Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชำนาญ  จันทร์เรือง


 


ชื่อณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสงค์ คงไม่เป็นคุ้นหูหรือเป็นที่รู้จักเท่ากับสมัคร สุนทรเวช หรือสนธิ ลิ้มทองกุลและจำลอง ศรีเมือง เพราะณรงค์ศักดิ์เป็นเพียงเบี้ยตัวเล็กๆที่ตกเป็นเหยื่อของความบ้าคลั่งทางการเมืองจนสูญเสียชีวิตด้วยการถูกตีด้วยของแข็งที่ศีรษะและร่างกายบาดเจ็บสาหัส และสิ้นใจในที่สุด


 


ณรงค์ศักดิ์ อายุ ๕๕ ปี พื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอพุทไธสงค์ จ.บุรีรัมย์ ต่อมาครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่กาญจนบุรี แต่ณรงค์ศักดิ์เดินทางเข้ากรุงเทพฯตั้งยังหนุ่ม โดยประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปบ้าง ค้าขายบ้าง ณรงค์ศักดิ์เป็นผู้ที่ชื่นชอบการเมืองเป็นชีวิตจิตใจโดยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองอยู่เสมอ   ไม่ว่าการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร ๑๙ กันยา ล่าสุดคือการเข้าร่วมการชุมนุมของ นปช.และเสียชีวิตอย่างทารุณในที่สุด


 


การเสียชีวิตของเขาไม่มีปรากฏการณ์แสดงออกถึงความรับผิดชอบจากใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือแกนนำ นปช.ที่นำขบวนไปปะทะกันกับฝ่ายพันธมิตรฯ จนศพถูกทิ้งอยู่ในสภาพของศพไม่มีญาติอยู่ในระยะหนึ่งก่อนที่จะมีญาติของณรงค์ศักดิ์ที่มาจากกาญจนบุรีเข้ามาติดต่อขอรับศพที่วชิระพยาบาล นปช.ถึงเข้าไปรับผิดชอบแต่ก็รับผิดชอบแต่เพียงการไปเป็นเจ้าภาพงานศพในบางส่วนเท่านั้น


 


อันที่จริงแล้วการเสียชีวิตของณรงค์ศักดิ์ในครั้งนี้ผู้ที่จะต้องร่วมรับผิดมีมากกว่าผู้ที่ทำร้ายณรงค์ศักดิ์หรือ แกนนำ นปช.ที่นำขบวนไปต่อสู้กันอย่างน้อยอีก ๓ กลุ่ม  คือ


 


๑) พันธมิตรฯ ซึ่งปลุกระดมให้มีการชุมนุมจนถึงกับยึดทำเนียบรัฐบาลเพื่อสนองตัณหาของตนเองที่ต้องการล้มรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบบการเมืองใหม่ที่ล้าหลังและคลั่งชาติ มีการปลุกระดมจนสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรฯได้กลุ้มรุมทำร้ายณรงค์ศักดิ์จนตายโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองโดยส่วนตัวมาก่อน


 


มีการยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเพื่อที่จะเชื่อมต่อสัญญาณเอเอสทีวีพร้อมทั้งมีการทุบทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพันธมิตรฯเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการคุกคามและทำร้ายสื่ออย่างอย่างรุนแรง


 


มีการปรับเปลี่ยนข้อเรียกร้องตลอดเวลาทำให้ถูกมองว่าไม่มีจุดยืน ล่าสุดแกนนำพันธมิตรฯออกมาประกาศว่า แม้ว่ารัฐบาลจะลาออกก็จะยังไม่ยุติ จะคอยดูว่ารัฐบาลใหม่เป็นไปตามที่ตนต้องการหรือไม่


 


๒) รัฐบาล โดยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้า ที่ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจนเกิดเหตุจลาจล ทั้งๆที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เลือกเข้าไปเป็นรัฐบาลแต่ไม่มีน้ำยาแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อย  มิหนำซ้ำยังราดน้ำมันลงบนกองไฟอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนเหตุการณ์ บานปลาย


