Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชัชวาลย์ รักชาติ


นักศึกษากฏหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


สภาพปัญหาความขัดแย้งความคิดทางการเมืองในปัจจุบันและมุมมองของพันธมิตรว่านักการเมืองว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เพื่อเป็นทางนำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบการเมืองใหม่ ที่ให้มีการสรรหาและแต่งตั้งมาทดแทนระบบการเลือกตั้งแบบเดิม โดยอาศัยข้อกล่าวหาของทางพันธมิตรต่อการได้มาซึ่งเสียงข้างมากของพรรคพลังประชาชน "ว่าเป็นระบบการเมืองอุบาทว์ ผูกขาดโดยนักเลือกตั้งและนายทุนโดยทุจริตการเลือกตั้ง ซื้อสิทธ์ขายเสียง หรือการใช้อำนาจรัฐข่มขู่ประชาชน และความไม่เป็นกลางของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น" อาจเป็นคำกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมนัก ต่อเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ที่ยังเลือกพรรคพลังประชาชน นอกจากกรณีของคุณยงยุทธแล้วเราไม่ได้เห็นการนำหลักฐานสำคัญอื่นมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่าพรรคพลังประชาชนมาจากการซื้อเสียงอย่างมากมาย


 


อย่างไรก็ตาม การซื้อสิทธิ ขายเสียง อาจมีได้และยังดำรงอยู่จริงก็เฉพาะในพื้นที่จำกัด เนื่องจากบทลงโทษของนักการเมืองและพรรคที่รุนแรงมากขึ้น นักการเมืองระมัดระวัง และมีรูปแบบการใช้เงินของนักการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป  จากการสัมภาษณ์นักการเมืองผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ในจังหวัดต่างๆ โดยสัมภาษณ์ทั้งตัวผู้สมัครและชาวบ้านในพื้นที่นั้นเอง กลับพบว่า สาเหตุการตัดสินใจของประชาชนเป็นเพราะการทำงานลงพื้นที่อย่างจริงจังของผู้สมัครที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงประชาชน ช่วยเหลือประสานแก้ไขปัญหาแก่ชาวบ้าน จนบางครั้งเกินกว่าหน้าที่ สส. ตามที่ระบุไว้ ทั้งนโยบายพรรคแบบประชานิยมที่เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงนี้เอง ที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ อีกทั้งพรรคคู่แข่งขันฝ่ายตรงข้ามที่ดูเหมือนว่ามีความพยายามและลงทุนน้อยกว่าในการรณรงค์หาเสียงและการทำงานในพื้นที่ จึงอาจเชื่อว่ามิใช่อิทธิพลการซื้อเสียงหรือการโกงการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว


 


ฉะนั้นข้อกล่าวหาเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงนี้ เราควรที่จะทำวิจัยหรือออกแบบสอบถามทางวิชาการยืนยันอย่างจริงจัง เพื่อใช้ในการป้องกันและเท่าทันของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการเลือกตั้ง และเพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าการกระทำอย่างไรที่ถือเป็นความผิด ผู้ที่ไม่ชอบพรรคพลังประชาชนและพันธมิตรเองจะได้ทราบว่าการซื้อเสียงหรือทุจริตในรูปแบบต่างๆมีจริงหรือไม่  และเหตุใดการควบคุมการเลือกตั้งที่เคร่งครัดภายใต้รักษาการรัฐบาลทหาร คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) และ กกต. ที่ผ่านมา ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งได้ ส่วนเหตุผลที่นำมาสู่ความคิด การเมืองใหม่ น่าจะมาจากเหตุผลอื่นๆ ที่จะทำให้มีน้ำหนักมากกว่านี้


 


ปัญหาในระบบการสรรหาและแต่งตั้ง ซึ่งทิ้งจุดยืนที่สำคัญว่า"อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ที่ให้พรรคหรือตัวแทนประชาชนต้องได้รับฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชน การสรรหาจึงเป็นการปฏิเสธระบบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง เมื่อเราไม่อาจเชื่อระบบพรรคหรือระบบผู้แทนแล้ว เราอาจเรียกระบบนี้ว่า ระบบเผด็จการ ซึ่งเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าระบบนี้จะได้มาซึ่งตัวแทนที่ดีจริง ใครคือคณะกรรมการสรรหา ใครคือผู้ถูกสรรหา ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เปิดช่องให้มีการสรรหาและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เราเองก็พบว่า ผู้สรรหาส่วนใหญ่มาจากสายตุลาการและผู้ได้รับการแต่งตั้งก็มาจากสายตุลาการ ข้าราชการและสายทหารระดับสูงที่เกษียณแล้วจำนวนมาก มีเพียงส่วนน้อยที่มาจากตัวแทนภาคประชาชนและสายอาชีพอย่างแท้จริง ซึ่งยังมีการตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางและข้อพิจารณาในคุณสมบัติของผู้ได้รับเลือก แต่ถึงกระนั้น สว. ก็มีบทบาทหน้าที่ในขอบเขตจำกัดเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลกับ สส.  ปัญหาการได้มาซึ่งสว.จากระบบการเลือกตั้งนั้น อาจเกิดจากกฏระเบียบของการเลือกตั้งนั้นเอง ที่จำกัดรูปแบบการหาเสียง ทั้งประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจ การตระหนักและการมีส่วนร่วม ทำให้ไม่ทราบความแตกต่างและความสำคัญของระบบถ่วงดุล ระหว่าง สส. และ สว. จึงได้เลือกนักการเมืองหน้าเก่าหรือผู้มีชื่อเสียง ที่เป็นที่รู้จักมาก่อนเป็นทุนเดิมเข้าสู่สภา ซึ่งผู้สมัครเหล่านั้นย่อมได้เปรียบมากกว่าผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ


 


เมื่อสมัยอดีตเรามีระบบส่งเสริมให้เกิดพรรคขนาดเล็กและตัวแทนอิสระ ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงและเสถียรภาพของฝ่ายบริหาร ทั้งนายกรัฐมนตรีอาจมาจากคนนอกสภาซึ่งเป็นปัญหาการยอมรับของประชาชน จนต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ส่งเสริมให้มีพรรคขนาดใหญ่ เราจึงได้พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลพรรคเดียวตามเจตจำนงค์ของรัฐธรรมนูญพร้อมอำนาจฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นผลดีถ้าเราได้พรรคและนักการเมืองที่ดี แต่เมื่อเราได้พบความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน ผลประโยชน์ทับซ้อนและความอ่อนแอในระบบถ่วงดุล ไม่ว่า สว. และองค์กรอิสระต่างๆ ไม่สามารถทำงานได้ จึงเกิดกระแสต่อต้าน นำไปสู่การยุบสภาและรัฐประหารในเวลาต่อมา ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ลดทอนอำนาจฝ่ายบริหารและเพิ่มอำนาจระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล ทั้งจาก สว. องค์กรอิสระและระบบตุลาการ ซึ่งถึงวันนี้ระบบถ่วงดุลต่างๆ ก็ทำงานได้เป็นอย่างดี   เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายบริหารเสียด้วยซ้ำที่มีอำนาจด้อยกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลากร เรากลับไม่ได้ยอมรับระบบตรวจสอบและให้มีการลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ฉะนั้นทั้งฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตรควรที่จะเคารพและยึดหลักกฎหมายภายใต้การบังคับใช้ตามมาตรฐานการปฎิบัติอย่างเดียวกัน


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องยอมรับว่า ทางเลือกของประชาชนมีอยู่น้อยมาก เรามีพรรคการเมืองใหญ่ 2 ขั้ว ในขณะพรรคทางเลือกที่มีศักยภาพไม่เคยได้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคสายแรงงาน พรรคสังคมนิยม พรรคภาคประชาชน และพรรคสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงข้อถกเถียงและพูดกันในหมู่นักเคลื่อนไหว แต่ไม่เคยมีความพยายามให้เป็นจริงได้ เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนทางการเงินและต้นทุนทางสังคมที่สูงมากเพียงพอ แต่ถ้าองค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชน นักเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ พันธมิตร มีความตั้งใจจริงที่จะก่อตั้งพรรคทางเลือก โดยมีฐานมวลชนที่สนับสนุนย่อมมีความเป็นไปได้ เช่นดังกรณีของ คุณรสนา โตสิตระกูล ที่มาจากการเลือกตั้ง สว. โดยมีคะแนนเสียงชนะอย่างท่วมท้น  


 


แต่เมื่อระบบการเลือกตั้งจำต้องลงทุนสูง ทั้งแรงกาย ทุนทรัพย์และต้นทุนสังคม ย่อมเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง นักเคลื่อนไหว นักวิชาการจึงไม่อยากเข้าร่วมและขอเป็นเพียงผู้วิจารณ์ซึ่งอยู่เหนือปัญหาโดยไม่ต้องเจ็บและเปลืองตัว ในขณะที่ระบบการสรรหาและแต่งตั้ง ย่อมเป็นโอกาสที่ง่าย ประหยัดและเป็นเส้นทางลัดในการเข้าถึงอำนาจรัฐ จึงได้รับเสียงสนับสนุนจากนักเคลื่อนไหว นักวิชาการบางกลุ่ม โดยมองข้ามฐานเสียงสนับสนุนของประชาชน


 


รูปแบบการเมืองใหม่ของพันธมิตร ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไร ย่อมไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย ที่ยึดถือหลักการตัวแทนต้องมาจากฐานเสียงรับเลือกจากประชาชนเป็นสำคัญ ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธว่าหาก การเมืองใหม่ จะเป็นเรื่องของการปฏิรูปการเมือง การเลือกตั้ง ที่จะนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเหตุมีผล แต่การเมืองใหม่ต้องไม่มีประเด็นอื่นแอบแฝงหรือเป็นแค่เพียงคำกล่าวอ้างเพื่อให้ตัวเองมีความชอบธรรมในการปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่ เพื่อนำระบบการสรรหาและแต่งตั้งมาทดแทนระบบเดิม ที่ท่านทั้งหลายเคยร่วมต่อสู้กันมาเพื่อระบบประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งนี้มากกว่าสามทศวรรษแล้ว ฉะนั้นรูปแบบการเมืองใหม่ที่ถูกต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ และเมื่อผลที่ได้ไม่ว่าเป็นเช่นไร ทุกฝ่ายควรต้องยอมรับและเคารพในการตัดสิน แต่กระนั้นเสียงส่วนใหญ่ก็ควรเคารพและรับฟังในเสียงส่วนน้อย และแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างด้วยสันติวิธีและสร้างสรรค์


 


ประชาธิปไตยไม่ได้สิ้นสุดแค่ผลการเลือกตั้งหรือการได้มาซึ่งผู้แทนราษฎร เราควรให้ความสำคัญในประชาธิปไตยรูปแบบอื่นๆ มากกว่า ไม่ว่าจะพิจาณาเพิ่มช่องทางการมีสิทธิส่วนร่วมทั้งโดยตรงและผ่านระบบผู้แทน การเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่ด้อยกว่าได้มีสิทธิในการแสดงออกทางความคิด การให้ความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง การให้มีการเรียนการสอนและการมีส่วนร่วมในระบบประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับเยาวชน กระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มคน เป็นสมาคม ชมรม สมัชชา เครือข่ายหรืออื่นๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและตรวจสอบถ่วงดุลในพื้นที่ตนเอง สิทธิในกระบวนการตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการของประชาชนโดยตรง การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้ามีส่วนในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชนของตนเอง และสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมที่ไม่สามารถแข่งขันทางการเมืองกับพรรคขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มชนเผ่า กลุ่มชาวนา กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มทางศาสนา หรืออื่นๆ ให้มีผู้แทนเหล่านี้ในสภา โดยอาจเป็นการใช้ระบบโควตา ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายที่ต้องมีตัวแทนเหล่านี้ในการสมัครในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หรืออาจให้มีการเลือกตั้งเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้ได้มีโอกาสมีผู้แทนนำข้อเรียกร้องเสนอเข้าสู่สภาในการกำหนดนโยบายรัฐที่มีผลกระทบต่อตนเองได้


 


แม้นักการเมืองดูเป็นสิ่งชั่วร้ายในสายตาบางคนแต่ไม่ใช่นักการเมืองทั้งหมด ยังมีนักการเมืองที่ดีที่พร้อมทำงานเพื่อประชาชนอยู่อีกมาก ฉะนั้นการเมืองใหม่นั้นควรที่ส่งเสริมประชาชนได้เลือกพรรคการเมืองและผู้แทนที่ดี ทั้งต้องมีระบบตรวจสอบที่อิสระและเข้มแข็ง ทั้งมีกระบวนการกำจัดและลงโทษนักการเมืองที่ไม่ดีออกจากสภา กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดพรรคทางเลือกหรือนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ใช่วนเวียนอยู่แค่ 2 ขั้วการเมือง


                                                                                   


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net