สัมภาษณ์ ภัควดี วีระภาสพงษ์: นัยยะซ่อนเร้นในงานแปลของ "ภัควดี วีระภาสพงษ์

นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ

 





 

"แรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้สนใจละตินอเมริกาคือ เราได้ยินคำพูดในสังคมไทยอยู่ระยะหนึ่งว่าเมืองไทยจะเหมือนอาร์เจนตินา เราเห็นภาพในทีวีว่า อาร์เจนตินาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
มีคนออกไปปล้นตามร้านขายของชำ แต่เราไม่เชื่อว่า มนุษย์จะอยู่ในสภาพจลาจลแบบนั้นไปตลอด
พื้นฐานของสังคมมนุษย์มีความเป็นระเบียบในตัวเอง
ไม่อย่างนั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์คงไม่อยู่รอดมาถึงป่านนี้"

"ถ้ามีใครถามว่าอำนาจวรรณกรรมอยู่ตรงไหน ซาปาติสตาคือตัวอย่างของอำนาจวรรณกรรม
วรรณกรรมเปลี่ยนแปลงโลกได้ อุดมคติและความใฝ่ฝันเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนเรื่องความเป็นไปได้นั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองก็แล้วกัน"

 

 


ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

สำหรับฉันแล้ว ประทับใจงานแปลทุกชิ้นและบทความแปล ของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ มาเป็นเวลาหลายปี เล่มที่อ่านบ่อยที่สุดคือ "อมตะ" ของมิลาน คุนเดอรา ฉันมีโอกาสได้พบตัวจริงของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ครั้งที่ 2 จึงขอโอกาสพูดคุย และรับฟังชีวิต การทำงานของนักแปลที่ฉันติดตามผลงานมาโดยตลอด

                                                                                                                         

สิ่งที่ฉันชื่นชมสำหรับนักแปลท่านนี้คือ จุดยืนในการทำงานและความชัดเจนในการทำงาน และหลายอย่างที่ประทับใจ ฉันไม่คิดมาก่อนเลยว่า คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ จะเป็นคนพูดเก่งและเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ก่อนสัมภาษณ์ก็เกร็งๆ เหมือนกันแต่เมื่อได้พูดคุยกันไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งสนุก และจุดประกายหลายอย่างหลายคนคงมีหนังสือผลงานแปลของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์เป็นของตัวเอง และ "ซาปาติสตา" คือโลกทัศน์ใหม่ที่คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้นำเสนอต่อนักอ่านหลายๆ ท่านเช่นกัน

 

ตอนนี้งานแปลและงานเขียนที่ทำอยู่มีอะไรบ้าง


ภัควดี: งานที่ทำตอนนี้ หนังสือเล่มที่แปลค้างอยู่มีสองเล่ม เป็นหนังสือวิชาการทั้งสองเล่ม
เล่มแรก The Great Transformation ของคาร์ล โปลันยี เป็นหนังสือเก่าประมาณ 60-70 ปีได้
แต่ค่อนข้างทันสมัยเพราะเป็นการพูดถึงความล้มเหลวของตลาดเสรีและเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเชิงสังคมวิทยา 

                                                                                                           

ส่วนเล่มที่สองเป็นหนังสือใหม่เป็นงานของพอล ฮอว์เกน ชื่อหนังสือ Blessed Unrest เกี่ยวกับขบวนการสังคมในยุคสมัยใหม่ การเกิดขึ้นของขบวนการสังคมในปัจจุบัน นอกจากหนังสือเล่ม ก็มีงานเขียน/แปลบทความอยู่ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน เว็บไซต์ ฟ้าเดียวกันออนไลน์ เว็บไซต์ ประชาไท
โครงการแปลเพื่อสิทธิมนุษยชนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แล้วก็ ปาจารยสาร

 

ทำไมระยะหลังหันมาสนใจแปลงานหรือเขียนบทความที่เกี่ยวกับเรื่องประเด็นการเมือง สังคม เศรษฐศาสตร์ และงานวิชาการ?


ภัควดี:
 เรื่องสังคมเป็นเรื่องใกล้ตัว มีผลกระทบต่อตัวเรา ลูกของเรา ครอบครัวและคนรอบข้าง จึงรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่เราต้องมีต่อลูกหรือต่อคนรอบตัว ที่มาสนใจประเด็นพวกนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับจิตสำนึกเลย เพราะจิตสำนึกไม่ค่อยมี ถ้าหากว่าไม่มีครอบครัวก็คงแปลนิยายอย่างเดียว คงเลือกเอาความสะใจและความสุขเป็นที่ตั้ง 

 

การหันมาแปลงานที่เกี่ยวกับสังคมมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่า เราทำให้คนเกิดมา แต่เขาเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่ในสังคมแบบไหน เราก็มุ่งหวังว่า อย่างน้อยก็ทำเท่าที่ทำได้เพื่อให้สังคมนี้ดีขึ้น คือจะได้ไม่ถูกลูกของตัวเองกล่าวโทษในอนาคต ถ้าไม่มีลูกก็คงทำแนววรรณกรรมเป็นส่วนใหญ่ เหมือนที่เคยแปลมาตั้งแต่ต้น แต่ตอนนี้ก็มีโครงการจะกลับไปแปลงานวรรณกรรมอีก

 

ในการแปลงานวรรณกรรมแต่ละเล่มต้องตีความอย่างไร เพื่อให้ได้ภาษาในแบบที่นักเขียนคนนั้นต้องการถ่ายทอดออกมา?


ภัควดี:
 การแปลงานคนๆ หนึ่ง อย่างแรกต้องอ่านงานเขาเยอะๆ มากกว่าหนึ่งเล่ม ต้องทำความเข้าใจว่าโลกทัศน์ของเขาเป็นอย่างไร ต้องถ่ายทอดให้ผู้อ่านรู้ว่า เขามองโลกแบบนี้ ไม่ใช่เอาโลกทัศน์ของเราไปใส่แทนโลกทัศน์ของเขา โดยทั่วไปมักจะไม่อ่านงานวิจารณ์วรรณกรรม เพราะกลัวว่างานวิจารณ์วรรณกรรมจะกลายเป็นแว่นหรือกรอบในการมองงานชิ้นหนึ่งๆ กลัวว่ามันจะกำหนดมุมมองของเรา

 

แต่ไม่นานมานี้ ได้แปลเรื่องสั้นของการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ด้วยความที่ค่อนข้างเกร็งเวลาแปลเรื่องสั้น ยิ่งสั้นยิ่งแปลยาก เพราะมันเข้มข้น กลัวว่าจะพลาดในจุดใดจุดหนึ่ง ก็เลยใช้วิธีที่ไม่เคยทำมาก่อน
นั่นคือ อ่านงานที่เขียนวิจารณ์เรื่องสั้นเรื่องนั้น เมื่อใช้วิธีนี้ ก็ค่อนข้างพอใจกับงานแปลที่ออกมา ตอนนี้กำลังคิดว่า อาจจะลองใช้วิธีนี้กับนวนิยายดู แต่ที่พูดมานี้ ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ชอบอ่านงานวิจารณ์วรรณกรรม ตรงกันข้ามเลย เราชอบอ่านงานวิจารณ์วรรณกรรม แต่มักจะอ่านงานวิจารณ์ที่วิจารณ์หนังสือที่เราไม่ได้คิดจะแปล งานวิจารณ์วรรณกรรมมีประโยชน์มากในการศึกษาวิธีอ่านวรรณกรรมของนักวิจารณ์
แต่ไม่ควรให้มันมากำหนดกรอบการอ่านของเรา

 

ทำไมเลือกแปลงานเขียนของปราโมทยา ซึ่งเป็นนักเขียนในเอเชียอาคเนย์ และมีความเห็นอย่างไรต่อนักเขียนย่านประเทศเพื่อนบ้าน?

ภัควดี: ปราโมทยา (จริงๆ ต้องเรียกว่า ปรามูเดีย) ตอนแรกก็ไม่เคยสนใจมาก่อน แต่สำนักพิมพ์เสนอให้ พออ่านแล้วชอบจึงรับแปล จริงๆ ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมของเอเชียอาคเนย์มากนัก
เมื่อก่อนเคยแปลงานเขียนของนักเขียนฟิลิปปินส์เล่มหนึ่ง แต่ไม่ได้พิมพ์ และต้นฉบับก็หายไปแล้ว

การที่งานของนักเขียนเอเชียอาคเนย์ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านชาวไทย เพราะเมืองไทยมีความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านน้อยมาก เราสนใจคนอื่นน้อยมาก เราชอบเพ้อฝันว่าไทยแลนด์ยิ่งใหญ่ แล้วก็หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ทำให้เรามีมุมมองที่จำกัดต่อนักเขียนที่เป็นเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขปรับปรุงและหาความรู้ให้มากขึ้น แม้ว่าอาจมีข้อจำกัดในด้านภาษาท้องถิ่นบ้างก็ตาม

 

ที่บอกว่ามีงานที่แปลแล้วไม่ได้พิมพ์ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยไหม?

ภัควดี: ก็มีเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็พยายามแปลเฉพาะงานที่ตกลงกับสำนักพิมพ์แล้ว อันที่จริง รักชวนหัว กับ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต แปลเสร็จมาหลายปีก่อนได้พิมพ์ ตอนนั้นด้วยความอยากแปลก็แปลไปก่อน เพราะยังเด็กอยู่ด้วย

 

ทำไมถึงเลือกแปลงานสองเล่มนี้ของมิลาน คุนเดอรา ชอบอะไรเป็นพิเศษในงานเขียนของคุนเดอรา?

ภัควดี: อ่านแล้วชอบ ครั้งแรกที่สนใจอ่านงานของเขาเพราะพี่วสันต์ สิทธิเขตต์ แนะนำให้อ่าน พอได้อ่านงานเขียนของคุนเดอราแล้ว ชอบอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ ในบางเรื่อง คุนเดอราทำให้เรามองโลกในมุมที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน แต่พอมามองในมุมที่เขานำเสนอ มันทำให้เราเข้าใจโลกได้ลึกซึ้งขึ้น อย่างที่สองคือ ในบางเรื่องเขาก็เขียนตรงกับความรู้สึกหรือความคิดของเรา บางอย่างที่เรารู้สึกว่าเราพิสดารหรือแปลกจากคนอื่น แต่พอได้อ่านงานของเขาแล้ว เรารู้สึกดีใจว่าคนที่คิดและรู้สึกอย่างเราก็มี แถมยังเป็นนักเขียนใหญ่เสียด้วย อาทิเช่น ในนวนิยายเรื่อง อมตะ เขาเขียนวิจารณ์เกี่ยวกับพวกโรแมนติก เราเคยมีความรู้สึกแบบเดียวกัน แต่อธิบายออกมาไม่ถูก การที่เราไม่ใช่คนในสำนักโรแมนติก
ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึกความหวั่นไหวมากนัก ในขณะที่เพื่อนรอบตัวเรามักอยู่สำนักโรแมนติกทั้งนั้น                                                                                                         

 

บางทีเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนประหลาด เป็นพวกไม่มีหัวใจหรือยังไง คนไม่เคยเหงานี่เป็นมนุษย์ประหลาดไหม แต่พอได้อ่านนิยายของคุนเดอราเรื่องนี้ ก็ดีใจว่าเราไม่แปลกนะ คุนเดอราทำให้รู้ว่าความละเอียดอ่อนมีหลายแบบ และความรู้สึกที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ก็มีได้หลายแบบ

นอกจากนวนิยาย คุนเดอรายังเขียนความเรียงด้วย คุนเดอราเป็นคนที่อ่านงานปรัชญาเยอะ และเขาก็ดึงงานปรัชญาเช่น ปรัชญาของนีทส์เช่ (Nietzsche) มาใช้อธิบายเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ชีวิตที่ดูเหมือนธรรมดาสามัญ ความรัก ความใคร่ ความเกลียด เขากลับใช้ปรัชญาที่ซับซ้อนมาอธิบายได้ งานของเขาจึงมีความลึกซึ้ง เพราะมันสร้างโลกทัศน์ในการมองโลกที่ไม่ฉาบฉวยเพียงแค่การเล่าเหตุการณ์เหมือนข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์

 

งานแปลชิ้นแรกที่ได้รับการตีพิมพ์?

ภัควดี: เป็นความเรียงสั้นๆ ลงในนิตยสาร บานไม่รู้โรย ของพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชื่อ "ความเรียงว่าด้วยเรื่องครอบครัวของ จี.เค.เชสเตอร์ตัน ตอนนั้นยังเรียนอยู่อายุประมาณ 19 หรือ 20 นี่แหละ

ส่วนงานแปลเล่มแรกเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวของเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ชื่อเรื่อง "ซาฮาโตโพล์ค เทพเจ้าจอมมายา"

 

อะไรเป็นพื้นฐานที่ทำให้สนใจแปลงานในโลโก้ที่ใครๆ อ่านก็ต้องรู้ว่า ถ้างานแบบนี้ต้องเป็นงานแปลของภัควดี วีระภาสพงษ์ คือพูดง่ายๆ ว่าสร้างแบรนด์ตัวเองได้แล้ว?

ภัควดี: สร้างได้แล้วจริงหรือไม่รู้เหมือนกันนะคะ เราอ่านหนังสือแบบไหน เราก็อยากแปลอย่างนั้น
ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กก็จะอ่านนิยาย พอเป็นวัยรุ่น เรียน ม.ปลายก็เริ่มอ่านงานเชิงสังคม วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปาจารยสาร โลกหนังสือ วารสารธรรมศาสตร์ แล้วก็อ่านงานแนวมาร์กซิสต์บ้าง งานของต่างประเทศที่แปลเป็นไทยก็อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ และชอบอ่านงานเก่าๆ วรรณคดีไทยก็อ่านเยอะมาก งานแปลของนักแปลเก่าๆ อย่างเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป อ.สายสุวรรณ และแสงทอง ทั้งสี่คนเป็นนักแปลที่ชอบเป็นพิเศษ งานที่แปลก็คงสะท้อนการอ่านของตัวเอง

 

เล่มที่แปลเองแล้วชอบที่สุด ยากที่สุด แปลเสร็จเร็วที่สุด?

ภัควดี: ชอบ "สมัญญาแห่งดอกกุหลาบเล่มนี้ใช้เวลาแปลประมาณสองปีครึ่ง เป็นเล่มที่ยากที่สุด
ส่วนงานเขียนของนักเขียนอีกคนที่แปลยากคืองานของโจเซฟ คอนราด เรื่อง "สหายลับร่วมห้อง" พิมพ์นานแล้วโดยสำนักพิมพ์กล้วยไม้ ของคุณนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ส่วนความเร็วในการแปลนั้นขึ้นอยู่กับความหนาบางของหนังสือ อย่าง "ความเขลาของคุนเดอราแปลเสร็จเร็วมาก

 

ทำไมให้ความสนใจเรื่องราวในละตินอเมริกา?

ภัควดี: ถ้าเป็นคนที่สนใจแนวคิดฝ่ายซ้ายในตะวันตก อ่านไปอ่านไป ก็ต้องสนใจละตินอเมริกาจนได้
เพราะการเปลี่ยนแปลงในละตินอเมริการะยะหลังเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเยอะ ตอนแรกที่มาสนใจแนวคิดของฝ่ายซ้ายในตะวันตก เริ่มจากงานของนอม ชอมสกี้ก่อน และเคยแปลงานของชอมสกี้เล่มหนึ่ง
ซึ่งสำนักพิมพ์โกมลคีมทองเป็นผู้จัดพิมพ์ จากนั้นก็อ่านในอินเตอร์เน็ตมาเรื่อยๆ งานเขียนของฝ่ายซ้ายทั้งหลายจะชี้ไปที่ละตินอเมริกา เมื่อได้อ่านซาปาติสตาก็รู้สึกว่าชอบและสนใจ

 

แรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้สนใจละตินอเมริกาคือ เราได้ยินคำพูดในสังคมไทยอยู่ระยะหนึ่งว่าเมืองไทยจะเหมือนอาร์เจนตินา เราเห็นภาพในทีวีว่า อาร์เจนตินาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีคนออกไปปล้นตามร้านขายของชำ แต่เราไม่เชื่อว่า มนุษย์จะอยู่ในสภาพจลาจลแบบนั้นไปตลอด พื้นฐานของสังคมมนุษย์มีความเป็นระเบียบในตัวเอง ไม่อย่างนั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์คงไม่อยู่รอดมาถึงป่านนี้ เราก็เลยอยากรู้ว่า ชาวอาร์เจนตินาจะทำอย่างไรในสภาพที่เศรษฐกิจมันล่มสลาย เขาเอาตัวรอดอย่างไร ก็เลยเริ่มตามอ่านงานเกี่ยวกับอาร์เจนตินา ความสนใจในละตินอเมริกาจึงเริ่มต้นจากซาปาติสตาและอาร์เจนตินา                                                                                                                  

 

แปลงานมาก็มาก สนใจเป็นนักเขียนเองบ้างหรือไม่?

ภัควดี: เขียนเองคงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เยอะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยมี แต่ถ้าเขียนเองในเชิงบทความ ก็พอเขียนได้นิดหน่อย ก็มีเขียนบ้าง ซึ่งเป็นการหาข้อมูลแล้วเรียบเรียง โดยพื้นฐานเป็นนักอ่านมากกว่า และการแปลเป็นพื้นฐานที่สืบต่อมาจากการเป็นนักอ่าน คิดว่าเรามีคุณสมบัติของการเป็นนักอ่านมากกว่าจะเป็นนักเขียน                                                                                        

 

เล่มไหนหรืองานเขียนใครที่อยากแปลแล้ว ยังไม่ได้แปลบ้าง แล้วจะมีโอกาสเห็นงานแปลแนวจิตวิญญาณของภัควดีบ้างหรือเปล่า?

ภัควดี: ก็มีงานของคุนเดอราและโจเซฟ คอนราด ที่อยากแปล และอีกเล่มของปรามูเดียที่อยากแปลคือ The Girl from the Coast เป็นงานเชิงชีวประวัติเกี่ยวกับยายของเขา เขาตั้งใจจะเขียนต่อมาถึงแม่ของเขาด้วย แต่เขาเขียนไม่จบ เป็นงานที่ดีมากและไม่ยาวมาก ส่วนเล่มสุดท้ายในชุดงานเขียนสี่เล่มของปรามูเดีย (อันได้แก่ This Earth of Mankind - แผ่นดินของชีวิตChild of All Nations - ผู้สืบทอด, Footsteps - รอยย่างก้าว และเล่มสุดท้าย House of Glass) มีข่าวดีว่าจะมีโอกาสได้แปลในอนาคต เพราะมีสำนักพิมพ์ที่สนใจจะพิมพ์ ส่วนงานแปลในเชิงจิตวิญญาณนั้น ไม่แปลแน่นอนค่ะ เพราะเป็นคนไม่มีศาสนาและทนอ่านงานแบบนี้ไม่ค่อยได้

 

งานแปลของภัควดี ขายยากนะ เป็นงานสำหรับคนอ่านเฉพาะกลุ่ม รู้สึกอย่างไรบ้าง ทำไมไม่แปลงานพวกเบสท์เซลเลอร์ไปเลย หรือคิดจะเขียนงานวิจารณ์วรรณกรรมบ้างไหม?

