Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สุรีย์   มิ่งวรรณลักษณ์


 


แถลงการณ์ฉบับที่ 22/2551 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เสนอทางเลือกการเมืองใหม่และประชาภิวัฒน์ คำถามที่เกิดขึ้นอะไรคือการเมืองใหม่ ? และอะไรคือรัฐบาลประชาภิวัฒน์?


 


พันธมิตรเประชาชนพื่อประชาธิปไตย  มองว่า " การเมืองในปัจจุบันเป็นระบบการเมืองอุบาทว์ ถูกผูกขาดโดยนักเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งและนายทุน"


 


"เมื่อการเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉลและใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทำให้การเมืองไทยกลายเป็น "ธนาธิปไตย" เกิดการตอบแทนบุญคุณต่อนายทุนของพรรคการเมือง"


 


พร้อมมี ข้อเสนอ คือ "สนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ" รวมทั้งแถลงการณ์ยังได้บอกว่า  ไม่ต้องการการรัฐประหารเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง


 


ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตถึงวิธีคิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า


 


1 .การวิเคราะห์การเมืองระบอบรัฐสภาปัจจุบันของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่า มีปัญหาจริงดังกล่าวอยู่จริง แต่การวิเคราะห์ลักษณะนี้เป็นการวิเคราะห์แบบหยุดนิ่งตัดตอน  ไม่มองในแง่พัฒนาการที่มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง


 


หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการเสมือน ให้มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองจากอำนาจส่วนกลางยุคแรกเริ่มของรัฐชาติ หรือต้องการให้แต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านมาจากอำนาจของกรุงเทพฯ   หรือต้องการให้คณะรัฐประหารแต่งตั้งรัฐบาล แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญัติแห่งชาติ  กระนั้นหรือ ?


 


และมองเหมือนว่าการเมืองไทยชนชั้นนำปัจจุบัน มีเพียงตัวละครเฉพาะนักการเมือง พรรคการเมืองนั้น ที่สร้างปัญหาดังกล่าว ขณะที่ตัวละครอื่นๆ เช่น สถาบัน  ทหาร  ตุลาการ  ระบบราชการส่วนอื่นๆ รวมทั้งพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยด้วย(ประชาธิปัตย์ด้วยไหม พี่) ไม่ใช่ตัวปัญหา กระนั้นหรือ ?


 


2. วิธีคิดการวิเคราะห์ดังกล่าวนั้น ไม่มีการเชื่อมโยงเหตุปัจจัยต่างๆเข้าด้วยกัน และไม่มีมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ ซี่งในความเป็นจริงแล้วมีการต่อสู้ขัดแย้งช่วงชิงอำนาจเหนือของชนชั้นนำอยู่ตลอดกาล มีทั้งประนีประนอมแตกหักเปลี่ยนขั้วอาจไปมาอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน มีพัฒนาการการเมืองไทยตั้งแต่ยุคก่อนรัฐชาติยุครัฐชาติยุคสมบูรณญาสิทธิราชย์ ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยุคเผด็จการทหารจอมพลป-จอมพลสฤษดิ์- จอมพลถนอม  ยุค14ตุลา 16 ยุค 6 ตุลา 19 ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบยุค ประชาธิปไตยตัวแทน ถึงปัจจุบัน ซึ่งก็มิอาจมองเป็นกลไกหยุดนิ่งได้มีการซ้อนทับของตัวละครการเมืองในแต่ละช่วงเวลาด้วยเช่นกัน


 


3.เป็นวิธีคิดที่มองง่ายๆว่า เงิน (ธนาธิปไตย) เป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกตั้ง เหมือนที่เคยกล่าวหาว่าคนจนในชนบท ถูกซื้อ โง่ อยู่ภายใต้การอุปถัมป์ของนักการเมือง  และมองชาวบ้านเป็นผู้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีความรู้ความคิดเสียเลย เหมือนชาวบ้านไม่สนใจนโยบายของพรรคการเมือง (คงแปลกไม่น้อยที่ทุกพรรคการเมืองทุกพรรครวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ล้วนหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม) ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิในการเลือกตั้งผู้บริหารประเทศของประชาชน  ตามหลักการสากลของระบอบประชาธิปไตย   ซึ่งเป็นมุมมองที่ไม่เชื่อศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์


 


4. ข้อเสนอให้ คนดี มีอำนาจ   (ซึ่งนามธรรมมากๆ)  มีคำถามว่า   คนดีคือใคร   เอาบรรทัดฐานอะไรมานิยามคนดี


 


ใครเป็นคนแต่งตั้งคนดี ในโลกความเป็นจริงแล้ว คนดี นั้น แต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคลย่อมนิยามทั้งเหมือนและต่างกัน ในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นด้วยเช่นกัน คนไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายเป็นคนดีได้ไหมคนร่ำรวยมหาศาลเป็นได้เฉพาะคนชั่วหรือ หรือต้องนิยามคนดีเท่ากับพระ แล้วจะอธิบายพระ แต่ละสำนักที่ไม่เหมือนกันว่าเป็นคนดีเหมือนกันไหม


 


แท้จริงแล้ววิธีคิดเรื่องคนดี นั้นต้องการบอกว่านักการเมืองล้วนเป็นคนไม่ดี (อาจจะยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์) ใช่ไหม ? และคนดีนั้นคงเป็นผู้ดีมีตระกูลมากกว่าชาวบ้านผู้โง่เขลาเป็นแน่


 


ดังนั้น เราควรยอมรับสิทธิการเลือกตั้ง คนดี  เพื่อเข้าไปบริหารประเทศของประชาชน สร้างกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล คนดี กันดีกว่า ให้ใครมาแต่งตั้งคนดี  ใช่ไหม?


 


5.พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ต้องการการรัฐประหารเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องทักษิณ  แต่เท่ากับว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการรัฐประหารเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใช่ไหม?


 


เท่ากับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นด้วยกับวิธีการรัฐประหาร ทั้งๆที่เป็นที่รับทราบกันดีว่า อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยไทยนั้นคือ การรัฐประหาร  ซึ่งรัฐประหารเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการในการขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย  เป็นวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทยมาโดยตลอด  สร้างอำนาจนิยมครอบงำสังคมไทยมาโดยตลอด จนสังคมไทยยังก้าวไม้พ้นวิธีคิดแบบไพร่ทาส  ลำดับชั้นสูงต่ำอย่างยอมจำนน


 


ดังนั้น "ประชาภิวัฒน์" อาจจะนำสู่ "ประชาวิบัติ" ก็เป็นไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net