"จาตุรนต์" ชี้ วิกฤติการเมืองครั้งนี้แก้ยาก-ย้ำพันธมิตรฯ ไม่เป็นประชาธิปไตย


วันที่ 9 ก.ย. เวลา 20.00 น. สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT ได้จัดเวทีเชิญนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาพูดเกี่ยวกับอนาคตการเมืองไทย

 

นายจาตุรนต์เป็นหนึ่งในคนตุลาในพรรคไทยรักไทย และหนึ่งในแกนนำนักศึกษาช่วงหกตุลาที่ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังได้ถูกคุกคามจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาสมัยนั้น หลายๆ คนได้ให้ข้อสังเกตว่านายจาตุรนต์เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทในพรรคไทยรักไทย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก นอกเหนือจากเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำไปสู่การตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคและตัดสิทธิผู้บริหารพรรค 111 คนรวมถึงนายจาตุรนต์

 

สถานการณ์และอนาคตการเมืองไทย

นายจาตุรนต์วิเคราะห์ว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติเป็นสิ่งที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน คาดไว้ก่อนแล้วว่าคำตัดสินจะออกมาเป็นเช่นนี้

 

ต่อกรณีสถานการณ์การเมือง นายจาตุรนต์มองว่าสถานการณ์วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 คือ การเคลือนไหวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีผลกระทบโดยตรงกับประชาธิปไตย

 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้สำหรับเขามองว่าเป็นวิกฤติเช่นเดียวกันกับที่ได้เป็นมาใน 76 ปีที่ผ่านมาหลังมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งนายจาตุรนต์มองว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแตกต่างจากการเคลื่อนไหวอื่นๆ ในอดีตเนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง เช่น การยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบิน และสถานีโทรทัศน์ ดังนั้นจึงสามารถอธิบายได้ว่าการชุมนุมนี้ไม่ใช่การชุมนุมอย่างสันติหรือเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่เป็นการเคลื่อนไหวแนวอนาธิปไตยที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบการปกครองเผด็จการ

 

ซึ่งการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมที่ต้องการความรุนแรงและความปั่นป่วน โดยที่หนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับไม่ยอมตั้งคำถามว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่สันติและถูกกฎหมายหรือไหม เนื่องจากการที่พันธมิตรฯ เข้าไปบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีโดยมีอาวุธ เป็นพื้นฐานของการสร้างความรุนแรงโดยตรง

 

เมื่อพูดถึงนักวิชาการ นายจาตุรนต์กล่าวว่ารู้สึกเสียใจที่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายๆ ได้พูดว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมอย่างสันติ และพูดถึงการรัฐประหารที่ผ่านมาว่าเป็นการแทรกแซงโดยทหารอย่างสันติ

 

ทางออกไม่มี-ความขัดแย้งครั้งนี้รุนแรงมาก

นายจาตุรนต์มองว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤติครั้งนี้เขาเองยังมองไม่เห็นทางออกที่เป็นไปได้ เนื่องจากการลาออกของนายกฯ สมัครก็จะไม่ทำให้พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม เพราะแม้ว่านายกฯ สมัครถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ พันธมิตรฯ ก็ยังชุมนุมต่อ และยังเรียกร้องให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรี

 

เขาเห็นว่าไม่ว่าใครในพรรคพลังประชาชนจะเป็นนายกฯ ก็จะไม่แก้วิกฤตินี้ได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์อาจจะช่วยแก้วิกฤติได้และหยุด พันธมิตรฯ ได้แต่เป็นไปไม่ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา เช่นเดียวกันการยุบสภาก็จะไม่แก้ปัญหา ซึ่งตอนนี้การยุบสภาก็ไม่สามารถทำได้แล้วจนกว่าจะได้นายกฯ คนใหม่ แม้ว่ามีการยุบสภา พันธมิตรฯ ก็ยังจะชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป เพราะสิ่งเดียวที่พันธมิตรฯ ต้องการ คือ "การเมืองใหม่" ซึ่งถ้านายกฯ คนต่อไปตัดสินใจยุบสภาหรือมีคำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน พรรคร่วมรัฐบาล เช่น มัชฌิมาธิปไตยหรือชาติไทย พันธมิตรฯ ก็ยังจะชุมนุมต่อเพื่อการเมืองใหม่

 

ข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้และจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการรัฐประหาร

 

ซึ่งถ้าประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล ประชาชนอีกฝ่ายที่ไม่สนับสนุนประชาธิปัตย์ก็จะออกมาชุมนุมอย่างแน่นอน

 

การขาดหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย คือ ปัญหา

ต้นเหตุของปัญหา นายจาตุรนต์มองว่าเป็นเพราะประเทศนี้ขาดหลักนิติธรรม ขาดการเคารพกฎหมาย เห็นได้จากการที่ไม่ดำเนินคดีกับคณะบุคคลที่ยึดทำเนียบรัฐบาลไว้ ซึ่งปัญหาของการขาดหลักนิติธรรมนี้จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นและอาจจะมีความรุนแรงได้ในอนาคต

 

สถานการณ์การเมืองไทยในตอนนี้เป็นการถอยหลังเข้าคลองเหมือนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่นายจาตุรนต์มองว่าถ้ามีการก่อรัฐประหารอีกครั้ง ประชาชนจำนวนมากจะออกมาต่อต้านซึ่งอาจจะผลักประเทศสู่ประชาธิปไตยได้

 

เหตุผลที่วิกฤติการเมืองเกิดขึ้นตอนนี้เป็นเพราะสังคมไทยขาดพื้นฐานของการเชื่อมั่นในแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งแม้แต่นักวิชาการเองกลับไม่เชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตย โดยท้ายที่สุดแล้วทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เคารพกฎหมายหรือหลักนิติธรรม นายจาตุรนต์ตั้งคำถามว่า สังคมยอมรับให้บุคคลที่ก่อรัฐประหารมาเขียนกฎหมาย และศาลยอมรับว่าคำสั่งที่คณะรัฐประหารเขียนเป็นหลักกฎหมายได้ ซึ่งเป็นการละเมิดหลักการนิติธรรมโดยตรง

 

นายจาตุรนต์มองว่ากลุ่มพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวโยงกับคณะรัฐประหาร 19 กันยา และมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มชนชั้นปกครอง (elite) ดังนั้นถ้าเราจะเข้าใจพันธมิตรฯ เราต้องสวมหมวกพันธมิตรฯ และคิด ซึ่งเร็วๆ นี้สนธิ ลิ้มทองกุลได้ออกมาพูดว่าจะไปบวชหลังจากกู้ชาติเสร็จ คำถามของนายจาตุรนต์กับคำพูดของสนธิคือว่าจะไปบวชก่อนหรือหลังเข้าคุก

 

คำถามแลกเปลี่ยนกับนักข่าว
เมื่อถูกถามโดยนักข่าวต่างประเทศว่า หลายๆ คนมองว่าในระบบเลือกตั้งที่ผ่านมามีปัญหาเนื่องจาก ส.ส.ฉ้อราษฎรบังหลวงและละเมิดหลักนิติธรรม ดังนั้น พันธมิตรฯ เลยออกมาชุมนุม นายจาตุรนต์ตอบว่าข้ออ้างนี้เป็นสิ่งที่พันธมิตรฯ ได้ใช้ในการชุมนุมครั้งแรกในปี 2549 ก่อนรัฐประหาร ซึ่งหลังรัฐประหาร คณะรัฐประหารและพันธมิตรฯ ก็ได้ร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาโดยบุคคลที่กลุ่มเหล่านี้อ้างว่าเป็นอิสระ ตอนนี้มีนักการเมืองหลายๆ คนแล้วที่ถูกฟ้องร้องและคดีอยู่ที่ศาล ดังนั้นพันธมิตรฯ จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าภายใต้สถานการณ์การเมืองเช่นนี้ไม่สามารถปกป้องสิทธิอะไรได้ เนื่องจากระบบตอนนี้ได้รับการวางแผนโดยพันธมิตรฯ เอง

 

เมื่อนักข่าวถามกรณีเหตุการณ์ที่มี ส.ส.พรรคพลังประชาชนได้ไปร่วมสนับสนุนการเดินขบวนของแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. ซึ่งในกลุ่มมีผู้ใช้อาวุธในกรณีการปะทะกัน นายจาตุรนต์ตอบว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นจุดริเริ่มความรุนแรง เนื่องจากพันธมิตรฯ ต้องการที่จะเปลี่ยนประเทศ ซึ่งมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพันธมิตรฯ ข้อเรียกร้องของ นปก.เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง คือ เรียกร้องให้พันธมิตรฯ มอบตัวกับตำรวจ แต่เมื่อ นปก.ไปบริเวณนั้นกลายเป็นว่าได้ถูกทำร้ายโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเมื่อนักข่าวถามว่าทำไม นปก.ต้องเดินไปที่ที่พันธมิตรฯ ชุมนุม นายจาตุรนต์ตอบว่าการควบคุมคนเยอะทำได้ยาก

 

เมื่อพูดถึงกรณีการตัดสินของศาล ความเกี่ยวโยงของนายสมัคร สุนทรเวชกับกรณีสังหารหมู่นักศึกษาในกรณีหกตุลา และคุณสมบัติต่างๆ นายจาตุรนต์บอกว่า การตัดสินของศาลไม่เป็นธรรมเนื่องจากนายกฯ ถูกถอนสิทธิแต่พันธมิตรฯ ที่ยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่กลับไม่มีการดำเนินการ สำหรับกรณีหกตุลา นายจาตุรนต์ได้เคยวิจารณ์นายสมัครเกี่ยวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตไปแล้ว แต่คิดว่ามันไม่มีความชัดเจนว่านายสมัครเกี่ยวข้องกับหกตุลาอย่างไรซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ แต่ในฐานะที่เป็นนายกฯ นายจาตุรนต์มองว่าเขาไม่ได้มีการดำเนินการอะไรที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย ซึ่งเขาในฐานะนักการเมืองต้องมีมิตร

 

เมื่อนักข่าวถามว่าเห็นอย่างไรกับนโยบายของนายสมัครกรณีพม่า ซึ่งก่อนหน้านี้นายสมัครได้ออกมากล่าวว่าผู้นำของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเป็นผู้นำที่ดีและได้สวดมนตร์บ่อยมาก นายจาตุรนต์กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ชอบหรือเกลียดนายสมัคร ข้อเรียกร้องที่จะกดดันให้นายสมัครลาออกและการเปลี่ยนแปลงระบบการเองไม่มีความชอบธรรมและยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้

 

เมื่อถามเกี่ยวกับกรณีการที่พันธมิตรฯ ในปี 2549 ได้เรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน นายจาตุรนต์บอกว่าไม่เห็นด้วยและคิดว่าเป็นการเรียกร้องที่ถอยหลังเข้าคลองและไม่สามารถทำได้เพราะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญโดยตรง ถ้าจะมีการแต่งตั้งนายกฯ ต้องมีการก่อการรัฐประหารก่อน และเขาเชื่อว่าประชาชนจะออกมาต่อต้าน

 

โดยท้ายสุด นายจาตุรนต์มองว่า จากประสบการณ์ของเขาตั้งแต่เป็นแกนนำนักศึกษาจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยตอนนี้มีความแตกแยกและแบ่งขั้วกันในระดับที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งต้องมีความเสียหายมากกว่านี้ก่อนที่สังคมไทยจะเรียนรู้ได้

 

....................

หมายเหตุ แก้ไขล่าสุด เมื่อ 13.50น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท