Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปลจาก

Worse than a coup, The Economist
4 กันยายน 2551

            เราไม่ควรปล่อยให้ม็อบเผด็จการโค่นล้มรัฐบาลที่มีความผิดพลาดอย่างมาก แต่มาจากการเลือกตั้งของมหาชน


            การพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยบางครั้งก็หมายถึงการปกป้องนักประชาธิปไตยที่ไม่เข้าตามากนัก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งมีท่าทางแบบนักเลงโต ก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่เราอาจไม่อยากปกป้องมากนัก สมัครเป็นพวกขวาจัด เขาถูกกล่าวหาว่ายุยงให้ตำรวจและลูกเสือชาวบ้านสังหารนักศึกษาที่ประท้วงโดยไม่มีการใช้อาวุธที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2519 เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยภายหลังรัฐประหารปี 2549 นายสมัครได้เลือกบุคคลที่มีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรเป็นคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่น่าพึงปรารถนาแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ที่ถูกโค่นล้มจากรัฐประหาร แต่คราวนี้เขาตัดสินใจให้ทหารกลับมามีบทบาทในท้องถนนของกรุงเทพฯ อีก แต่อย่างน้อย นายสมัครก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ถือว่าผิดพลาดทีเดียวเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่เรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง


            รัฐบาลของนายสมัครมีข้อผิดพลาดที่ลึกซึ้ง แต่ก็เป็นเรื่องที่ผิดพลาดและอันตรายเช่นกันถ้าปล่อยให้กลุ่มม็อบเผด็จการที่ยึดทำเนียบรัฐบาลมีอำนาจถอดถอนเขาจากตำแหน่ง หลังการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นายสมัครประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ผู้บัญชาการทหารบกสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว แต่จนถึงกลางสัปดาห์ยังคงไม่ตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้ากวาดล้างกลุ่มคนที่ยึดครองทำเนียบฯ ถ้าผู้ประท้วงซึ่งเรียกชื่อตัวเองอย่างผิดๆ ว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกระทำการสำเร็จ ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตย และเคยเป็นความหวังในแง่การเมืองพหุนิยมที่เหนือกว่ามาตรฐานเอเชีย ก็คงต้องตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง


            ผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประกอบด้วยพวกเสรีนิยม ซึ่งไม่พอใจต่อการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ของรัฐบาลทักษิณ ในขณะที่รัฐบาลสมัครก็ไม่ได้ทำสิ่งใดที่เข้าท่ากว่ารัฐบาลชุดก่อน แต่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรกลับไม่ได้เป็นทั้งพวกเสรีนิยมหรือนักประชาธิปไตย ผู้นำเหล่านี้ประกอบด้วยนักธุรกิจ นายพล และชนชั้นสูงในฝ่ายปฏิกิริยาที่น่าขยะแขยง คนพวกนี้ไม่ได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่เพราะพวกเขาก็คงแพ้การเลือกตั้งอยู่ดี แต่เรียกร้องให้มี "การเมืองใหม่" ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นการกลับไปสู่ระบอบปกครองเผด็จการแบบเก่า โดยสมาชิกสภาส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง และทหารสามารถใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองได้ตามอำเภอใจ คนพวกนี้อ้างว่าคนส่วนใหญ่ในชนบทซึ่งภักดีต่อทักษิณและสมัครเป็นพวกมี "การศึกษาต่ำ" เกินไปจนไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้อย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นการมองข้ามความจริงที่ทำให้ไม่สบายใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ว่า นายกรัฐมนตรีสองคนที่ผ่านมาได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งก็เพราะนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการสาธารณสุขในราคาถูกและการให้เงินกู้