 


เหตุการณ์ยึดทำเนียบรัฐบาลนี้หากเป็นที่สหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเรา อย่าว่าแต่การบุกเข้าไปยึดทำเนียบขาวเลยครับ แค่เข้าใกล้เกินกว่าเขตที่หวงห้ามก็ถูกจัดการไปเรียบร้อยโดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการตำหนิว่าใช้ความรุนแรง


 


การใช้ไม้กระบองหรือแก๊สน้ำตาแม้กระทั่งการใช้น้ำฉีดเป็นเรื่องปกติของการปราบจลาจลหรือการกระทำที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองจนถึงขั้นทุบทำลายและยึดสถานที่ราชการ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลเป็ดง่อยที่รักษาแม้แต่ทำเนียบที่เป็นบ้านของตนเองไว้ยังไม่ได้ไปทำไม


 


การขาดการตัดสินใจที่เด็ดขาด โลเล และหูเบา ดังจะเห็นได้จาการที่มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย(นายพงศ์โพยม วาศภูติ)ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒ กันยายนที่ผ่านมา โดยอ้างว่าไม่สนองนโยบาย แต่ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงเมื่อถูกท้วงติงก็ฉีกคำสั่งนั้นทิ้งไปเสียเฉยๆโดย     ไม่ออกคำสั่งยกเลิก ทั้งๆที่เป็นคำสั่งราชการที่การออกคำสั่งและการยกเลิกต้องทำโดยกระบวนการที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบงานสารบรรณฯ


 


ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากนายสมัครมีความสำนึก มีภาวะผู้นำ และเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่กล่าวอ้างอยู่เสมอ สมควรที่จะพิจารณาตัวเองหรือพิจารณาตัดสินใจภายใต้อำนาจที่ตนเองสามารถทำได้ตามกฎหมายและชอบธรรม เช่นการยุบสภาหรือลาออก แต่หากเห็นว่าการลาออกจะทำให้ดูว่าเป็นการพ่ายแพ้และเสียระบบ ก็ต้องเลือกวิถีทางของการยุบสภาเพื่อคลี่คลายปัญหา มิใช่การดึงดันที่จะทำประชามติเพื่อยืดเวลาออกไปเพราะสถานการณ์ขณะนี้เกินเลยกว่าที่จะโยนภาระไปให้ใครได้อีกแล้ว


 


๓) สื่อสารมวลชน ที่ไม่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของการนำเสนอข่าวที่เที่ยงธรรม มีการลำเอียง เลือกเสนอข่าวด้านบวกของฝ่ายที่ตนชอบ เสนอข่าวด้านลบของฝ่ายที่ตนไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชนประเภทวิทยุและโทรทัศน์ทั้งของรัฐและเอกชน แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์เองหรือสื่อออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ตและข่าวทางเอสเอ็มเอสก็ตาม ที่ตำหนิแต่การใช้ความรุนแรงของภาครัฐ แต่ไม่ตำหนิการใช้ความรุนแรงของภาคเอกชน ทั้งๆที่สร้างความเสียหายให้แก่สังคมไทยอย่างมหาศาลเช่นกัน


 


ในเรื่องของความอคตินี้มีมาตั้งแต่ตอนก่อนรัฐประหารโดย  บรรดาสื่อและชนชั้นกลางได้สร้างภาพลบต่อมวลชนของฝ่ายที่เชียร์ทักษิณ โดยมองว่าพวกเขาถูกชักจูงง่าย โง่ เถื่อน ถ่อย เป็นสุนัขรับใช้นักการเมือง ฯลฯ


 


ภาพต่างๆเหล่านั้น ถูกกระพือ ปลุกปั่นให้พวกเขากลายเป็นม็อบเถื่อน ไม่เล่นตามกติกา เป็นนักเลงหัวไม้ ต่างจากม็อบพันธมิตรฯที่เป็น "ปัญญาชน" หรือเป็น "ม็อบบรรดาศักดิ์"


 


ความหลังที่ฝังใจในสื่อยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่เคยถูกทักษิณพยายามเทคโอเวอร์ ทำให้รัฐบาลซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยพฤตินัยว่าเป็นร่างทรงของทักษิณก็ย่อมเสียพื้นที่ทางสื่อไปอย่างช่วยไม่ได้ ยิ่งหัวหน้ารัฐบาลที่มีปากเป็นอาวุธคอยทิ่มแทงสื่อมวลชนทุกเวลาเมื่อมีโอกาส ก็ย่อมทำให้ม็อบที่เชียร์หรือชื่นชอบรัฐบาลด้วยความบริสุทธิ์ใจพลอยต้องกลายเป็นผู้ร้ายไปด้วย ทั้งๆที่เสียงทุกเสียงของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องถูกรับฟังและถ่ายทอดผ่านสื่อสารมวลชนที่เป็นปากเสียงของประชาชน


 


สื่อมีบทบาทในการก่อให้เกิดความรุนแรงจริงหรือ


ลำพังบทบาทของสื่อเองไม่อาจนำไปสู่ความรุนแรงจนเกิดการจลาจลจนทำให้ณรงค์ศักดิ์ถูกฆ่าตายได้ แต่สื่อมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ


 


บทบาทของสื่อที่ผ่านมาไม่ต่างจากบทบาทของสื่อในสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา โดยสื่อแพร่กระจายความเกลียดชังอย่างตั้งใจ ผ่านคำพูด เพลงปลุกระดม คำขวัญ ถ้อยคำหยาบคายที่จงใจทำให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างกลายเป็นศัตรู ดังเช่นเอเอสทีวีและเอ็นบีทีพยายามกระทำ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น "สถานีโทรทัศน์แห่งความตาย"


 


สถานีโทรทัศน์ทั้งสอง(รวมถึงไทยพีบีเอสด้วยในบางครั้ง)ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างที่ควรจะทำในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง แต่แปลงร่างเป็นเครื่องมือในการโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามที่ตนไม่เห็นด้วยกับแนวความคิด โดยสื่อทำหน้าที่เป็นโฆษกของความรุนแรงและโหมกระพือความแตกแยกในสังคมแทนที่จะเป็นสติให้แก่สังคม


 


สื่อวิทยุหรือโทรทัศน์บางสถานี ตลอดจนสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับจงใจตอกย้ำว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว การตีกรอบปัญหาทางการเมืองเช่นนี้ทำให้สังคมขาดวุฒิปัญญาและไม่พร้อมต่อการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน


 


ถ้าเราศึกษาบทเรียนจากรวันดาจะทำให้เราทราบว่า สื่อสามารถเป็นอาวุธมหันตภัยที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงได้ เมื่อใดที่สื่อยุติการทำหน้าที่ของการเป็นผู้รายงานข้อเท็จจริงและนำเสนอความเห็นรอบด้านต่อสาธารณะ และแปลงตัวตัวเองไปเล่นบทกระบอกเสียงของความเกลียดชัง


 


แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปี ๒๕๔๓ สื่อของรวันดาก็ถูกลงโทษโดยศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา(International Criminal Tribunal for Rwanda:ICTR) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ได้ตัดสินให้ผู้ประกาศสถานีวิทยุสองคนและนักข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นับเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายที่สำคัญว่า แม้สื่อมวลชนจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าโดยตรง แต่หากทำหน้าที่ยุงยงปลุกปั่นและชี้นำให้  มีการใช้ความรุนแรง ก็ต้องรับผิดตามกฎหมายต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นด้วย


 


ผมไม่อยากเห็นความรุนแรงมากไปกว่านี้ และเช่นเดียวกันก็ไม่อยากเห็นสื่อมวลชนไทยต้องตกอยู่ในสถานะอาชญากรอันเนื่องมาจากการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมืองจนณรงค์ศักดิ์  กรอบไธสงค์ และคนอื่นๆที่จะมีการเสียชีวิตตามมาหากเกิดสงครามกลางเมืองเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net