กทช.แจงมูลเหตุจับวิทยุชุมชนไทรโยคน้อย พร้อมร่วมแก้ปัญหาช่วงสุญญากาศทางกฎหมาย

วานนี้ (5 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดยมีนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการฯ เป็นประธานในที่ประชุม มีตัวแทนวิทยุชุมชนกว่า 20 คนร่วมฟัง พร้อมเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เข้าร่วมพูดคุย เพื่อชี้แจงกรณีการจับกุมและยึดเครื่องส่งของวิทยุชุมชนไทรโยคน้อย จ.กาญจนบุรี

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ..2551 เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชน ตั้งอยู่ที่บ้านไม่มีเลขที่ ตรงข้ามบ้านยาวีรีสอร์ท หมู่ 3 .ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี โดยจับกุมนายวสันต์ ปานเรือง ประธานสถานีวิทยุชุมชนไทรโยคน้อย และยึดอุปกรณ์รวม 7 รายการ

 

โดยแจ้งข้อกล่าวหารวม 4 ข้อหา คือ มีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นรวบรวมข้อมูลส่งอัยการเสนอสั่งฟ้อง

 

นายบุญโชค รุ่งโชติ ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการในกรณีการจับกุมวิทยุชุมชนไทรโยคน้อยว่า จากผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศว่ามีการส่งคลื่นสัญญาณรบกวนการบิน พบว่าสถานีวิทยุดังกล่าวรบกวนต่อการวิทยุคมนาคม และก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือให้ระงับการส่งกระจายเสียง เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไข แต่ภายหลังเมื่อมีการตรวจสอบก็ยังพบว่าสถานีวิทยุดังกล่าวยังมีการส่งคลื่นสัญญาณที่รบกวนการบินอยู่ จึงได้ดำเนินการจับกุมและยึดเครื่องส่งดังกล่าว

 

ทั้งนี้ สถานีวิทยุกำลังส่งเพียง 30 วัตน์ ดังเช่นของวิทยุชุมชนไทรโยคนั้นสามารถทำความรบกวนการบินได้ และมีผลการตรวจพบซึ่งสามารถอธิบายได้ทางเทคนิค แต่อย่างไรก็ตามการใช่เครื่องส่งราคาถูกก็อาจเป็นปัญหาเพราะมีผลกระทบต่อการส่งทำให้ไม่คงที่และอาจไปซ้อนทับกับคลื่นอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตามนายบุญโชคได้แสดงความเห็นใจต่อทุกฝ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการจับกุมวิทยุชุมชน อีกทั้งยังกล่าวว่า องค์กร และกฎระเบียบต่างๆ มีไม่ทันกับความเจริญรุดหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดปัญหาต่างๆ และ กทช.เองก็พึงดำเนินการมาได้เพียงสามปีกว่า ในขณะที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ยังไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา ทำให้เห็นได้ว่าคนรับผิดชอบเกิดไม่ทันกับกรณีต่างๆ ที่มี ทั้งนี้โดยภาพรวมไม่มีใครผิดใครถูก แต่เพราะยังมีช่องว่างในการจัดการ

 

นายบุญโชคกล่าวต่อมาว่า จากการสำรวจในประเทศไทยมีสถานีวิทยุชุมชนกว่า 3,900 สถานี ซึ่งอาจมีมากกว่านั้นในพื้นที่ห่างไกลที่การสำรวจไปไม่ถึง และเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับองค์กรที่จะมารับผิดชอบในการดำเนินการจัดสรรใบอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ที่ผ่านมา กทช.จึงไม่ได้มีการดำเนินงานที่เข้มงวดเด็ดขาดกับผู้ไม่มีใบอนุญาต แต่มุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยในการบินเป็นสำคัญ เพราะหากเกิดปัญหาอาจส่งเสียหายต่อปีประเทศอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นจึงมีนโยบายผ่อนปรนให้กับการกระจายเสียงทั่วๆ ไปที่ไม่กระทบต่อการบิน

 

ที่ผ่านมา พบว่ามีวิทยุชุมชนกว่า 90 สถานี ที่มีการกระจายเสียงรบกวนคลื่นวิทยุการบิน และได้มีการสั่งระงับให้ไปดำเนินการแก้ไข แต่หากมีการตรวจซ้ำแล้วพบว่ายังมีการกระจายคลื่นที่ส่งผลกระทบก็จะให้มีการดำเนินการส่งฟ้องศาล และจากสถิติในปี 2548-2551 พบว่ายังมีการส่งคลื่นสัญญาณที่รบกวนการบินหลังมีการสั่งระงับให้แก้ไข 54 ราย ซึ่งผู้ปฎิบัติการระดับล่างก็ต้องดำเนินการต่อไปตามนโยบาย

 

นายราเมศ พิทยาภินันท์ คณะทำงาน ผู้บริหารระดับต้น สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กล่าวเสริมว่า การดำเนินการของ กทช.เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่างในการขอหมายค้น จับกุม และยึดเครื่อง โดยมีมูลเหตุหลักคือการการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม โดยใช้มาตรา 15 พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ในการให้ระงับการดำเนินการ

 

โดยไม่ว่าวิทยุชุมชน วิทยุคลื่นความถี่หลัก หรือการทำงานของเครื่องจักร หากก่อให้เกิดการรบกวนก็สามารถให้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวได้ แม้ว่าจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หรือในอนาคต พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จะมีการบังคับใช้ก็ตาม

 

ในส่วนการช่วยเหลือ ขณะนี้ภายใน กทช.เองก็ได้มีข้อเสนอบรรจุไว้ในวาระการประชุมของ กทช. ในวันที่ 16 ก.ย.ที่จะถึงนี้ ให้มีการนำกรณีรบกวนการบินที่เดิมต้องส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีมาปรับเปลี่ยนเป็นใช้อำนาจเปรียบเทียบปรับ และจะมีกระบวนการดูเหตุลดหย่อนเป็นรายกรณี ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลดหย่อนบรรเทาค่าใช้จ่ายและเวลาได้

 

แต่ในส่วนของกรณีวิทยุชุมชนไทรโยคน้อยนั้น ทาง กทช.ได้ส่งเรื่องเขาสู่กระบวนการสอบสวนแล้ว การดำเนินการต่อไปในอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงาน ซึ่งจะมีการสอบสวนและส่งต่อให้อัยการเพื่อพิจารณาเสนอส่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ แต่ทาง กทช.ไม่สามารถถอนฟ้องคดีได้ เพราะคดีนี้ถือเป็นความผิดทางอาญา

 

นายวสันต์ ปานเรือง ประธานสถานีวิทยุชุมชนไทรโยคน้อย ผู้ถูกจับกุมจากกรณีดังกล่าว กล่าวว่าการก่อตั้งวิทยุชุมชนไทรโยกน้อยเป็นความตั้งใจที่จะสร้างประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริงและสร้างด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับใช้ชุมชนในการติดต่อสื่อสารให้ข้อมูลแก่คนในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลและการเดินทางลำบาก แต่การที่ต้องมาถูกดำเนินคดีทั้งที่สถานีวิทยุมีความถี่เพียง 30 วัตน์ และสูงเพียง 30 เมตร ทั้งที่ในพื้นที่ใกล้เคียงยังมีสถานีที่กำลังส่งสูงกว่า ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องความถูกต้องชอบธรรมในการจับกุม

 

ทั้งนี้ นายวสันต์เล่าว่าที่ผ่านมาในการต่อสู้เรื่องคดีความ ทำให้ชีวิตต้องประสบกับความลำบากทั้งเรื่องการเดินทาง ค่าใช่จ่าย และสภาพจิตใจที่ย่ำแย่

 


นายบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี ประธานกลุ่มปฏิรูปสื่อจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การที่คนทำวิทยุชุมชนต้องตกเป็นจำเลย ต้องถูกเอาตัวไปขึ้นศาล ไปติดคุกมันคือความเดือดร้อน และเป็นความเจ็บปวดของคนทำงานอาสาสมัคร ที่เข้ามาทำงานนี้เพราะความต้องการที่จะพัฒนาสังคม ซึ่งในความเป็นจริงคนทำวิทยุชุมชนที่เข้ามาทำงานกันด้วยจิตสำนึกนั้นมีไม่มาก นอกนั้นจะเป็นการแอบแฝงด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ ทางการเมือง แต่ที่ผ่านมาวิทยุชุมชนโดยเนื้อแท้เหล่านี้กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากกระบวนการต่างๆ ของรัฐเลย


 

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการฯ และทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่าในช่วงสุญญากาศนี้ กทช.ควรระบุข้อกล่าวหาให้ชัดเจน หากว่ามูลเหตุหลักคือการการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมก็ควรระบุไปเช่นนั้น เพราะในกรณีวิทยุชุมชนไทรโยคน้อยได้มีการระบุฐานความผิดในมาตรา 6 พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ในเรื่องการมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต เข้าไปด้วย ทำให้วิทยุชุมชนสู้ยังไงก็ผิด เพราะส่วนใหญ่ต่างไม่มีอนุญาต และกำลังรอการพิจารณา

 

นอกจากนี้ยังได้ฝากไปยัง กทช. เกี่ยวกับใช่ช่วงเปลี่ยนผ่านของกฎหมาย ที่จะต้องมีการจัดระเบียบเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าร่างที่มีอยู่มีบทกำหนดโทษสูง และจะปัญหาสำหรับวิทยุชุมชนที่ไม่มีทุน หรือภาคการเมืองหนุนหลัง เพราะชาวบ้านไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวได้ อีกทั้งในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านอาจไม่ได้รับขอมูลอย่างทันท่วงที จึงขอให้ กทช.เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาในส่วนดังกล่าว

 

ด้านนายวิทยา ปะดุกา คณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากการพูดคุยเรื่องเทคนิคดูเหมือนจะเป็นสาเหตุของปัญหา ซึ่งหากว่าไม่สามารถแก้ไขในส่วนนี้ได้ก็จะทำให้มีรายต่อๆ มาอีกเรื่อยๆ ในขณะที่ กทช.เองก็ไม่ได้มีบุคลากรมาช่วยเหลือดูแลตรงนี้มากนัก ทำให้ต้องมองต่อไปถึงการจัดการในอนาคต และหากจะมาอ้างเรื่องเทคนิคกับชาวบ้านทุกกรณีก็ไม่เป็นธรรม ซึ่งวิทยุชุมชนไทรโยคเป็นกรณีตัวอย่างที่จะได้เรียนรู้ปัญหาร่วมกันกับฝ่ายการเมือง ซึ่งก็คือ สว.เพื่อนำไปแก้ไขในภาพใหญ่

 

ทั้งนี้การแก้ปัญหาตองอาศัยมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต ซึ่งการเปรียบเทียบปรับเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ เพราะการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีแต่จะสร้างความแตกแยก นอกจากนี้การลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับสถานศึกษาเพื่อถ่ายทอดข้อมูลความรู้ และทำงานร่วมกัน อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยย่นระยะเวลาในการผลิตบุคคลากรทางเทคนิคได้

 

หลังการเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม นายพิรุณ ฉัตรวนิชกุล คณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมในช่วงหลังต่อจากนายนายประสาร มฤคพิทักษ์ ที่ติดภารกิจ กล่าวว่า จากข้อมูลของผู้มาร่วมชี้แจงที่ว่าจะมีการยื่นเสนอนโยบายผ่อนปรนในเรื่องที่จะไม่ให้กระบวนการดังกล่าวไม่ต้องมีการส่งฟ้องศาล แต่ให้เป็นการเปรียบเทียบปรับโดย กทช. ซึ่งหากข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ อาจมีประโยชน์ให้อัยการส่งไม่ฟ้อง หรืออาจสามารถส่งเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาในชั้นศาลได้ในคดีดังกล่าว

 


เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ทางอนุกรรมาธิการฯ จะมีการส่งจดหมายถึงประธานและคณะกรรมการ กทช.เพื่อสนับสนุนและขอให้เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน ภายในสัปดาห์หน้าก่อนวันพฤหัสบดี เมื่อที่ประชุมกทช.มีมติเห็นชอบให้กทช.เป็นผู้จัดการเปรียบเทียบปรับกรณีการจับกุมฯ  ให้กทช.เร่งทำหนังสือแจ้งมติดังกล่าวต่ออัยการในทันที เพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อไปในชั้นศาล พร้อมทั้งให้นายวสันต์ ติดต่อศูนย์ดำรงค์ธรรมในจังหวัดของตน เพื่อร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ด้วยความเป็นธรรม และส่งความคืบหน้าของคดีมายังคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อติดตามผล

 


นายพิรุณยังกล่าวด้วยว่า เจตนาของการดำเนินงานของวิทยุชุมชนน่าจะได้รับการใส่ใจ อีกทั้งในส่วนการใช้มาตรการทั้งทางบวกและทางลบ กับผู้กระทำผิดก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับในระดับผู้อำนวยการ ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อกันได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท