข็งค่าขึ้นจากเดิมที่อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ในระดับ 37-38 จ๊าตต่อ 1 บาท ปัจจุบันแข็งค่าเป็น 35-36 จ๊าตต่อ 1 บาท ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลทำให้ชาวพม่าหันมาซื้อทองคำเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดการซื้อขายทองคำในช่วงเดือน ส.ค.เพิ่มสูงขึ้นกว่า 30%


 


โดยทองรูปพรรณที่ชาวพม่านิยมซื้อคิดเป็นสัดส่วน 60-70% เป็นในส่วนของสร้อยคอทองคำตั้งแต่ระดับ 2 สลึง ถึง 1 บาท


 


เหตุที่ชาวพม่านิยมซื้อทองคำมากกว่าคนไทยเป็นเพราะค่าเงินจ๊าตของพม่า ที่มักผันแปรมีค่าไม่แน่นอน ทั้งยังมีค่าน้อยกว่าเงินบาท ดังนั้นแรงงานชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยเมื่อได้รับเงินเดือนจึงนิยมนำมาซื้อทองคำเก็บไว้แทน เพราะเมื่อนำกลับไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินพม่าก็จะไม่ผันแปรมาก ดีกว่าการนำเงินบาทไปแลก หรือเก็บเงินจ๊าตไว้ซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่า อันเป็นผลมาจากความผันผวนของค่าเงิน


 


ต่อข้อซักถามกรณีการรับโอนเงินข้ามประเทศไปยังประเทศพม่าส่งผลกระทบต่อการซื้อทองคำหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ในส่วนนี้ยังไม่กระทบต่อร้านค้าทองมากนักเนื่องจากเป็นการโอนผ่านคนกลาง หรือเรียกว่าระบบใต้ดิน ยังไม่สะดวกมากนักจึงทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากแรงงานพม่าที่ได้รับเงินเดือน จะนิยมในกลุ่มแรงงานที่เป็นลูกจ้างรายวันมากกว่า แต่ในอนาคตหากธนาคารของไทยเปิดให้บริการด้านการโอนเงินข้ามประเทศคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานพม่า


 


แรงงานพม่าพอทำงานได้เงินบาทส่วนหนึ่งก็ใช้วิธีโอนเงินเข้าประเทศเพื่อส่งเงินกลับบ้าน หรือ นำเงินบาทมาซื้อเป็นทองคำแล้วนำกลับประเทศหลักๆก็จะมีสองอย่าง ฉะนั้นถ้าระบบโอนเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่แน่ว่าการซื้อทองคำเข้าประเทศก็อาจจะลดน้อยลงไป


 


นอกจากนี้นายสมชายกล่าวถึงความผันผวนของราคาทำให้ร้านทองมีโอกาสขาดทุนว่าร้านทองแต่ละแห่งจะบริหารจัดการเหมือนเก่าไม่ได้แล้ว เรียกว่าต้องมีระบบการบริหารสต๊อกสินค้าให้สอดรับกับปริมาณความต้องการ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความผันผวนของราคาด้วยไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาการขาดทุนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบ้างที่ร้านมี


 


สต๊อกทองราคาบาทละ 14,000 บาท แต่เมื่อราคาทองลดลงอาจจะต้องยอมขาดทุน แต่ไม่ถึงกับเกิดปัญหาเช่นร้านค้าทองในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะตนก็ระวังในการตัดสต๊อกทองมาก ด้านนายโกวิท ฉิมทับ เจ้าของร้านทองไทยสุวรรณ กล่าวว่ายอดขายทองคำของร้านทองในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยเฉพาะ จ.ระนอง ยอดขายส่วนใหญ่กว่า 60-70% มาจากแรงงานพม่า รวมถึงชาวพม่าที่ข้ามฟากเข้ามาซื้อ ส่วนยอดขายจากคนไทยมีสัดส่วนที่น้อยมาก คนไทยส่วนใหญ่จะนิยมซื้อเฉพาะช่วงเทศกาล หรือซื้อแล้วใช้นาน ส่วนชาวพม่าจะซื้อทันทีที่ได้รับเงินเดือนเพื่อเก็บไว้ เพราะจะง่ายกว่าการเก็บเงินสดไว้กับตัว อีกทั้งราคาทองคำมีความผันผวนน้อยกว่า อีกทั้งหากราคาทองคำปรับราคาสูงขึ้นยังได้กำไรอีกด้วย


 


สำหรับยอดขายทองคำยอมรับว่าช่วงนี้ดีขึ้น หลังจากที่ราคาทองลด ทำให้แรงงานพม่ากลับมาซื้ออีกครั้ง แต่หากราคาทองคำผันผวนมากก็อาจจะไม่ส่งผลดี เพราะผู้ที่ต้องการซื้อจะชะลอการซื้อเพื่อติดตามระดับราคา แต่หากราคาทรงตัวซึ่งคาดว่าในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับบาทละ 13,000-13,500 บาท จะมีผลดีต่อการซื้อขายอย่างแน่นอน แต่หากราคาลดลง หรือเพิ่มขึ้นในลักษณะผันผวนก็อาจจะส่งผลให้เกิดการภาวะชะลอการซื้ออีกครั้ง (ฐานเศรษฐกิจ 28 ส.ค. - 30 ส.ค. 2551)


 


 



  1. ต่างประเทศ


4.1          นักวิชาการแนะไทยใช้อิทธิพลที่มีต่อพม่าเป็นจุดทำให้สหรัฐสนใจ


 


ในการเสวนาและอภิปรายทั่วไปเรื่อง "โอบามา-แมคเคน : ผู้นำสหรัฐคนใหม่กับไทยและอาเซียน" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ นายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย กล่าวว่า ไทยมักมองว่าความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐที่ยาวนาน 175 ปี น่าจะมีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายของสหรัฐต่อไทย แต่สหรัฐไม่ได้มองเช่นนั้น เพราะฉะนั้นหากไทยต้องการให้สหรัฐสนใจ ต้องสร้างอำนาจในการต่อรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพม่า เป็นเรื่องที่ไทยค่อนข้างมีอิทธิพลเพราะเราพูดกับรัฐบาลพม่าได้


 


ดังนั้น ไม่ว่านายบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต หรือนายจอห์น แมคเคน จากพรรครีพับลิกัน ขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐ พม่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ทั้งสองให้ความสนใจ พรรครีพับลิกันจะสนใจเรื่องความมั่นคง กำลังทหาร ประชาธิปไตย ขณะที่พรรคเดโมแครตจะสนใจเรื่องสิทธิสตรี ประชาธิปไตย การใช้แรงงานเด็ก หากไทยช่วยสหรัฐตรงนี้ สหรัฐอาจจะให้ประโยชน์ตอบแทนบางอย่าง เช่น เรื่องเขตการค้าเสรี ขณะนี้พรรคเดโมแครตต่อต้านการค้าเสรีและมีการพูดกันแล้วว่านโยบายการค้ารถปิกอัพ 1 ตัน ที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษในสหรัฐจะต้องยกเลิกไป ทำอย่างไรไทยจึงจะแก้ไขปัญหานี้ถ้าพรรคเดโมแครตเข้ามา


 


ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ ระบุว่า หากมองในแง่ประโยชน์ต่อประเทศไทย ถ้าพรรคเดโมแครตได้เป็นรัฐบาลอาจมีเรื่องจุกจิกกวนใจมากกว่า เช่น การใช้แรงงานเด็ก การอนุญาตให้มีสหภาพแรงงาน และที่สำคัญจะกระทบต่อการส่งสินค้าออกของไทยไปสหรัฐ ไทยจึงต้องดำเนินนโยบายเชิงรุก ต้องสร้างบทบาทต่อรอง และเวทีหนึ่งที่จะทำได้คืออาเซียน อย่างไรก็ดี ข้อดีอย่างหนึ่งหากนายโอบามาได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคือเขาเป็นคนในชนกลุ่มน้อย จะเข้าใจความรู้สึกของคนในกลุ่มด้อยและประเทศด้อยพัฒนา แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐประกอบด้วยประธานาธิบดีและรัฐสภา หากรัฐสภาไม่ใช่พวกเดียวกับประธานาธิบดีก็จะสร้างปัญหาได้เหมือนกัน


 


ส่วนนายฟิล โรเบิร์ตสัน ประธานกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตแห่งสหรัฐต่างประเทศในไทย ชี้ว่า ทั้งนายโอบามาและนายแมคเคน มีนโยบายต่อไทยที่ไม่แตกต่างกันนัก เพราะในนิตยสารฟอเรนแอฟแฟร์สของสภาวิเทศสัมพันธ์สหรัฐ นายแมคเคนกล่าวถึงไทยเพียงแค่เรื่องเขตการค้าเสรี ขณะที่นายโอบามาไม่ได้กล่าวถึงเลย อย่างไรก็ดี ทั้งสองคงจะสานต่อนโยบายในภาพรวมกับไทยและอาเซียนต่อไป เช่น การรวมตัวของอาเซียน ประชาธิปไตยในพม่า การซ้อมรบประจำปี นายโรเบิร์ตสันถือโอกาสนี้โจมตีนายแมคเคน ว่าคงจะสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ชูสหรัฐเป็นมหาอำนาจของโลก


 


ด้านนายเกบ เนวิลล์ สมาชิกรัฐสภารัฐเพนซิลเวเนียจากพรรครีพับลิกันโต้ว่า ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการที่พรรคเดโมแครตต่อต้านเขตการค้าเสรี เนื่องจากต้องเอาใจสหภาพแรงงานที่ไม่สนับสนุนเรื่องนี้ แต่นายแมคเคนไม่มีภาระในเรื่องดังกล่าว และถึงแม้นายโอบามามีนโยบายเปิดกว้างแต่ก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ถึงความสามารถในการตัดสินใจ (สำนักข่าวไทย วันที่ 04/09/2551)


 


..............................................................................



 


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org


สามารถอ่านข่าวย้อนหลังได้ที่


www.oknation.net/blog/burmaissuesnewsline

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net