Skip to main content
sharethis

ประชาไทย้อนหลัง


ตอนที่ 1 ปาฐกถาชัยอนันต์ สมุทวณิช: 100 ปี นิมิตรมงคล: การเมือง 2475 ถึง 2551, ประชาไท, 24 ส.ค. 51


 


000


 


 


เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 51 เนื่องในโอกาส 100 ปีชาตกาล ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน ทางคณะรัฐศาสตร์และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันนโยบายศึกษา ได้จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "100 ปี ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน (2451-2551): จากการเมือง 2475 ถึงการเมือง 2551" ณ ห้องประชุมใหญ่สถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


ในเวลา 13.10 ได้มีการนำเสนอประวัติและผลงานของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน โดย มล.ชัยนิมิตร นวรัตน จากนั้นจึงมีการปาฐกถานำโดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช  (คลิกที่นี่เพื่ออ่านข่าวย้อนหลัง)


 


ช่วงต่อมาเป็นการเสวนาเรื่อง "จากการเมือง 2475 ถึงการเมือง 2551" โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงค์, ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง


 


000


 


 


ในการเสวนา ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงสามประเด็น หนึ่ง การปรับตัวของสถาบันมหากษัตริย์ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา สอง การวิจารณ์แนวคิดของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล จากงานเขียนของเขาที่สะท้อนภาพการเมืองฝนสมัยปี 2480 ว่ามีความเป็นรัฐนิยม อำนาจนิยม รวมถึงมีความเพ้อฝันอยู่ในหลาย ๆ เรื่อง และ สาม ประเด็นที่ว่าฝ่ายนิยมสถาบันเจ้าไม่ได้มีความคิดเหมือนกันหมด แต่มีความหลากหลายในนั้น


 


ศ.ดร.นิธิ วิจารณ์ว่า แนวคิดของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วง 2475 นั้น ไม่ได้มองความสลับซับซ้อนของกลุ่มชนชั้นนำในสมัยนั้นมากพอ


 


"ในรัฐธรรมนูญของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญ แต่ไม่ได้บอกว่าควรมีบทบาทอย่างไร หากท่านอยากจะพูดก็คงพูดไม่ได้ ท่านเพียงพูดอ้อมๆ ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ยังได้รับความนิยมนับถืออยู่ในสังคมไทย และด้วยเหตุนี้เองคำสั่งของรัฐทั้งหลายจึงต้องอาศัยความนิยมนับถือของคนไทยที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการทำให้คนไทยยอมรับฟังคำสั่ง เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่ารัฐจะต้องอาศัยบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการปกครอง จึงต้องการให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจเข้ามาควบคุมปริมาณหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้บอกให้ชัดเจน" ศ.ดร.นิธิกล่าว


 


ศ.ดร.นิธิบอกว่า เมื่อฝ่ายเจ้ามีความซับซ้อนขนาดนี้จึงทำให้ทราบว่าทำไมวันที่ 24 มิ.ย. ฝ่ายเจ้าถึงพลิกโต๊ะกลับไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งได้


 


"เพราะแน่นอนว่าในฝ่ายเจ้าเองนั้น เขาก็ไม่ได้ไปกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งหมด แม้แต่กบฏบวรเดชก็ไม่ได้ตะไปรื้อฟื้นระบอบพระมหากษัตริย์กลับมาเหมือนเก่า เพียงแต่เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจึงอยากทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่แน่นอนว่าก็ต้องมีบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นด้วย"


 


"อย่างไรก็ตามแต่ผมคิดว่าอันนี้มันช่วยอธิบายความสามารถของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการพลิกกลับบทบาทเป็นตรงกันข้าม"


 


ศ.ดร.นิธิพูดต่อว่า "มรดกทางความคิดของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ครั้งหนึ่งผมคิดว่ามีความมั่งคั่งกว่านี้ ในเวลานี้อับจนลง เวลาที่เราจะคิดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เราก็จะคิดถึงแต่เรื่อง "คืนพระราชอำนาจ" ซึ่งก็แปลว่าต้องกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกหรืออย่างไร ทั้งที่เดิมมีความคิดที่หลากหลายกว่านี้"


 


000


 


 


จากนั้น ศ.ดร.นิธิได้บรรยายถึงประเด็นอำนาจรัฐในการจัดการสังคม ที่ปรากฏในงานของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล โดยกล่าวว่า ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ไม่เชื่อในความเสมอภาค


 


"เขาเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ไล่ไปตั้งแต่ยีนส์ ตั้งแต่องค์ประกอบร่างกายของคุณเลย อีกอย่างหนึ่งที่ไม่เท่าเทียมกันคือสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขภายนอก ทำให้คนไม่เสมอภาคไม่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะในสังคมไหนก็ตาม" ศ.ดร.นิธิกล่าว


 


ศ.ดร.นิธิพูดต่อว่า ม.ร.ว.นิมิตรมงคลให้ความสำคัญกับเงื่อนไขภายนอกหรือบริบทค่อนข้างมาก แม้แต่รัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลดีหรือรัฐบาลเลว หากรัฐบาลต่อให้มีแรงจูงใจที่ดีแต่เข้าไปอยู่ในสภาพที่เลว ก็จะกลายเป็นคนเลวไปด้วย


 


"...ซึ่งเป็นความคิดที่ซับซ้อนกว่าปัจจุบันมาก คุณลองดูกระทรวงมหาดไทยที่บอกว่าให้เลือกคนดีไปเป็น ส.ส. เสมอ ถ้าให้พูดอย่างคุณชายนิมิตรมงคลคือ "ไม่มีประโยชน์" ถ้าคุณเลือกคนดีเข้าไปในสภาพแวดล้อมที่เป็นคนดีไม่ได้ คนเหล่านั้นก็จะทำชั่ว หรือไม่ได้ทำอะไรเลยก็ตามแต่"


 


"เพราะฉะนั้นท่านถึงให้ความสำคัญกับเงื่อนไข สภาพแวดล้อมค่อนข้างมาก ท่านบอกถึงขนาดว่า "ต่อให้กบฏบวรเดชชนะก็ไม่สามารถสถาปนาประชาธิปไตยขั้นมาได้" เพราะเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมทางการเมืองของไทยมันไม่เอื้อต่อการเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้" ศ.ดร.นิธิกล่าว


 


ศ.ดร.นิธิสรุปประเด็นนี้โดยยกคำกล่าวของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคลว่า  "ระบบที่ดีก็ตาม หรือคนดีก็ตาม จะถูกความเห็นแก่ตัว ความชั่ว ทำลายหมด"


 


"พูดง่ายๆ คือโอกาสที่ความดีจะชนะความชั่วนั้นยาก ไม่ใช่ไม่มีเลย" ศ.ดร.นิธิเสริม


 


000


 


 


จากนั้นศ.ดร.นิธิจึงได้ยกตัวอย่างนวนิยายเรื่อง "ความฝันของนักอุดมคติ" ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวเอกของเรื่องหลังจากออกจากคุกแล้ว ก็คิดว่าจะเป็นเศรษฐีจึงไปเรียนรู้การค้ากับแขกร้านขายเครื่องเขียนคนหนึ่งจนได้พบกับความฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบในการค้าขาย จึงเลิกล้มไป


 


"เขาไปหาร้านขายเครื่องเขียนของแขกคนหนึ่ง ไปขอทำงานด้วยกันเพื่อที่จะเรียนรู้การค้าของเขา แล้วในที่สุดก็พบว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย จึงลาออก เพราะพบแล้วว่าในการค้าทั้งหลายมันมีแต่ความเห็นแก่ตัว ความเอารัดเอาเปรียบ คดโกง เขาไม่สามารถอยู่ในการค้าได้จึงตัดสินใจออกมาจนเหมือนเดิมดีกว่า" ศ.ดร.นิธิเล่า


 


ศ.ดร.นิธิพูดต่อว่าในเรื่องนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล ได้ทำการอภิปรายในเรื่องบทบาทของคนกลางไว้ โดยเป็นว่าคนกลางจำเป็นต่อสังคม เพราะช่วยบริการในการแพร่กระจายสินค้า แต่คนกลางที่ดีจะต้องไม่เอากำไรแต่พอควร ไม่คดโกงแบบคนกลางที่เลว


 


"ท่านยอมรับว่าการที่คนๆ หนึ่ง เอาของจากอีกฝั่งหนึ่งไปขายให้กับคนอีกฝั่งเขาควรจะมีกำไร เพราะเขาก็ขายการบริการของเขา จึงต้องยอมรับว่าเป็นบทบาทที่มีความจำเป็นในสังคม แต่ท่านก็บอกว่าคนกลางที่ดี ที่เอากำไรแต่พอสมเหตุสมผลจะโดนคนกลางที่เลว เช่น พ่อค้าแขกเอาเปรียบคดโกง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต จนกระทั่งคนดีๆ ไม่สามารถทำการค้าได้อีกต่อไป" ศ.ดร.นิธิกล่าว


 


จากนั้น ศ.ดร.นิธิถึงได้บรรยายถึงวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้จากทัศนะของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล โดนบอกว่าต้องอาศัยกลไกของรัฐ "เท่าที่ผมจำได้ท่าน ม.ร.ว. นิมิตรมงคล ให้ความสำคัญกับการเมือง ว่าต้องมีการเมือง หรือมีรัฐเข้ามาคอยควบคุมไม่ให้คนโกงเอาเปรียบคนดี ไม่ว่าจะในการค้าหรือในอะไรก็แล้วแต่" 


 


อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นิธิได้วิพากษ์ทัศนะการอาศัยกลไกรัฐควบคุมคนทำธุรกิจแบบเอารัดเอาเปรียบว่าเป็นการมองข้ามว่ารัฐเองก็สามารถโกงและเอาเปรียบได้เช่นกัน


 


"คุณอาจจะคิดถึงระบบที่ดี รัฐที่ดีได้ แต่คำถามก็คือ ตัวรัฐเองมันจะไม่กลายเป็นคนโกงบ้างหรือ เป็นไปได้และผมคิดว่าท่านไม่ได้ให้คำตอบตรงนี้ไว้" ศ.ดร.นิธิกล่าว "โอเคเรามีรัฐที่แข็งแกร่งที่ดี เรากันไม่ให้คนโกง ไม่ให้เอาเปรียบคนดี แต่เราถามว่าตัวรัฐเองเขมือบเอาไปได้ไหม ก็เป็นไปได้เหมือน แล้วจะป้องกันอย่างไร ตรงนี้ไม่มีคำตอบ"


 


ศ.ดร.นิธิบรรยายต่อว่า พอไม่มีทางออกในการแก้ไขเรื่องการเอารัดเอาเปรียบจากทั้งสองฝ่าย คำตอบจึงวนกลับมาแต่ที่เรื่องคุณธรรม จริยธรรม


 


"แล้วในเมื่อไม่มีคำตอบก็ต้องกลับไปหาสิ่งหนึ่งที่ ผมคิดว่าน่าสนใจมากๆ คือการหันไปสู่คำตอบว่าต้องศีลธรรม ต้อง คุณธรรม ต้องจริยธรรม คุ้นหูใช่ไหม พอพูดถึงการเมืองไทยปุ๊บ คุณก็ต้องพูดถึงคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม เสมอ"


 


"ความคิดทางการเมืองแบบนี้มันมีมานานมาก อาจจะไม่ได้ผ่านคุณชายนิมิตรมงคลโดยตรง แต่มันสืบผ่านมาเรื่อยๆ ว่ามันไม่มีทางแก้ว่าจะป้องกันการโกงได้ คุณก็ต้องหันไปหาเรื่องนี้" ศ.ดร.นิธิกล่าว


 


ขณะเดียวกัน ศ.ดร.นิธิเองก็เสนอว่า คำกล่าวเรื่อง "คุณธรรม-จริยธรรม" ก็เป็นแค่คำกล่าวอ้างของคนที่จะเข้ามายึดอำนาจทางการเมืองเท่านั้น


 


"เมื่อไหร่ที่คุณยึดอำนาจบ้านเมืองได้สิ่งที่คุณเริ่มพูดก่อนคือ พูดสามคำนี้แหละ คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม" ศ.ดร.นิธิ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net