ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐมนตรีรักษาการได้

เมื่อเวลา 15.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นนั่งบัลลังก์ เริ่มอ่านคำวินิจฉัยคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กรณีดำเนินรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยงหกโมงเช้า" ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91

 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ว่า นายสมัครมีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 คือเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย และ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ที่ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ให้รัฐมนตรีทุกคนนั่งรักษาการ ตาม มาตรา 181

 

โดยคำตัดสินของศาลวินิจฉัยตีความว่าไม่ได้ตีความว่านายสมัครไม่ได้เป็นลูกจ้าง "ลูกจ้าง" ตามที่ฝ่ายผู้ถูกร้องยกกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ผู้ถูกร้องยก แต่ศาลตีความคำว่า "ลูกจ้าง" อย่างกว้างเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยศาลให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การปกครองประเทศ และพื้นฐานการดำเนินการของรัฐ ดังนั้น คำว่าลูกจ้างตามความหมายของรัฐธรรมนูญ จึงมีความหมายกว้างกว่ากฎหมายอื่น นอกจากนี้ ตามพจนานุกรมได้ให้ความหมายคำว่า "ลูกจ้าง" ว่าหมายถึง ผู้รับจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งนายจ้างตกลงให้ทำงาน โดยไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม

 

ศาลยังพิเคราะห์ว่าผู้ถูกร้องเป็นพิธีกรรายการ "ชิมไปบ่นไป" เมื่อวิเคราะห์กิจการงานหลายปี พบว่าบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ประกอบกิจการเพื่อมุ่งหากำไร และผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจ โดยเมื่อผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีความสัมพันธ์อยู่ในขอบเขตของข้อห้ามตามมาตรา 267

 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ผู้ถูกร้องกระทำตามข้อต้องห้ามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ทำให้คุณสมบัติสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (7) โดยเมื่อคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุด จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีต้องพ้นคุณสมบัติตามไปด้วย ทำให้รัฐมนตรีที่เหลือยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีรัฐมนตรีชุดใหม่มาทำงาน

 

สำหรับขั้นตอนต่อไป สภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 30 วัน และนายสมัครสามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งได้

 

โดยบรรยากาศการชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาล ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่างโห่ร้องยินดี อย่างไรก็ตามแกนนำพันธมิตรยืนยันว่าจะยังไม่ออกจากทำเนียบรัฐบาล เพราะต้องดูว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ด้าน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง ส.ส.พรรคพลังประชาชนยืนยันว่าจะสนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะนายสมัครไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการขาดคุณสมบัติไม่ใช่เรื่องของการทุจริต

 

สำหรับรายละเอียดคำตัดสินจะนำเสนอต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท