Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ชาญชัย ชัยสุขโกศล


นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ


อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสันติภาพและสันติวิธีศึกษา
ศูนย์ศึกษาและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล


 


 


หมายเหตุ : บทความนี้มิได้ต้องการเสนอทางออกเฉพาะหน้าต่อวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน เพราะผู้เขียนไม่มีความรู้มากพอ แต่อยากชวนผู้อ่านมานึกคิดกันถึงโจทย์ที่กว้างขึ้น ที่สะท้อนจากวิกฤตการเมืองไทยในครั้งนี้


********************


 


 


สังคมการเมืองไทยขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะอะไรกันแน่?


 


ถ้าให้คุณอธิบายหรือ "เล่าเรื่อง" ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ให้ใครซักคนหนึ่งฟัง คุณจะ "เล่า" เรื่องนี้ในลักษณะอย่างไร? ที่สำคัญ คือ พล็อตหรือเค้าโครงการเล่าเรื่องที่ใช้นั้น คุณคิดว่ามันจะพาเราและสังคมการเมืองไทยไปทางไหน? ไปได้ไกลแค่ไหน?


 


...หรือไม่ได้ไปไหนเลย


 


โดยปกติ ผมเห็นว่าแนวการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางการเมืองแบบวิเคราะห์เชิง "เกมส์อำนาจ" ของผู้นำ หรือการชิงไหวชิงพริบแต่ละฝ่าย พร้อมด้วยผู้หนุนหลัง และตัวละครอื่นๆอีกมากมาย นั้น มีประโยชน์ในหลายสถาน เพราะแม้จะดูเป็นด้านมืดสักหน่อย แต่มันเป็นตัวขับเคลื่อนการเมืองในโลกจริง


 


แต่ขณะนี้ ดูเหมือนว่าเราจะเอ่อท้นไปด้วยแนวการวิเคราะห์เช่นนี้มากเกินไป จนไม่สามารถมองเห็นโลกในด้านอื่นๆได้มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงทางสังคมการเมือง มักมีด้านอื่นๆอีกมากมายมหาศาลเสมอๆ


 


พูดอีกอย่าง คือ เรากำลังตั้งโจทย์อะไรต่อความขัดแย้งในการเมืองไทยปัจจุับัน คำถามแบบไหนที่เราตั้งขึ้น คำถามเหล่านี้พาเราไปสู่คำตอบแบบไหน คำตอบนั้นดูดีมีอนาคตสดใสเพียงใด หรือมีแต่พาให้เราหดหู่ เศร้าหมอง รู้สึกไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนัก


 


ที่สำคัญ คือ เราสามารถตั้งโจทย์แบบอื่นๆต่อการเมืองไทยปัจจุบันได้หรือไม่? มีแนวการเล่าเรื่องแบบอื่นๆอีกได้หรือไม่? ที่ทำให้เราสามารถเห็นโลก (การเมืองไทย) ได้รุ่มรวยกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งยังชวนให้เราสามารถทำอะไรกับสถานการณ์ได้บ้าง


 


ผมเห็นว่าหลายปีมานี้ การเมืองไทยถูกขับดันไปจนสุดขอบความรู้เท่าที่เราพอจะมีกันอยู่ และสังคมไทยก็ได้ใช้ปัญญาในการกำกับ ยับยั้ง และหาทางออกให้กับการเมืองไทยอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนเรายังคงคว้าไม่เจอ "โจทย์" ที่ดูจะมี "พลังในการอธิบาย" ได้อย่างน่าพึงพอใจมากนัก 


 


ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ัรัฐศาสตร์ที่ออกมาอธิบายว่าปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับปัญหาในระดับพื้นฐานของระบบการเมือง ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันคือปัญหาว่าด้วยเรื่องคุณค่า ความหมาย และที่มาของความชอบธรรมในลักษณะต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งกับประชาธิิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือระหว่า้่งการเมืองแบบในรัฐสภากับการเมืองนอกสภา


 


ที่มาของความชอบธรรมในระบบการเมืองหนึ่งๆนั้น มีได้หลากหลาย ทั้งที่มาจากการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สามารถแก้ปัญหาปากท้องให้ผู้คนได้ ความชอบธรรมที่ได้มาจากคะแนนเสียงในระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง หรือความชอบธรรมจากการเข้าร่วมอย่างแข็งขันของพลเมือง ในฐานะที่รับผิดชอบโดยตรงต่อระบบการเมืองของตน อันเป็นฐานที่มาของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือแม้แต่ความชอบธรรมของการเมืองนอกสภาที่เกิดขึ้นเพราะการเมืองในสภาไม่สามารถธำรงบรรทัดฐานความถูกต้องของสังคมไว้ได้ และยังมีที่มาของความชอบธรรมอีกมาก เช่น จากอำนาจประเพณี บารมี การใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรง เ็ป็นต้น


 


โจทย์ใหญ่ของเราในขณะนี้ คือ ที่ผ่านมา เราเผชิญกับการปะทะกันของความชอบธรรมหลากหลายชนิด โดยไม่รู้ว่าควรจัดลำดับความสำคัญของความชอบธรรมแต่ละชนิดไว้ก่อนหลังอย่างไร และผู้ที่ยึดกุมความชอบธรรมแต่ละชนิดนั้น ควรเอื้ออาีรีต่อผู้ยึดกุมความชอบธรรมแบบอื่นๆอย่างไร


 


ตัวอย่างง่ายๆก็เช่น น้ำหนักเหตุผลและความชอบธรรมที่ให้ต่อความห่วงใยในภาพลักษณ์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศนั้น จะจัดวางความสัมพันธ์กับความไม่ชอบธรรมจากปัญหาปากท้อง ปัญหาคอร์รัปชั่น ตลอดจนปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ของประเทศอย่างไร?


