Skip to main content
sharethis

หลังจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันอังคารที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 9:0 เสียง ให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความเผยแพร่ทางสาธารณะเรื่อง " เหตุผลทางสังคม 7 ประการที่ไม่ควรนำนายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก"  โดยมีเนื้อหาดังนี้


 


0 0 0


 


การพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญของนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 นับเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคพลังประชาชนที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยาวนานที่สังคมไทยเผชิญอยู่จะมีโอกาสยุติลงได้ น่าเสียดายที่ปรากฏว่า หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังคงมีความพยายามจากสมาชิกพรรคพลังประชาชนบางส่วนและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่จะนำเอานายสมัคร สุนทรเวช กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงเสียงคัดค้านและเสียงแห่งมโนธรรมของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทย


 


เหตุผลทางสังคม 7 ประการที่จะลำดับต่อไปนี้เป็นข้อที่สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนควรจะนำไปใคร่ครวญให้รอบคอบ ในการที่จะยังคงทำร้ายสังคมไทยต่อไปอีกโดยการเสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และน่าจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายที่สมาชิกพรรคการเมืองเหล่านี้ จะได้ช่วยเหลือและหยิบยื่นโอกาสและทางออกจากวิกฤตร้ายแรงให้แก่สังคมไทยได้


 


เหตุผลประการที่1 การนำนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ไม่เพียงแต่จะเป็นการตบหน้าศาลรัฐธรรมนูญและระบบตุลาการ ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของสังคมไทยเท่านั้น หากแต่เป็นการปฏิเสธการมีอยู่ของจริยธรรมและหิริโอตตัปปะในการเมืองไทยอีกด้วย


 


มีแต่ผู้ที่ไม่เกรงกลัวละอายต่อบาปและขาดจริยธรรมเท่านั้นที่จะเสนอตัวบุคคลที่เพิ่งถูกศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า ขาดจริยธรรมและไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบและสถานะในการปฎิบัติตนในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะเมื่อ 3 วันก่อนหน้านั้น กลับมาเป็นผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหารของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง เพราะความผิดที่นายสมัครถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องการขัดแย้งกันของประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ (Conflict of interest) กล่าวคือ การไม่ยอมรับรู้ว่าตนเป็นบุคคลสาธารณะที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศและต่อประชาชน แต่กลับใช้ตำแหน่งฐานะที่ดำรงอยู่ไปดำเนินการรับจ้างหรือที่ถือว่าได้กระทำการเป็นลูกจ้าง ซึ่งเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจแก่เอกชน และเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้วโดยชัดแจ้งตั้งแต่ต้น


 


ความผิดนี้ ไม่ใช่ความผิดทางเทคนิค ไม่ใช่การเข้าใจกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่เป็นการจงใจกระทำการโดยไม่แยแสกับหลักการที่ว่า บุคคลสาธารณะต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชน อันเป็นหลักการที่เป็นหัวใจของประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ซึ่งหากปรากฏพฤติการณ์เช่นนี้ในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่แต่เพียงจะไม่ถูกเสนอชื่อมาดำรงตำแหน่งสำคัญอีกเท่านั้น หากแต่ชีวิตทางการเมืองของบุคคลผู้ละเมิดจริยธรรมทางการเมือง โดยไม่ตระหนักถึงพันธะและความรับผิดชอบในตำแหน่งการเมืองเช่นนี้ ก็ไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้โดยเด็ดขาด


 


เหตุผลประการที่ 2 การที่นายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มายาวนานทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งรังแต่จะนำสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกขณะ เพราะบุคลิกภาพและนิสัยส่วนตัวที่ก้าวร้าวรุนแรง และไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียวให้แก่ทุก ๆ คนในทุก ๆ เรื่องของนายสมัคร จะทำให้การเมืองที่ขัดแย้งรุนแรงอยู่แล้วก้าวไปสู่การเผชิญหน้าเร็วขึ้น เพราะนายสมัคร มีความเชื่อมาโดยตลอดว่าการดำเนินการทางการเมืองและการเผชิญหน้าที่ตนเลือกกระทำนั้น ถูกต้องมาโดยตลอด เมื่อมีโอกาสกลับเข้าดำรงตำแหน่งใหม่อีก ก็ยิ่งจะต้อง "สร้างผลงาน" โดยการ "เดินหน้าฆ่ามัน" อย่างที่เป็นวิถีในทางการเมืองที่นายสมัครเลือกเดินมาตลอดเกือบสี่สิบปีในชีวิตทางการเมืองนั้นเอง


 


เหตุผลประการที่ 3 การนำนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง นอกจากจะเพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองให้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการท้าทายและทำให้เกิดเงื่อนไขในการใช้กำลังทหาร ตำรวจ เข้าระงับสถานการณ์รุนแรงหรือการจลาจล ซึ่งมาจากการปะทะกันของกลุ่มการเมืองที่เผชิญหน้ากันอยู่ในขณะนี้ได้ง่ายที่สุด และสถานการณ์เช่นนี้มักจะนำไปสู่การใช้อำนาจเด็ดขาดรุนแรงของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถืออาวุธ และเป็นการเชื้อเชิญให้กลุ่มพลังที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยออกมาสู่ความขัดแย้งเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองโดยตรง และหากมีปฏิบัติการของการใช้กำลังทหาร ตำรวจในสถานการณ์ใดที่ผิดพลาดหรือล้ำเส้นความพอดี จนเกิดการกล่าวหาหรือเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้นำกองทัพ สถานการณ์เช่นนี้จะผลักให้กำลังทหารต้องเข้าควบคุมสถานการณ์และจะนำไปสู่สถานการณ์ที่น่าเศร้าสลดใจของการรัฐประหาร ล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยลงได้โดยง่ายอีกครั้งหนึ่ง


 


เหตุผลประการที่ 4 การนำนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จะทำให้โอกาสในการที่จะได้รับข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมือง จากองค์พระประมุข ซึ่งทรงมีประสบการณ์และได้ผ่านปัญหาผ่านการแก้วิกฤตของชาติมาแล้วยาวนานลดน้อยลง


 


โดยหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย องค์พระประมุขย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมตามขนบของการปกครองและโดยสถานะตามรัฐธรรมนูญที่จะพระราชทานความเห็นสำหรับผู้รับผิดชอบ เพื่อให้นำไปพิจารณาหาทางแก้ปัญหาวิกฤตที่ประเทศชาติดำรงอยู่ได้ ตามเหตุตามคราวที่มีสถานการณ์สำคัญเกิดขึ้น แต่หากเรามีนายกรัฐมนตรีที่มีแต่จะขอเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและเอาแต่กราบบังคมทูล กราบบังคมทูล และกราบบังคมทูล โดยมิได้ขอรับพระราชทานพระราชวินิจฉัยหรือขอรับพระราชทานข้อชี้แนะสำหรับการดำเนินการของรัฐบาลแล้ว จะมีโอกาสใดอีกเล่าที่จะเปิดให้สามารถได้แนวทางหรือคำแนะนำที่จะเป็นประโยชน์แก่การแก้วิกฤตของประเทศชาติจากองค์พระประมุขได้


 


เหตุผลประการที่ 5 หากนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง การเมืองไทยจะสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาด การเกิดความรุนแรง และเพิ่มความเสี่ยงในการทำลายระบบการเมืองลงได้ง่าย เพราะนายสมัครมีบุคลิกภาพที่รุนแรง ไม่ประนีประนอม และไม่รับฟังความความเห็นที่ไม่ตรงใจตัว ลักษณะของผู้นำการเมืองเช่นนี้ เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ประเทศชาติกำลังเผชิญกับภัยคุกคามหรือปัญหาจากภายนอก ซึ่งคนในชาติมักจะสามัคคีร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหาของชาติและต้องการผู้นำที่สามารถปลูกสำนึกความรักชาติและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อต่อสู้กับศัตรูหรือภัยคุกคามภายนอก


 


แต่ในสถานการณ์แตกแยก ขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจากปัญหาทางการเมืองภายใน และความเชื่อ ตลอดจนผลประโยชน์ที่แตกต่างกันภายในสังคมไทยเองที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้น บุคลิกภาพของนายสมัคร จะยิ่งทำให้สถานการณ์แตกแยกรุนแรงมากขึ้น เสมือนกับการสาดน้ำมันเข้าสู่กองไฟ ทำให้ความแตกแยกลุกลามใหญ่โตยิ่งขึ้น จนอาจเผาผลาญความเป็นชาติบ้านเมืองที่สั่งสมมานานลงได้ในคราวนี้


 


เหตุผลประการที่ 6 หากนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จะยิ่งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมสัญญาณที่ผิดพลาดในทางจริยธรรมและศีลธรรมที่สังคมไทยได้รับมาตลอดเจ็ดเดือนเศษให้ชัดเจนรุนแรงยิ่งขึ้น จนอาจทำให้ค่านิยม คุณค่า และความเชื่อที่เป็นเรื่องผิดพลาดอย่างร้ายแรงกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นแนวทางที่เยาวชนและผู้คนในสังคมไทยอาจยึดถือแบบอย่างที่ผิดพลาดเหล่านี้ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพูดจากลับไปกลับมาไม่อยู่ในร่องในรอย (เช่นการแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ การกำหนดเวลาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใด) การพูดจาโกหกพกลมไม่ตรงกับความเป็นจริง (เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีคนตายเพียงคนเดียว) การใช้ถ้อยคำหยาบคาย การใช้กริยาเกรี้ยวกราดและบริภาษสื่อมวลชนที่ต้องติดตามทำข่าวตามหน้าที่ เรื่องต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นพฤติกรรมปกติ สำหรับคนไทยในวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนมีอายุกว่า 70 ปีแล้วที่พบได้ทั่วไปในสังคม


 


แต่หากเป็นพฤติกรรมของผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหารของประเทศซึ่งปรากฏในสื่อทุกประเภท ทั่วประเทศและตลอดเวลาแล้ว ค่านิยม วัฒนธรรมและมารยาทอันดีในการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ที่ได้ปลูกฝังกันมานาน อาจจะต้องมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งและอาจจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่คนรุ่นต่อไปอาจเห็นว่าท่าที มารยาท และความประพฤติเช่นนี้เป็นเรื่องถูกต้องดีงาม หากว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติเลือกนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง


 


และเหตุผลประการที่ 7 การเลือกนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งจะทำให้คนไทยมีความทุกข์ใจมากขึ้น ไม่ว่าคนไทยเหล่านั้นจะมีความเชื่อและความชอบทางการเมืองอย่างไร สนับสนุนฝ่ายใด หากต้องยอมรับว่าลีลาและท่าทีตลอดทั้งยุทธวิธีทางการเมืองที่นายสมัครเลือกใช้ เลือกพูด เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยที่อยู่กลางๆ ไม่เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องใจหายและเฝ้าติดตามด้วยใจระทึก และคอยภาวนามิให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอยู่เรื่อยๆ ตามเหตุตามการณ์ เพราะท่าทีที่พร้อมปะทะ ไม่ประนีประนอม ไม่เจรจา และไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียวกับแนวทางที่เชื่อว่า เรื่องที่ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีตัดสินใจไปแล้วเป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งหมด โดยจะไม่ทบทวนและไม่ลดละใดๆ นั้น ทำให้ความตึงเครียดในหมู่คนไทยที่เสพสื่อ ดูโทรทัศน์ และอ่านหนังสือพิมพ์ เพิ่มดีกรีสูงมากขึ้นอยู่โดยตลอด


 


ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยฝ่ายที่เลือกสนับสนุนพันธมิตรฯ หรือ สนับสนุนพรรคพลังประชาชน หรือคนไทยที่สมัครใจใส่เสื้อขาวยืนอยู่ตรงกลาง การกลับมาของนายสมัครจะทำให้คนไทยเหล่านี้มีความตึงเครียด อึดอัด และมีความทุกข์ใจในชีวิตมากไปกว่าเดิมหลังจากที่เคยมีความสุขช่วงสั้น ๆ มาแล้วภายหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 9 กันยายน


 


เหตุผลทางสังคมทั้ง 7 ประการ นี้เป็นสิ่งที่สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลเดิมและพรรคพลังประชาชนควรจะได้นำไปคิดวิเคราะห์และไตร่ตรองโดยรอบคอบ เพื่อจะไม่ต้องกระทำความผิดซ้ำไปจากที่ได้เคยทำมาแล้วเมื่อเจ็ดเดือนก่อนต่อสังคมอีก เพราะในพรรคพลังประชาชนหรือพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังคงมีสมาชิกพรรคผู้มีอาวุโส ที่มีความรู้ความสามารถ สุขุมรอบคอบและเป็นที่ยอมรับของสังคม กับไม่มีท่าทียโสโอหัง ก้าวร้าวรุนแรง และเป็นศัตรูกับสื่อทุกประเภท อีกทั้งล้วนแต่เป็นคนที่เฉลียวฉลาด ประนีประนอม รู้จักวิธีการพูดคุยรับฟังความเห็นของคนอื่นอยู่อีกหลายคน ทั้งในระดับรองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรค ถ้าหากเลือกให้ดีและชี้คนให้ถูก โอกาสที่พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะครองประเทศ ครองใจประชาชนส่วนใหญ่ และยึดครองอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปอีกยาวนานก็มีอยู่เป็นอย่างมาก เพียงแต่ต้องอย่าไปหลงติดยึดในมายาภาพและความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นว่า จะต้องปะทะแตกหัก จะต้องสู้รบ หรือจะต้องก้าวร้าวรุนแรงอย่างที่เคยเป็นอยู่ และได้พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net