Skip to main content
sharethis

ความคืบหน้าการเจรจาระหว่างตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) และบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สลอคกี้ AMO ในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นคนกลาง กรณีพนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กว่า 3,000 คน ผละงานตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อาศัยอำนาจศาลอนุญาตเลิกจ้าง น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ด้วยเหตุผลที่ น.ส.จิตราสวมเสื้อที่พิมพ์ข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการ "กรองสถานการณ์" ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้ง" เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งบริษัทระบุว่า ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง โดยสหภาพฯ ได้ยื่ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้บริษัทฯ รับประธานสหภาพฯ กลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม ให้บริษัทไม่ลงโทษเอาผิดพนักงานที่ผละงาน และให้บริษัทเอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์และส่อพฤติกรรมทำลายสหภาพ ออกไปนั้น


 


วันนี้ (9 ก.ย.) สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้เปลี่ยนข้อเสนอใหม่ ตามที่นายจ้างได้ขอไว้ ดังนี้


1.ให้บริษัทรับนางสาวจิตรา กลับเข้าทำงาน โดยนางสาวจิตรา ยินดีต่อสู้ในชั้นศาล ทั้งนี้บริษัทต้องไม่เสนอหลักฐานเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่


2.ให้รับคนงานกลับเข้าทำงาน โดยไม่เอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา


3.ให้บริษัทจ่ายค่าจ้างคนงานในช่วงที่หยุดงาน


4.บริษัทต้องปฎิบัติตามกฎหมายและจรรยาบรรณทางการค้าของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)


 


หลังการเจรจา นางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพฯ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับข้อ 2 และ 4 นั้นบริษัทไม่มีปัญหา ส่วนข้อ 1 นั้น บริษัทรับว่า จะไม่คัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ของตนเอง รวมถึงจะไม่เสนอหลักฐานเพิ่ม แต่จะรับเธอกลับเข้าทำงานหรือไม่นั้น บริษัทจะขอปรึกษาทนายความก่อน ทั้งนี้ บริษัทได้ขอให้ทนายความของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมเจรจาด้วยในวันพฤหัสบดีที่ 11 ก.ย. นี้เวลา 11.00น. ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนข้อ 3 บริษัทได้ปฎิเสธ โดยเสนอโครงการการสูญเสียรายได้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายโบนัสให้พนักงานแทน โดยจะนำมาเสนอในวันที่ 11 ก.ย. เช่นกัน


 


นางสาวจิตรา กล่าวว่า การเจรจาในวันนี้ค่อนข้างเป็นไปด้วยดี คาดว่าน่าจะเกิดจากสหภาพฯ เองก็ยอมที่จะไปสู้คดีในชั้นศาล ประกอบกับการหยุดงานที่ยาวนาน ทำให้ต่างฝ่ายต่างก็มีปัญหาเหมือนกัน ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้มีการขนย้ายเครื่องจักรจำนวนหนึ่งออกจากโรงงานนั้น คืนวานนี้ (8 ก.ย.) บริษัทได้ขนกลับมาแล้ว


 


สมานฉันท์แรงงานไทยช่วย สร. ไทรอัมพ์ฯ ระดมทุน


อนึ่ง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดยวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสทร. ออกจดหมาย เรื่อง ขอรับการสนับสนุนในการต่อสู้ โดยระบุว่า เนื่องด้วยสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ได้ผละงานออกมาชุมนุมหน้าโรงงาน กรณีประธานสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้าง ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา และยังหาข้อยุติไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จึงขอความร่วมมือจากองค์กรท่านสนับสนุนงบประมาณให้แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ในการต่อสู้ครั้งนี้ โดยสามารถติดต่อให้การสนับสนุนได้ที่ 02-3836092 หรือ 08-99873370


 


กลุ่มนักเคลื่อนไหวแรงงานหนุน CSR ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งไทรอัมพ์


ด้านกลุ่มภาคประชาชนด้านแรงงานและสหภาพแรงงานได้ส่งจดหมายถึงสาธารณะ เรียกร้องให้ บริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติตามหลัก CSR อย่างครบถ้วน เพื่อการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย รวมทั้งประกาศสนับสนุนสินค้าของบริษัทฯ หากบริษัทดำเนินการแก้ไขปัญหาภายในอย่างเป็นธรรมแก่แรงงาน


 







 


ข้อเรียกร้องให้บริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติตามหลัก CSR อย่างครบถ้วน


 


จากกรณีความขัดแย้งระหว่างบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัดและสหภาพแรงงานของบริษัท อันเนื่องมาจากที่สื่อในเครือผู้จัดการได้นำเสนอข่าวที่คุณจิตรา คชเดช ประธานสหภาพฯ ได้ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง NBT ในวันที่ 24 เม.ย. 51 เพื่อพูดถึงประเด็นการทำแท้งเนื่องในวันสตรีสากล แต่สื่อในเครือผู้จัดการกลับบิดเบือนประเด็นเพื่อหวังผลทางการเมือง ส่งผลให้บริษัทเลิกจ้างคุณ จิตรา คชเดช โดยให้เหตุผลว่าได้รับความเสียหาย จึงได้ขอคำสั่งศาลเพื่อเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานดังกล่าว


 


เราในนามของกลุ่มสหภาพแรงงานและองค์กรพันธมิตร มีความเห็นว่าบริษัทฯ ควรปฏิบัติตามหลักการของ Corporate Social Responsibility (CSR) อันเป็นหลักการที่บริษัทจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจนั้น ซึ่งหมายถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับที่ดีควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูเเลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน


 


แต่ทั้งนี้บริษัททั้งหลายกลับได้นำหลักการของ CSR มาใช้เพียงฉาบฉวยเช่นการสร้างภาพแก่ ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนท้องถิ่นที่องค์กรตั้งอยู่ หรือประชาชนทั่วไปเพื่อหวังผลทางการตลาด ซึ่งหลายบริษัทได้ละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีหลักปฏิบัติเบื้องต้นดังนี้ [1]


 


1.       สนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยหมั่นตรวจตราดูแลมิให้ธุรกิจของตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ไม่สนับสนุนการบังคับใช้แรงงาน (forced labour) ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก (child labour) เป็นต้น


2.       ส่งเสริมให้มีการเฝ้าระวังการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนภายในธุรกิจของตน และกระตุ้นให้มีการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล โดยความรับผิดชอบของธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชนยังครอบคลุมไปถึงบริษัทในเครือ ผู้ร่วมทุน และคู่ค้า


3.       จัดให้มีระบบการทำงานที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม เช่น การมีระบบป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน การจัดให้มีสถานที่ทำงานที่สะอาดเพื่อความปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากอุบัติภัยและโรคภัย


4.       พัฒนาพนักงานเพื่อฝึกฝนทักษะและเพิ่มพูนศักยภาพ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานมีการเรียนรู้ และเลื่อนตำแหน่งเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม


5.       จัดให้มีเงื่อนไขการจ้างงานที่เป็นธรรมสำหรับพนักงาน และให้พนักงานได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามศักยภาพ


6.       จัดให้มีกระบวนการร้องเรียนอย่างเหมาะสมสำหรับพนักงานที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม


7.       จัดให้มีการดูแลในเรื่องสวัสดิการแก่พนักงานตามสมควร เช่น จัดให้มีวันลาพักผ่อนประจำปี การทำงานล่วงเวลาที่สมเหตุสมผล การรักษาพยาบาลตามความจำเป็นและสมควร เป็นต้น


8.       ส่งเสริมให้พนักงานมีดุลยภาพในการใช้ชีวิตระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว มีการพิจารณาใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสบำเพ็ญประโยชน์ ทำความดีเพื่อสังคมรวมทั้งการปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน


9.       จัดให้มีนโยบายปกป้องพนักงานไม่กลั่นแกล้งหรือลงโทษทางวินัยกับพนักงานที่มีการรายงานอย่างสุจริตต่อผู้บริหารหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นภายในองค์กรธุรกิจ(whistleblower protection)


10.   ให้ข้อมูลสำคัญแก่พนักงานและตัวแทนพนักงาน เพื่อให้ทราบผลการดำเนินงานและสภาพที่แท้จริงขององค์กรธุรกิจ


11.   สนับสนุนการหารือ/ความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับพนักงาน และตัวแทนพนักงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน


12.   เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของพนักงาน ซึ่งครอบคลุมถึงการมีอิสระในการให้ความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง การได้รับข้อมูลหรือความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเสรี


 


ทั้งนี้ เราหวังว่าบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จะดำเนินกิจกรรมตามหลักของ CSR ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ทั้งในระดับใกล้ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์กร เช่น ลูกค้า คู่ค้า ครอบครัว พนักงาน ชุมชนท้องถิ่นที่องค์กรตั้งอยู่ และระดับไกล ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรทางอ้อม เช่น คู่แข่งขันทางธุรกิจ ประชาชนโดยทั่วไป ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข


 


โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ ที่บริษัทฯ จะต้องจัดการความขัดแย้งภายในของบริษัทฯ ที่เกิดจากการหวังผลทางการเมืองของกลุ่มบุคคลภายนอกบริษัทฯ ที่โจมตีพนักงานของบริษัทฯ อย่างคุณจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งในกรณีนี้บริษัทฯ จะต้องคำนึงถึงหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม อันเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินกิจกรรม CSR ภายในบริษัท


 


เราเราในนามของกลุ่มสหภาพแรงงานและองค์กรพันธมิตร ใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้บริษัทฯ ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม เพื่อให้การดำเนินกิจกรรม CSR ของบริษัทบรรลุผล โดยมีข้อเสนอดังนี้..


 



  • ขอให้ทางบริษัทฯ รับนางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กลับเข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัทเหมือนเดิมโดยไม่มีเงื่อนไข
  • ขอให้ทางบริษัทฯ ไม่ลงโทษใดๆ และไม่เอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญากับกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน และพนักงานบริษัททุกคนที่ผละงาน รวมถึงปฏิบัติการต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง
  • ขอให้ทางบริษัทฯ อย่านำปฏิบัติการของสหภาพแรงงานที่ผ่านมาในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง เป็นเหตุผลอ้างในการตัดหรือลดสวัสดิการ, ตัดหรือลดโบนัส และการแยกสลายสหภาพแรงงาน
  • ขอให้บริษัทฯ ดำเนินกิจกรรม CSR อย่างครบถ้วน ทั้งกิจกรรมภายในและภายนอกบริษัทฯ โดยให้เกียรติและสานสัมพันธ์อันดีกับกิจกรรมของสหภาพแรงงาน

 


ทั้งนี้ เรามีความเชื่อมั่นในสินค้าของทางบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคว่ามีคุณภาพ ซึ่งคุณภาพอันนั้นก็เกิดมาจากการที่แรงงานได้ทุ่มเทแรงใจแรงกายในการเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตนวัตกรรมของบริษัทฯ ซึ่งเราขอรณรงค์สนับสนุนสินค้าของทางบริษัทฯ หากบริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเรา


 


 


ด้วยความศรัทธาในการทำธุรกิจที่เป็นธรรมแก่แรงงาน


 


กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (Democratic Movement for a Welfare State)


ศูนย์การศึกษาสหภาพแรงงาน (Labour Education Centre)


สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส (TIGLU)


 


……..


อ้างอิง


 


[1] "เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม: คู่มือช่วยบอกพิกัดการดำเนินงานที่มีเป้าหมายด้านธุรกิจควบคู่ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility Guidelines)"  คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งเเวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน คณะกรรมการการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)


 


 


 


อ่านเพิ่มเติม


ปธ.สหภาพไทรอัมพ์ ถูกเลิกจ้าง นายจ้างอ้างใส่เสื้อ "ไม่ยืนฯ" ทำ บ.เสียชื่อ


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์รวมตัวผละงาน เรียกร้องรับ "ปธ.สหภาพ" กลับเข้าทำงาน


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 400 กว่าคนบุกสำนักงานใหญ่ กดดันนายจ้างเรียกร้องความเป็นธรรม


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ผละงานวันที่ 3 นายจ้างยันไม่รับประธานสหภาพเข้าทำงาน


ร่อนจดหมายประณามเลิกจ้าง ปธ.สร.ไทรอัมพ์ จี้หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน-ทำลายสหภาพแรงงาน


แรงงานไทรอัมพ์ฯ นับพันบุกทำเนียบ ร่อนหนังสือจี้นายกฯ แก้ปัญหา "ขบวนการล้มสหภาพแรงงาน"


พนง.ไทรอัมพ์-ทีไอจี ร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน ร้องช่วยปราม บ.เคารพสิทธิแรงงาน


แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนของบริษัทไทรอัมพ์ สำนักงานใหญ่ ประเทศเยอรมัน
นักวิชาการมอบเงินผ้าป่าหนุนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ระบุไม่ควรอ้างสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือรังแกคนจน
ประมวลความเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 10 - 14 ส.ค. ที่ผ่านมา


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ประกาศชุมนุมและเคลื่อนไหวจนกว่าบริษัทจะยอมรับขอเสนอของสหภาพฯ


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ปัญหารุม สมาชิกถูกกล่าวหาลอบวางเพลิง


เจรจายังไม่คืบ บริษัทยันไม่รับประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์กลับเข้าทำงาน


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยังไม่ได้เจรจา เหตุนายจ้างเลื่อนเจรจาโดยไม่แจ้ง


 


 


เสวนา : การละเมิดสิทธิแรงงาน: กรณีศึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ โฮยา อัลมอนส์ ฯลฯ"
สหภาพแรงงานตะวันออก ค้านการจัดระเบียบการชุมนุมและร้องสิทธิคนงานไทรอัมพ์
เสวนา: "กระบวนการยุติธรรมกับสิทธิแรงงาน"


 


 


บทความ :เมื่อคนงานไทรอัมพ์ฯ ลุกขึ้นสู้ กอบกู้ศักดิ์ศรีกรรมาชีพ


เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร : ทัศนะที่อันตรายกรณีไทรอัมพ์


 


คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจังหวัดสมุทรปราการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net