            พระราชวังและเส้นทางสู่หายนะแบบพม่า
           
เช่นเดียวกับการลุกฮือที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ พยายามขับไล่รัฐบาลประชานิยมโดยอ้างว่าเป็นการ
"กู้ชาติ" อ้างว่าเป็นการพิทักษ์พระเจ้าอยู่หัวให้ปลอดพ้นจากแผนการทำลายของฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐ มีรายงานข่าวว่าผู้ประท้วงในกลุ่มพันธมิตรเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่าในหลวงสนับสนุนพวกเขา ไม่เช่นนั้นแล้วตำรวจก็คงเข้ามาสลายการชุมนุมไปซึ่งอาจจะต้องใช้กำลังไปแล้ว และเป็นที่กระซิบกันในหมู่ผู้ประท้วงว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ได้รับการคุ้มครองจาก "คนในเบื้องสูง" ทั้งทหารระดับนายพลขวาจัดและยังอาจมีเชื้อพระวงศ์บางคนด้วย (ซึ่งอาจไม่รวมถึงพระเจ้าอยู่หัว) คำร่ำลือเช่นนี้อาจฟังดูไร้เหตุผล แต่การมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดและถูกใช้อย่างผิดๆ เป็นเหตุปรามให้ไม่มีการพูดคุยและการปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับสถาบันเหล่านี้ แถมยังช่วยกระพือข่าวออกไปอีก


            ตามประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของชาติไทยสมัยใหม่ พระเจ้าอยู่หัวได้รับยกย่องในฐานะผู้พิทักษ์สันติภาพและประชาธิปไตย กล่าวกันว่าพระองค์มีบทบาทช่วยคลี่คลายวิกฤตหลายครั้ง และสถานการณ์ในตอนนี้ก็เป็นวิกฤตเช่นเดียวกับคราวก่อนๆ เชื่อกันว่าพระราชดำรัสที่ชาญฉลาดของพระองค์จะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดได้มาก คนไทยเชื่อว่าตนเองเก่งกาจในการประนีประนอมและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แทบไม่มีสัญญาณของการประนีประนอมเลย และถ้าจะมีทางเลือกของการประนีประนอมในตอนนี้ก็คงเป็นทางเลือกที่เลวร้ายมาก ซึ่งอาจหมายถึงการบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องออกจากตำแหน่ง เพื่อเอาใจผู้นำที่ชอบยุยงปลุกปั่นของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือรัฐบาลอาจถูกบังคับให้ต้องเสียสละอำนาจบางส่วนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่แทบไม่มีบทบาทอะไร และพรรคฝ่ายค้านเองก็แทบไม่ได้แสดงภาวะผู้นำ เพียงแต่รอให้คนอื่นเอาอำนาจมาให้ ในทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นในบังคลาเทศ ซึ่งมีการอ้างฐานมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเผด็จการทหาร


            อาจเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่านายสมัครอาจเปิดทางให้กับบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับมากกว่า และมาจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแทนตน ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรและฝ่ายที่สนับสนุนในกองทัพ ฝ่ายราชการ และฝ่ายในวัง (ถ้าพวกเขามีส่วนร่วมจริง) จะยอมรับมติของประชาชน แต่ถึงอย่างนั้นผู้นำพันธมิตรก็อาจยังไม่ยุติการเคลื่อนไหวจนกว่าจะผลักดันวาระซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเลยให้เกิดขึ้นจนสำเร็จในประเทศไทย ถ้าเป็นเช่นนั้น คนกลุ่มนี้จะยิ่งมีความเลวร้ายมากกว่าพวกที่ทำรัฐประหารในปี 2549 อีก เพราะอย่างน้อยทหารให้สัญญาว่าจะฟื้นฟูระบอบปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง และจากแรงกดดันของประชาชนก็ได้ทำเช่นนั้นจริง


            ประเทศไทยซึ่งมีความเจริญ ทันสมัย และเป็นสังคมเปิดได้พัฒนาเข้าสู่อีกยุคหนึ่งซึ่งต่างจากยุคมืดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ซึ่งประชาชนต้องทนทุกข์ทรมานกับระบอบปกครองของทหารแบบอันธพาลและแยกตัวจากสังคมโลก เพื่อนต่างชาติของประเทศไทยจะต้องแสดงจุดยืนให้ชนชั้นนำของไทยทราบว่า การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ในทำนองเดียวกับประเทศพม่า สถานการณ์เช่นนั้นจะทำให้เกิดมาตรการแทรกแซงเพื่อลงโทษไทยได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งรับชมภาพความไร้ระเบียบที่ปราศจากการควบคุมในจอโทรทัศน์ อย่างเช่น การรวมตัวปิดสนามบินบางแห่ง ก็อาจจะคว่ำบาตรไม่มาท่องเที่ยวในเมืองไทยด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net