บทความ: ความชอบธรรมทางกฎหมายของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สุริยันต์  ทองหนูเอียด

ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชน

 

 

 

พลันที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นสามีของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ไปด้วยคะแนน 298 ต่อ 163 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551

 

ท่ามกลางความพร่ามัวและความสงสัยของสังคมว่า กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา "พรรคพลังประชาชน" มีความชอบธรรมใด ในการเสนอตัว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ทั้งนี้ เพราะการกระทำเช่นนี้ มิได้มีเป้าหมายใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโหวตเลือกนายสมชายของพรรคร่วมรัฐบาล ก็ยืนอยู่บนการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกเป็นสำคัญ เพื่อโควตาการเข้าถึงงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก

 

ประการสำคัญก็คือ นายสมชาย ก็น่าจะเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหา เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์ขัดกัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่ว่า

 

"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือ ความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"

 

ดังนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเป็นได้แค่การต่อรองผลประโยชน์ของพวกพ้องของนักการเมืองเป็นหลักเป็นพิธีกรรมสืบทอดมรดกอำนาจการเมืองหรือรับพินัยกรรมบาปอันสามานย์เท่านั้น

 

ประเด็นที่สำคัญ จากปรากฏการณ์การเลือกสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้นั้น อาจถือได้ว่า นักการเมืองเป็นบุคคลที่ไม่เคารพกฎหมาย ละเมิดกระบวนการยุติธรรมและไร้จริยธรรมอย่างรุนแรง เช่น

 

1.กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเนื่อง ทั้งๆ ที่กฎหมายห้ามไม่ให้ดำเนินกิจการใดๆ ทางการเมือง เช่น

 

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2551 ที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ กล่าวว่า "การจะให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น นึกไม่ออกว่าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติได้อย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่เอา เพราะเสียงไม่พอและไม่มีความเป็นชาติ ดังนั้นแนวคิดนี้ก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผลอธิบายได้เลย เวลานี้ต้องปล่อยไปตามครรลองประชาธิปไตยให้ 6 พรรคร่วมเตรียมจัดตั้งรัฐบาล และต้องไม่มีวิธีนอกรัฐธรรมนูญ หากยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งบ้าง แต่ต้องไม่มีรัฐบาลแห่งชาติ"

 

2.กรณีนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยก็เข้ามาประชุมกำหนดทิศทางสส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ทั้ง 73 คนอย่างเปิดเผย ทั้งๆ ที่กฎหมายก็ห้ามไม่ให้ดำเนินกิจการทางการเมือง เช่นกัน

 

3.กรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่งให้ใบแดง โดยให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพิพากษา ก็ยังมีอิทธิพลต่อการจัดตั้งรัฐบาลสมชายในครั้งนี้มาตลอด

 

4.บทบาทหลังบ้านของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยาผู้มีอิทธิพลต่อสมสมชายฯ ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบว่า นางเยาวภาฯ มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากน่าเชื่อว่า นางเยาวภา มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ

 

ทั้งนี้ ยังไม่นับพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบริวารที่เข้ามาเกี่ยวกับกับการจัดตั้งรัฐบาลนายสมชาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งปรากฏต่อสาธารณะและไม่เปิดเผย

 

กระบวนการเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะไว้เนื้อเชื่อใจให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้รับมรดกบาปของระบบทุนนิยมสามานย์ ขึ้นมาบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขของชาติประชาชนได้อย่างไร

 

อีกทั้งนายสมชาย จะบริหารราชการอย่างไรไม่ให้ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง ซึ่งได้วางมาตรฐานของข้าราชการการเมืองอย่างเคร่งครัดว่า

 

ข้าราชการการเมือง อันหมายถึง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่นที่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีแต่งตั้ง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม ทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ทั้งต้องวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน

 

ต้องไม่ยินยอมให้คู่สมรส ญาติสนิทบุคคลในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือของผู้อื่น หรือข้าราชการการเมืองต้องเปิดเผยข้อมูลการทุจริต การใช้อำนาจในทางที่ผิดการฉ้อฉล หลอกลวง หรือ การกระทำอื่นใดที่ทำให้ราชการเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

 

ต้องไม่ใช้ หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือต้องไม่คบหา หรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย เป็นต้น

 

ซึ่งดูเหมือนว่า ยากที่จะเชื่อใจว่านายสมชาย และพรรคพวก ใน ครม.ใหม่ จะดำเนินการเช่นนี้ได้

 

ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนี้ ออกตามข้อกำหนดแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่บัญญัติว่า

 

"มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงาน เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา 270"

 

นั่นหมายความว่า หากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะจัดตั้งรัฐบาลแบบหุ่นเชิด หรือ ครม.นอมินี อยู่เพื่อช่วยเหลือพี่เขย ภรรยาและบริวาร ละเลยการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็น่าสงสัยว่ามาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็เตรียมถูกถอดถอนพ้นจากตำแหน่งโดยทันที

 

ดังนั้น การปฏิเสธนักการเมืองที่กระทำผิดกฎหมาย การปฏิเสธรัฐบาลที่ได้มาโดยกระบวนการที่ไม่ชอบและการต่อต้านรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ขัดกันเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการเมืองใหม่ การเมืองของภาคประชาชน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ จนถึงที่สุด…

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท