Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 . วันนี้ (11 ..) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จัดเวที "ท่าทีของเครือข่ายภาคประชาชน ต่อนายสมัคร สุนทรเวช" และร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุม มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นิคมรถไฟมักกะสัน ราชเทวี กรุงเทพฯ


จากกรณีที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการใช้อำนาจรัฐกระทำการที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐซึ่งห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งผลกำไรหรือรายได้ ที่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551


ภายหลังการประชุมได้มีการเปิดแถลงข่าว โดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นผู้อ่านแถลงการณ์เรื่อง "คัดค้านการกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช และก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่" โดยได้แสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องให้ ส..ของพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลไม่ดึงดันที่จะเสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งขาดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับเข้ามาสู่ตำแหน่งอีก แต่จะต้องเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม และวุฒิภาวะทางการเมือง เป็นที่ยอมรับและสามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย


"อดีตนายกสมัครต้องฟังเสียงประชาชน และเสียสละโดยต้องไม่กลับมาอีก" นางสาววิไลวรรณกล่าว



ส่วนกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมาต้อง เข้ามาสู่การหาทางออกร่วมกัน ตามหลักนิติรัฐและวิถีทางประชาธิปไตย และยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันทีเพื่อนำประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ


นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอสร้างกระบวนการปฏิรูปการเมือง โดยการมีส่วนร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มเกษตรกร นักศึกษา นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุดมการณ์และปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน


ด้านนางสุนทรี เซ่งกิ่ง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวว่าการประชุมและแถลงข่าวอย่างเร่งด่วนในวันนี้ต้องการให้มีผลต่อการตัดสินใจของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคพลังประชาชน ในการเสนอชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากภาคการเมืองมองเห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ต้องการให้สังคมสงบสุข ก็ไม่ควรดึงดันเสนอชื่อนายสมัครโดยคิดเพียงเรื่องแพ้ ชนะ และหากมีปัญหาเกิดขึ้นจากการการะทำดังกล่าวพรรคพลังประชาชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ


ในส่วนที่ว่าใครจะเป็นผู้เหมาะสมในการทำหน้าที่นายกฯ นั้น ประธาน กป.อพช.อีสานกล่าวว่าไม่ขอก้าวล่วงกลไกรัฐสภา และ เชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวุฒิภาวะพอในการตัดสินในเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติในทางบวก ที่จะคลีคลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยภาคประชาชนคาดหวังว่าจะมีการเสนอชื่อบุคคลที่สามารถสร้างความสมานฉันท์ให้สังคมไทย และที่สำคัญจะต้องได้รับความยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ


ในส่วนอนาคตของการสร้างกระบวนการปฎิรูปการเมืองนั้น จะต้องแก้ปัญหาโครงสร้างทางการเมือง รวมไปถึงการทบทวนรัฐธรรมนูญ โดยทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม อยู่บนโต๊ะเจรจาหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าประชาชน หรือฝ่ายการเมืองใดฝ่ายการเมืองหนึ่ง โดยรัฐสภาอาจเข้ามาเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้


 












แถลงการณ์เรื่อง คัดค้านการกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช
และก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่






จากการที่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการใช้อำนาจรัฐกระทำการที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งผลกำไรหรือรายได้




ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้สังคมไทยสามารถข้ามพ้นวิกฤตและความขัดแย้งทางการเมือง นำไปสู่การหาทางออกร่วมกันของ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยประกอบด้วยสมาชิก 30 กว่าองค์กร คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ประกอบด้วยสมาชิก 300 องค์กร และเครือข่ายภาคประชาชน ฯลฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเรียกร้องแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้




1.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลต้อง ไม่ดึงดันที่จะเสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งขาดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับเข้ามาสู่ตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง แต่จะต้องเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม และวุฒิภาวะทางการเมือง เป็นที่ยอมรับและสามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย



2.กลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมาต้อง เข้ามาสู่การหาทางออกร่วมกัน ตามหลักนิติรัฐและวิถีทางประชาธิปไตย




3.รัฐบาลต้อง ยกเลิกประกาศตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที เพื่อนำประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ




4.สร้างกระบวนการปฏิรูปการเมือง โดยการมีส่วนร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มเกษตรกร นักศึกษา นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุดมการณ์และปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน






คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


11 กันยายน 2551



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net