ภัควดี: ยิ่งหนังสือขายยากแค่ไหน เราก็ยิ่งรู้สึกว่าเราแปลถูกเล่มแล้ว จี.เค. เชสเตอร์ตัน ซึ่งเป็นนักเขียน เขาเคยพูดว่า นักอ่านมีอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือนักอ่านหน้าใหม่ที่อยากอ่านหนังสืออะไรก็ได้สักเล่ม กับนักอ่านอีกประเภทหนึ่งคือนักอ่านที่อ่านมาเยอะแล้ว และกำลังรอหนังสือสักเล่มที่จะทำให้เขาตื่นเต้นที่ได้อ่าน เราตั้งเป้าหมายเอาไว้แล้วว่าอยากแปลให้นักอ่านประเภทที่สอง คือประเภทที่โชกโชนกับการอ่านมาเยอะแล้ว และกำลังรอหนังสือที่น่าตื่นเต้น ไม่เหมือนใคร

 

หนังสือเบสท์เซลเลอร์มีคนแปลเยอะอยู่แล้ว จึงอยากแปลในสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่า สำหรับการวิจารณ์วรรณกรรมนั้น ไม่คิดว่าเป็นคนที่มีความรู้พอจะไปทำงานวิจารณ์วรรณกรรม งานวิจารณ์จะมีบ้าง ก็เป็นงานเขียนวิจารณ์หนังมากกว่า ซึ่งเคยเขียนมาบ้าง

 

สิ่งที่อยากทำคืออยากเขียนเรื่องหนัง อยากเขียนเกี่ยวกับผู้กำกับหนังและหนังของเขา มีอยู่สี่คนที่สนใจเป็นพิเศษคือ มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี ชาวอิตาลีสัตยาจิต เรย์ ชาวอินเดีย อแลง เรเนส์ ชาวฝรั่งเศส และเปโดร อัลโมโดบา ชาวสเปน

 

อยากให้แนะนำผู้ที่อยากทำงานแปลว่าควรตั้งต้นอย่างไรบ้าง?

ภัควดี: น่าจะเริ่มโดยแปลเรื่องสั้นก่อน เราก็เริ่มแปลเรื่องสั้นก่อน ทั้งๆ ที่เป็นคนไม่ชอบอ่านเรื่องสั้น แต่ก็เริ่มต้นแปลเรื่องสั้นและได้ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ การแปลเรื่องสั้นจะทำให้ได้ฝึกการแปล ในขณะเดียวกัน ก็ทดสอบตัวเองไปด้วยว่า ชอบงานแปลจริง ๆ หรือไม่ ดีกว่าเริ่มที่หนังสือเล่ม ซึ่งต้องผูกมัดตัวเองเป็นเวลานานกว่าเรื่องสั้นมาก

 

ในเรื่องการติดต่อกับสำนักพิมพ์นั้น ในสมัยก่อนใช้การติดต่อทางไปรษณีย์เป็นหลัก ตอนเริ่มต้นก็แปลแล้วส่งไปให้เขาดูเลย จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์ว่าจะรับหรือไม่รับ พอทำงานไปสักพักก็จะมีสำนักพิมพ์มาติดต่อเอง แต่ตอนเริ่มต้นมันจะช้าและยากหน่อย นานๆ เข้าเขาก็จะรู้ว่าคนนี้แปลแนวไหน
แต่ข้อเสนอที่เราไม่รับก็มีเยอะ เพราะว่าหนังสือที่เสนอมาไม่ใช่แนวของเรา

 

ทำงานแปลมายี่สิบกว่าปี มีแนวทางเป็นของตัวเองมาโดยตลอด อย่างซาปาติสตาได้รับความสนใจเยอะมาก เป็นเพราะอะไร แสดงว่าโดยส่วนตัวภัควดีเป็นพวกซ้าย?

ภัควดี: ก็เหมือนกับที่รองผู้บัญชาการมาร์กอสบอกว่า ธรรมชาติสร้างมนุษย์มาให้หัวใจตั้งอยู่ข้างซ้าย
งานเรื่องซาปาติสตาเป็นงานที่ได้รับความสนใจเยอะอย่างที่นึกไม่ถึง ส่วนหนึ่งที่ซาปาติสตาเข้าถึงใจคนคงเป็นเพราะว่า รองผู้บัญชาการมาร์กอสมีพื้นฐานทางวรรณกรรมเยอะกว่าทางด้านทฤษฎีการเมือง

 

ถ้ามีใครถามว่าอำนาจวรรณกรรมอยู่ตรงไหน ซาปาติสตาคือตัวอย่างของอำนาจวรรณกรรม
วรรณกรรมเปลี่ยนแปลงโลกได้ อุดมคติและความใฝ่ฝันเป็นหน้าที่ของเรา ส่วนเรื่องความเป็นไปได้นั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองก็แล้วกัน

 

 

 

งานแปลที่พิมพ์แล้ว
1) เบอร์ทรันด์ รัสเซล, ซาฮาโตโพล์ค เทพเจ้าจอมมายา (สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น: 2533) (Bertrand Russell, Zahatopolk)
2) เรือชีวิต รวมเรื่องสั้นของเจมส์ จอยซ์, สตีเฟน เครนและโจเซฟ คอนราด (สำนักพิมพ์ยาดอง: 2534)
3) ตำนานกาฬทวีป รวมเรื่องสั้นแอฟริกัน (สำนักพิมพ์เรไร: 2537)
4) คาร์ลอส คาสตาเนดา, วิถีแห่งพลัง (สำนักพิมพ์เรไร: 2538) (Carlos Castaneda, Tales of Power)
5) โจเซฟ คอนราด, สหายลับร่วมห้อง (สำนักพิมพ์กล้วยไม้: 2538) (Joseph Conrad, The Secret Sharer)
6) เบเวอร์ลีย์ เบิร์ช, หลุยส์ เบรลล์ (สำนักพิมพ์ดอกหญ้า: 2540) (Beverly Birch, Louise Braille)
7) อุมแบร์โต เอโก, สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2541) (Umberto Eco, The Name of the Rose)
8) มิลาน คุนเดอรา, ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2541) (Milan Kundera, The Unbearable Lightness of Being)
9) เออร์นานโด เดอ โซโต, เปรูบนเส้นทางเศรษฐกิจนอกระบบ (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2542) (Hernando de Soto, The Other Path)
10) ปราโมทยา อนันตา ตูร์, แผ่นดินของชีวิต (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2543) (Pramoedya Ananta Toer, This Earth of Mankind)
11) มิลาน คุนเดอรา, รักชวนหัว (แพรวสำนักพิมพ์: 2544) (Milan Kundera, Laughable Loves)
12) ปราโมทยา อนันตา ตูร์, ผู้สืบทอด (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2544) (Pramoedya Ananta Toer, Child of All Nations)
13) นอม ชอมสกี, อเมริกาอเมริกาอเมริกา: วิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (มูลนิธิโกมลคีมทอง: 2544) (Noam Chomsky, What Uncle Sam really Wants)
14) ซูซาน ยอร์จ, รายงานลูกาโน: การอนุรักษ์ระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2545) (Susan George, The Lugano Report)
15) มิลาน คุนเดอรา, อมตะ (แพรวสำนักพิมพ์: 2546) (Milan Kundera, Immortality)
16) ปราโมทยา อนันตา ตูร์, รอยย่างก้าว (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2547) (Pramoedya Ananta Toer, Footsteps)
17) มิลาน คุนเดอรา, ความเขลา (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ: 2548) (Milan Kundera, Ignorance)
18) สนิทสุดา เอกชัย, เยียวยาแผ่นดิน (รวมบทความสารคดี ชุด Healing the Land จาก Outlook หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์)
19) โจเอล บาคาน, บรรษัท (สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา: 2550) (Joel Bakan, The Corporation)

 

อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน คือ Tom Mertes, Movement of Movements (แปลร่วมกับนักแปลคนอื่น ๆ)

กำลังแปลคือ Karl Polanyi, The Great Transformation

 

หมายเหตุ : รูปผลงานคุณภัควดี วีระภาสพงษ์

จาก http://www.sarakadee.com/feature/2007/09/images/pakawadee02.jpg
รูปคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากคุณภัควดี วีระภาสพงษ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท