Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวรอยเตอร์ออกรายงาน ระบุถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ต่อจากนี้ไป ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุติความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงใช้พื้นที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ประท้วง


 


สำหรับสถานการณ์จำลองที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในความเห็นของรอยเตอร์มีดังต่อไปนี้


 


พรรคพลังประชาชน(พปช.)ให้สมัครกลับมาเป็นนายกฯ การประท้วงบานปลาย


พรรคพลังประชาชนซึ่งสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลผสมหกพรรคอีกครั้ง และเลือกนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง พันธมิตรฯ ขยายเวลาการประท้วงต่อต้านนายสมัครอยู่ในทำเนียบรัฐบาลเกินสองสัปดาห์ ดึงสหภาพแรงงานเข้ามาเป็นแนวร่วมและขู่หยุดงานประท้วงหนักขึ้นกว่าที่เกิดขึ้นในเดือนนี้


 


พปช.เลือก "ผู้มีความคิดไม่รุนแรง" มาแทนนายสมัคร


คดีรับจ้างทำรายการโทรทัศน์ชิมไปบ่นไป ไม่ใช่คดีความเพียงคดีเดียวของนายสมัคร ในวันที่ 25 กันยายนนี้ศาลอุทธรณ์นัดพิจารณาคดีหมิ่นประมาทที่มีโทษจำคุกสองปี ซึ่งนายสมัครได้ยื่นอุทธรณ์ไว้


 


ดังนั้น แทนที่พรรคพลังประชาชนจะต้องเสี่ยงกับการเสียนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พรรคอาจเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าอาจเป็นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทว่าทั้งสามคนนี้ต่างใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อาทิ นายสมชายเป็นน้องเขยพ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนนายแพทย์สุรพงษ์ก็เป็นอดีตโฆษกของพ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นไปได้ว่าพันธมิตรฯ จะไม่ยอมเลิกรา


 


ศาลตัดสินยุบพปช. จัดเลือกตั้งใหม่


คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติไปแล้วว่าพรรคพลังประชาชนกระทำผิดในเรื่องการซื้อเสียง ดังนั้นหากศาลฎีกาตัดสินยืนตาม ก็จะต้องยุบพรรค และจัดเลือกตั้งใหม่ ทว่า ยังไม่มีการกำหนดวันพิจารณาตัดสินคดีดังกล่าว  นอกจากนั้น แม้ผู้บริหารระดับสูงของพลังประชาชนอาจถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ส่วนใหญ่ก็ยังสามารถที่จะลงสมัครในนาม พรรค "เพื่อไทย" ที่เพิ่งจัดตั้งเพื่อเป็น "ที่หลบภัย" ในกรณีเกิด     เหตุยุบพรรค


 


หากคนในชนบทยังคงสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพลังประชาชนอย่างกว้างขวางแล้ว พรรคเพื่อไทยก็จะชนะการเลือกตั้งอย่างเกือบจะแน่นอน แต่พันธมิตรฯ มีแนวโน้มไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และการเมืองไทยก็จะเริ่มต้นบนท้องถนนอีกครั้งหนึ่ง


 


รัฐบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการกับผู้ประท้วง


แม้ว่ารัฐบาลจะสั่งการดังกล่าว แต่ไม่น่าเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการรุนแรงกับพันธมิตรฯ ซึ่งคนมองกันว่าเป็นกลุ่มที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล กองทัพนั้นปฏิเสธอย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่ใช้กำลังเข้าดำเนินการใดๆ และการใช้กำลังรุนแรงในพื้นที่ชุมนุมซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นหญิงวัยกลางคนนั่งอยู่กับพวกเยาวชนที่มีพวกท่อนไม้ ไม้กอล์ฟ และท่อนเหล็กเป็นอาวุธ อาจจะทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และนำไปสู่เหตุวุ่นวายเป็นวงกว้างได้


 


ทหารออกมาทำรัฐประหารยึดอำนาจ


พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวย้ำมาหลายครั้งว่าการรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ได้ ทว่าในวาระครบรอบสองปีของการก่อรัฐประหารขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณในวันที่ 19 กันยายนนี้ ประเด็นดังกล่าวก็ไม่อาจถูกตัดทิ้งไปได้ และหากเกิดเหตุการณ์ปะทะกันรุนแรง ก็เป็นไปได้ว่าฝ่ายทหารจะออกมาแทรกแซง "เพื่อความสามัคคีของประเทศ"


 


พันธมิตรฯ หมดตัวและยอมแพ้


ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินตัวจริงของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่พันธมิตรฯ ยอมรับว่าต้องใช้เงินขับเคลื่อนการประท้วงถึงวันละ 1 ล้านบาท นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าพันธมิตรฯยังมีเงินสนับสนุนอีกมหาศาล และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะตั้งข้อสงสัยกับการที่แกนนำให้คำมั่นหลายครั้งว่า จะสู้ต่อไปจนกว่ากลไกทั้งหมดของทักษิณจะถูกกวาดล้างออกไปจากระบบการเมือง


 พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับความเคารพในดุจดังสมมุติเทพในความคิดของคนไทยจำนวนมาก พระองค์ทรงมีบารมีทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการอันมหาศาลยิ่ง และในระยะเวลา 60 ปีที่ทรงครองราชย์ ก็ได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อยุติข้อขัดแย้งมาแล้วหลายครั้ง โดยปกติแล้ว พระองค์จะทรงพระราชทานพระราชดำริก็เพื่อระงับเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่


 


เมื่อเดือนที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลบางประการ ทว่าหากเกิดเหตุการณ์รุนแรง ก็มีแนวโน้มว่าพระองค์จะพระราชทานพระราชดำริบางประการแก่กลุ่มพันธมิตรฯด้วย


 


"ฟิตช์"ห่วงวิกฤตการเมืองทำศก.ไทยแย่ปลายปีนี้


นายเจมส์ แมคคอร์แมค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือภาครัฐในเอเชีย ของ ฟิตช์ เรตติ้งส์ บริษัทเครดิตเรตติ้งใหญ่อันดับ 3 ของโลก ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯเมื่อวานนี้(10 ก.ย.)ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะชะลอตัวลงในปลายปีนี้ สืบเนื่องจากการอ่อนตัวของเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อมีความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศเข้ามาอีก ก็จะยิ่งลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ


 


"เศรษฐกิจไทยนั้นคาดหมายกันว่าจะอ่อนแอลงไปอีกในปลายปีนี้ โดยส่วนใหญ่มาจากทิศทางของทั่วโลก นั่นคือเนื่องจากความอ่อนแออย่างยาวนานและยืดเยื้อในการบริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและต่อทั่วโลก" นายแมคคอร์แมคกล่าว ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี


 


สำหรับวิกฤตทางการเมืองในประเทศไทยนั้น เขาเห็นว่ายังไม่ได้กระทบกระเทือนมากมายอะไรต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทว่าได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของของนักลงทุน โดยเขาชี้ว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนในหลักทรัพย์ "1,000 ล้านดอลลาร์หรือกว่านั้น" ถอยออกจากไทยไปแล้ว


 


เจ้าหน้าที่ของฟิตช์ผู้นี้คาดหมายว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตรา 4.6% ต่ำลงจากที่เคยคาดหมายไว้ที่ 5% "สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือจริงๆ แล้วสถานการณ์ทางการเมืองจะเลวร้ายลงไปอีกไหม สำหรับขณะนี้มันอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างชะงักงัน" เขากล่าว


 


ที่มา : ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net