 


ในทางการเมืองนั้น เรากำลังอยู่ในภาวะที่การเมืองในสภาเสื่อมความชอบธรรมลงไปมาก อันเป็นผลจากความไร้ประสิทธิภาพและคอร์รัปชั่นมากมายหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองนอกสภานั้น ค่อยๆเข้มแข็งมากขึ้นๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังปีสามสี่ปีมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครือข่ายสื่อเป็นเนื้อเดียวกับ หรือกระทั่งเป็นผู้นำของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเองด้วยซ้ำ การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งและขยายตัวอย่างล้มหลามจนน่าตกใจ เพราะบางครั้งดูจะล้ำเส้นไปบ้าง กลายเป็นดุดัน บางครั้งถึงขั้นก้าวร้าว ก่อให้เกิดความเกลียดชังแพร่สะพัด กระทั่งปริ่มๆว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม นี้ก็ยังสามารถถือได้ว่าการเมืองภาคประชาชนของไทยก้าวหน้าไปมาก  และที่น่าสนใจ ก็คือ เราจะสามารถ "ต่อยอด" ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างไร?


 


ดังนั้น โจทย์ใหญ่ทางการเมืองปัจจุบัน คือ เราจะจัดลำดับความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองในสภาและการเมืองนอกสภาอย่างไร? การเมืองนอกสภา ควรไปไกล (อาจรวมทั้งดุดัน) มากน้อยเพียงใด? ความชอบธรรมของการเมืองในสภาควรอยู่ในขอบเขตระดับใด? เมื่อใดที่การเมืองในสภาหมดความชอบธรรม และต้องหลีกทางให้การเืมืองนอกสภา?  และเราจะสร้างพื้นที่ให้มากขึ้นให้คนกลุ่มต่างๆสามารถใช้การเมืองนอกสภาเป็นหนทางรักษาความถูกต้องและความเป็นธรรมของสังคม (โดยเฉพาะเมื่อการเมืองในสภาไม่สามารถทำงานได้) ได้อย่างไร?


 


กล่าวอีกนัยหนึ่ง  เราน่าจะชวนกันตั้งโจทย์ว่า เมื่อเกิดสภาวะที่สังคมไม่สามารถดำเนินไปตามกระบวนการทางการเมืองปกติ (ซึ่งยืนอยู่บนความสัมพันธ์ของคุณค่าและที่มาของความชอบธรรมต่างๆในลักษณะหนึ่ง ที่อาจให้น้ำหนักกับการเมืองในสภาและเศรษฐกิจปากท้อง หรือภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศ ก็ตามแต่) เราควรจัดลำดับความสัมพันธ์ของคุณค่าต่างๆเหล่านี้ "ใหม่" อยางไร?  เช่น อาจต้องยอมให้เศรษฐกิจการลงทุนพร่องไปบ้าง  บนฐานของความเห็นใจ ว่าคนที่ออกมาเรียกร้องนั้น เขาคงมีปัญหาจริงๆ (อาจจะหลังจากพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อยู่มานานจริง ยอมทนลำบาก ตากแดด ตากฝนจริงๆ เพราะการเมืองนอกสภานั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครนึกจะเคลื่อนไหว ก็ทำได้ง่ายๆ)


 


เหล่านี้คือโจทย์ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการพยายาม "อธิบาย" หรือ "เล่าเรื่อง" การเมืองไทยในปัจจุบันได้อย่างรุ่มรวยหลากหลายและดูมีที่ทางให้เราได้ทำอะไรกันได้มากขึ้น กว่าแนวการเล่าเรื่องแบบที่เป็นๆกันอยู่


 


***************************


 


หมายเหตุ : หลังจากเกิดเหตุการณ์พันธมิตรบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และรัฐบาลเองก็ดูมีท่าทีแข็งกร้าว ขู่จะใช้ความรุนแรงและจะสลายการชุมนุมอยู่ตลอดเวลา จนดูเหมือนสังคมไทยกำลังเข้าใกล้วิกฤตความรุนแรงมากขึ้นเรือ่ยๆ  ผมเขียนบทความนี้ขึ้นหลังได้จากได้รับการเตือนสติเกี่ยวกับวิธีการมองปัญหาและจุดประกายประเด็นที่ควรคิดจาก ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย แห่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เพื่อเป็นฐานในการร่วมคิดกันต่อไปว่าเราสามารถทำอะไรในเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองไทยปัจจุบันได้บ้าง  ความดีอันใดหากเกิดขึ้นจากบทความนี้ ขอยกให้ปกรณ์ ความผิดอันใดที่อาจเกิดขึ้น ผมขอรับไว้เอง


 


 


 


เขียน ณ มหาวิทยาลัยวูลองกอง ออสเตรเลีย


29 สิงหาคม 2551 02:47

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net